วัดดอนแก้ว มีสถานะเป็นวัดราชก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2380
วัดดอนแก้ว มีสถานะเป็นวัดราชก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2380
หมู่บ้านดอนแก้ว ตำบลดอนแก้ว มีประวัติมาอย่างยาวนานและไม่มีใครรู้แน่ชัดของการก่อตั้งหมู่บ้านดอนแก้ว แต่จากการศึกษาประวัติและการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านคาดว่ามีมานานกว่า 200 ปี ซึ่งเปรียบเทียบจากระยะเวลาที่ก่อตั้งวัดดอนแก้ว ซึ่งวัดดอนแก้ว ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีสถานะเป็นวัดราชก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2380 โดยการนำของพระยาหาญเสือแผ้ว (สิทธิ นารา) ซึ่งเป็นขุนนางคนสำคัญของราชสำนักเชียงใหม่ ในสมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 4 (พ.ศ. 2364 - 2389) จนถึงสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 ( พ.ศ. 2399 - 2413 ) ก่อนที่จะมีการสร้างวัดใหม่ในปี พ.ศ. 2380 นั้นเคยมีวัดมาก่อนแล้วรวม 2 วัด บริเวณที่ใกล้เคียงกันโดยวัดแรกคือวัดห่างเป็นวัดร้างมาแต่โบราณอาจเนื่องมาจากการเกิดน้ำท่วมใหญ่และลำแม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทางทำให้ตัววัดถูกตัดขาดจากชุมชนกลายเป็นเกาะดอนกลางแม่น้ำ จึงมีการสร้างวัดแห่งที่สอง คือ วัดอรินทร์ตอง บนที่ดอนเนินเขาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านดอนแก้ว วัดแห่งนี้สร้างในสมัยล้านนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2315 พม่าได้เข้ามายึดครองเมืองเชียงใหม่ ทำให้ประชาชนได้พากันอพยพหลบหนีออกจากเมืองไปอยู่ตามแถบป่าเขา วัดลิ้นทองหรืออารินตองจึงถูกทิ้งร้างสิ่งปลูกสร้างเสื่อมสลายตามกาลเวลา จนมาถึงยุคการฟื้นฟูสร้างเมืองเชียงใหม่มาใหม่ช่วงที่บ้านเมืองเข้าสู่ยุคสงบสุข ในสมัยของพระยาจ่าบ้าน พ.ศ. 2317 ถึง 2319 และพระยากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 จึงมีการชักชวนประชาชน ออกจากป่าเขาลงมาตั้งบ้านสร้างเมืองในแถบตัวเมืองกันใหม่ ดังนั้นชุมชนริมน้ำแม่น้ำปิง บ้านลุ่ม บ้านแพะและบ้านหนองฟาน-สบสา ซึ่งเคยเป็นชุมชนดั้งเดิมมาก่อนจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมา
สำหรับชุมชนที่ตั้งวัดดอนแก้วและหมู่บ้านดอนแก้ว ในปัจจุบันบ้านแพะ บ้านลุ่มบ้านหนองฟาน-สบสา ในอดีตเมืองเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว เป็นแหล่งชุมชนดั้งเดิมริมฝั่งแม่น้ำ โดยอยู่ห่างจากกำแพง เมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นเขตที่ลุ่มเชิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ใกล้กับเทือกเขาดอยปุยและดอยแม่สา มีไร่นา เมืองหลายสาย ซึ่งเป็นฝีมือการขุดสร้างของคนโบราณ เพื่อนำน้ำเข้าสู่ไร่นาแหล่งเพาะปลูก เคยเป็นชัยภูมิที่ตั้งทัพและที่พักไพร่พลช้าง ม้า ภายใต้การนำของพระยาทหารเสือแผ้วในสมัยพื้นฟูสร้างเมืองเชียงใหม่ ยุคนั้นโดยมีบริเวณที่เลี้ยงช้างและเตาหลอมโลหะ เพื่อผลิตเครื่องมืออาวุธประเภทต่างๆ อยู่ในหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นชุมชนที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก มีทั้งพื้นที่เขต 6 เขา และพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้นจึงไปสร้างคมที่พำนักนอกเมืองเอาไว้ในพื้นที่ โดยเชื่อว่าสร้างไว้ตั้งแต่ห้วงการซ่องสุมไพร่พลกองทัพเพื่อขับไล่พม่า ซึ่งใช้เวลาหลายปีก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ประกอบกับมีเส้นทางลำแม่น้ำปิงที่ไม่คดเคี้ยวสามารถใช้แพและเรือเล็กสัญจรไปมาเข้าสู่ตัวเมืองได้สะดวก เจ้าเมืองเชียงใหม่และบรรดาเจ้านายรวมทั้งประชาชนทั่วไปจึงนิยมใช้ทางน้ำในการเดินทางไปมาเข้าสู่ตัวเมือง ซึ่งรวดเร็วกว่าทางเกวียน(ทางบก) ดังนั้นจึงมีที่พำนักของเจ้าเมืองและผู้นำในราชสำนักตั้งอยู่หลายแห่งในทางตอนเหนือของตัวเมืองใกล้กับลำแม่น้ำ เช่นคุ้มหลวงของเจ้ามหาชีวิตอ้าวที่บริเวณใกล้กับสุรินทร์ (ท้องที่ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม) ห่างจากชุมชนบ้านดอนแก้วขึ้นไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ส่วนที่หมู่บ้านดอนแก้วหรือบ้านลุ่มเป็นที่ตั้งคุ้มบ้านของพระยาทหารเสือแผ้ว โดยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางตอนใต้ของที่ตั้งวัดปัจจุบัน ซึ่งลูกหลานพญาทหารเสือแผ้วเล่าว่า บริเวณหน้าบ้านของพระยาทหารเสือแผ้วเป็นที่พักเลี้ยงฝูงข้างและให้ฝูงข้างลง อาบน้ำและครั้งใดที่เจ้ามหาชีวิตเสด็จไปเยี่ยมพญาทหารเสือแผ้วถึงคุมบ้านพัก ก็จะมีการปูลาดผ้าแดงต้อนรับตั้งแต่ประตูรั้วบ้านไปจรดบันไดบ้านเลยทีเดียว
ลักษณะชุมชนบ้านดอนแก้ว เป็นชุมชนชานเมือง การคมนาคมสะดวก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านดอนแก้ว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ด้านตะวันออกติดแม่น้ำปิง ด้านตะวันตกเป็นเนินเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของส่วนราชการ (ค่ายตากสิน) มีลำเหมืองไหลผ่าน 2 สาย พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกแต่สภาพปัจจุบันของหมู่บ้านกลายเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนดั้งเดิมและบ้านจัดสรร ทำให้เป็นบ้านที่มีความเจริญกึ่งเมืองกึ่งชนบท ลักษณะการตั้งบ้านเรือน บ้านดอนแก้วเป็นชุมชนขนาดใหญ่ แบบถาวรไม่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานตั้งอยู่บริเวณฟากถนนเชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่จะมีชุมชนหนาแน่น ทางฝั่งด้านทิศตะวันออกของฝั่งถนนเชียงใหม่-ฝาง ติดกับแม่น้ำปิงส่วนด้านตะวันตกของฝั่งถนนเชียงใหม่-ฝาง เป็นที่ตั้งของส่วนราชการค่ายตากสินและเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย การคมนาคมขนส่ง บ้านดอนแก้วหมู่ 2 มีถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถเดินทางไปมาอย่างสะดวกสบาย ระหว่างหมู่บ้านจนถึงตัวเมือง และจากหมู่บ้านถึงที่ว่าการอำเภอแม่ริมระยะทางจากหมู่บ้าน ถึงที่ว่าการอำเภอแม่ริมประมาณ 5 กม.
ลักษณะบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว รองลงมาทาวน์เฮ้าส์ สภาพทางเศรษฐกิจประชาชนภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างรองลงมารับราชการ ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในหมู่บ้านดอนแก้วหมู่ที่ 2 มีแหล่งประโยชน์ในหมู่บ้าน คือประปา วัดดอนแก้ว โรงเรียนบ้านดอนแก้ว สุสาน สถานที่บริการน้ำมัน 2 แห่ง (ปั้มหยอดเหรียญ, ปั้มหลอด) สถานที่บริการแก็สเติมรถยนต์ 1 แห่ง ศาลากลางหมู่บ้าน ร้านค้า 15 แห่ง อู่ซ่อมรถ 2 แห่ง หมู่บ้านจัดสรรจำนวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านมั่นคงดอนแก้ว หมู่บ้านดาราธาร หมู่บ้านดอนแก้ววิลเลจ และหมู่บ้านดารารายณ์
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับหมู่ที่ 1 บ้านบ่อปุ๊ และหมู่ที่ 9 บ้านหนองฟาน-สบสา
ทิศใต้ ติดกับหมู่ที่ 3 บ้านศาลา
ทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำปิง
ทิศตะวันตก ติดกับอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย
จากข้อมูลการสำรวจขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ปี 2561 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านดอนแก้ว จำนวน 121 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 364 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 163 คน หญิง 201 คน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะตั้งอยู่กันแบบเครือญาติ อยู่ในละแวกเดียวกัน หรือมีการล้อมรั้วบ้าน
เครือญาติตระกูลดั้งเดิม
ตระกูลดอนดี เป็นตระกูลที่อยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านดอนแก้ว มาเป็นเวลา 100 กว่าปี มีจำนวนสมาชิกในหมู่บ้านจำนวน 7 ครัวเรือน และคนในตระกูลมีหน้าที่และตำแหน่งทางสังคม ได้แก่ นายวีระ ดอนดี เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน ปี พ.ศ.2543-2547 นาย ประเสริฐ ดอนดี ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น ทำให้คนในตระกูลเป็นที่รู้จัก เป็นที่รักของคนในชุมชน และได้รับการยกย่องของคนในหมู่บ้าน สมาชิกในตระกูลดอนดี มีการรักใคร่ปรองดองกัน คอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และจะมีการรวมญาติหรือสมาชิกเมื่อมีวันสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ
หมู่บ้านดอนแก้ว ถือเป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านไม่ได้มีการทำเกษตรกรรม เนื่องจากไม่มีพื้นที่ในการทำการเกษตรแล้ว คนส่วนใหญ่จึงทำอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยทำงานตลอดทั้งปี อาจมีวันหยุดบ้างตามเทศกาลต่างๆ หรือวันหยุดสุดสัปดาห์
วิถีชีวิตด้านสังคมและวัฒนธรรม
ฃประเพณีวัฒนธรรมในหมู่บ้านนี้จะยึดตามปฏิทินไทย ปีใหม่ไทยช่วงเดือนมกราคม ประเพณีปีใหม่เมือง หรือวันสงกรานต์ช่วงเดือนเมษายน ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่าและเลี้ยงเจ้าบ้าน(ศาลเจ้า) ช่วงเดือนมิถุนายน ประเพณีตานก๋วยสลากเดือนกันยายน ประเพณีปอยหลวงเดือนตุลาคม ประเพณีลอยกระทงเดือนพฤศจิกายนประเพณีทำบุญสวดมนต์ทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา งานประจำปีวัดดอนแก้วเดือนมีนาคม และงานวันคริสต์มาสเดือนธันวาคม
วิถีชีวิตชุมชนด้านสุขภาพ
สำหรับด้านสุขภาพของชุมชนบ้านดอนแก้ว จะมีกลุ่มสาธารณะสุข อสม. ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียง และหญิงหลังคลอดทุกเดือน เดือนละ 4-5 ครั้ง และจะมีการประชุมสมาชิก อสม.ร่วมกับชาวบ้าน เรื่องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพชุมชน วิธีการจัดการและการทำงานของกลุ่ม อสม. ทุกเดือน มีการตรวจคัดกรองสุขภาพช่วงเดือนกันยายน และมีการรณรงค์ต่อต้านลูกน้ำยุงลายร่วมกับโรงเรียน ชุมชน รพ.สต. รวมถึงตรวจสอบและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออกให้ประชาชนตระหนักถึงการกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยจะจัดขึ้นปีละ 4 ครั้ง
ทุนวัฒนธรรม
ประชากรในหมู่บ้านดอนแก้วส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดดอนแก้ว เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้กับชาวบ้าน และมีกิจกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญสวดมนต์วันพระและวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ งานประจำปีที่วัดดอนแก้ว ประเพณีวันสงกรานต์ ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นต้น คนในหมู่บ้านจะมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เคารพนับถือผู้อาวุโส มีความสามัคคีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเห็นได้จากการทำกิจกรรมทางสังคม ชาวบ้านยังมีความเชื่อตามวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การเลี้ยงผีปู่ย่าหรือผีเจ้าบ้าน เป็นต้น
แพทย์พื้นบ้าน
ประชาชนในหมู่บ้านยังมีความเชื่อในการรักษาอาการเจ็บป่วยทางไสยศาสตร์และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการเจ็บป่วยของคนในชุมชน ที่มีสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ เมื่อประชาชนเกิดการเจ็บป่วยแล้วไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่หาย ก็จะเลือกรักษาทางไสยศาสตร์ โดยให้หมอเมืองทำพิธีเสกเป่าคาถา เป่าน้ำมนต์ให้ดื่ม ในรายที่ประสบอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ก็จะให้พ่อหมอเมืองหรือผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านไปทำพิธีส่งสางเลี้ยงผีในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ และเรียกขวัญของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุนั้นมาประกอบพิธีทำขวัญและมัดมือที่บ้าน เพระเชื่อว่าในขณะเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ผู้ประสบเหตุนั้นขวัญเสียไป จึงทำการเรียกขวัญของผู้ประสบอุบัติเหตุกลับมา แต่ในปัจจุบันหมอเมืองที่ทำพิธีทางไสยศาสตร์เช่น เสกเป่าคาถาเป่าน้ำมนต์ ได้เสียชีวิตไปหมดแล้วและไม่มีผู้สืบทอดวิชาความรู้ต่อ จึงทำให้การรักษาทางไสยศาสตร์ไม่มีอยู่แล้ว สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือคือ พระพิฆเนศและท้าวเวสสุวรรณโนที่ตั้งอยู่ที่วัดดอนแก้วซึ่งจะมีชาวบ้านไปกราบไว้สการะบูชาและขอพรให้คุ้มครองดูแล และยังมีศาลเจ้าบ้านที่ตั้งอยู่ทางเหนือและทางใต้ของหมู่บ้านที่ชาวบ้านนับถือ โดยจะมีการทำพิธีกราบไหว้ศาลเจ้าบ้านปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ศาลเจ้าบ้านได้ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านและคนในหมู่บ้าน
คำเมือง สำเนียงล้านนาตะวันตก ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เป็นต้น คำเมืองมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ รัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 7–9 ได้สั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและคำเมืองในที่สาธารณะ และให้เผาตำราเรียนในภาษาล้านนา เพื่อทำลายรากเหง้าท้องถิ่นหลังผนวกล้านนาเข้ากับตน แต่คำเมืองยังคงได้รับการใช้งานในชีวิตประจำวันสืบ ๆ มา ประชากรในหมู่บ้านดอนแก้วส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง จึงใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนบ้านดอนแก้ว จากอดีต - ปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านสาธารณูปโภค และด้านการเมืองและวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากในสมัยก่อนคนในชุมชนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวน บางครัวเรือนจะเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เพื่อใช้ในการทำนา หลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ทำการเกษตร เปลี่ยนเป็นบ้านเรือนมีการสร้างบ้านจัดสรรมากขึ้น จึงทำให้บริเวณรอบหมู่บ้านไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรแล้ว ชาวบ้านจึงเปลี่ยนไปประกอบอาชีพนอกบ้านมากยิ่งขึ้น
ด้านสาธารณูปโภคในสมัยก่อนนั้น ยังไม่มีไฟฟ้า น้ำประปาและถนนใช้ ชาวบ้านใช้ตะเกียงหรือเทียนแทนการใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำบ่อในการอุปโภค บริโภคแทนน้ำประปา ต่อมาหมู่บ้านเริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อ พ.ศ.2507 และเมื่อปี พ.ศ.2520 เริ่มมีประปาหลวงเข้ามาในหมู่บ้าน หลังจากมีประปาหลวงเขามา ชาวบ้านต่างก็หันไปใช้น้ำประปาหลวงมากขึ้น จึงทำให้ชาวบ้านมีน้ำประปาในหมู่บ้านใช้ เมื่อปี พ.ศ.2538 หลังจากนั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ได้มีการบูรณะประปาของหมู่บ้านและแล้วเสร็จ วันที่ 30 สิงหาคม 2561 มีการทำทางเป็นถนน คอนกรีต และในปี พ.ศ.2551 มีการสร้างศาลากลางหมู่บ้าน เพื่อเป็นที่ประชุมหรือใช้ในงานทั่วไปของหมู่บ้าน
ชุมชนบ้านดอนแก้ว มีจุดที่น่าสนใจคือ มีกลุ่มจักสานไม้ไผ่ขด สำหรับผู้ที่มีความสนใจ สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ที่กลุ่มจักสานไม้ไผ่ขดในหมู่บ้าน หรือติดต่อนางอรทัย วงค์อนุกูล (แม่ครูนุ้ย) และมีวัดดอนแก้วที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 200 กว่าปี ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการสมโภชพระธาตุ สรงน้ำพระธาตุ ภายในวัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ คือ พระพิฆเนศ และท้าวเวสสุวรรณ
สุกฤตา ใจสุนทร, กัญญารัตน์ ใหม่จันทร์แดง, กัลยกร กันธิยะ, ฉัตรมณี วงค์บุญเรือง, ชัญญา กัณทาทรัพย์, ฐิติขวัญ วอดู, นันทปรีชา บุญทา และบรรเทา วงศ์เครือจันทร์. (2561). การพัฒนาอนามัยชุมชน หมู่บ้านดอนแก้ว หมู่ที่ 2 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. วิชาการพยาบาลชุมชน. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.