.
ประวัติของบ้านท่าหลุกได้มีที่มาจากวัดท่าหลุก โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยก่อนนั้นตั้งชื่อว่า “คุ้มบ้านสังค์ศรีงาม” เป็นคุ้มของเจ้านาย คุ้มที่ 1 คุ้มที่ 2 คุ้มที่ 3 ต่อๆกัน เป็นคุ้ม ที่อยู่ของเจ้านายนามสกุล ณ เชียงใหม่ และข้าทาสบริวารคนใช้ของเจ้านาย มีประมาณ 11 คุ้ม มีวัดประจำ 1 วัด คือวัดศรีสังศ์ศรีงาม สถานที่นี้มีบ้านที่อุดมไปด้วยพืชพันธ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ต่อมาวัดเก่าได้ชำรุดทรุดโทรมไปจึงย้ายไปตั้งวัดอื่นเรียกว่า “วัดสันกำแพงงาม” แบ่งทุ่งนาเป็น 2 แห่ง แห่งที่ 1 เรียกว่า ทุ่งปูเลย แห่งที่ 2 เรียกว่า ทุ่งทองกวาว ทุ่งนาทั้ง 2 แห่งนี้เต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิด เช่น ต้นดอกทองกวาว ดอกแค เจ้านายก็ช่วยกันกับบ้าวไพร่ขุดลำเหมืองเอาน้ำ เข้านาทำสวน ต่อมาไม่นานราษฎรเพิ่มขึ้นอยู่ด้วยกันอย่างหนาแน่น เพราะด้วยเหตุแห่งความเจริญงอกงาม เจ้านายก็บอกป่าวแก่ราษฎรประชาชนให้ขุดลำเหมือง เช่น ลำเหมืองวังราว ลำเหมืองกู่ แล้วย้ายมาสร้างวัดใหม่เรียกว่า "วัคศรีงาม" อยู่มาไม่นานจากนั้นก็ยุบไป ต่อมาน้ำที่จะทำนาไม่พอ เจ้านายกับราษฎรจึงพร้อมใจกันขุดลำเหมืองขึ้นมาอีกแห่งจากแม่น้ำปิง ทำเป็นหลุกปันน้ำขึ้นมาใช้ในทุ่งนาทองกวาว โดยทำเป็นเหมือนหลุก ต่อมาฟ้าผ่าทุ่งนาทองกวาว จึงเรียกว่าทุ่งฟ้าผ่า และได้เปลี่ยนชื่อวัดศรีงามเป็นวัดท่าหลุก และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมาคือต้นไม้ผีเสื้อหลวง เกิดขึ้นที่วัดร้าง จึงได้ชื่อว่า บ้านสันผีเสื้อ และได้เอานามต้นไม้ผีเสื้อหลวงเป็นชื่อของตำบลสันผีเสื้อ ส่วนหลุกนั้นแปลตามภาษาไทยว่า "กังหันวัดน้ำ" จึงเรียกกันว่าวัดท่าหลุก มาจนถึงทุกวันนี้
วัดท่าหลุกสร้างเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2319 และในปี พ.ศ. 2481 ได้สร้างโรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทรายซึ่งบ้านท่าหลุกได้มี วัดท่าหลุกเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อมาในปี 2536 ได้สร้างสถานีอนามัยของบ้านท่าหลุก เริ่มเปิดให้บริการโดยดูแลประชาชน หมู่ 6, 7, 8, 9
บ้านท่าหลุก หมู่ 7 ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท พื้นที่เป็นสันดอนติดกับแม่น้ำปิง ถนนทุกเส้นในหมู่บ้านราดยางมะตอย มีการคมนาคมสะดวก และมีแหล่งอำนวยความสะดวกอยู่ใกล้หมู่บ้าน มีสถานบริการสุขภาพของประชาชนคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสันผีเสื้อ อยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลสันผีเสื้อ ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับหมู่ 6 บ้านท่าเดื่อ
ทิศตะวันออก ติดกับหมู่ 9 บ้านสันผีเสื้อสามัคคี
ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำปิง
ทิศใต้ ติดกับหมู่ 9 บ้านสันผีเสื้อสามัคคี
จากข้อมูลการสำรวจของเทศบาลตำบลสันผีเสื้อ ปี 2560 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านท่าหลุก จำนวน 248 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 829 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 406 คน หญิง 423 คน ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวรมีการจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบสะอาด ภายในหมู่บ้านมีวัด โรงเรียนและสถานีอนามัย
เครือญาติตระกูลดั้งเดิม
ตระกูลพันธ์ชัยศรี เป็นตระกูลดั้งเดิมที่มาตั้งรกรากอาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่าหลุก ส่วนใหญ่คนในตระกูลพันธ์ชัยศรี มีอาชีพรับจ้างและทำกลอง ซึ่งได้การรับสืบทอดกันมายาวนานจากบรรพบุรุษตระกูลพันธ์ชัยศรี เป็นตระกูลดั้งเดิมที่มีสมาชิกจำนวนมาก โดยต้นตระกูล คือ นายอ้าย พันธ์ชัยศรี ซึ่งได้แต่งงานกับนางแดง พันธ์ชัยศรี มีบุตรด้วยกัน จำนวน 6 คน คือ
1. นายยืน พันธ์ชัยศรี
2. นายติ๊บ พันธ์ชัยศรี
3. นายตั๋น พันธ์ชัยศรี
4. นางเกี้ยว พันธ์ชัยศรี
5. นางปา พันธ์ชัยศรี
6. นางจั๋น พันธ์ชัยศรี
สมาชิกในครอบครัวมีความรัก ความสามัคคี มีความสนิทสนม และรักใคร่กันดี คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ลูกหลานก็จะมารดน้ำดำหัว ผู้สูงอายุที่เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของตระกูลเป็นประจำทุกปี
ผู้คนในชุมชนบ้านท่าหลุก ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย ภายในหมู่บ้านจะมีแรงงานของหมู่บ้านที่มีทักษะฝีมือ ทำกลอง และช่างยนต์ และในชุมชนจะมีการรวมกลุ่มกันดังนี้
1. กลุ่ม อสม.
2. กลุ่มสตรีแม่บ้าน
3. กลุ่มผู้สูงอายุ
4. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
5. กลุ่มฌาปนกิจศพ
ในรอบปีของผู้คนบ้านท่าหลุกจะมีประเพณี เทศกาลประจำปี ที่เป็นวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนดังนี้
1. งานตามศาสนา เช่น วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น
2. เลี้ยงเสื้อบ้านในเดือน มิถุนายน
3. ประเพณีขี่เป็งในดือน พฤศจิกายน
4. ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ในเดือนเมษายน
5. ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาในเดือน กรกฎาคม
นายทองสุข วิชัยวงศ์ ตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทราย เป็นผู้ขยายพื้นที่โรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทราย เนื่องจากโรงเรียนที่อยู่ในวัดท่าหลุก คับแคบและไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน โดยในปี พ.ศ. 2513 ได้ร่วมกับคณะกรรมการศึกษาโรงเรียน ขออนุมัติต่อสภาตำบลสันผีเสื้อ เพื่อขอพื้นที่สุสานบ้านสันทราย ซึ่งอยู่ติดกับสุสานบ้านท่าหลุก ทางทิศใต้ ประมาณ 3 ไร่เศษ ให้เป็นสถานที่ของโรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้ขยายพื้นที่โรงเรียนเพิ่ม โดยได้ขอซื้อที่นาของนายจันทร์ สมชัย เพิ่มเติมอีกประมาณ 2 ไร่เศษ รวมเป็นเนื้อที่ของโรงเรียนในปัจจุบันนี้ทั้งหมด 5 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา
ทุนวัฒนธรรม
ประชากรในหมู่บ้านท่าหลุก ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดท่าหลุก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้าน และมีกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี เทศกาลที่จัดขึ้นทุกปี เช่น ประเพณีเข้าออกพรรษา ประเพณีเลี้ยงเสื้อบ้าน ประเพณียี่เป็ง ประเพณีปี๋ใหม่เมือง เป็นต้น
คำเมือง สำเนียงล้านนาตะวันตก ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เป็นต้น คำเมืองมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ รัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 7–9 ได้สั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและคำเมืองในที่สาธารณะ และให้เผาตำราเรียนในภาษาล้านนา เพื่อทำลายรากเหง้าท้องถิ่นหลังผนวกล้านนาเข้ากับตน แต่คำเมืองยังคงได้รับการใช้งานในชีวิตประจำวันสืบ ๆ มา
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน จากอดีต-ปัจจุบัน ทั้งด้านความเชื่อ วัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษา การเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาจะเป็นที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะที่ผ่านมาชุมชนได้อาศัยศาลาบาตรของวัดเป็นที่เรียนหนังสือ โดยมีชื่อว่าโรงเรียนวัดท่าหลุก ต่อมาศาลาบาตรที่ใช้เป็นอาคารเรียนได้ชำรุดทรุดโทรมลง ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างอาคารเรียนชั้นเดียวหลังใหม่แทนศาลาบาตร ใช้ชื่อ อาคารเรียน “ราษฎร์สามัคคี” ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่เพิ่ม และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทราย
ในชุมชนบ้านท่าหลุก มีจุดน่าสนใจอื่นๆ เช่น ร้านเรือนแพ 2 , ร้านครัวคำหวาน, ศูนย์การค้าภานนสตรีท,แหล่งท่องเที่ยวกาดท่าน้ำ
กมลทิพย์ ก้อนแก้ว, กรวรรณ งามเสงี่ยม, จารุวรรณ หน่อแนวอ้าย, ดวงเดือน ยืนยงคีรีมาศ, ธเนศ ปาลี, ปภาวิน ประเสริฐกุล และมลฤดี จันทร์ศิริ. (2560). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน บ้านท่าหลุก หมู่ที่ 7 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. วิชาการพยาบาลชุมชน.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.