ภูมิปัญญาของชุมชนที่หลากหลายอันเกิดขึ้นมาจากวิถีชีวิตของคนชุมชนบ้านหาดเสี้ยว มีประเพณีพิธีกรรมที่สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนานและหัตถกรรมการทอผ้าที่มีความโดดเด่น
การที่หมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่มีหาดทรายโพล่ขึ้นในฤดูแล้ง อีกทั้งบริเวณนั้นกระแสน้ำค่อนข้างไหลแรง ผู้คนในระยะแรก ๆ จึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “ บ้านหาดเชี่ยว “ ซึ่งเพี้ยนมาเป็น “หาดเสี้ยว “ ตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด
ภูมิปัญญาของชุมชนที่หลากหลายอันเกิดขึ้นมาจากวิถีชีวิตของคนชุมชนบ้านหาดเสี้ยว มีประเพณีพิธีกรรมที่สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนานและหัตถกรรมการทอผ้าที่มีความโดดเด่น
บรรพบุรุษของชาวพวนบ้านหาดเสี้ยวนั้นมีพื้นเพไปจากเขตเชียงขวาง ประเทศลาว การอพยพถิ่นเดิมมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภาคเหนือจังหวัดสุโขทัยอย่างที่บ้านหาดเสี้ยวหรือจังหวัดแพร่เช่นที่บ้างทุ่งโฮ้งและส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทยคงจะเกิดขึ้นในวาระต่าง ๆ กัน ช่วงเวลาอพยพเริ่มมีมาบ้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และพอถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีปัญหาทางการเมืองในประเทศลาวอันเกิดจากสาเหตุการกบฏของเจ้าอนุเวียงจันทน์ ทางฝ่ายไทยได้ส่งกองทัพไปปราบปรามและกวาดต้อนผู้คนจากประเทศลาวเข้ามาไว้ในประเทศไทย คราวนั้นนับว่าเป็นการอพยพครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้ที่อพยพเข้ามาในชั้นหลังมักจะพากันไปตั้งถิ่นฐานตามแหล่งที่มีพวกพ้องอยู่บ้างเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ภายใต้การนำของพระสงฆ์ที่มีตำแหน่งตามธรรมเนียมของพวน คือ เจ้าหัวอ้ายสมเด็จวัดบ้านตาลและแม่ทัพนายกอง 3 นาย คือ แสนจันทร์ แสนปัญญา และแสนพล ชาวพวนจำนวนมากได้พากันอพยพเข้ามาหักร้างถางป่าในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน ตำแหน่งที่ตั้งถิ่นฐานซึ่งเป็นตัวหมู่บ้านหาดเสี้ยวนับว่าอยู่ในที่ดีประการต่าง ๆ คือ มีแม่น้ำยมอยู่ทางทิศตะวันตก นอกจากจะได้อาศัยน้ำจากแหล่งนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคแล้วแม่น้ำยังเป็นเสมือนกำแพงป้องกันการรุกรานจากภายนอกได้ด้านหนึ่ง ส่วนทางทิศเหนือมีป่าเขาเป็นแห่งอาหารสำคัญ ด้านตะวันออกของชุมชนอยู่ไกลจากฝั่งแม่น้ำพอสมควรจึงเหมาะที่จะใช้เป็นพื้นที่ทำนาทำไร่
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
สภาพภูมิอากาศ
หาดเสี้ยวเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสุโขทัยที่มีลักษณะภูมิอากาศอยู่ในประเภทเมืองร้อนเฉพาะฤดู กล่าวคือ เป็นบริเวณที่มีช่วงฝนตกสลับกับช่วงที่แห้งแล้งแตกต่างกันอย่างชัดเจนในรอบปี อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้ที่หาดเสี้ยวมีฝนเริ่มตกชุกในเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม ฝนมักทิ้งช่วงโดยเฉพาะในปีที่ชาวบ้านเรียกว่า “เดือน 8 สองหน” มักขาดฝนชนิดที่เรียกได้ว่าแล้งกันตอนต้นปี ฝนจะกลับมาตกชุกและหนาแน่นในเดือนสิงหาคมไปจนกระทั่งเดือนตุลาคม ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,095.5 มิลลิเมตร โดยการใช้ค่าเฉลี่ยของจังหวัดแถบอำเภอศรีสัชนาลัย อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 23.8 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุด อุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส
สถานที่สำคัญ
ภายในชุมชนมีวัดหาดเสี้ยวและโบสถ์มณีรามเป็นศูนย์รวมทางพุทธศาสนา
โรงเรียน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนระดับอนุบาล คือ โรงเรียนสมประสงค์ และโรงเรียนชุมพรวิทยา, ระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนหาดเสี้ยววิทยา, ระดับมัธยมศึกษา คือ โรงเรียนเมืองเชลียง
สถานีอนามัยก็ตั้งอยู่ในละแวกชุมชน เพราะชุมชนคือที่ตั้งของที่ทำการอำเภอจึงมีสถานที่ราชการสำคัญ ๆ หลายหน่วยงาน เช่น สภอ. สปอ. สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล ไปรษณีย์ นอกจากนี้ยังมีธนาคารออมสินและธนาคารเอกชนอีก 3 แห่ง
การคมนาคม
จากตัวจังหวัดสุโขทัย มีรถโดยสารประจำทางผ่านอำเภอสวรรคโลกมายังหาดเสี้ยวและไปสุดปลายทางที่จังหวัดอุตรดิตถ์ รถโดยสารเที่ยวแรกออกเวลา 06.45 น. และคันสุดท้ายออกจากสุโขทัยเวลา 17.30 น. จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารทั้งของบริษัท บ.ข.ส. และบริษัทอื่น ๆ ที่วิ่งผ่านสุโขทัยและมาสุดปลายทางที่หาดเสี้ยว จักรยาน จักรยานยนต์ และรถยนต์เป็นพาหนะที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชุมชน ก่อนหน้าที่จะมีสะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำยมจากบริเวณ สปอ. ศรีสัชนาลัยไปยังโรงพยาบาลศรีสัชนาลัยนั้นการติดต่อกันระหว่างพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำจะใช้เรือ ปัจจุบันผู้ที่อยู่ริมลำน้ำก็ยังคงใช้เรือพายเพื่อเดินทางไปทำธุระตามละแวกใกล้ ๆ ฤดูแล้งระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลงไปอย่างมาก สามารถเดินข้ามไปมาระหว่างชุมชนที่อยู่บนสองฝั่งแม่น้ำได้อย่างสบาย
ในความรู้สึกของคนท้องถิ่นแล้ว เมื่อกล่าวถึงบ้านหาดเสี้ยวจะหมายถึงบ้านหาดเสี้ยวหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ปัจจุบันทั้งสองหมู่มีประชากร 7,395 คน เป็นชาย 3,580 คน เป็นหญิง 3,815 คน จากครัวเรือนทั้งสิ้น 1,340 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพวน มีชาวจีน คนยวน ผู้คนจากภาคกลางตอนล่างและคนไทยในท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัยอาศัยอยู่บ้าง
ระบบเครือญาติ ชาวพวนที่บ้านหาดเสี้ยวจะจัดความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวและเครือญาติคล้ายกันกับชาวพวนที่บ้างทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ คือ บุคคลจะให้ความสำคัญกับญาติพี่น้องทั้งสองข้างฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ แต่ธรรมเนียมและขั้นตอนการแต่งงานตลอดจนผลสืบเนื่องจากการแต่งงานทำให้บุคคลมีความใกล้ชิดกับญาติฝ่ายแม่เป็นส่วนใหญ่ ในระยะของการเริ่มต้นชีวิตสมรสขนาดของครอบครัวฝ่ายหญิงจึงค่อนข้างใหญ่ที่ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อยก็สองระดับช่วงคือตายาย พี่น้องของฝ่ายหญิงเจ้าสาวกับคู่ครอง ช่วงปีแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่ร่วมวงศากับญาติข้างภรรยาจึงยังอาจจะไม่ค่อยสนิทสนมกับเขาเท่าใดนัก จะทำอะไรก็ต้องคอยระวังฐานะของตน แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจทำการงานต่าง ๆ ของพ่อแม่ตายาย พอย่างเข้าปีที่ 2 ของการสมรส การมีบุตรของคู่บ่าวสาวก็เท่ากับได้เพิ่มสมาชิกอีกช่วงชั้นหนึ่งเข้ามาในครอบครัวเดิมของพ่อแม่ ครอบครัวของลูกที่สมรสแล้วพร้อมจะแยกออกไปสร้างครอบครัวของตนเองเมื่อไหร่ก็คือเวลาที่ครอบครัวใหญ่จะเปลี่ยนสภาพเป็นครอบครัวขนาดเล็กที่มีเฉพาะคนรุ่นพ่อแม่และลูก ๆ อีกครั้ง
จีน, ไทยพวน, ไทยวน
การรวมกลุ่มกันของหมู่ญาติสตรี
มีบทบาทต่อการเสริมสร้างให้อาชีพทอผ้ากลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชุมชนและจังหวัดสุโขทัย เป็นที่ยอมรับกันว่าการจัดหาเสื้อผ้าให้เพียงพอแก่ความต้องการของสมาชิกในครอบครัวเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ลูก ๆ จึงได้รับการฝึกฝนให้หัดทำงาน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องนุ่งห่มเริ่มตั้งแต่ที่แม่เริ่มปลูกฝ้ายและเก็บสมอปุยฝ้ายจากไร่มาผึ่งแดดที่บ้านก็มักจะเห็นลูกสาวทำงานเหล่านั้นกับแม่เสมอ การทอผ้ามีการเตรียมการและขั้นตอนโดยหลัก ๆ ถึง 11 ขั้นตอน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฝึกฝนกันเป็นเวลานานนับปีกว่าจะมีความชำนาญมากพอที่แม่จะปล่อยให้รับผิดชอบการงานได้ รายละเอียดต่าง ๆ มีการสืบทอดมาจากสายตระกูลของตน เป็นสิ่งที่รับรู้และปฏิบัติกันได้อย่างต่อเนื่องเฉพาะในหมู่ญาติที่ใกล้ชิดขั้นยายแม่และลูกหลานเท่านั้น ในระยะหลังที่การผลิตผ้าพื้นเมืองกลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมดูเหมือนจะยิ่งส่งเสริมให้บรรยากาศการรวมตัวกันของสตรีคึกคักยิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการผลิตผ้ากันอย่าฉับไวเพราะมีการแข่งขันกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการตลาด แหล่งซื้อหาเส้นใยสำเร็จรูปและการดัดแปลงผลผลิตให้มีพัฒนาการยิ่ง ๆ ขึ้น
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมในรอบปี
- เดือนมกราคม : ทำบุญลาน
- เดือนกุมภาพันธ์ : สู่ขวัญข้าว, กำฟ้า , ทำบุญข้าวใหม่
- เดือนมีนาคม : ทำขวัญควาย
- เดือนเมษายน : สงกรานต์ , สังขารต์ผู้เฒ่า , บวชนาค
- เดือนพฤษภาคม : บวชนาค , เซ่นเจ้าพ่อบ้านเหนือ/บ้านใต้
- เดือนมิถุนายน : แฮกนา
- เดือนกรกฎาคม : เข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม : กำเกียง
- เดือนกันยายน : สารทลาว , สู่ขวัญข้าวตั้งท้อง
- เดือนตุลาคม : ออกพรรษา , กฐิน , เทศน์มหาชาติ
- เดือนพฤศจิกายน : กฐิน , ผ้าป่า
- เดือนธันวาคม : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
ประเพณีสำคัญ
- วันสงกรานต์ ชาวพวนมีชื่อเรียกสำหรับวันทั้ง 3 ของวันสงกรานต์ คือ วันที่ 1 วันสังขารล่อง คนจะตื่นเช้าเพื่อลงไปอาบน้ำในแม่น้ำยมเชื่อว่าเป็นการชำระล้างสิ่งเลวร้ายทั้งหลายให้หลุดลอยไปกับสายน้ำ วันที่ 2 วันเนา กิจกรรมหลักคือการทำบุญ สรงน้ำพระพุทธและพระสงฆ์ รวมถึงการก่อพระเจดีย์ทราย วันที่ 3 วันเถลิงศก มีการเล่นสาดน้ำกันสนุกไปทั่วทั้งในบริเวณวัดและตามละแวกบ้าน
- เซ่นเจ้าพ่อบ้านเหนือ/บ้านใต้ บ้านหาดเสี้ยวเป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ จึงย่อมจะมีการแบ่งพื้นที่เพื่อความสะดวกต่อการแสดงตนและการติดต่อสื่อสารกัน กลุ่มบ้านทางทิศเหนือของชุมชนถูกจัดเป็นบ้านเหนือ ขณะที่หาดเสี้ยวด้านใต้ก็กลายเป็นกลุ่มบ้านใต้ไปตามทิศทางของการตั้งชุมชน ในแต่ละกลุ่มบ้านมีศาลผีประจำถิ่นของตนและเรียกเจ้าพ่อกันง่าย ๆ ตามตำแหน่งของบ้านว่าเจ้าพ่อบ้านเหนือและเจ้าพ่อบ้านใต้ ทุกปีในเดือนพฤษภาคมชาวบ้านแต่ละกลุ่มต่างก็จัดพิธีเซ่นไหว้เจ้าพ่อกัน นอกจากอาหารคาวและอาหารหวานแล้ว เครื่องเซ่นที่ขาดไม่ได้ก็คือหมากพลู ยาสูบ และสุรา ระหว่างพิธีจะมีการทรงเจ้าพ่อโดยร่างทรงที่เป็นคนในละแวกบ้าน ขณะที่เจ้าประทับร่างทรงจะมีการซักถามข้อข้องใจทั้งหลายที่เป็นปัญหาของส่วนรวม เช่น การทำนา หากินและข้อปัญหาจากปัจเจกโดยเฉพาะวิธีแก้หรือลดเคราะห์ทุกข์โศกนานา
- แฮกนา พอเห็นว่าต้นข้าวที่ตกกล้าไว้สูงใหญ่ได้ขนาดพอที่จะปักดำได้ เจ้าของนาก็หาฤกษ์ยามพิธีแฮกนา (แรกนา) กัน เรื่องของฤกษ์ในยามเช่นนี้อาจแตกต่างกันออกไปเช่นบ้างก็ถือเอาวันเกิดของตนเป็นวันฤกษ์ ภายหลังที่มีโทรทัศน์และได้รับรู้ถึงการถ่ายทอดสดพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันแรกนาของตน ในการแรกนาจะนำอาหาร หมากพลูและยาสูบมาเซ่นไหว้ผีประจำนาหรือที่เรียกว่า “ผีตาแฮก” พร้อมกันนั้นก็ถอนต้นกล้ามาจำนวนหนึ่งและแบ่งออกเป็นเก้าส่วนเพื่อให้ปักดำได้เก้ากอ จะเห็นได้ว่าจำนวนกอข้าวที่ดำพอเป็นพิธีครั้งนี้ก็ถือเป็นเคล็ดเช่นกันว่าผลผลิตจะมีความก้าวหน้าเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
- สู่ขวัญข้าวตั้งท้อง ราว ๆ เดือนกันยายนข้าวเริ่มออกรวงอ่อน ๆ เสมือนคนตั้งครรภ์ซึ่งจะมีอาการแพ้ท้องชอบกินของเปรี้ยว จึงจัดหาผลไม้ประเภทส้ม กล้วย และขนมอื่น ๆ มาเซ่นไหว้พระแม่โพสพ พร้อมกันนั้นก็มีเครื่องแต่งตัวเช่นผ้าสไบสีสวย ๆ แป้ง หวี กระจก และน้ำมันหอมเพื่อให้แม่โพสพใช้แต่งกายรับขวัญในโอกาสที่กำลังจะมีบุตร
- ทำบุญลาน เมื่อเกี่ยวข้าวและนำฟ่อนข้าวมากองในลานเพื่อรอที่จะนวดและฟัดก็จะให้มีการทำบุญลาน นัยว่าเพื่อความอบอุ่นใจที่จะไม่มีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับข้าว
- สู่ขวัญข้าว ขนข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางแล้วก็ไปอันเชิญพระแม่โพสพจากนาให้มาอยู่อย่างสุขสบายในยุ้ง ตอนหยุดงานเพื่อทำพิธีกำฟ้าก็ถือโอกาสนำข้าวเปลือกที่เพิ่งเก็บเข้ายุ้งฉางไปถวายพระเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผลผลิตใหม่ของปีนั้น
- สู่ขวัญควาย เพื่อระลึกถึงคุณของสัตว์เลี้ยงที่ใช้งานมาอย่างหนักและเป็นการขอขมาที่ได้ตีด่าในขวบที่ผ่านมา หมอขวัญจะเป็นผู้นำทำพิธีโดยเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ยาสูบ ขนม ผลไม้ และน้ำส้มป่อย เพื่อไว้ประพรมสัตว์เลี้ยงเมื่อกล่าวคำสู่ขวัญจบ โดยมากก็จะเลือกหาถ้อยคำไพเราะมาสู่ขวัญควาย
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
- การเกษตร การทำนาคือเศรษฐกิจหลักของชุมชน จากพื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรมทั้งชุมชน จำนวน 12,316 ไร่ ชาวหาดเสี้ยวใช้พื้นที่ดังกล่าวทำนามากถึง 7,583 ไร่ พื้นที่สวนมีจำนวน 2,890 ไร่ ที่เหลือ 1,843 ไร่ คือพื้นที่ซึ่งใช้ปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ มีการสร้างเหมืองซึ่งเป็นคันคลองเล็ก ๆ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำยมขึ้นมาใช้ทำนา และใช้แรงงานควายเพื่อการไถนา นวดข้าวและเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของไปยังที่ต่าง ๆ เป็นแบบแผนการเกษตรกรรมที่ผู้คนที่นี่คุ้นเคยกันมากแต่ครั้งบรรพบุรุษ พื้นที่ส่วนที่เป็นสวนผลไม้และส่วนที่ปลูกพืชไร่จะอยู่กระจายออกไปรอบ ๆ ชุมชน คือ มีทั้งพื้นที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำและส่วนที่อยู่ในที่ดอนทางทิศตะวันออกติดต่อจากพื้นที่นา โดยมากชาวบ้านจะปลูกพืชไร่อาทิถั่วลิสง ถั่วเหลือง ผักกาดหัว ยาสูบ พริก มะเขือ ฯลฯ สำหรับพื้นที่สวนและไร่แถบที่อยู่ใกล้กับพื้นที่นาเป็นพื้นที่เนินที่มีความชุ่มชื้นน้อยกว่าพื้นที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ เกษตรกรจะเลือกปลูกไม้ยืนต้นประเภทที่ทนต่อความแห้งแล้ง เช่น มะม่วง ขนุน มะปราง นุ่น บางครอบครัวก็ปลูกสับปะรดพันธุ์พื้นเมืองและกล้วยน้ำว้า
- หัตถกรรม ระหว่างฤดูแล้งตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ชาวนาชาวไร่บ้านหาดเสี้ยวมักจะทำหัตถกรรมชนิดต่าง ๆ ตามความถนัดและความพร้อมของแต่ละคน การทำเครื่องจักสานจากไม้ไผ่และหวายเพื่อทำเป็นภาชนะใส่สิ่งของต่าง ๆ และทำเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำเป็นงานที่แต่ละครัวเรือนต่างก็จัดทำกัน
1. นายสาธร โสรัชประสพสันติ ผู้สืบเชื้อคงสายไทยพวนศรีสัชนาลัย
ทุนทางวัฒนธรรม
งานหัตถกรรม
งานหัตถกรรมที่ต้องใช้ความชำนาญชนิดที่เรียกว่า “ช่าง” ในชุมชน ได้แก่ งานช่างไม้ การตีเหล็กและการทำเงินทำทองรูปพรรณ ในอดีตนอกจากจะตีเหล็กเป็นเครื่องมือทำนาทำไร่แล้วยังตีเหล็กเพื่อเป็นเครื่องมือทำงานไม้ เช่น กบ สิ่วและขวานผึ่งที่ใช้ในการถากเกลาต้นไม้ที่จะใช้ทำเสาบ้านเรือน ปัจจุบันงานที่ผลิตกันมากคงได้แก่ มีด พร้า จอบ เสียม ขวานตัดและเหล็กฟันกระต่ายที่ใช้สำหรับขูดมะพร้าว ส่วนการตีเงินตีทองเป็นรูปพรรณอาจจะไม่ค่อยแพร่หลายเหมือนหัตถกรรมเครื่องเหล็ก โดยมากจะทำเครื่องประดับรูปแบบต่าง ๆ ตามสมัยนิยม เช่น เมื่อ 60 ปีก่อนทำกำไลมือ กำไลเท้าและต่างหูอย่างที่เรียกว่า “กระจอน” กันค่อนข้างมาก มาในระยะหลังนิยมทำสร้อยคอ สร้อยข้อมือแหวานมากกว่าอย่างอื่น ทองที่ช่างชาวหาดเสี้ยวใช้มีทั้งทองดอกบวบ ทองนพคุณ ทองแล่ง ทองแปและทองใบ การจะใช้ทองแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของงานที่จะทำ
การทอผ้าพื้นเมืองคือหัตถกรรมอีกอย่างของหาดเสี้ยวที่ทำกันมาตั้งแต่อดีต แบ่งตามประเภทการใช้สอยแล้วผ้าที่ทอเป็นเครื่องนอนจะได้แก่มุ้ง ผ้าตัวหมอน ปลอกหมอน ผ้าที่ใช้เย็บตัวที่นอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าปลอกผ้านวม ผ้าที่ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มคือผ้าหม้อห้อม (ผ้าแผ่นย้อมคราม) ที่ใช่ตัดกางเกงและเสื้อ ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น ผ้าสไบ ผ้าแห้งตู้ (ผ้ารัดนม) ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดน้ำหมาก นอกจากนี้ยังทอผ้าที่ใช้ทำย่ามผ้ากั้ง (ฉากขึงผนังบ้านเวลามีงานเลี้ยงพระ) ผ้าที่ทอใช้ในงานบวชคือ ผ้าปรกหัวนาค ผ้ากราบอุปัชฌาย์ ผ้าปู่นั่ง (สำหรับพระบวชใหม่) และผ้าไตรจีวร การทอผ้าห่อคัมภีร์ถวายวัดตอนเทศกาลเข้าพรรษานับว่าเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์เช่นเดียวกันกับการทำบุญในโอกาสอื่น ๆ แต่ละครอบครัวมักจะทอผ้าท่อน (ผ้าดิบ) ไว้เป็นพับ ๆ เพื่อใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์โดยเฉพาะในงานศพจะใช้ผ้าชนิดนี้มัดตราสังศพ
การแปรรูปมะม่วง
มะม่วงเกือบทุกชนิดที่ปลูกกัน อาทิ มะม่วงอกร่อง มะม่วงเขียวไข่กา และมะม่วงตาล เป็นพันธุ์ที่ปลูกจากการเพาะเม็ดทั้งสิ้น โดยเฉพาะมะม่วงตาลจะปลูกกันมากพอ ๆ กับมะม่วงแก้ว ปลูกมะม่วงแก้วกินดิบ ๆ ตอนที่ลูกแก่จัด ๆ หากมีมากอาจแบ่งขายหรือดองใส่ไหไว้กินนอกฤดู แม่บ้านบางกลุ่มมีฝีมือในการนำมะม่วงแก้วดิบมาขูดเป็นเส้น ๆ แล้วเชื่อมน้ำตาลเป็นของหวานได้อย่างหนึ่ง แต่มะม่วงตาลมีเนื้อมากและเม็ดเล็กลีบจึงนิยมนำมาปอกเปลือกเลือกเอาเนื้อมากวนและตากแดดให้แห้งในรูปของมะม่วงแผ่นหรืออย่างที่ชาวบ้านเรียกว่าส้มแผ่น นับว่าเป็นของกินที่ลือชื่ออย่างหนึ่งของที่นี่ที่สตรีได้ทำตามสูตรของบรรพบุรุษของตน
ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวพวนที่ยังใช้ภาษาพวนในชีวิตประจำวัน
การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของหาดเสี้ยวเกิดจากการปรับตัวในด้านการทำนาทำไร่ที่พบว่าได้มีการนำเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร เช่น รถไถชนิดเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องเกี่ยวข้าวและเครื่องนวดข้าวเข้ามาใช้ทำงานแทนที่แรงงานมนุษย์และควาย เกษตรกรรุ่นใหม่ตื่นตัวต่อการรับข้อมูลข่าวสารและพืชพันธุ์ที่เผยแพร่กันว่าจะให้ผลผลิตดีกว่าสายพันธุ์พื้นเมือง มีการนำความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอกเข้ามาช่วยในการผลิตกันมากขึ้น
ผ้าทอพื้นเมือง
มีผู้มีฐานะดีในเมืองที่สนใจอนุรักษ์ของเก่าบางรายให้ความสนใจที่จะซื้อผ้าซิ่นตีนจกเก่า ๆ จากชาวบ้าน เมื่อความนิยมเช่นนี้เผยแพร่ออกไปก็เท่ากับเป็นแรงกระตุ้นให้คนท้องถิ่นเริ่มเห็นความสำคัญของการค้าขายของใช้แล้ว การค้าผ้าเก่าก็เริ่มลดจำนวนลงเพราะไม่ค่อยมีของเก่า ๆ เหลือมากพอ จึงมีผู้พยายามนำของเก่ามาเป็นต้นแบบเพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่าย ประกอบกับช่วงนั้นการคมนาคมสะดวก ยิ่งสินค้าพื้นเมืองเลียนแบบของเก่าที่มีคุณภาพค่อนข้างจะโดดเด่นของหาดเสี้ยวจึงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคภายนอกมากตามไปด้วย การทอผ้าพื้นเมืองแบบดั้งเดิมจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ซึ่งการขยายตัวของวงการผลิตผ้าพื้นเมืองที่นอกจากจะส่งผลให้เศรษฐกิจการผลิตและการค้าผ้าเมืองคึกคักแล้ว ยังกระตุ้นให้ผู้คนในท้องถิ่นรู้คุณค่าของมรดกพื้นบ้านด้านนี้อีกด้วย
ตารางแสดงลำดับเหตุการณ์ที่มีผลต่อพัฒนาการของการผลิตผ้าพื้นเมืองหาดเสี้ยว
ปี | เหตุการณ์ |
พ.ศ. 2507-2508 | นักวิชาการเริ่มให้ความสนใจผ้ารุ่นเก่าของหาดเสี้ยว |
พ.ศ. 2513 | เรื่องราวของผ้าหาดเสี้ยวได้รับการเผยแพร่ทางอนุสาร อสท. ฉบับเดือนกรกฎาคม |
พ.ศ. 2515 | เริ่มทอผ้าตีนจกวางขายในร้านค้าริมทางหลวงหมายเลข 101 ภายหลังจากที่ มจ.หญิงวาภาวดี รังสิต สั่งซื้อผ้าทอพื้นเมืองลวดลายโบราณ |
พ.ศ. 2520 | มีงานลอยกระทง “เผาเทียนเล่นไฟ” ครั้งแรกที่เมืองเก่าสุโขทัย |
พ.ศ. 2523 | ปีของการท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 1 |
พ.ศ. 2527 | ปีแรกของการจัดงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวงที่จังหวัดเชียงราย |
พ.ศ. 2530 | ปีของการท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 2 (Visit Thailand Year) |
พ.ศ. 2531-2532 | ปีของศิลปหัตถกรรมไทย |
พ.ศ. 2540-2541 | Amazing Thailand |
ชื่อเสียงของช่างทอผ้าชาวหาดเสี้ยวยังส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่คือการรับจัดทำผ้าเพื่องานจุลกฐิน ซึ่งเป็นงานที่ถือว่าได้กุศลแรงเพราะต้องทำการงานทุกอย่างโดยเฉพาะการทอผ้าสบง จีวร ฯลฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะนำผ้าขึ้นถวายพระ งานบุญเช่นนี้ต้องใช้คนจำนวนมากเพื่อให้ทุกอย่างเสร็จลงในเวลาที่กำหนด ชาวทอผ้าบ้านหาดเสี้ยวได้รวมกลุ่มกัน 4-5 กลุ่มเพื่อรับบริการจัดทำผ้าเพื่องานดังกล่าวโดยจะนำรายได้บริจาคเข้าวัดของตนส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งก็เป็นรายได้เฉพาะบุคคล
นอกจากจะมีการเพิ่มขึ้นของประชากรในท้องถิ่นแล้วยังมีคนจากชาติพันธุ์อื่น เช่น คนจีน คนยวนและคนไทย เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของชุมชนอีกด้วย การเพิ่มขึ้นของประชากรในรูปแบบดังกล่าวเป็นเรื่องที่ชาวพวนต้องเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่มีแบบความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากตน ในระยะแรกของการสร้างปฏิสัมพันธ์อาจจะมีท่าทีและความเห็นที่ยังไม่ค่อยเป็นกันเอง เช่นมองว่าคนจีนชอบเอาเปรียบในการค้าขายแลกเปลี่ยน ขณะที่ชาวจีนก็เข้าใจกันว่าคนพวนเป็นลูกค้ามัธยัสถ์ที่ซื้อของยาก ต่อราคานานกว่าจะตัดสินใจ คนอื่น ๆ จะลงความเห็นว่าคนหาดเสี้ยวเอาแต่พวกพ้องของตนเพราะเวลาเปิดรับสมัครสอบบรรจุข้าราชการหน่วยต่าง ๆ ในท้องถิ่นที่ผู้แข่งขันซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นมักไม่ค่อยได้ตำแหน่งงานเหล่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนจากต่างกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดูจะกลมกลืนกันได้พอสมควร เพราะมีกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะพิธีประเพณีตามเทศกาลและพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาสัมพันธ์กันและรู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น รวมถึงปัญหาต่าง ๆ จากภายนอกและวิกฤตทางเศรษฐกิจการเมืองระดับชาติก็เป็นเหตุการณ์ที่พอจะให้ความกระจ่างได้ว่าผู้คนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็ไม่อาจหลีกหนีจากภาระที่ยากลำบากเหล่านั้นได้หากไม่ร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่าอุปสรรค
รวมถึงแบบแผนการดำเนินชีวิตหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา สาเหตุมีหลายประการ เช่น การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ การขาดการสืบเนื่องในเรื่องการประกอบการและการมีสิ่งใหม่ให้เลือก การปลูกสร้างบ้านเรือนด้วยไม้เป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนทั่ว ๆ ไป เมื่อไม่มีหมอขวัญหมอกลางบ้านและคนทรง ฯลฯ ที่เป็นผู้ชำนาญในพิธีประเพณีและวิถีชีวิตแบบพื้นถิ่นก็ทำให้แต่งงานแบบสู่ขวัญบ่าวสาว การเรียกขวัญและสะเดาะเคราะห์ผู้ป่วย และการรักษาโรคพื้นบ้านมีอันต้องยุติลง ขณะเดียวกันก็หาสิ่งอื่นมาทดแทนในหน้าที่นั้น ๆ คนรุ่นเก่าอาจจะอยากให้บุตรหลานได้สืบสานลัทธิธรรมเนียมที่บ่งบอกความเป็นชาวหาดเสี้ยวไว้ จึงได้ฝังรกรากของเขาเหล่านั้นไว้ใต้บันไดบ้านตามความเชื่อเดิม แต่คนรุ่นใหม่ก็พบว่ายังมีหนทางอื่นให้เลือกอีก การย้ายถิ่นของประชากรจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหยุดยั้งได้แม้ว่าสายรกของบุตรหลานจะยังคงถูกฝังอยู่ในที่แห่งเดิมก็ตาม
การเข้ามาของหน่วยงานรัฐด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเกษตรและสหกรณ์ การสาธารณสุข ฯลฯ มีผลให้หาดเสี้ยวได้รับการเลื่อนฐานะจากชุมชนระดับหมู่บ้านให้เป็นเขตสุขาภิบาล ภายในชุมชนจึงมีเครื่องอำนวยความสะดวกประเภทสาธารณูปโภคที่สำคัญ ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ใช้กันอย่างทั่วถึง
มีการจัดระเบียบบ้านเรือนให้มีถนนซอยเพื่อความสะดวกต่อการคมนาคมและการดูแลสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ ในส่วนของบ้านเรือนที่ปัจจุบันไม่ได้เลี้ยงวัวควายกันมากอย่างแต่ก่อน บ้านเรือนใหม่ ๆ จึงเป็นบ้าน 2 ชั้น แทนบ้านเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง โดยปลูกติดดินซึ่งใช้ชั้นล่างเป็นที่ทำการงานและห้องครัว ส่วนห้องนอนจะอยู่ชั้นบน บริเวณข้างบ้านที่อาจจะคับแคบค่อนข้างมากแต่ก็มีการจัดประดับตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับทั้งที่ปลูกลงดินและปลูกไว้ในกระถาง
ในอดีตที่ยังมีการใช้แรงงานควายเพื่อไถนา แต่ละบ้านจะมีควายเป็นฝูง ๆ หนึ่ง ๆ อาจมากถึง 10 ตัว ใครที่มีควายหลายตัวจึงต้องสร้างคอกให้มีขนาดใหญ่พอจะเก็บสัตว์ของตนในตอนกลางคืนได้ โดยมากจะชื้นที่บริเวณข้างบ้านกั้นเป็นคอกควาย หลายบ้านที่ไม่มีพื้นที่ข้างบ้านกว้างพอก็กั้นบริเวณใต้ถุนบ้าน เจ้าของจะตั้งชื่อให้ควายแต่ละตัว เช่น ไอ้เผือก ไอ้ทุยและอีเปรียว ความมีความสำคัญต่อการทำนามากจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ฤดูฝนอาจต้อนฝูงสัตว์ออกหากินหญ้าตามป่าเขาและริมฝั่งแม่น้ำ เดือนมีนาคมและเดือนเมษายนจะให้ควายกินหญ้าฟางที่เก็บไว้ในกองใหญ่เพราะต้นไม้ใบหญ้าตามแหล่งธรรมชาติไม่ค่อยมี ตอนเย็นก่อนนำควายเข้าคอกก็พาไปอาบแช่น้ำและดื่มน้ำในลำน้ำยม ค่ำมืดแล้วจะจุดสุมไฟให้ควันไล่เหลือบลิ้นและยุง ควายตัวใดป่วยเช่นไม่ค่อยกินหญ้าก็อาจจะนำเกลือทะเล 1-2 กำมือกรอกเข้าปากควายเพื่อช่วยในการเจริญอาหารตามแบบของพื้นบ้าน แต่ละปีจะมีหมอขวัญมาทำพิธีสู่ขวัญควายของตนเพื่อเป็นการขอบคุณสัตว์เลี้ยงที่ช่วยให้ภารกิจอาชีพผ่านพ้นไปด้วยดี
กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (ม.ป.ป.). บ้านหาดเสี้ยว. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
นิตยสาร สินสวรรค์. (ม.ป.ป.). ประเพณีวิถีพวน บ้านหาดเสี้ยว. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.nairobroo.com/travel
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.). (2561). การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอประเภทของที่ระลึก ของชุมชนบ้านหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.thai-explore.net/
สำนักงานเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว. (ม.ป.ป.). แนะนำแหล่งท่องเที่ยว. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.hadsiew.com/
สำนักงานเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว. (ม.ป.ป.). วิถีชีวิตชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.hadsiew.com/
อพท. . (2564). ถักทอภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่าน “ผ้าทอสุโขทัย” งานหัตถศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.dasta.or.th/th/article/324
Sathorn Gold Textiles Museum. (ม.ป.ป.). สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.sathorngoldtextilemuseum.com/
SUNTREE THAI WEAVING CENTER. (ม.ป.ป.). ประวัติไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว. ค้นคืนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566, จาก https://suntree-thai.com/