Advance search

การส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาไทย อาทิ ปรัชญาการแพทย์แผนไทย การนวด การพอกตา การแช่มือแช่เท้า การอบตัว การเผายา การตอกเส้น การย่ำขางย่างแคร่ การนั่งถ่านและเข้ากระโจม รักษาโรคต่างๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กลุ่มภูมิแพ้ทางเดินหายใจและผิวหนัง และกลุ่มออฟฟิศซินโดรม โดยโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ได้ดำเนินการให้บริการทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ด้วยหลักในการบริหารรงพยาบาลสร้างสุข 3 ดี 4 เสา ได้แก่ บริการดี สิ่งแวดล้อมดี และบริหารจัดการที่ดี ด้วยหลักธรรมมาภิบาลเพื่อให้ตำบลดอนแก้วเป็นตำบลสุขภาวะดี ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา

ม.7
สันเหมือง
ดอนแก้ว
แม่ริม
เชียงใหม่
ศศิกานต์ ลีรัชฎศิริกุล
27 ม.ค. 2019
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
3 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
7 พ.ค. 2023
บ้านสันเหมือง

เดิมมีพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านศาลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้แยกออกมาตั้งเป็น บ้านสันเหมือง หมู่ที่ 7 เหตุที่ใช้ชื่อ "สันเหมือง" เนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นพื้นที่ดอน มีน้ำชลประทานไหลผ่าน และมีลักษณะคล้ายๆคันเหมืองกั้นลำน้ำไว้ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "สัน" จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า " สันเหมือง"


การส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ภูมิปัญญาไทย อาทิ ปรัชญาการแพทย์แผนไทย การนวด การพอกตา การแช่มือแช่เท้า การอบตัว การเผายา การตอกเส้น การย่ำขางย่างแคร่ การนั่งถ่านและเข้ากระโจม รักษาโรคต่างๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กลุ่มภูมิแพ้ทางเดินหายใจและผิวหนัง และกลุ่มออฟฟิศซินโดรม โดยโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ได้ดำเนินการให้บริการทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ด้วยหลักในการบริหารรงพยาบาลสร้างสุข 3 ดี 4 เสา ได้แก่ บริการดี สิ่งแวดล้อมดี และบริหารจัดการที่ดี ด้วยหลักธรรมมาภิบาลเพื่อให้ตำบลดอนแก้วเป็นตำบลสุขภาวะดี ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา

สันเหมือง
ม.7
ดอนแก้ว
แม่ริม
เชียงใหม่
50180
18.85772
98.697238
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว

บ้านสันเหมือง หมู่ที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เดิมมีพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านศาลา หมู่ที่ 3 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้แยกออกจากบ้านศาลา มาตั้งเป็น หมู่ที่ 7 บ้านสันเหมือง เหตุที่ใช้ชื่อ " สันเหมือง" เนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นพื้นที่ดอน มีน้ำชลประทานไหลผ่าน  และมีลักษณะคล้ายๆ คันเหมืองกั้นลำน้ำไว้ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า  "สัน"  จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "สันเหมือง" ซึ่งขณะนั้นมีครัวเรือนจำนวน 172 ครัวเรือน มีประซากร 832 คน มีบ้านจัดสรรอยู่ในความรับผิดชอบคือ หมู่บ้านแม่ปิงวิลล่า และหมู่บ้านแม่ริมวิลเลจ

ปี พ.ศ. 2543 องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ได้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมตำบลดอนแก้ว โดยได้คัดเลือกนายอิ่นแก้ว บุญสูง ชาวบ้านสันเหมือง เป็นประธานสภาวัฒนธรรม

ปี พ.ศ. 2545 ชุมชนบ้านสันเหมือง ได้จัดทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน และได้จัดทำโครงการคัดแยกขยะในชุมชน  เนื่องจากในชุมชนมีขยะจำนวนมาก ส่งผลให้ได้รับคัดเลือกจากสำนักประชาสัมพันธ์เขตสาม         จังหวัดเชียงใหม่  ให้ได้รับรางวัล " ชุมชนถังขยะทองคำ"

ปี พ.ศ. 2548 เกิดกลุ่มอาสาสมัครพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

ปี พ.ศ. 2599 เกิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักสงฆ์สันเหมืองประชาราม

ปี พ.ศ. 2550 นายมานพ สุวรรณชมภู ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน เกิดการเลือกตั้งใหม่โดยนายมนัส สุวรรณชมภู ได้รับคัดเลือก

ปี พ.ศ. 2554 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว  เขตชุมชนบ้านสันเหมือง หมู่ที่ 7 โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือก คือ นายธนาวุฒิ บุญสูง และนายเชาว์ พงษ์ตะวัน

ปี พ.ศ. 2555 โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้วย้ายที่ทำการโรงพยาบาลชุมชนบ้านป่าแงะหมู่ที่สี่มาตั้งอยู่ในชุมชนบ้านสันเมืองหมู่ที่เจ็ดและมีการเปิดบริการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นระบบแพทย์ทางเลือกสำหรับประชาชนตำบลดอนแก้ว

นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2555 ชาวบ้านชุมชนบ้านสันเมือง  ได้ระดมทุนในการจัดซื้อที่ดินจำนวนสามไร่บริเวณหลัง สำนักสงฆ์สันเมืองประชารามถวายพระสงฆ์  เพื่อให้สำนักสงฆ์มีพื้นที่หกไร่ซึ่งสามารถดำเนินการจดทะเบียนเป็นวัดในอนาคต

ปี พ.ศ. 2557 เกิดโรงเรียนฮอมสุข (ผู้สูงอายุ) โดยการใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมในสำนักสงฆ์สันเมืองประชาราม  และมีการเริ่มสร้างศาลาประชาคมประจำหมู่บ้าน

ปี พ.ศ. 2558 เกิดธนาคารกายอุปกรณ์ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ  เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุได้หยิบอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นความจำนงกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อขอเลื่อนสถานะจากสำนักสงฆ์เป็นวัด

ปี พ.ศ. 2560 จัดทำเวทีประชาคม (ข่วงกำกึ๊ด) เพื่อวางแผนและหาข้อตกลงเรื่องการจัดทำโครงการประชารัฐ  ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โดยที่ประชุมมีมติให้ใช้งบประมาณในการปรับปรุงระบบประปาประจำหมู่บ้าน

บ้านสันเหมืองตั้งอยู่ในตำบลดอนแก้ว อยู่ในทางทิศใต้ ของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางมายังหมู่บ้าน โดยใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล ระยะทางจากหมู่บ้านไปยังอำเภอ 8 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้เส้นทางเชียงใหม่ - แม่ริม เดิมที่เส้นทางคมนาคม เป็นถนนลูกรัง ต่อมา ปี พ.ศ. 2520 เปลี่ยนเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กของ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว มีสภาพใช้การได้ดีมีการปรับปรุงอาณาเขตติดต่อทิศเหนือ   ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านศาลา ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ทิศใต้             ติดกับ หมู่ที่ 6 บ้านป่ารวก ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ทิศตะวันออก     ติดกับ แม่น้ำปิงทิศตะวันตก       ติดกับ หมู่ที่ 4 บ้านป่าแงะ และหมู่ที่ 10 บ้านพระเจ้า นั่งโก๋น ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่สภาพประชากรจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 320 หลังคาเรือนบ้านดั้งเดิม 146 หลังคาเรือนบ้านเช่าและหอพัก         50 หลังคาเรือนบ้านจัดสรร 124 หลังคาเรือนจำนวนหลังคาเรือนที่เก็บข้อมูล         102 หลังคาเรือนจำนวนประชากรทั้งหมด         328 คนจำนวนประชากรชาย         154 คนจำนวนประชากรหญิง           174 คนสภาพสังคมทั่วไป ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม โดยมากเป็นที่นาและสวนผลไม้ เช่น ลำไย มะนาว ตามริมแม่น้ำปิง ชาวบ้านในหมู่บ้านค่อนข้างที่จะรู้จักกันมาก เนื่องจากเมื่อออกไปทำเกษตร จะมีการพบปะพูดคุยหรือรับประทานอาหารร่วมกัน จึงมีความสัมพันธ์ที่ดีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอ ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนามากขึ้น พื้นที่ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่อยู่บ้านเดี่ยว มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น มีทั้งแบบปูน แบบไม้ สร้างขึ้นแบบสมัยใหม่ รวมไปถึงบ้านจัดสรรรอบๆ หมู่บ้าน หอพัก และบ้านเช่า การติดต่อกันภายในหมู่บ้านจึงน้อยลงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านลดลง เนื่องจากอาชีพการทำงานที่เปลี่ยนไปเป็นรับจ้าง รับราชการ หรือค้าขายมากขึ้นเวลาที่พบปะพูดคุยจึงน้อยลง ภายในหมู่บ้านไม่มีสถานศึกษา การจะส่งบุตรไปศึกษานั้น มักจะไปรับส่งการศึกษาที่โรงเรียนบ้านศาลา ต่อมาจึงเริ่มส่งบุตรไปศึกษาโรงเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่มากขึ้น เช่น วัฒโนทัยพายัพ ยุพราชวิทยาลัย มงฟอร์ตวิทยาลัย เป็นต้น ส่วนทางหน่วยงานราชการที่มีอยู่ในหมู่บ้าน คือ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน  ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 59 ม.7 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ด้านสาธารณูปโภคเดิมบ้านสันเหมืองใช้น้ำบ่อในการอุปโภคบริโภค แต่น้ำที่ใช้ดังกล่าวยังไม่ได้มาตรฐานความสะอาด จึงใช้น้ำประปาจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วร่วมกับหมู่ 4 และ หมู่10 โดยมี นางสมศรี คำโพธิ์ เป็นผู้เก็บรวบรวมเงินค่าน้ำประปาไปให้ นายเสน่ห์ หอมสะอาด เพื่อนำไปจ่ายให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วต่อมาได้มีการประปาส่วนภูมิภาคเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านบางส่วนจึงได้ใช้น้ำประปาดังกล่าวด้วย ในปี 2561 ทางหมู่บ้านหมู่ 7 จึงได้จัดทำประปาของหมู่บ้านสันเหมืองขึ้น  ซึ่งต้นน้ำจะอยู่ที่วัดสันเหมือง โดยได้งบประมาณมาจากกองทุนหมู่บ้าน และประชารัฐ แต่ในปัจจุบันน้ำประปาของหมู่บ้านยังใช้ได้ไม่ทั่วถึง ในหมู่บ้านจึงใช้น้ำประปาจาก 3 แหล่ง คือ น้ำประปาส่วนภูมิภาค น้ำประปาจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว และน้ำประปาจากหมู่บ้านหมู่ 7 บ้านสันเหมือง  โดยใช้น้ำประปาเพื่อการอุปโภค คิดเป็น 89.2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมดและใช้น้ำประปาเพื่อการบริโภค คิดเป็น 11.8 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด ส่วนไฟฟ้าถูกนำเข้ามาใช้ในหมู่บ้านประมาณปี พ.ศ. 2502 ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ หมู่ 3โดยมีผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ทำเรื่องขอไฟฟ้ากับทางหน่วยงานรัฐบาล ศาลาประชาคมประจำหมู่บ้านหรือศาลากลางบ้านหรือศาลาอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญตั้งอยู่ใจกลางของหมู่บ้าน ติดกับถนนสายหลักที่คนในชุมชนนิยมใช้สัญจรไปมา เป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับการประชุมการทำประชามติ การแจกเบี้ยยังชีพคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชนเป็นแหล่งข้อมูลชุมชน และยังเป็นที่ตั้งของสถานีกระจายเสียงประจำหมู่บ้าน
จากข้อมูลการสำรวจขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ปี 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านสันเหมือง จำนวน 320 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 696 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 324 คนหญิง 368 คน  ประชากรหมู่บ้านจะรวมประชากรที่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรไว้ด้วย ปัจจุบันสภาพโดยทั่วไปของหมู่บ้านได้เปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน การดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นแบบเรียบง่ายและพึ่งพาอาศัยกัน อยู่ร่วมกันแบบระบบเครือญาติ มีการช่วยเหลือกันของคนในหมู่บ้าน มีการร่วมทำกิจกรรมในหมู่บ้านและกิจกรรมที่หมู่บ้านใกล้เคียงจัดขึ้น เครือญาติตระกูลดั้งเดิมตระกูลบุญสูง เป็นตระกูลเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านสันเหมืองมานาน เป็นตระกูลใหญ่มีลูกหลานหลายคน ปัจจุบันลูกหลานได้แยกครอบครัวออกมาแต่ก็ยังคงอาศัยอยู่ภายในหมู่บ้าน ตระกูลบุญสูงเริ่มจากนายอ้ายสมรสกับนางจันทร์สม ปัจจุบันเสียชีวิตทั้งคู่ด้วยโรคชรา และโรคมะเร็งกล่องเสียงตามลำดับ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 6 คน ความสัมพันธ์ด้านเครือญาติตระกูลสุวรรณชมภู ได้แก่ บ้านเลขที่ 59,55, 72, 76, 138 และ 132 โดยตระกูลสุวรรณชมภู มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำตั้งแต่การก่อตั้งหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านสันเหมือง และเป็นแกนนำหลักในการ พัฒนาหมู่บ้านและชุมชน

ผู้คนในชุมชนบ้านสันเหมือง มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ 

เป็นการรวมตัวของกลุ่มที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน โดยมีกลุ่มที่เป็นทางการทั้งหมด 13 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มผู้นำชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน

2. กลุ่มประปา

3. กลุ่มชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน (ชรบ.)

4. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)

5. กลุ่มหนุ่มสาว

6. กลุ่ม SML

7. กลุ่มแม่บ้าน

8. กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ

9. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน

10. กลุ่มฌาปนกิจ

11. กลุ่มวัฒนธรรม

12. กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน

13. กลุ่มอาสาสมัครไฟป่า

กลุ่มไม่เป็นทางการ

กลุ่มอาสาสมัครเก็บขยะ : ปี พ.ศ. 2543 อบต. ดอนแก้วได้มีการจัดทำโครงการคัดแยกขยะ โดยให้ชาวบ้านนำขยะมาทิ้งบริเวณที่ทิ้งขยะภายในหมู่บ้านที่ทาง อบต. จัด แต่ภายหลังพบว่า ประชาชนในหมู่บ้านไม่สามารถนำขยะมาทิ้งตรงจุดทิ้งขยะได้ เนื่องจากหลายๆสาเหตุ  จึงมีหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาจัดเก็บ ทาง อบต. จึงได้จัดเวทีประชาคม  เพื่อให้ประชาชนได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหานี้ จึงได้ข้อสรุป จัดตั้งอาสาสมัครเก็บขยะขึ้นในปี พ.ศ. ในปี 2556 โดยอาสาสมัครเก็บขยะจะมีหน้าที่ในการเก็บขยะตามบ้านต่างๆที่ได้แยกไว้แล้วมารวมไว้ที่จุดเก็บขยะภายในหมู่บ้าน เพื่อให้ทาง อบต. ได้กำจัดต่อไป โดยสมาชิกอาสาสมัครเก็บขยะหมู่ 7 มีทังหมด 3 คน แต่ละคนจะรับผิดชอบเก็บขยะคนละ 50 หลังคาเรือน และได้ค่าตอบแทนจำนวน  3,000 บาทต่อเดือนและได้ค่าน้ำมันรถ 200 บาทต่อเดือน

ในรอบปีของผู้คนบ้านสันเหมือง มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

1. พนักงานลูกจ้าง จะแบ่งเป็น รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ประชาชนที่ทำงานเป็นลูกจ้าง จะมีระยะเวลาการทำงานคือ 7.00 น. ถึง 17.00 น. ซึ่งจะทำงานตลอดทั้งปีและมีวันหยุดที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะหยุดวันอาทิตย์

2.  รับจ้างทั่วไป ของหมู่บ้านนี้ ส่วนใหญ่จะมีเวลาที่ไม่แน่นอน แต่ทำงานตลอดปี

3.  อาชีพค้าขายในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีทั้งร้านขายของชำ ร้านอาหาร โดยอาชีพนี้จะทำตลอดปี

4.  รับราชการ ส่วนใหญ่จะทำงานภายนอกหมู่บ้าน ตามหน่วยงานราชการต่างๆ ระยะเวลาการทำงานคือ 8.00 น. ถึง 16.00 น. ซึ่งจะหยุดในวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

5.  ธุรกิจส่วนตัว การประกอบธุรกิจส่วนตัวในหมู่บ้านจะประกอบกิจการบ้านเช่า ซึ่งจะทำตลอดปี

6.  อาชีพเกษตรกรในหมู่บ้านนี้จะปลูกพืชผลทางการเกษตรหมุนเวียนกันไปตลอดปี โดยจะปลูกพริกช่วงเมษายนถึงเดือนมิถุนายน และปลูกกะหล่ำปลีช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ซึ่งอาชีพนี้จะมีประชากรส่วนน้อยที่ยังทำอยู่

กิจกรรมด้านวัฒนธรรมสังคม

1.  ประชุมหมู่บ้านประจำเดือน  จะจัดขึ้นทุกเดือน เพื่อปรึกษาหารือเรื่องต่างๆภายในหมู่บ้าน

2. ประชุมกองทุนหมู่บ้านประจำปี จะจัดขึ้นทุก 6 เดือน เพื่อคำนวณจำนวนทุน สรุปยอดต่างๆที่หมุนเวียนภายในกองทุนหมู่บ้าน

3. ประชุม อสม. จะจัดขึ้นในทุก 4 เดือนเพื่อสรุปกิจกรรมที่ทำมาตลอดทั้งเดือน และวางแผนจัดกิจกรรม

ต่างๆต่อไป

4. ประเพณีตานข้าวใหม่  เป็นวันที่ชาวบ้านนำข้าวใหม่ ก่อนจะนำมารับประทาน ไปถวายพระเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับ ที่เป็นเจ้าของนามาแต่ดั้งเดิม รวมถึงเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา ที่ดูแลปกปักษ์รักษาพื้นที่ทำกินของพวกเขา

5.  วันมาฆบูชา  ชาวบ้านมาร่วมกันทำบุญและฟังเทศน์ ฟังธรรม ในตอนเข้าที่วัดสันเหมืองและมีการเวียนเทียนในตอนเย็น

6.  วันสังขารล่อง เป็นวันที่มีความเชื่อว่า จะต้องมีการกำจัดสิ่งอัปมงคลหรือสิ่งไม่ดีออกจากบ้าน ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด

7.  วันเนาว์หรือวันเน่า เป็นวันที่ขาวบ้านยึดเป็นวันที่ห้ามทำในสิ่งที่ไม่ดี

8. วันสงกรานต์ เป็นวันที่ตรงกับวันที่ 13,14 และ 15 ของทุกปี ชาวบ้านจะร่วมกันเล่นนำอย่างสนุกสนาน และทำบุญตักบาตรที่วัดในวันที่ 15

9.  ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ วันนี้ชาวบ้านจะรวมตัวกัน รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุภายในหมู่บ้าน

10. วันพญาวัน  เป็นวันที่ชาวบ้านจะมาร่วมกันลงน้ำพระที่วัด ในช่วงวันสงกรานต์

11. พิธีทำบุญหมู่บ้านหรือสืบชะตาหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญศาลากลางหมู่บ้าน มีการนำเครื่องเซ่นไหว้ไปไว้ที่หัวหมู่บ้านและท้ายหมู่บ้าน  โดยมีความเชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลกับหมู่บ้าน

12. วันวิสาขบูชา  ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และเวียนเทียนในตอนเย็น

13. ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี  เพื่อให้ชาวบ้านมาทำบุญสรงน้ำพระธาตุประจำวัด

14. วันอาสาฬหบูชา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และเวียนเทียนในตอนเย็น

15. เข้าพรรษา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม ในตอนเช้า

16. ทำบุญตักบาตรวันแม่ ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า

17. วันสลากภัตร ชาวบ้านจะร่วมกันนำปัจจัยมาถวายวัด เพื่อให้พระสงฆ์ได้รับปัจจัยที่ชาวบ้านมาถวาย

18. ออกพรรษา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญและฟังเทศน์ฟังธรรมในตอนเช้าและเวียนเทียนในตอนเย็น

19. ตักบาตรเทโว  ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า

20. งานทอดกฐิน  โดยจะจัดในช่วง 1 เดือนหลังจากวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทอดกฐินที่วัดสันเหมืองและฟังเทศนาจากพระ

21. ทอดผ้าป่า  เป็นการทำบุญถวายปัจจัยให้วัดโดยจะจัดขึ้นได้ตลอดทั้งปี

22. วันลอยกระทง ชาวบ้านจะทำบุญที่วัดในตอนเช้า ทำซุ้มประตูป่า และลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคา

23. ทำบุญตักบาตรวันพ่อ ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า

24. สวดมนต์ข้ามปี ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้นไป เพื่อมาร่วมกันสวดมนต์ข้ามปีและทำสมาธิจนถึงพุทธศักราชใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ด้านสาธารณสุข

1.  รณรงค์ไข้เลือดออก การรณรงค์จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ถึงกันยายนโดยมีกลุ่ม อสม. ตรวจแหล่งน้ำขังบริเวณบ้านเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ลูกน้ำยุงลาย แจกทรายป้องกันการแพร่พันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

2.  วันฮอมสุข เป็นวันที่ผู้สูงอายุในตำบลดอนแก้วจะมาตรวจสุขภาพ ทำกิจกรรม ฟังเทศน์ ฟังธรรมในทุกวันพฤหัสบดีที่วัดสันเหมือง โดยเป็นกิจกรรมที่จัดโดย กลุ่ม อสม. วัด และอบต.ดอนแก้วจัดกิจกรรมร่วมกัน

3.  วันคนพิการ เป็นวันที่คนพิการในตำบลดอนแก้วมาทำกิจกรรม เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ทำกายภาพโดยทำทุกวันศุกร์ ที่วัดสันเหมือง

4.  Care giver เป็นกิจกรรมที่กลุ่ม อสม. จะออกเยี่ยมกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงในหมู่บ้านสันเหมืองทุกอาทิตย์

5.  โครงการ "ถักทอสายใยอุ่นไอรัก ผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในตำบลดอนแก้วมาทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมที่จัด เช่นกีฬา การแสดง เป็นต้น

นายอิ่นแก้ว บุญสูง อายุ 74 ปี ตำแหน่งที่ปรึกษาสภาหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านสันเหมือง อำเภอแม่ริม ตำบลดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เกิดวันที่ 13 กรกฎาคม 2488 เป็นบุตรคนที่สาม สมรสกับ นางพรรณณี บุญสูง มีบุตรด้วยกัน 2 คน  ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 7 บ้านสันเหมือง อำเภอแม่ริม ตำบลดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ พื้นเพเดิมอาศัยอยู่ที่อยู่ปัจจุบันมาตั้งแต่เกิด บิดามารดาประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม

กิจกรรมที่โดดเด่นที่ผู้นำชุมชนได้จัดทำ

คุณตาอิ่นแก้ว เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการคัดแยกขยะของหมู่บ้าน เดิมทีขยะทุกประเภทภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะกำจัดด้วยการเผา ทำให้เกิดปัญหาเรื่องฝุ่นควัน คุณตาและคณะจึงได้เริ่มคัดแยกขยะในปี พ.ศ. 2543 โดยมีพี่ชายคือ นายทองคำ บุญสูง เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลในสมัยนั้น ร่วมสนับสนุน โดยไปศึกษาดูงานการคัดแยกและกำจัดขยะที่จังหวัดพิษณุโลก นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ภายในหมู่บ้าน  มอบหมายให้กลุ่มต่างๆภายในหมู่บ้าน ทั้งหมด 8 กลุ่ม กลุ่มละ 8 - 10 หลังคาเรือน คัดเลือกหัวหน้าภายในกลุ่ม นำหัวหน้ากลุ่มมาประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องขยะประเภทต่างๆ และเริ่มแก้ปัญหาในส่วนของขยะเปียกก่อน โดยได้ข้อสรุปว่าครัวเรือนใดที่มีการเลี้ยงสัตว์  เช่น  ไก่  หมู  ให้นำเอาขยะเปียกไปให้สัตว์เลี้ยงกิน  หากไม่มีสัตว์เลี้ยง  ให้นำไปทำปุ๋ย   โดยใช้ถังชีเมนต์สำหรับใส่เศษอาหารและเศษใบไม้กลบทับ หรือขุดร่องดินใส่เศษอาหารและกลบด้วยเศษใบไม้ หรือทำเสวียนล้อมรอบต้นไม้ ใส่เศษอาหารและกลบด้วยใบไม้เช่นเดียวกัน ให้แต่ละครัวเรือนเลือกใช้วิธีกำจัดขยะเปียกที่เหมาะสมตามบริบท ส่วนขยะแห้งให้ชาวบ้านนำมารวมไว้ที่ใดที่หนึ่งของหมู่บ้าน จากนั้นคุณตาและพี่ชายจะประสานกับ อบต. ให้มาเก็บขยะ สำหรับขยะที่สามารถขายได้ให้ชาวบ้านนำมารวมที่บ้านของหัวหน้าแต่ละกลุ่ม ทาง อบต. จะมีการจัดทำกรงแยกขยะไว้ตามจุดต่างๆประจำกลุ่ม คุณตาจะจัดให้มีกลุ่มจิตอาสาไปเก็บขยะตามบ้านที่ไม่สะดวกในการนำไปไว้รวมที่บ้านหัวหน้ากลุ่ม  จากนั้นให้เด็กหรือผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัครมาคัดแยกขยะ ซึ่งขยะที่นำไปขายนั้นจะได้เฉลี่ย 1,000 บาท/เดือน เงินที่ได้จะนำไปเป็นทุนการศึกษาหรือช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ หรือปรับปรุงที่จัดเก็บขยะ หรือร่วมทำกิจกรรมในหมู่บ้าน ต่อมามีจิตอาสาเก็บขยะมากขึ้น จึงมีค่าตอบแทนให้คนละ 30 บาท/เดือน โดยมีการจัดเก็บขยะเปียกทุกวัน และขยะแห้งทุกสัปดาห์ จนได้รับรางวัลหมู่บ้านขยะทองคำจากกรมประชาสัมพันธ์ ปี พ.ศ.2543 ซึ่งที่บ้านของคุณตาอิ่นแก้ว ได้รับเลือกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัด ซึ่งจะมีองค์กรจากส่วนอื่นๆมาเยี่ยมชมดูงานอย่างสม่ำเสมอ

โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน (SML) มีคุณตาอิ่นแก้ว เป็นประธานกลุ่ม ได้มีการประชุมและจัดทำโครงการตู้กดน้ำหยอดเหรียญและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญขึ้น ในปี พ.ศ.2554 โดยนำตู้กดน้ำและเครื่องซักผ้าไปไว้ที่จุดศาลากลางบ้าน และหน้าสวนมะลิของนายปัน คำฝั้น ซึ่งสะดวกต่อการไปใช้บริการ และเงินที่ได้จากตู้กดน้ำและเครื่องซักผ้า จะนำไปเป็นทุนการศึกษาหรือช่วยสมทบการทำกิจกรรมของหมู่บ้าน หรือปรับปรุงสาธารณูปโภคของหมู่บ้านให้ใช้งานได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ

ทุนวัฒนธรรม

ประชากรในหมู่บ้านสันเหมือง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ยังมีการจัดงานวันสำคัญทางศาสนา โดยชาวบ้านสันเหมืองจะไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดสันเหมือง ซึ่งเดิมที่เป็นที่รกร้างป่าทึบ สันนิษฐานว่าเป็นวัดร้าง โดยมีสัญลักษณ์ คือ หอเสื้อวัด บ่อน้ำที่อยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์และบ่อน้ำเดิม ซึ่งคนเชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ในสถานที่แห่งนี้ จึงเป็นที่เคารพของคนในพื้นที่เป็นอันมาก และมีคนมาสักการบูชาเป็นจำนวนมาก จึงได้รวมตัวสร้างศาลาสำหรับสักการบูชา ต่อมามีพระสงฆ์ธุดงค์มาพำนักอยู่ที่ศาลา ในปี พ.ศ. 2535 โดยการนำของผู้นำหมู่บ้านและคณะสงฆ์ โดยการนำของพระครูดิเรก สนฺ ติกโร เจ้าอาวาสวัดปิยราม(มรณภาพ)  พระครูโสภณบุญญาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดโสภณาราม  ขณะนั้นตำรงดำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอแม่ริม  ปัจจุบันมรณภาพ และพระอธิการสิทธิศักดิ์ สุนทรโร เจ้าคณะตำบลดอนแก้วและเจ้าอาวาสวัดพระนอน  ปัจจุบันใช้ราชทินนาม พระครูสุนทรพัฒนสิทธิ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งวัดสำนักสงฆ์สันเหมืองประชารามขึ้น โดยมีการบูรณศาลาอเนกประสงค์ กุฏิสงฆ์เพื่อใช้ปฏิบัติกิจกรรมศาสนพิธี เช่น ประเพณีปีใหม่ กิจกรรมเข้าพรรษา กิจกรรมออกพรรษา ในปี พ.ศ. 2558 พระสงฆ์และชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นความจำนงกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อขอเลื่อนสถานะจากสำนักสงฆ์เป็นวัด และได้รับการจัดตั้งเป็นวัดสันเหมืองในปี พ.ศ. 2560 และที่สำคัญจะมีประเพณีตานข้าวใหม่ในเดือนมกราคมของทุกปี  โดยชาวบ้านจะนำข้าวสารที่ได้จากการเก็บเกี่ยวไปถวาย  เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ หรือเทวดา นอกจากนี้ในเดือนเมษายนจะมีประเพณีรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ สรงน้ำพระธาตุและทำบุญหมู่บ้าน

ทุนเศรษฐกิจ

บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านสันเหมือง มีลักษณะเป็นพื้นที่ดอน มีน้ำชลประทานไหลผ่าน ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม รายได้เกิดจากการทำการเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีอาชีพค้าขาย  ซึ่งจะเห็นได้จากร้านค้าย่อยในหมู่บ้าน ต่อมามีการขายพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมให้กับนายทุนนำไปสร้างโครงการบ้านจัดสรรแม่ปิงวิลล่า และหมู่บ้านแม่ริม กรีนวัลเล่ย์ และยังมีการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นหอพักและบ้านสำหรับเช่า เนื่องจากรายได้จากการเปิดหอพักหรือบ้านให้เช่า มากกว่าการทำเกษตรกรรม  ทำให้ปัจจุบันประชากรในหมู่บ้านเปลี่ยนไปประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและค้าขายมากขึ้น

ทุนมนุษย์

มีนายอิ่นแก้ว บุญสูง ที่เป็นบุคคลสำคัญของชุมชน เป็นผู้ที่นำความคิดใหม่ๆในการพัฒนาหมู่บ้าน เช่น การริเริ่มคัดแยกขยะของหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนในหมู่บ้านอย่างมาก

คำเมือง สำเนียงล้านนาตะวันตก ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เป็นต้น คำเมืองมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ รัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 7–9 ได้สั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและคำเมืองในที่สาธารณะ และให้เผาตำราเรียนในภาษาล้านนา เพื่อทำลายรากเหง้าท้องถิ่นหลังผนวกล้านนาเข้ากับตน แต่คำเมืองยังคงได้รับการใช้งานในชีวิตประจำวันสืบ ๆ มา


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง หมู่บ้านสันเหมือง จากอดีต-ปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏให้เห็นชัดเจน คือด้านความเชื่อ วัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการคมนาคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมความเชื่อ จะเห็นได้จากในอดีตเมื่อมีอาการเจ็บป่วยชาวบ้านจะรับประทานสมุนไพรหรือไป รพ.สต. ดอนแก้ว บางส่วนจะไปรับการรักษาหมอพื้นบ้าน คือ หมอเป่า ที่จะมีการทำพิธีและเป่าน้ำลงไปยังบริเวณที่มีอาการเจ็บป่วยของร่างกาย ทำให้ลดลงตามความเชื่อของชาวบ้าน ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2550 การเข้าถึงของ รพช.ดอนแก้ว อสม. ไปสู่ชุมชนมีมากขึ้น มีการให้ความรู้การดูแลสุขภาพด้านต่างๆ การเข้ารับบริการที่สถานบริการทางสุขภาพ ทำให้ชาวบ้านมีการดูแลสุขภาพมากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยหรือไม่สบายเบื้องต้นชาวบ้านจะซื้อยามารับประทานเอง หรือกินสมุนไพรหรือไปรับการรักษาที่ รพช.ดอนแก้ว หรือในบางรายไปใช้บริการคลินิกใกล้บ้าน แต่ถ้าเจ็บป่วยเรื้อรังรับประทานยาแล้วไม่หายจะไปโรงพยาบาล


การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ จะเห็นได้จาก ในอดีตคนในชุมชนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก ต่อมามีการขายพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมให้กับนายทุนนำไปสร้างโครงการบ้านจัดสรร และยังมีการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นหอพักและบ้านเช่า เนื่องจากสร้างรายได้มากกว่าการทำเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ประชาชนในหมู่บ้านเปลี่ยนไปประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและค้าขายมากขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศศิกานต์ ลีรัชฎศิริกุล, ฉันท์ชนก เขียวทา, ชนิลชิญา เสียงเพราะ, ธวัลรัตน์ ทาอ้าย, พิมผกา โยรภัตร, เยาวเรศ บุญทั่ง และศิริลักษณ์ จันจูติ๊บ. (2562). รายงานการพัฒนาชุมชน บ้านสันเหมือง หมู่ที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. วิชาการพยาบาลชุมชน. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.