Advance search

บ้านแพะใหม่ / บ้านกาด

หัตถกรรมไม้แกะสลัก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากบ้านถวาย

หมู่ที่ 9
บ้านแพะใหม่
ขุนคง
หางดง
เชียงใหม่
กรรณิการ์ ศรีวิจา
4 ธ.ค. 2015
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
3 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
8 พ.ค. 2023
บ้านแพะใหม่
บ้านแพะใหม่ / บ้านกาด

มีชาวบ้านอพยพมาจากบ้านต้นแก้ว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ ๆ มาอาศัยอยู่ ประมาณ 3-4 หลัง พื้นที่เป็นป่าไม้และหญ้ารกรุงรังชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านแพะ ขณะนั้นบ้านแพะยังเป็นหมู่บ้านที่ร่วมกับบ้านกาด ในเวลาต่อมามีญาติพี่น้อง อพยพมาอยู่ในชุมชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการขยายครัวเรือนเพิ่มขึ้น และขยายที่อยู่อาศัยเข้าไปในป่าจนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ทำให้มีประชากรหนาแน่น ปกครองยาก ร่วมกับมีนโยบายของรัฐบาลจึงมีการแยกหมู่บ้านออกมาจากบ้านกาด จึงได้แยกบ้านแพะออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2545  และได้ตั้งชื่อว่า "บ้านแพะใหม่" 


ชุมชนชนบท

หัตถกรรมไม้แกะสลัก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากบ้านถวาย

บ้านแพะใหม่
หมู่ที่ 9
ขุนคง
หางดง
เชียงใหม่
50230
18.64709
98.84148
เทศบาลตำบลขุนคง

เดิมเป็นหมู่บ้านที่อยู่รวมกับบ้านกาด มีการเล่าประวัติสืบทอดความเป็นมาดังนี้ ประมาณปี 2468 หรือ 90 ปีมาแล้ว มีคนแก่เล่าว่าบริเวณนี้เป็นป่าไม้ทั้งหมด จากนั้นมีชาวบ้านอพยพมาจากบ้านต้นแก้ว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ ๆ มาอาศัยอยู่ ประมาณ 3-4 หลัง ชาวบ้านได้มาประกอบอาชีพทำนาทำสวน พื้นที่ในหมู่บ้านจะประกอบไปด้วยพื้นที่เปล่าที่ชาวบ้านใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยและมีพื้นที่ ที่เป็นป่ามีแต่ตันไม้มีหญ้ารกรุงรัง ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้พื้นที่ที่รกรุงรัง ตรงนี้เป็นที่ขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระ เนื่องจากยังไม่มีส้วมใช้ และพื้นที่ที่มีป่าไม้และหญ้ารกรุงรังชาวบ้านจะเรียกว่าบ้านแพะ ต่อมาเมื่อปี 2512 หรือ 46 ปีที่แล้วมีการทำถนนเข้ามาในหมู่บ้าน และในปี 2522 ได้ทำเรื่องขอไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้มีไฟฟ้าใช้จนถึงปัจจุบัน ปี 2535 หมู่บ้านกาคได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างน้ำประปา  เพื่อใช้ทดแทนน้ำบ่อ ขณะนั้นบ้านแพะยังเป็นหมู่บ้านที่ร่วมกับบ้านกาดและได้ใช้น้ำประปาร่วมกับบ้านกาด  ในเวลาต่อมามีญาติพี่น้อง อพยพมาอยู่ในชุมชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการขยายครัวเรือนเพิ่มขึ้น และขยายที่อยู่อาศัยเข้าไปในป่าจนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  ในระยะแรกชาวบ้านได้ประกอบอาชีพรับจ้างเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนประกอบอาชีพทำนามาเรื่อย ๆจนกระทั่งถึงปี พ.ศ 2533 ได้เปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาเป็นการปลูกลำไย เนื่องจากช่วงนั้นลำไย เป็นพืชเศรษฐกิจ  สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจของหมู่บ้านดีขึ้น จึงมีประชากรอพยพตามมา ทำให้มีประชากรหนาแน่น ปกครองยาก ร่วมกับมีนโยบายของรัฐบาลจึงมีการแยกหมู่บ้านออกมาจากบ้านกาด จึงได้แยกบ้านแพะออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2545  และได้ตั้งชื่อว่า "บ้านแพะใหม่" หมู่ 9 โดยมีผู้ใหญ่บ้านซึ่งเดิมเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านกาด หมู่ที่ 6 มาก่อนแล้ว แต่มีบ้านอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านแพะใหม่ ชื่อว่านายแสวง แดงคำดี  จึงมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่นั้นมาจนถึงปังจุบัน

บ้านแพะใหม่ หมู่ 9 ต.ขุนคง อ.หางคง จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีระยะห่างจากตัว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 27 กิโลเมตร ตามเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 108 ถนนฮอด-เชียงใหม่ อยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์กรบริหารส่วนตำบลขุนคง ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง อยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลขุนคง ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยล้านนา ประกอบอาชีพ รับจ้างและเกษตรกรรม

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ         ติดกับบ้านถวาย หมู่ 2 ตำบลขุนคง

ทิศใต้            ติดกับบ้านกาด หมู่ 6 ตำบลขุนคง

ทิศตะวันออก     ติดกับตำบลแม่ข่า อำเภอหางดง

ทิศตะวันตก        ติดกับบ้านกาดหมู่ 6 ตำบลขุนคง

ด้านสภาพภูมิศาสตร์

หมู่บ้านแพะใหม่ มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ โดยทั่วไปของหมู่บ้านล้อมรอบด้วยพื้นที่นาและเหมือง ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านเป็นวัดส่วนกลางเป็นชุมชน ทิศใต้เป็นป่าช้า สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้าน 2 ชั้น บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ มีทางเดินไปมาหาสู่กันได้ภายในตลอด ประชากรส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกัน ภายในหมู่บ้านมีลักษณะเป็นกึ่งชนบทในเมือง มีทั้งการทำนา และมีโรงงานทำผลิตภัณฑ์จากไม้ มีบ้านเช่าอยู่หลายแห่ง มีร้านค้าขายของชำเล็ก ๆ อยู่ประมาณ 2 ร้าน มีร้านอาหารและเครื่องดื่ม 1 ร้าน ไม่มีตลาด ส่วนใหญ่จะมีรถเคลื่อนที่มาขายของทุกวัน ถนนภายในหมู่บ้านมีการคมนาคมสะดวกเป็นทางเส้นทางเดียว ต่อมาจากบ้านกาด เป็นถนนลาดยาง ซึ่งเชื่อมต่อทางในชุมชน และมีไฟฟ้าเข้าถึงทั้งหมู่บ้าน

ด้านการคมนาคม

ในอดีดการเดินทางสัญจรตามทางเท้าจากหัวบ้าน-ท้ายบ้าน และภายในหมู่บ้าน โดยการเดินเท้า ปัจจุบันทางสายหลักในหมู่บ้านเป็นถนนเส้นทางเดียว ลาดยาง ต่อมาจากบ้านถวายและบ้านกาดทำให้มีความสะดวกในการคมนาคมภายในหมู่บ้านต่อไป

จากข้อมูลการสำรวจขององค์กรบริหารส่วนตำบลขุนคง ปี 2558 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านแพะใหม่ จำนวน 59 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 207 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 96 คน หญิง 111 คน  ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยล้านนา อพยพตามเครือญาติพี่น้องเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 202 คน คิดเป็นร้อยละ 97.58  มีการประกอบอาชีพรับจ้างเป็นส่วนมาก จำนวน 90 คน คิดเป็นร้อยละ 43.48

กลุ่มที่เป็นทางการ

เป็นการรวมตัวของกลุ่มที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนที่มีการ

รวมกลุ่มกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน โดยมีกลุ่มที่เป็นทางการทั้งหมด 9 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มผู้นำชุมชน

2. กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน

3. กลุ่มผู้สูงอายุ

4. กลุ่มสตรีแม่บ้าน

5. กลุ่มเยาวชน

6. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)

7. กลุ่มชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.)

8. กลุ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน

9. กลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

กลุ่มไม่เป็นทางการ

1.  กลุ่มมหัตถการแปรรูปไม้

กลุ่มหัตถกรรมแปรรูปไม้ เป็นการรวมกลุ่มของบุคคลทั้งภายในหมู่บ้านและภายนอกหมู่บ้าน ซึ่งทุกครัวเรือน และมีประชากรของหมู่ 6 หรือจากสถานที่อื่นๆ ได้มีการตั้งกลุ่มหัตถกรรมแปลรูปไม้ขึ้น ซึ่งการจัดกลุ่มนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นกลุ่มอาชีพภายในอำเภอ และส่วนใหญ่เป็นอาชีพหลักที่ชาวบ้านประกอบกัน เป็นกลุ่มที่มีการทำหัตถกรรมเกี่ยวกับไม้ต่าง ๆ เช่น แกะสลักไม้ กรอบรูปไม้ เก้าอี้ ของใช้ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านอาจจะรับมาทำต่อแล้วส่งออก หรืออาจเป็นเจ้าของกิจการเอง ซึ่งได้นำมาขายที่ศูนย์การค้าบ้านถวาย โซนริมปิง ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว

2.  กลุ่มพัฒนาวัฒนธรรม

กลุ่มวัฒนธรรมเป็นกลุ่มที่มีการร่วมกันของประชนที่นับถือศาสนาพุทธในหมู่บ้าน  ซึ่งได้จัดทำกิจกรรมตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และทุกวันพระ กิจกรรมหลักๆ ของหมู่บ้านคือ ตานขันข้าววันเดือนเก้าเป็ง ดำหัวปีใหม่  ซึ่งคนในหมู่บ้านจะมาทำกิจกรรมร่วมกันทำให้มีความสามัคคี  และเป็นการสร้างความสัมพันธภาพภายในหมู่บ้านอีกด้วย

ปฏิทินชุมชนด้านเศรษฐกิจ

จากการสัมภาษณ์ประชาชนในชุมชน บ้านแพะใหม่ พบว่าส่วนใหญ่ คนในชุมชนประกอบอาชีพรับจ้างรองลงมาคือค้าขายเกษตรกรและข้าราชการตามลำดับ อาชีพรับจ้าง พนักงานบริษัท รับราชการจะออกไปทำงานนอกบ้านในช่วงเวลา 08.00-18.00 น. ส่วน ช่วงเวลาทำงานเกษตรกร นั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาลและชนิดของการทำการเกษตร เช่น การทำสวนลำไยจะมีการทำตลอดทั้งปี การทำนาจะมีการทำนาสองครั้งคือ ช่วงเดือน สิงหาคม-ตุลาคม ทำนาปี และเดือนมกราคม-มีนาคมคือนาปัง ส่วนอาชีพค้าขายมีทั้งการค้าขายในหมู่บ้าน เช่น เปิดโรงงานเลื่อนไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ ร้านเหล้าตอง ร้านแคบหมู ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านค้าทั่วไป ร้านอาหารตามสั่ง และมีการค้าขายนอกหมู่บ้าน เช่น ขายไม้ ทำเฟอร์นิเจอร์ ที่ทำจากไม้ส่งขาย  หรือนำไปขายเอง ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพช่วงเวลา 08.00-17.00 น.

ปฏิทินชุมชนด้านสังคมและวัฒนธรรม

ประเพณีวัฒนธรรมในหมู่บ้านนี้จะยึดตามปฏิทินไทย ปีใหม่ไทยช่วงมกราคม ประเพณีปีใหม่เมืองช่วงเมษา สรงน้ำพระธาตุช่วงมิถุนายน ประเพณีเข้าพรรษาช่วงเดือนกรกฎาคม จัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติช่วงเดือนสิงหาคม ออกพรรษาช่วงเดือนตุลาคม  งานบุญกฐินและยี่เป็งช่วงเดือนพฤศจิกายน ถวายพระพรวันพ่อช่วงเดือนธันวาคมซึ่งจะมีประเพณีตานขันข้าวแก่ผู้ล่วงลับช่วงปีใหม่เมือง หรือ ในวันที่ผู้นั้นเสียชีวิตและ ประเพณีไหว้ผีปู้ย่าช่วงเดือน มิถุนายน

ปฏิทินชุมชนด้านสุขภาพ

สำหรับบ้านสุขภาพของชุมชนบ้านแพะใหม่ ตามปัญหาของชุมชน โดยจะมีการรณรงค์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกจะมีทุกเดือน  การรณรงค์คัดกรองเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง จะมีการรณรงค์ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม  และการรณรงค์ตรวจมะเร็งปากมดลูกจะมีการรณรงค์ในเดือน กุมภาพันธ์ มิถุนายน กันยายน  ซึ่งกิจกรรมนี้จะดำเนินงานร่วมกับ รพ.สต. ส่วนการรณรงค์อย่างอื่นจะมีเพียงเดือนเดียว  ได้แก่ รณรงค์ต่อต้านสารเสพติด รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัย รณรงค์วัณโรคโลก รณรงค์งดสูบบุหรี่ โลก รณรงค์วันเอสด์โลก นอกจากนี้ก็ยังมีคลินิกเบาหวาน - ความดัน ทุกวันจันทร์และพุธที่  2  ของเดือน คลินิกทันตกรรมทุกวันพฤหัส และการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังผู้พิการ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ รพ.สต.บ้านขุนคง ร่วมกับ อสม. ผู้ที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น โดยรายละเอียดปฏิทินชุมชนปี 2558 บ้านแพะใหม่ หมู่ 9ซึ่งแสดงดังตารางต่อไปนี้

นายแสวง แดงคำดี เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2507 ปัจจุบัน อายุ 51 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9     ต.ขุนคง อ.หางคง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรของนายมา แดงคำดี และนางซ้อน แดงคำดี มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 4 คน คือ นายประเวศน์ แดงคำดี  นายสว่าง แดงคำดี  นางสวิง แดงคำดี  และนายแสวง แดงคำดี นายแสวง แดงคำดี แต่งงานกับ นางเพ็ญศรี แดงคำดี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคไตวาย)  มีบุตรด้วยกัน 2 คน  คือ นางสาวนิตยา แดงคำดี และ เด็กหญิงชนาพร แดงคำดี ประวัติการศึกษา - พ.ศ. 2518 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 - พ.ศ. 2519-2523 บวชเรียน ศึกษาธรรมะ จบนักธรรมเอก - พ.ศ. 2525 บวชเรียน การศึกษาผู้ใหญ่ จบระดับ 4 ที่ โรงเรียน วัดศรีสุพรรณ ต.หนองแก๋ว  อ.หางดง  จ.เชียงใหม่ - พ.ศ. 2525-2527 สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย รุ่นที่2 ที่ โรงเรียนธรรมราชศึกษา  วัดพระสิงห์ อ.เมือง จังหวัด เชียงใหม่ - พ.ศ. 2551-2555 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี    ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ประวัติการทำงาน - พ.ศ. 2529 ถาสิกขา แล้วไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมป่าไม้ ที่ จ.ลพบุรี เป็นระยะเวลา  2 ปี - พ.ศ. 2533 - 2545  ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านกาด หมู่ที่ 6 เป็น ระยะเวลา 12 ปี 6 เดือน - พ.ศ.2533 - ปัจจุบัน เป็นคณะกรรมการโรงเรียนสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  โรงเรียนต้นแก้วผดุง-พิทยาลัย - พ.ศ. 2535 - ปัจจุบัน ได้ดำรงตำแหน่งเป็น เลขานุการชมรม กำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอหางดง - พ.ศ.2535  ได้เป็นผู้ริเริ่มร่วมกับท้องถิ่นในการก่อสร้างนำน้ำประปามาใช้เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำประปากันทุกหลังคาเรือน - พ.ศ. 2538 - 2544 ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการก่อตั้ง กู้ภัย อำเภอหางดง - พ.ศ.2541  ได้ทำงานร่วมกับ อบด. ในการทำโครงการ เปลี่ยนแปลงถนนลูกรังในหมู่บ้าน ให้เป็นถนนคอนกรีต - พ.ศ. 2541 - 2548 เป็นเจ้าของค่ายมวยซึ่งก่อตั้งภายในบริเวณบ้าน  ชื่อค่าย ศ.เดชดำรงชัย ซึ่งรับเฉพาะยาวชนที่หลงผิดเกี่ยวกับยาเสพติด  เพื่อมาฝึกหัดศิลปะแม่ไม้มวยไทยและสืบสานประเพณีไทย  เป็นระยะเวลา 8 ปี - พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านแพะใหม่ หมู่ที่ 9 เป็นระยะเวลา 12 ปี - พ.ศ. 2548 - 2556 เคยเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน ปัจจุบันได้ทำอาชีพหลักคือแกะสลัก ประกอบอาชีพเสริม ได้แก่ การเป็นนักประชาสัมพันธ์ เป็นนักพากย์ กีฬาฟุตบอล มวย และการแข่งเรือยาว เป็นพิธีกรประกวดร้องเพลงและพิธีกรงานในพิธีต่างๆ งานมงคลและ      งานอวมงคลในชุมชนทั้งระดับ อำเภอและจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานในรูปแบบจิตอาสา โดยมีรายได้เฉลี่ย 15,000 บาท/เดือน จากการประกอบอาชีพหลัก ส่วนการเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับค่าตอบแทน เดือนละ 8,000 บาท ส่วนที่เหลือมาจากงานเสริมอื่นๆ ซึ่งก็เพียงพอ ปัจจุบันได้อาศัยอยู่กับลูกสาว 2 คน คนแรกอายุ 26 ปี ปัจจุบันทำงานประจำและทำขนมเค้กขาย ได้รับเงินเดือนจากการทำงาน  โดยมีรายได้เฉลี่ย 21,000 บาท จึงเพียงพอกับการใช้จ่ายในครอบครัว  และคนที่สอง อายุ 15 ปี ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย รางวัลที่ภาคภูมิใจ - พ.ศ. 2541 ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนต้นแก้ว ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานขนาดกลาง - พ.ศ. 2548 ได้เป็นตัวแทนส่งผลงานผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม อำเภอหางดง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จาก จ.เชียงใหม่ - พ.ศ.2555 ได้รับรางวัลหมู่บ้านที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เกิน 95% - เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัล เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ จนเกิดผลดียิ่งต่อทางราชการ ครบ 25 ปี ตลอดระยะเวลาในการเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านแพะใหม่ หมู่ 9 พ่อหลวงแสวงบอกว่า "รู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้และช่วยเหลือประชาชน"  โดยมีวิสัยทัศน์การทำงานคือ "ประชาชนต้องมาก่อน" สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ  "เมื่อประชาชนมีความทุกข์ เดือดร้อน เราได้ช่วยเหลือ ก็ประทับใจแล้ว "  ปัจจุบันมีการดำเนินชีวิตตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง  และมีคติประจำใจว่า  "ยอมรับการเปลี่ยนแปลงกับปัจจุบัน"

ทุนความเชื่อและวัฒนธรรม

ประชากรในบ้านแพะส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดเดชดำรงค์เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับชาวบ้าน และมีกิจกรรมทางศาสนาทุกเทศกาล เช่น ประเพณีเข้าออกพรรษา ประเพณีทอดกฐิน หรือทอดผ้าป่า ประเพณียี่เป็ง ใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร คนในหมู่บ้านจะมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เคารพนับถือผู้อาวุโส นับถือผีปู่ย่า และมีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเห็นได้จากการทำกิจกรรมทางสังคม ชาวบ้าน ไม่มีความเชื่อในการรักษาแบบแพทย์พื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะไปรับบริการ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลรัฐบาลรวมถึงโรงพยาบาลเอกชน

การแพทย์ทางเลือก : แพทย์พื้นบ้านในหมู่บ้านไม่ได้รับความนิยมเหมือนสมัยก่อน  เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น อีกทั้งหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าของแพทย์แผนปัจจุบันและที่สำคัญชาวบ้านเข้าถึงบริการของทางแพทย์ปัจจุบันได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากสถานบริการของแพทย์แผนปัจจุบันอยู่ใกล้และมีค่าใช่จ่ายน้อยกว่า แต่ยังพบว่ามีการใช้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก  ได้แก่ เป้า แหก ฝังเข็ม ย่ำข่าง ใช้สมุนไพร นวด สะเดาะเคราะห์ เป็นต้น

ความเชื่อ : ชาวบ้านส่วนใหญ่เวลาเจ็บป่วยหรือไม่สบายมักจะไปทำบุญที่วัด สวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือให้พระรดน้ำมนต์  การสืบชะตาหากมีคนเจ็บป่วยในครัวเรือน และสิ่งศักดิ์ที่ชาวบ้านนับถือ ศาลผีปู่ย่าของหมู่บ้าน ซึ่งศาลผีปู่ย่าตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เป็นศาลที่ชาวบ้านให้ความเคารพและนับถือ เชื่อว่าผีปู่ย่าช่วยคลุมครองคนในหมู่บ้านไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  ซึ่งชาวบ้านจะมีการเลี้ยงผีปู่ย่าทุกวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีคือวันสงกรานด์ หรือที่เรียกในภาษาท้องถิ่นคือปี๋ใหม่เมือง  หรือวันสงกรานต์ของคนไทยนั้นเอง

ทุนเศรษฐกิจ

บ้านแพะใหม่เดิมเป็นชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่ มีการดำรงอาชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก และเมื่อปี พ.ศ. 2533 ได้มีชาวบ้านบางส่วนล้มนา ทำเป็นสวนลำไย ต่อมาเมื่อมีคนอพยพมาอยู่เรื่อย ๆ ทำให้มีประชากรมากขึ้น ส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่นาเป็นของตนเอง จึงได้ประกอบอาชีพรับจ้าง ทำสวน ทำนา ทั่วไป จนมาถึงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2548 ประชาชนเปลี่ยนมามีการนิยมประกอบอาชีพทำงานหัตถกรรมไม้แกะสลัก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากบ้านถวาย เนื่องจากหมู่บ้านถวายที่เป็นหมู่บ้านใกล้เคียงนั้น ส่วนใหญ่ทำงานประเภทงานฝีมือเป็นแหล่งรวมสินค้าด้านงานหัตถกรรม ไม้แกะสลัก มีศูนย์หัตถกรรมแสดงสินค้า มีนักท่องเที่ยวมาซื้อของ มาเยี่ยมชม ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ส่งผลต่อหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่ง ได้เข้ามารับจ้างทำชิ้นงานให้แก่หมู่บ้านถวาย  บางส่วนก็รับจ้างงานมาทำที่บ้านก่อนจะส่งไปขายที่อื่น หรือนำไปขายเองที่ร้านในหมู่บ้านถวาย และมีโรงงานทำฟอร์นิเจอร์และมีโรงงานขายไม้หลายแห่ง ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย จะมีรายได้ต่อครอบครัวประมาณ 10,000-20,000 บาท ต่อครอบครัวต่อเดือน

คำเมือง สำเนียงล้านนาตะวันตก ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เป็นต้น คำเมืองมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ รัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 7–9 ได้สั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและคำเมืองในที่สาธารณะ และให้เผาตำราเรียนในภาษาล้านนา เพื่อทำลายรากเหง้าท้องถิ่นหลังผนวกล้านนาเข้ากับตน แต่คำเมืองยังคงได้รับการใช้งานในชีวิตประจำวันสืบ ๆ มา ประชากรในหมู่บ้านแพะใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง จึงใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร


สถานการณ์ที่ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้าน บ้านแพะใหม่จากอดีต - ปัจจุบัน ทั้งด้านความเชื่อ วัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ  และด้านการคมนาคม เป็นต้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่เริ่มมีธุรกิจด้านฝีมือหัตถกรรมเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทำงานฝีมือ  เช่น  การแกะสลัก  การทาสีไม้  การทำอุปกรณ์ตกแต่งบ้านจากไม้ เป็นต้น


การเปลี่ยนแปลงด้านความเชื่อวัฒนธรรม  จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อเกิดการเจ็บป่วย  ชาวบ้านจะนิยมมารักษากับแพทย์แผนปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่  เนื่องจากมีความสะดวกและมีความน่าเชื่อถือมากกว่า  และด้วยไม่มีผู้สืบทอดตำราแพทย์พื้นบ้าน  จึงทำให้ปัจจุบันนั้น ไม่ค่อยได้เห็นถึงการรักษาการเจ็บป่วยจากแพทย์พื้นบ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรรณิการ์ ศรีวิจา, ชฎารัชต์ วอศิริ, ธนาพร โอบอ้วน, พรรณิภา วันปั๋น, เยาวเรศ บุญมาลา, วิศนีย์ วงษ์ปัญญาวทัญญู ชัยศิริ และหทัยชนก ไชยอุประ. (2558). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน บ้านแพะใหม่ ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. วิชาการพยาบาลชุมชน. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.