Advance search

ชุมชนลาวครั่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานทั้งในด้านบรรพบุรุษและชุมชน วิถีการดำรงชีวิตแบบเดิมยังคงอยู่ ในขณะที่ควบคู่ไปกับการเปิดรับสิ่งใหม่จากภายนอกเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

หมู่ที่ 3
บ้านโคก
อู่ทอง
อู่ทอง
สุพรรณบุรี
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
10 พ.ค. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
10 พ.ค. 2023
บ้านโคก

ตัวชุมชนตั้งอยู่บนเนินโคก ในอดีต 100 ปีก่อนมีสภาพเป็นป่า สัตว์ป่าชุกชุม เช่น กระต่าย แรกเริ่มมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ ๆ จะเรียกชุมชนตามสภาพภูมิประเทศว่า “บ้านโคกขี่กระต่าย” ต่อมาเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า “บ้านโคก” 


ชุมชนลาวครั่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานทั้งในด้านบรรพบุรุษและชุมชน วิถีการดำรงชีวิตแบบเดิมยังคงอยู่ ในขณะที่ควบคู่ไปกับการเปิดรับสิ่งใหม่จากภายนอกเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

บ้านโคก
หมู่ที่ 3
อู่ทอง
อู่ทอง
สุพรรณบุรี
180705
14.37673459
99.90078852
องค์การบริหารส่วนตำบลอู่ทอง

ลาวครั่งถูกกวาดต้อนมาไว้ในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาจนยุคของการปรับปรุงประเทศครั้งยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลาวครั่งต่างเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่เสมอมา จนกระทั่งเมื่อโปรด ฯ ให้มีการปกครองท้องถิ่นแบบเทศาภิบาลแล้วจึงได้พบว่ามีลาวครั่งจำนวนไม่น้อยที่เริ่มตั้งหลักแหล่งอย่างถาวรกว่าแต่ก่อนในเขตอำเภอจระเข้สามพัน ในจำนวนนี้มีหมู่บ้านหนองตาสามเป็นชุมชนลาวครั่งที่ค่อนข้างเก่าแห่งหนึ่งในเขตอำเภอดังกล่าว ลาวครั่งกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของนายกองแดง ได้พาญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องจากทุ่งสัมพะบด อำเภอหันคา และลาวครั่งในท้องที่แถบอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท บ้านหนองโคก อำเภอสระกระโจม จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ามาอยู่ที่บ้านหนองตาสาม ทำให้มีบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 20 กว่าหลังคาเรือนจนกลุ่มบ้านที่นายกองแดงได้เริ่มแรกตั้งไว้นั้นเต็มไปด้วยบ้านเรือนทั้งของคนรุ่นปู่ย่าตายาย และลูกหลานที่แต่งงานปะปนกันอยู่ในกลุ่มของตน

เมื่อพื้นที่ในแถบกลุ่มบ้านของนายกองแดงหรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “บ้านใหญ่” มีประชากรหนาแน่นและขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูกรอบ ๆ หมู่บ้านจึงทำให้ผู้คนออกจากบ้านใหญ่ไปจับจองที่ว่างเปล่าทางทิศเหนือซึ่งเป็นบ้านท่าม้าในเวลาต่อมา ส่วนชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งได้ข้ามคลองตาสามไปจับจองพื้นที่ป่าละเมาะทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นเนินขนาดใหญ่มีสัตว์ป่าชุกชุม โดยเฉพาะกระต่าย อย่างไรก็ตามชาวบ้านหลายรายเห็นว่าไม่เป็นการสะดวกที่จะเดินทางไป ๆ มา ๆ จึงอยู่ในบริเวณนั้นเป็นการถาวร ในเวลาต่อมาเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ เห็นดีเห็นงามจึงย้ายออกจากบ้านใหญ่ทีละรายสองราย จนในที่สุดพื้นที่โคกแห่งนั้นมีบ้านเรือนเพิ่มขึ้นกลายเป็นหมู่บ้านแห่งใหม่เรียกว่า “บ้านโคกขี้กระต่าย” 

พื้นที่รอบหมู่บ้านทุกทิศมีระดับต่ำกว่า ฤดูฝนอาจมีน้ำจากป่าเขาทางทิศตะวันตกไหลหลากท่วมตัวหมู่บ้าน ในฤดูนี้หมู่บ้านจึงมีสภาพคล้ายเกาะ การท่วมฉับพลันของน้ำไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนเพราะกระแสน้ำจะไหลเทลงสู่ที่ราบลุ่มด้านทิศตะวันออกภายในเวลาเพียงข้ามคืน ฝนตกโดยเฉลี่ยต่อปี 1,000 มิลลิเมตร จำนวนฝนที่ตกต่อปีเท่ากับ 94.2 วัน ชุมชนอยู่ในพื้นที่สูงและมีภูเขา ฤดูแล้งอากาศค่อนข้างแห้งและร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 40 องศาเซลเซียส ช่วงกลางวันพอเดือนเมษายน-พฤษภาคมจะเห็นชาวบ้านหลบลมร้อนอยู่ตามใต้ถุนบ้าน การงานบางอย่างอาจจะต้องหยุดไว้ชั่วคราวเพราะสภาพอากาศไม่อำนวย การปลูกผักและทำนาอาจทำไม่ได้เพราะขาดน้ำและพืชผักกิน ในบางอย่างไม่สามารถเจริญงอกงามได้มากนักในสภาพอากาศเช่นนั้น ต้นเดือนมิถุนายนความร้อน แห้งแล้งเริ่มลดลงไปเพราะมีฝนต้นฤดูตกลงมาบ้าง ถ้าจะเริ่มลงมือทำนากันในช่วงนี้ก็ต้องหยุดปลูกผัก รอให้งานในนาเรียบร้อยแล้วจึงกลับไปปลูกผักกันใหม่ เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่อากาศดี ปลายฤดูฝนอากาศอาจเริ่มเย็นตอนกลางคืนและหนาวมากในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม บางปีอากาศเย็นอาจยืดออกไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในปีที่อากาศหนาวเย็นตอนเช้า-ค่ำอาจเห็นชาวบ้านก่อไฟบนลานดินหน้าบ้านเพื่อได้อาศัยไออุ่นจากไฟ ผู้ที่ออกไปนาไร่ตอนเช้าตรู่มักจะมีผ้าขาวม้าโพกศีรษะ หรือใส่หมวกผ้าชนิดคลุมศีรษะทั้งหมด เว้นไว้แต่ช่วงคางและจมูก

ชุมชนแบ่งละแวกบ้านออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามทิศทางที่ตั้งของหมู่บ้านคือ กลุ่มเหนือ กลุ่มกลางและกลุ่มใต้ บ้านเหนือมีจำนวนบ้านเรือนมากที่สุด รองลงไปคือบ้านกลางและบ้านใต้ ระหว่างละแวกบ้านมีถนนเป็นเสมือนเส้นระบุเขต การแบ่งละแวกบ้านน่าจะมีนัยทางกายภาพมากกว่าสังคม 

สถานที่สำคัญ

  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • โรงเรียนวัดหนองสา เป็นโรงเรียนของชุมชน เปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ
  • โรงเรียนปานจิต โรงเรียนรัตนศึกษา และโรงเรียนปรีดาวิทย์ เป็นโรงเรียนเอกชน ขยายการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
  • โรงเรียนอู่ทองศึกษา โรงเรียนรัฐ เปิดสอนระดับมัธยมต้น
  • โรงเรียนอู่ทอง เปิดสอนทั้งระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย

บ้านโคกมีประชากรทั้งหมด 2,172 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,016 คน ประชากรหญิง 1,156 คน ครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 868 ครัวเรือน

คนบ้านโคกเป็นญาติกันส่วนใหญ่ นามสกุลแก้วสระแสน และลีสุขสามเป็นนามสกุลที่มีผู้ใช้กว่าครึ่งหมู่บ้าน คู่สมรสหลายคู่มีนามสกุลเป็นนามสกุลเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องใกล้ชิดชั้นลูกพี่ลูกน้อง หากให้ปัจเจกสืบสาวถึงบรรพบุรุษและผู้คนในตระกูลวงศ์ บุคคลผู้นั้นก็อาจจะตอบว่าคนในหมู่บ้านเกี่ยวโยงกันไปหมด หากไม่ใช่ญาติทางสายโลหิตก็เป็นญาติทางการสมรส

ลาวครั่งที่บ้านโคกก็จัดระเบียบครอบครัวคล้ายกันกับหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กล่าวคือพิจารณาถึงโครงสร้างของครอบครัว จะมีทั้งที่เป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยวแบบชั่วคราวและขยายที่ไม่ต่อเนื่อง กล่าวคือ ในช่วงแรกจะหมุนเวียนจากลักษณะครอบครัวเดี่ยว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเพียง 2 รุ่น คือ พ่อ แม่ และลูก ๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน ต่อมาเมื่อลูกถึงวัยที่ต้องแต่งงานมีคู่ครอง ก็จะนำคู่ครองเข้ามาอาศัยอยู่รวมกันในครอบครัวกับพ่อแม่ของตนโดยมิได้แยกครอบครัวออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ต่างหากและเมื่อมีลูกก็จะจะทำให้ลักษณะของครอบครัวออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ต่างหากและเมื่อมีลูกก็จะทำให้ลักษณะของครอบครัวมีการผันแปรไปตามกาลเวลาและมีวงจรพัฒนากลายเป็นลักษณะครอบครัวขยาย ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 3 รุ่น คือ ปู่ ย่า หรือตา ยาย พ่อ แม่ และลูก ๆ แต่เมื่อปู่ย่า หรือ ตายายได้เสียชีวิตลง สมาชิกในครอบครัวก็จะเหลือเพียง พ่อ แม่ และลูก ๆ เท่านั้น ลักษณะของครอบครัวจึงเวียนกลับมาสู่ลักษณะของครอบครัวเดี่ยวอีกครั้ง ลักษณะของครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงและหมุนเวียนกันไปเป็นวัฏจักรระหว่างครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายเช่นนี้เรื่อยไป

การแต่งงาน

ในความรู้สึกของหนุ่มสาวบ้านโคกนั้นการเกี้ยวพาราสีเป็นปฐมบทของการเริ่มจะมีคู่ครอง ผู้คนส่วนใหญ่เกิดและเจริญวัยอยู่ในชุมชนจึงไม่ค่อยมีโอกาสเลือกคู่ครองที่มีพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างไปจากตนเท่าใดนัก หนุ่มสาวจะเคยเห็นเคยรู้จักกันมาบ้างแม้จะอยู่ต่างกลุ่มบ้าน ในกรณีของคนต่างหมู่บ้านบางทีอาจจะต้องพึงพ่อสื่อแม่สื่อในระยะแรกรู้จักกัน ส่วนผู้ที่อยู่ละแวกบ้านเดียวกันหรือเคยรู้สึกกันมาก่อนในวัยเด็ก เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาวอาจจะสร้างสายสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง โดยทั่วไปยังคงถือธรรมเนียมของ “การผิดผี” ที่หนุ่มสาวจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน หากฝ่าฝืนและมีผู้รู้ผู้เห็นจะต้องทำพิธีแปลงผิดหรือพิธีคารวะผีของฝ่ายหญิง ส่วนมากหากเกิดการผิดผีก็จะต้องทำพิธีแต่งงานกันตามประเพณีต่อไป

ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเป็นธุระจัดแจงงานแต่งเกือบทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การหาฤกษ์ยามเตรียมสถานที่ จัดอาหารและหาหมอขวัญมาทำพิธีสู่ขวัญบ่าวสาว หากเป็นงานแต่งที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายควบคุมมาตลอดก็จะจัดกันใหญ่โตเหมาะสมฐานะและการเรียกร้องสินสอดก็ค่อนข้างจะสูง แต่ถ้าคู่บ่าวสาวผิดผีกันมาก่อน งานแต่งงานก็อาจจะไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะเป็นการงานแต่งที่แสดงให้เห็นข้อบกพร่องที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม อีกทั้งยังจะต้องมีการขอขมาในความผิดพลาดนั้น ฝ่ายสาวจะเรียกสินสอดมากคงไม่ได้เพราะเป็นฝ่ายเสียหายไปแล้วคงต้องยอมตามข้อต่อรองของฝ่ายชาย ปัจจุบันหาหมอขวัญที่เป็นคนลาวครั่งได้ยากเพราะหมอขวัญรุ่นเก่าเสียชีวิตหมดและไม่มีคนรุ่นใหม่สืบทอด จึงต้องนิมนต์พระมาให้คู่บ่าวสาวทำบุญใส่บาตรและประพรมน้ำมนต์แก่ผู้บ่าวสาวและผู้มาร่วมงาน หมดพิธีสงฆ์ก็เป็นพิธีทางโลกเริ่มต้นด้วยการยกขบวนขันหมากจากบ้านเจ้าบ่าวสู่บ้านเจ้าสาว ตามมาด้วยพิธีรดน้ำสังข์ที่คนลาวได้แบบอย่างไปจากคนไทยในชุมชนข้างเคียง หลังจากมอบสินสอดทองหมั้นให้แก่กันก็ถึงเวลารับไหว้ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะได้รู้จักกันในฐานะญาติทางการสมรส

ภายหลังแต่งงาน คู่สมรสจะอยู่ร่วมบ้านพ่อแม่ระยะหนึ่งเพราะยังไม่พร้อมที่จะแยกเรือนออกไปอยู่ตามลำพัง คู่สมรสใหม่ ๆ จำต้องอาศัยทุนการผลิตจากครอบครัวพ่อแม่ไปพักหนึ่งซึ่งอาจใช้เวลานานนับปีกว่าจะต้องฐานการผลิตของตนได้ ในทางอุดมคตินั้นคู่สมรสควรจะอยู่บ้านพ่อแม่ของฝ่ายหญิง แต่ในความเป็นจริงก็มีคู่สมรสบางคู่ที่อยู่บ้านฝ่ายชาย การจะตั้งครอบครัวอยู่กับฝ่ายใดน่าจะมีความสัมพันธ์กับการแบ่งมรดกทรัพย์สินด้วย ความนิยมที่จะให้บุตรสาวผู้มีครอบครัวอยู่ในละแวกบ้านพ่อแม่ เท่ากับว่าบุตรสาวจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินที่อยู่อาศัยด้วย ขณะที่บุตรชายแต่งงานออกไปอยู่กับครอบครัวข้างภรรยาก็ไม่ได้รับสิทธิ์มรดกที่ดินที่อยู่อาศัยของครอบครัวเดิม กระนั้นพ่อแม่ก็มักจะแบ่งที่นาไร่ให้ลูก ๆ เท่าเทียมกัน ในบางครอบครัวจะแบ่งที่นาไร่ที่อยู่รอบ ๆ บ้านโคกให้บุตรสาว และยกที่นาไร่ส่วนที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านหรือที่อยู่ในตำบลอื่นในบุตรชาย เท่ากับให้บุตรชายเป็นผู้เสียสละให้กับพี่น้องผู้หญิง  

ลาวครั่ง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

การนับถือผี

ความเชื่อในอำนาจภูตผีระดับชุมชนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลาวครั่ง เป็นแบบแผนความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ประเทศลาว ในระบบความเชื่อผีนั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ความเชื่อผีเจ้านายและความเชื่อผีเทวดา ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางเกือบครึ่งกิโลเมตร เป็นบริเวณที่ตั้งศาลเจ้านายหรือที่เรียกกันในหมู่บ้านว่า “หอเจ้านาย” มีศาลไม้ขนาดย่อมจำนวน 7 หลังปลูกเรียงรายหน้ากระดานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ศาลเหล่านี้เป็นที่สถิตย์ของผีเจ้านาย เท่าที่จำชื่อกันได้คือ กุกุสันโธ สุกะพระแก้ว สิงห์หาน ท้าวขุนทึงและขุนขาน เชื่อว่า กุกุสันโธเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถทางการปกครอง สมัยของกษัตริย์องค์นี้ไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขโดยถ้วนทั่วสิงห์หานเป็นโอรสของกุกุสันโธ ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้านายเหล่านี้คือผู้ปกครองอาณาจักรหลวงพระบางในอดีต แต่หลายคนคิดว่าคือวิญญาณของบรรพบุรุษรุ่นเก่าที่ไม่อาจสืบหาต้นเค้าได้ เชื่อว่าผีเจ้านายจะคอยคุ้มครองรักษาผู้คนในชุมชนให้ปลอดภัยจากอันตรายนานา ประมาณอาทิตย์ที่สองของเดือนมิถุนายนของทุกปีจะจัดให้มีงานเลี้ยงผีเจ้านายด้วยการเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวานและของมึนเมา ชาวบ้านอีกส่วนเชื่อในผีเทวดา ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าผู้นับถือผีเจ้านาย การเลี้ยงผีเทวดาจะทำภายหลังจากงานเลี้ยงผีเจ้านายผ่านพ้นไปแล้ว จุดประสงค์ของการเลี้ยงผีก็เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้คุ้มครองและเป็นโอกาสที่จะได้ทำพิธีแก้บนและบอกกล่าวขอขมาการกระทำทั้งหลายที่เข้าข่ายผิดผี ขณะเดียวกันก็จะบอกให้ผีรับรู้ว่าในขวบปีที่ผ่านมามีสมาชิกลูกหลานผู้ชายที่เพิ่มขึ้นกี่คน การเน้นที่ลูกหลานผู้ชายก็เพราะลูกหลานผู้ชายจะเติบใหญ่เป็นผู้นำครอบครัวและมักจะมีเหตุให้ต้องออกไปผจญภัยนอกหมู่บ้าน เช่นถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร จึงหวังคุ้มครองจากผีเป็นพิเศษ

ศาสนา

พิธีเนื่องในพระพุทธศาสนาในรอบปีโดยรวม ๆ ที่ถือปฏิบัติกันในชุมชนก็คล้ายในชุมชนอื่น ประเพณีส่วนที่มีลักษณะเด่นไปจากชุมชนทั่วไปก็คือ ประเพณีเก็บหมากเก็บพลูและงานแห่ธงตอนเทศกาลสงกรานต์ งานเลี้ยงผีเจ้านาย ผีเทวดา และทำบุญกลางหมู่บ้านในเดือนมิถุนายน สารทลาวในกันยายนและลอยกระทงสวรรค์ในเดือนพฤศจิกายน ระหว่างเทศกาลสงกรานต์มีกิจพิธีประเพณีหลายอย่าง อาจเป็นเพราะลาวครั่งก็ถือว่าเทศกาลนี้เป็นระยะเริ่มต้นปี ควรจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้พร้อมสรรพ เพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ที่จะมาถึง ก่อนถึงวันสงกรานต์ 1 วัน ผู้ช่วยกวน (กวนคือตำแหน่งคนนำเลี้ยงผีเจ้านาย) จะไปเก็บหมากพลูจากทุกหลังคาเรือนเพื่อให้กวนได้นำไปบอกเชิญผีเจ้านายให้มาร่วมฉลองเทศกาล และบอกขออนุญาตให้หนุ่มสาวสนุกสนานถูกเนื้อต้องตัวกันได้โดยไม่ถือว่าผิดผี เพราะในชุมชนฉลองสงกรานต์กันนานถึง 7 วัน บางปีอาจนานถึง 9 วัน วันสุดท้ายกวนก็จะนำหมากพลูมาขอขมาผีเจ้านายอีกครั้ง

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ในท้องถิ่นมีอาชีพต่าง ๆ ให้ทำมากพอสมควร การย้ายถิ่นออกไปหางานทำนอกชุมชนจึงมีน้อย วัยแรงงานทำอาชีพภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม หลายครอบครัวทำนาไร่และจะยังคงมีคนรุ่นลูกหลานช่วยงานในฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยว  เมื่อว่างงานจากภาคเกษตรก็หางานภาคอุตสาหกรรมทำโดยมากเป็นแรงงานรับจ้างตามห้างร้านเอกชนในอำเภออู่ทอง อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรกรรมยังเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ ซึ่งจะมีกิจกรรมเพาะปลูกที่แตกต่างกันไปตามเดือนและฤดูกาล ดังนี้ 

  • เดือนเมษายน (ฤดูร้อน) : ทำสวนผัก/เก็บผักหน้าร้อนขาย/เกี่ยวข้าวนาปรัง/ขายข้าว
  • เดือนพฤษภาคม (ฤดูร้อน) : ทำสวนผัก/เก็บผักหน้าร้อนขาย
  • เดือนมิถุนายน (ปลายฤดูร้อน) : ทำสวนผัก/เก็บผักหน้าร้อนขาย/เริ่มไถนา
  • เดือนกรกฎาคม (ต้นฤดูฝน) : เก็บผักขาย/ไถนา
  • เดือนสิงหาคม (ฤดูฝน) : เริ่มหว่านข้าว/ไถนา
  • เดือนกันยายน (ฤดูฝน) : ใส่ปุ๋ยในนาข้าว/ปลูกผัก
  • เดือนตุลาคม (ปลายฤดูฝน) : ถอนหญ้า ใส่ปุ๋ย ฉีดยาฆ่าแมลง กำจัดศัตรูพืชทั้งในนาและในสวนผัก/ตัดผักขาย
  • เดือนพฤศจิกายน (ต้นฤดูหนาว) : ปลูกผัก/ขายผัก/เริ่มเก็บเกี่ยวข้าง/ขายข้าว
  • ธันวาคม (ฤดูหนาว) : เก็บเกี่ยวข้าว/ขายข้าว/ขายผัก
  • มกราคม (ฤดูหนาว) : ไถหว่านนาปรัง/ปลูกผัก/ขายผัก
  • เดือนกุมภาพันธ์ (ปลายฤดูหนาว) : ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน กำจัดวัชพืช ศัตรูพืชในนาข้าว สวนผัก/ขายผัก
  • เดือนมีนาคม (ต้นฤดูร้อน) : ปลูกผัก/ขายผัก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ลาวครั่งมีวัฒนธรรมด้านภาษาเป็นเอกลักษณ์ของตน ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทหรือไต ที่พบว่าเป็นตระกูลภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนเขตประเทศเวียดนาม พม่า ลาวและประเทศไทย เสียงพูดของคนลาวครั่งคล้ายกับเสียงพูดของคนลาวในแถบหลวงพระบาง ไชยะบุรีและบ่อแก้ว ซึ่งเป็นแขวงแถบตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ภาษาเขียนก็มีปรากฏอยู่ในหนังสือใบลานและสมุดไทยขาวซึ่งทำจากกระดาษสา


นับวันผู้คนในหมู่บ้านยิ่งจะได้รับรู้เรื่องราวจากภายนอกและสร้างประสบการณ์กับสิ่งใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ผลที่ตามมาก็คือการต้องพึ่งพาสังคมภายนอกเกือบทุก ๆ ด้านทั้งการผลิตและการดำเนินชีวิต ในการทำมาหากินอาจจะมีทุน ที่ดินและแรงงาน แต่การทำนาทำไร่ในปัจจุบันต้องใช้เทคโนโลยีและความรู้จากภายนอกเข้าช่วย


ยวดยานที่เพิ่มปริมาณผ่านไปมาในบ้านโคกทุกวันนี้จะเป็นต้นเหตุให้อากาศเป็นพิษ ข้อนี้ยืนยันได้จากสถิติของผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในบ้านโคกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่นานนักโรคภูมิแพ้ก็อาจจะเป็นโรคที่ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนต้องเผชิญ 


การเปลี่ยนแปลงในแบบอย่างการดำเนินชีวิตก็เด่นชัดเช่นกัน ดูง่าย ๆ จากการกินอาหารสำเร็จรูป การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านยี่ห้อดัง ๆ การแต่งกายตามดารานักแสดง การฟังเพลงตามสมัยนิยม การเข้าสถานบันเทิง ร้านอาหารที่มีคาราโอเกะ การจัดงานวันเกิด การนัดแนะกันไปเที่ยวเตร่ตามงานแสดงในที่ต่าง ๆ และการซื้อหาสินค้าจากห้างสรรพสินค้าในตลาดอำเภอ หรือที่ตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ฯลฯ

ประชากรวัยเด็กมีน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางแผนครอบครัว ระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาคู่สมรสส่วนใหญ่นิยมมีบุตรเพียงคนเดียว ขณะที่รุ่นปู่ย่าตายายมีบุตรเฉลี่ยครอบครัวละ 7-8 คน ภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น ขนาดการถือครองที่ดินที่เล็กลงและความต้องการจะเลี้ยงบุตรให้ได้รับการศึกษาสูง ๆ ฯลฯ คือเหตุผลหนึ่งที่พ่อแม่รุ่นใหม่ตัดสินใจคุมกำเนิดกันอย่างกว้างขวาง โดยมากจะใช้บริการคุมกำเนิดจากสถานีอนามัยตำบลอู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโคก และโรงพยาบาลอู่ทอง บางส่วนใช้บริการจากคลินิกและร้านขายยาในตลาดอู่ทอง 

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research

Thailand Intrend . (2561). อิ่มอก อิ่มใจ ไปเยือนอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี. คืนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566 , จาก https://www.thetrippacker.com/th