Advance search

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้กิจกรรมกระบวนการการผลิตชา

หมู่ 7
ดอยฮาง
เมืองเชียงราย
เชียงราย
ปรายฟ้า ตั้งจิตติวัฒนา
28 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
4 พ.ค. 2023
บ้านโป่งน้ำร้อน


ชุมชนชาติพันธุ์

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้กิจกรรมกระบวนการการผลิตชา

หมู่ 7
ดอยฮาง
เมืองเชียงราย
เชียงราย
57000
19.25793177221
99.5129406869
เทศบาลตำบลดอยฮาง

บ้านโป่งน้ำร้อน เป็นหมู่บ้านที่มีผู้เข้ามาอยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2480 โดยการเดินเท้าจากลำน้ำกก ผู้คนเดินทางมาพักที่ลำน้ำกกฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นหมู่บ้านผาเสริฐ ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน เดิมเป็นบ้านโป่งน้ำร้อน ทั้งสองหมู่บ้านรวมเป็นหมู่บ้านเดียว ต่อมาได้มีการเเบ่งการปกครองระหว่าง ต.แม่กรณ์ และ ต.แม่ยาว จึงทำให้บ้านโป่งน้ำร้อนได้แยกเป็นสองหมู่บ้าน บ้านโป่งน้ำร้อนเดิมอยู่ในการปกครองของ ต.แม่กรณ์ และหมู่บ้านผาเสริฐอยู่ในความปกครองของ ต.แม่ยาว

สภาพโดยรวมของหมู่บ้านโป่งน้ำร้อนเป็นที่ราบภูเขา สภาพแวดล้อมยังคงมีป่าอุดมสมบูรณ์ และยังคงเป็นธรรมชาติ มีพื้นที่นที่ในการปลูกชาค่อนข้างมากและเป็นวงกว้าง

ทิศเหนือ       ติดกับ บ้านผาเสริฐ ตําบลดอยฮาง อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ทิศใต้         ติดกับ ตําบลแม่กรณ์ อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ทิศตะวนออก  ติดกับ บ้านยางคํานุ ตําบลดอยฮาง อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ทิศตะวนตก   ติดกับ บ้านหวยแก้ว ตําบลห้วยชมภู อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

จํานวนพื้นที่ร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ภูเขา และจํานวนพื้นที่ร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ราบ เส้นทางการคมนาคม มีระยะทางจากตัวเมืองจังหวดเชียงรายประมาณ 30 กิโลเมตร เส้นทางสัญจร มี 2 เส้นทาง คือ ทางบกโดยรถยนต์ และทางน้ํา โดยนั่งเรือหางยาวมาที่บ้านผาเสริฐ

บ้านโป่งน้ำร้อน มีชนเผ่าที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เมื่อมีการอพยพเข้ามาอาศัย เช่น จีนยูนาน เข้ามาในปีพ.ศ. 2522 ต่อมามีชนเผ่าอาข่า เข้ามาอยู่ในปี พ.ศ. 2525 และชนเผ่าลีซอ เข้ามาในปี พ.ศ. 2535 จำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 94 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 465 คน 

ในปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของตำบลดอยฮาง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีบ้านบริวารถึงสี่หย่อมบ้าน ได้แก่ 

1. หย่อมบ้านสองแคว ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าจีนยูนาน มีแม่น้ำสองสายบรรจบกันเป็นที่มาของหย่อมบ้านสองแคว ชนเผ่าจีนยูนานมีอาชีพทำชา ผลไม้อบแห้ง และรับจ้าง

2. หย่อมบ้านอาแป ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บนเนินเขามีน้ำตกซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของหย่อมบ้าน มีวัฒนธรรมที่ยังเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าอาข่าอยู่ ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ ทำสวน และรับจ้าง

3. หย่อมบ้านน้ำบ่อไก่ เป็นบ้านลีซอมีชนเผ่าลีซออาศัยพื้นที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสามารถชมทิวทัศน์ของบ้านโป่งน้ำร้อนได้ทั้งหมด และมีประเพณีเลี้ยงผีบ้าน ผีป่า ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ และรับจ้าง

4. หย่อมบ้านคนเมือง เป็นบ้านหลักมีคนพื้นเมืองอาศัยอยู่ มีการประกอบอาชีพ ทำชา สวนเมี่ยง และรับจ้าง  

บ้านโป่งน้ำร้อน เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ ชาวบ้านปลูกชา และเมี่ยง ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังมีผลไม้ เช่น ลิ้นจี่ ลูกพลับ ลูกจูลี่ เป็นต้น เนื่องจากหมู่บ้านโป่งน้ำร้อน มีสวนชา และสวนเมี่ยง จึงทำให้ชาวบ้านมีวิธีการทำชาอัสสัม และวิธีการทำเมี่ยง  เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับคนนอกพื้นที่ได้รับรู้ 

ต้นชาที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูก เพราะมีมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ หรือประมาณ 8 - 9 ปีก่อน ชาวบ้านรุ่นนี้แค่มาเก็บมาทำตามกระบวนการและนำไปขายสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งในแต่ละปีต้นชาสามารถเก็บได้มากถึง 9 เดือน (มี.ค. - พ.ย.) พักเพียง 3 เดือนเท่านั้นเมี่ยงกับชาเป็นต้นเดียวกัน ต่างกันที่กระบวนการทำที่เกิดจากการหมักและการเก็บ เช่นชาเขียว คือ การเก็บใบสีเขียวยอดบนสุดชาขาวคือ คือการเก็บใบที่ 2-3 จากยอดบนสุด สีจะอ่อนลงมาชาอู่หลง คือ การเก็บใบที่ 2 - 3 จากยอดบนสุด แต่ใบจะแก่เล็กน้อยเมี่ยง คือ การเก็บใบแก่เพียงครึ่งใบ

กระบวนการผลิตชา เริ่มจากนำใบชาสดไปคั่วในเครื่องคั่วชา ครั้งละ 34-45 กก. อุณหภูมิต้องไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส ซึ่งชาวบ้านจะใช้มืออังตามความรู้สึก รอเครื่องคั่วช้าหมุนคั่ว 5-7 นาที จะนำชาออกมาเข้าเครื่องนวดคล้ายการบีบอัดอีก 10 นาที จะกลายเป็นใบชากรอบ 

วิถีชีวิตชนเผ่า โดยชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อนจะมีประเพณีที่แตกต่างกันไป ได้แก่

  • บ้านคนเมือง จะมีประเพณีสงกรานต์ ยี่เป็ง เข้าพรรษา ตานข้าวใหม่ และการเลี้ยงผีบ้าน
  • บ้านลีซู จะนับถือผีป่า จะมีประเพณีการเลี้ยงผีป่า ผีบ้าน กินข้าวใหม่
  • บ้านสองแคว จะเป็นบ้านจีน นับถือเจ้าแม่กวนอิม การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ประเพณีตรุษจีน วันไหว้พระจันทร์ วันสารทจีน
  • บ้านอาข่า จะนับถือศาสนาคริสต์ และมีวันคริสต์มาส กินข้าวใหม่

บ้านโป่งน้ำร้อน เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคม การนับถือศาสนา จึงมีทั้งศาสนาพุทธ และคริสต์ นอกจากนี้คนในชุมชนยังนับถือผี และมีความเชื่อที่นับถือกันมาอย่าง ช้านาน เช่น

- ผีปู่ย่า คือ เป็นผีบรรพบุรุษต้นตระกูล มีการเลี้ยงผีปู่ปีย่าทุกปี หากทำผิดประเพณีต่างตระกูลก็ถือว่าผิดผี

- ผีป่าปีนางไม้ คือ ผีที่สิงห์สถิตย์อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ หากใครลบหลู่หรือคิดทำลายก็จะส่งผลให้คนๆนั้นไม่สบาย

- ผีตายโหง คือ ผู้ที่เสียชีวิตโดยถูกกระทำ จะเป็นผีที่ขอส่วนบุญจากคนเป็น

- หมอผี คือ ผู้ที่ทำพิธีกรรมทางผี เช่น ปราบผี เลี้ยงผี บนบานศาลกล่าว เป็นต้น

- ร่างทรง คือ ผู้ที่สามารถสื่อสารระหว่างคนเป้นกับคนตายได้ ตามหาสิ่งของที่หายให้กลับคืนมาได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

ติดริมแม่น้ำกก มีบ่อน้ำพุร้อนซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และมีพื้นที่สำหรับการปลูกชา 

ทุนทางธรรมชาติ

น้ำตกห้วยแก้ว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่  ซึ่งแวดล้อมไปด้วยป่าอันสมบูรณ์ จึงทำให้มีน้ำไหลแรง ตลอดปี ตั้งอยู่บริเวณบ้านโป่งน้ำร้อน หมู่ที่ 7 มีทั้งหมด 3 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกัน มีมุมถ่ายรูปที่สวยงาม(โดยเฉพาะชั้นที่ 3) ซึ่งเป็นที่ถูกใจนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และบริเวณใกล้น้ำตกมีสวนชาที่กว้างใหญ่และสวยงาม มีบ้านชาวเขาเผ่าอาข่า ลีซอ และจีนฮ่ออาศัยอยู่ การเดินทางสามารถมาจากทางบ่อน้ำพุร้อนผาเสริฐ หรือจะมาจากทางตัวเมืองเชียงราย ก็ได้และจากตัวเมืองเชียงรายเป็นถนนลาดยาง 14 กิโลเมตร และถนนหินคลุก 6 กิโลเมตร

ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการรักษาแบบพื้นบ้าน จักรสาน ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และเมี่ยงชา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความพิเศษของชุมชน

เป็นชุมชนที่มีความเงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน มีอากาศที่ปลอดโปร่ง มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การท่องเที่ยว บ่อน้ำพุร้อนผาเสริฐ ตั้งอยู่บริเวณริมลำห้วยโป่งน้ำร้อน บ้านผาเสริฐพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย บ่อน้ำพุร้อนผาเสริฐ สามารถเปิดบริการอาบน้ำแร่เพื่อสุขภาพแบบบ่อรวมกลางแจ้งขนาดใหญ่ อาคารอาบน้ำแร่แบบบ่อแยกอาบน้ำแร่ระบบสปา จำนวน 4 อาคาร 11 ห้อง บริการนวดแผนไทย บริการให้เช่าเต้นท์พักแรม การจัดแคมป์ไฟเป็นหมู่คณะ นอกจากนี้ยังได้จัดทำท่าเรือบ้านผาเสริฐ ให้นักท่องเที่ยวที่ล่องแพตามลำน้ำกกมาจากบ้านท่าตอน หรือโดยสารเรือหางยาวนำเที่ยวชมทัศนียภาพขึ้น-ล่องตามลำน้ำกก ได้แวะพักมาใช้บริการอาบน้ำแร่ เที่ยวน้ำตกหรือเที่ยวหมู่บ้านชาวเขาที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย

เส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ (เส้นทางเดินป่า)

การสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาเส้นทางธรรมชาติ (เส้นทางเดินป่า) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและได้มีการสำรวจครั้งแแรกในช่วงการดำเนินงานของโครงการวิจัยระยะที่ 1 ซึ่งการสำรวจเส้นทางในครั้งนี้เพื่อศึกษาความพร้อม และพัฒนาเส้นทางให้สามารถเป็นเส้นทางที่ท่องเที่ยวได้ จากการสำรวจในครั้งนี้ทีมวิจัยพร้อมกับชาวบ้านสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวได้ร่วมมือร่วมแรงกัน ในการพัฒนาเส้นทาง ตัดถางหญ้าที่ขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวจากสัตว์มีพิษต่างๆ ได้ และจากการสำรวจเส้นทางในครั้งนี้พบว่า เส้นทางเดินป่าดังกล่าวซึ่งเคยเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยทาก ซึ่งอยู่ตามรายทางเป็นจำนวนมากได้หายไป ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ว่าเป็นผลมาจากการเลี้ยงวัวแลลปล่อยของชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านจะนิยมเลี้ยงวัวแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ซึ่งเส้นทางต่างๆ ที่มีวัวเดินผ่านหรืออาศัยอยู่จะเป็นที่อยู่อาศัยของทากที่รอดูดเลือดของวัวเป็นอาหาร แต่เมื่อในปัจจุบันมีการเลี้ยงวัวทำให้ทากหายไปหาอาหาร และอยู่อาศัยแหล่งอื่น นอกจากนี้ การสำรวจเส้นทางยังพบว่าเส้นทางท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่มีความพร้อม และมีจุดพักผ่อนสำหรับนักท่องเที่ยวที่สะดวกขึ้น อันเป็นผลมาจากการย้ายที่อยู่ของทาก ทั้งนี้ช่วงเวลาการท่องเที่ยวเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติควรจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากเส้นทางจะอยู่ในความพร้อมไม่ลำบากเกินไปนัก มีอากาศที่เย็นสบาย และมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม

เดชา เตมิยะ และคณะ. (2553). รายงานการวิจัยรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วมทั้ง 4 บ้าน ของชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อน ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 1. กรุงเทพฯ : สกว.

เดชา เตมิยะ และคณะ. (2555). รายงานการวิจัยรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วมทั้ง 4 บ้าน ของชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อน ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2. กรุงเทพฯ : สกว.

บ่อน้ำพุร้อนผาเสริฐ ได้ไปสักครั้งรับรองไม่อยากจะกลับบ้านเลย. (2563). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://www.thegorb.com/2020/12/02/บ่อน้ำพุ ร้อนผาเสริฐ-ได้.

บุญญานุช เริ่มภักดี. (2559). บ้านโป่งน้ำร้อนชีวิตที่คนเมืองไม่รู้จัก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://www.posttoday.com/life/travel/453708. 

ปิ่น บุตรี. (2559). เชียงรายรำลึก บ้านโป่งน้ำร้อนต่อนยอนวิถีเมี่ยง พอเพียงตามรอยพ่อ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://mgronline.com/travel/detail/9590000116048.

โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนโปร่งน้ำร้อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://forums.chiangraifocus.com/?topic=142371.0;wap2.