ชุมชนชาติพันธุ์ไทดำหรือลาวโซ่ง มีความเชื่อในผีแถนซึ่งเป็นรากฐานของประเพณีและวัฒนธรรมหลายอย่าง มีการทำหัตถกรรมชุมชนที่โดดเด่นและแตกต่าง เรียกว่า การทอผ้ากี่กระตุก
หมู่บ้านยางได้ชื่อตามสภาพภูมิศาสตร์ที่มีต้นยางนาอยู่มาก
ชุมชนชาติพันธุ์ไทดำหรือลาวโซ่ง มีความเชื่อในผีแถนซึ่งเป็นรากฐานของประเพณีและวัฒนธรรมหลายอย่าง มีการทำหัตถกรรมชุมชนที่โดดเด่นและแตกต่าง เรียกว่า การทอผ้ากี่กระตุก
ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าที่เกิดที่นี่เล่าว่าเดิมบรรพบุรุษของตนก็อยู่ที่เพชรบุรีแต่ได้อพยพมาหาแหล่งทำกินแถบนี้เมื่อราว 200 ปีก่อน สมัยนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่ารก มีต้นยางนาต้นใหญ่สุดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากแสดงว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงตกลงตั้งถิ่นฐานและชักชวนญาติพี่น้องจากเพชรบุรีให้มาอยู่ด้วยกัน เวลาผ่านไปจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจึงได้ขยับขยายเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านดอน บ้านดอนไฟไหม้ บ้านดอนปอ บ้านหัวทำนบทั้งนี้โดยมีบ้านยางและบ้านดอนเป็นแกนหลักเพราะมีลาวโซ่งอยู่กันหนาแน่นที่สุด
บริเวณที่ตั้งชุมชน มีป่าละเมาะอยู่โดยรอบ ในบรรดาไม้ต้นที่มีค่อนข้างมากคือต้นสะแกซึ่งเป็นพืชทนแล้งและอายุยืน รอบชุมชนพื้นที่เป็นที่ราบมีน้ำท่วมขังเสมอในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ทำนา บางตอนเป็นที่ลุ่มมากไม่อาจทำนาได้จึงมีพืชน้ำปะปนกันอยู่ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทรายในที่ลุ่มน้ำท่วมขัง และเป็นดินร่วนปนทรายในที่เนิน ในที่เนินดินระบายน้ำได้มากหรืออาจจะเร็วเกินไป จึงไม่ค่อยอุ้มน้ำ เป็นบริเวณที่เหมาะต่อการเพาะปลูกพืชผลประเภทผักที่ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวระยะสั้น กระนั้นชาวบ้านก็มักจะบอกอยู่เสมอว่าพืชผลของตนไม่ค่อยเจริญงอกงามเหมือนของในท้องถิ่นอื่น คงเป็นเพราะปัญหาดินเปรี้ยวที่มีอยู่ทั่วไปในย่านนั้น
ลักษณะภูมิอากาศ
มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมฝ่ายใต้ มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 26-29 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิสูงสุดในช่วงเดือนเมษายนประมาณ 32-36 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ประมาณ 21-23 องศาเซลเซียส ทำให้ภูมิอากาศบ้านดอนส่วนใหญ่มีความร้อนอบอ้าว หรือร้อนชื้น ประกอบกับฝนที่ตกในปริมาณน้อย ทำให้บางครั้งเกิดภาวะความแห้งแล้ง ส่งผลให้คนในตำบลบ้านดอนประสบปัญหาเกี่ยวกับการเกษตรกรรม รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วย
สถานที่สำคัญ
ในชุมชนมีสถานีอนามัย 1 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ประจำ 3 คน และมีผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) 5 คน ชาวบ้านจะได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางด้านโภชนาการ งานอนามัยโรงเรียน การวางแผนครอบครัวโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หากผู้ขอรับบริการมีบัตรสงเคราะห์มีอายุ 60 ปีขึ้นไปหรือเป็นเด็กนักเรียน ปกติหากป่วยไข้ทั่ว ๆ ไปก็อาจจะหาซื้อยารับประทานหรือขอความอนุเคราะห์จากอนามัย แต่ถ้าเห็นว่าป่วยไข้มาก อาจจะไปคลินิกในตลาดอู่ทองหรือโรงพยาบาลโรงเรียนการบินกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม การรักษาโรคหลายอย่างที่เกี่ยวกับจิตใจยังอาศัยวิธีการไสยศาสตร์แบบพื้นบ้านด้วยความช่วยเหลือของหมอเวทมนต์เช่น หมอเซ่นผีและแม่มด
ในตำบลบ้านดอนมีโรงเรียน 2 แห่ง คือ โรงเรียนวัดกลางบ้านดอน และโรงเรียนวัดยางสว่างอารมณ์
การคมนาคม
ส่วนใหญ่จะใช้จักรยานและจักรยานยนต์ การเดินเท้าจะมีอยู่ในหมู่ละแวกบ้านและเวลาเข้าสู่ที่นาไร่ซึ่งไม่มีถนน คนรุ่นปู่ย่าตายายยังเดินเท้ากันเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะไม่ถนัดในการใช้ยานพาหนะ ผู้ที่มีพื้นที่นาอยู่ไกลบ้านอาจขับขี่รถไถนาประเภทเดินตามเพื่อเดินทางจากบ้านไปยังพื้นที่เพาะปลูก หลายครอบครัวมีรถยนต์แบบรถบรรทุกขนาดเล็กที่ผลิตเองในท้องถิ่น จึงสะดวกต่อการใช้เป็นยานพาหนะขนส่งผลผลิตและโดยสารไปยังที่ต่าง ๆ เวลาไปทำบุญที่วัด ไปหาซื้อของใช้ที่ตลาดอู่ทอง แห่นาคหรือยกขันหมากก็จะเห็นผู้โดยสารทุกเพศทุกวัยเดินทางมากับรถดังกล่าว
บ้านยางลาวมีประชากรทั้งหมด 1,283 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 620 คน และประชากรหญิง 663 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 369 ครัวเรือน
ระบบเครือญาติ
ชาวโซ่งอาจจะมีลักษณะของครอบครัวเป็นแบบวัฏจักรคล้ายกันกับครอบครัวของกลุ่มอื่น โดยทั่ว ๆ ไป ที่เริ่มต้นจากการสร้างครอบครัวของคู่สามีภรรยา ช่วงนี้ครอบครัวยังมีขนาดเล็ก ลูก ๆ ยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ พอบุตรเติบโตและแต่งงานโดยพาคู่ครองเข้ามาอยู่ร่วมบ้านด้วยขนาดของครอบครัวก็ขยายใหญ่ขึ้น เมื่อบุตรคนที่มีครอบครัวมีความพร้อมก็จะแยกเรือนออกไป ครอบครัวก็เข้าสู่ภาวะของการเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้ง แต่เพราะชาวโซ่งเชื่อว่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของบุตรหลานเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้สืบตระกูลทั้งหลายต้องรวมตัวกันเซ่นไหว้เป็นประจำตามเวลาที่เหมาะสม การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่จึงเห็นเด่นชัดกว่าครอบครัวขนาดเล็ก
สมาชิกในวงศ์ตระกูลส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกันเพราะสืบสายโลหิต กระนั้นก็มีสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ามาเป็นญาติโดยผ่านการแต่งงาน ญาติในลักษณะนี้จะเป็นผู้หญิงจะต้องเข้ามาอยู่ในครอบครัวของฝ่ายชายหลังสมรส คู่สมรสจะต้องมาจากตระกูลอื่น ผู้ที่มีผีบรรพบุรุษร่วมกันจะแต่งงานกันไม่ได้ ตอนแต่งงานพ่อแม่ของฝ่ายชายจะมารับเจ้าสาวไปอยู่ที่บ้านของตนพร้อมบอกให้ผีเรือนทราบว่าจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ด้วย และเมื่อบ้านฝ่ายชายจัดพิธีเซ่นผีเรือนจะพิธีต้อนรับสะใภ้ใหม่ให้เข้ามาเป็นสมาชิกของตระกูล นับจากนั้นถือว่าสะใภ้เป็นญาติร่วมบรรพบุรุษกับตระกูลข้างสามีสืบไป บุตรที่เกิดก็ให้นับถือผีบรรพบุรุษข้างบิดา บรรดาสะใภ้และหลานสะใภ้นับรวมเป็นญาติผีเดียวกัน ในกรณีของการแต่งงานที่ฝ่ายชายต้องเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายหญิง ทางฝ่ายพ่อตาแม่ยายก็ต้องบอกกล่าวให้ผีเรือนรับรู้ถึงการมีสมาชิกไหม้เข้ามาอยู่ด้วยเช่นกัน หากครอบครัวนี้ไม่มีบุตรชายเพื่อทำหน้าที่เลี้ยงผีบรรพบุรุษก็จะต้องให้หลานชายเป็นผู้ทำหน้าที่นั้น กล่าวคือจะต้องสร้างบ้านหลังใหม่เพื่อให้มีที่ทำพิธีเซ่นผีเป็นสัดส่วนต่างหากจากบ้านหลังเดิม
ชาวโซ่งมีแบบแผนในการจัดลำดับความสูง-ต่ำบุคคลด้วยเช่นกัน ในสังคมของชาวโซ่งจะแบ่งชนชั้นเป็นสองประเภทคือ ชนชั้นสูงหรือที่รู้กันในหมู่ชาวโซ่งว่า “ผู้ท้าว” และชั้นสามัญที่เรียกว่า “ผู้น้อย” เชื่อว่าชนชั้นผู้ท้าวคือผู้ที่มีเชื้อสายมาจากผู้ปกครองเป็นชนชั้นที่สามารถติดต่อและบูชา “แถน” หรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ที่มีอำนาจครอบคลุมความเป็นอยู่ของมนุษย์ เมื่อคนชั้นผู้ท้าวตายไปจะได้ไปอยู่เมืองฟ้า แต่คนชั้นผู้น้อยตายแล้วจะได้ไปอยู่ในดินแดนที่เหมือนกับโลกมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งในชุมชนต่างรู้กันดีว่าใครสืบเชื้อสายผู้ท้าวหรือผู้น้อย
นอกจากการจัดวามสูง-ต่ำทางสังคมในเรื่องของชนชั้นดังกล่าวแล้ว ชาวโซ่งยังเน้นความแก่อาวุโสและอ่อนอาวุโสมากเช่นกัน ในหมู่วงศ์ญาติเด็ก ๆ จะได้รับการอบรมให้รู้จักการเคารพญาติผู้ใหญ่ทั้งญาติฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ ญาติข้างพ่อมีความใกล้ชิดกับปัจเจกและมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมความคิดและบุคลิกภาพของคนรุ่นลูกหลานอยู่มาก เวลาสนทนากันระหว่างคนที่มีอายุไล่เรี่ยกันอาจใช้สรรพนามมึง-กู แต่ถ้าผู้สนทนาด้วยมีอายุมากกว่าก็จะเรียกขานคู่สนทนาด้วยคำนำหน้าชื่อตามอายุวัยของคู่สนทนาเช่น หากคู่สนทนาเป็นคนรุ่นปู่ก็จะนำหน้าชื่อด้วยคำว่า “อ้ายอู่” หรือ “อ้ายเฒ่า” สำหรับนำหน้าคนร่นตา ปกติชาวโซ่งจะไม่เรียกขานคนที่แต่งงานและมีลูกแล้วด้วยชื่อจริง ๆ ของผู้นั้น แต่จะเรียกด้วยชื่อลูกคนโตของคนดังกล่าว ไม่ว่าบุตรคนแรกจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เช่น เวลาเอ่ยถึง “เอมวัน” ก็หมายถึงแม่ของวันหรือเมื่อใครเรียกขาน “อ้ายอู่วน” ก็เป็นที่รู้กันว่ากำลังกล่าวถึงพ่อของนายวน ธรรมเนียมเช่นนี้ทำให้ลืมชื่อจริงของบุคคลรุ่นพ่อแม่ขึ้นไปกันเป็นส่วนใหญ่
ไทดำกลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านยางลาว ก่อตั้งขึ้นเพื่อความต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดต่อกันมาครั้นสมัยบรรพบุรุษอย่างผ้าทอ โดยการรวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูการทอผ้าที่ในขณะนั้นกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งก็คือ ความทันสมัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ชุมชน ทำให้คนรุ่นใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทอผ้า และรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งกลุ่มทอผ้าที่กระตุกบ้านยางลาวนี้ขึ้นมา นำโดย คุณไกร มั่นเพชร อายุ 66 ปี เพื่อเป็นวิถีทางที่จะอนุรักษ์การทอผ้า และผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาเอาไว้ได้ เมื่อมีจุดประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะก่อตั้งกลุ่มขึ้น โดยรวบเอาสมาชิกในรุ่นแรกได้จำนวนทั้งสิ้น 15 คน จึงเกิดเป็นกลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านยางลาว หมู่ 2 ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีขึ้น
แต่เดิมคนในชุมชนจะทอผ้าโดยใช้กี่พุ่ง หรือที่เรียกกันว่ากี่โบราณในการทอผ้า ซึ่งในระยะเวลาต่อมา กี่ดังกล่าวก็เกิดความทรุดโทรมและพังเสียหายไปตามกาลเวลา ผู้คนในยุคหลังก็ไม่มีความรู้ความสามารถในการซ่อมแซม ทำให้มีการพัฒนามาใช้กี่กระตุกในการทอผ้าแทน ทำให้ผ้าที่ได้มีหน้าผ้าที่กว้างขึ้น และเนื้อผ้ามีความละเอียดขึ้นกว่ากี่แบบเดิม นอกจากนี้กลุ่มทอผ้ายังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิม อาทิ การปลูกฝ้าย และการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มาเป็นการใช้ด้ายสำเร็จรูป โดยเรียกด้ายชนิดดังกล่าวว่า ใยประดิษฐ์ ซึ่งมีความคงทน สีไม่ตก และช่วยประหยัดเวลาในการทอผ้า ซึ่งสาเหตุที่กลุ่มทอผ้าจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบก็เพราะในสมัยก่อนนั้น หมู่บ้านยังทำการเกษตรกรรมแบบไม่ใช้สารเคมี กล่าวคือยังไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใด ๆ ทำให้ตัวหม่อนที่เลี้ยงไว้สามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี แต่ในระยะเวลาต่อมา สารเคมีที่เข้ามาในหมู่บ้านมีมากขึ้นทำให้ตัวหม่อนที่เลี้ยงเอาไว้ตาย การเปลี่ยนมาใช้ใยประดิษฐ์จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน
ในส่วนของผ้าทอที่ถูกทอขึ้นโดยกลุ่มทอผ้านั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผ้าทอและผ้าทอที่นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ้าทอประกอบด้วยผ้าทอสีพื้น เช่น สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว สีเหลือง ผ้าขาวม้า และผ้าทอลายแตงโมที่เป็นผ้าทอสีดำลายทางสีฟ้าซึ่งนิยมนำไปตัดเย็บเป็นผ้าซิ่นลายแตงโมอันเป็นเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยทรงดำ นอกจากนี้ผ้าทอยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผ้าถุง กระเป๋าผ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป ซองใส่โทรศัพท์ พวงกุญแจ หมอน และหมอนอิง กระเป๋าคาดเอว ซึ่งล้วนแล้วแต่ประกอบขึ้นด้วยผ้าทอของกลุ่มและลวดลายของไทยทรงดำ
ในปัจจุบัน สมาชิกในกลุ่มทอผ้าจะมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันเป็นส่วน ๆ โดยยึดเอาการทำงานในกลุ่มนี้เป็นอาชีพเสริม และมีการประกอบอาชีพหลัก อาทิ รับราชการ ทำนา และแม่บ้าน เป็นต้น ผู้ที่มีหน้าที่ทอผ้าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน เมตรละ 30 บาท โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทอผ้าในแต่ละวัน ผู้ที่ทอผ้าจะต้องทอต่อจนเสร็จ สมาชิกคนอื่น ๆ จึงจะผลัดเปลี่ยนกันมาทอต่อได้ ในส่วนของการเย็บลวดลายกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบบสำเร็จนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของสมาชิกกลุ่มที่มีความถนัดทางด้านนี้ ซึ่งสามารถมารวมตัวกันทำในบริเวณที่ตั้งของกลุ่มทอผ้าก็ได้ สมาชิกบางคนที่มีภารกิจหน้าจะต้องทำงานบ้านหรือธุระส่วนตัวต่าง ๆ ก็สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่มีส่วนในการลงหุ้นแต่ไม่ได้มีส่วนในการทอผ้าหรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็จะได้รับเป็นเงินปันผลตอนสิ้นปีเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ผู้ที่มาทำงานจะได้รับเป็นเบี้ยขยันตอบแทนสำหรับการมาทำงานในแต่ละครั้ง
สำหรับการลงหุ้นกับกลุ่มทอผ้านั้น 1 หุ้นจะเป็นจำนวนเงิน 100 บาท และสามารถลงได้แค่ไม่เกิน 6 หุ้น หรือ 600 บาทเท่านั้น มีการประชุม 2 ครั้ง/ปี คือตอนกลางปีราวเดือนมิถุนายน – เดือนกรกฎาคม และสิ้นปีในเดือนธันวาคมเพื่อคำนวณรายได้ และนำจำนวนเงินที่ได้กำไรมาหักด้วยเงินสำหรับบริหารจัดการกลุ่มจำนวน 40% เงินค่าทำการกุศลและทำสาธารณประโยชน์จำนวนรวม 10% และเบี้ยขยันให้กับสมาชิกที่ทำงานจำนวน 10% ส่วนที่เหลือจึงจะนำมาปันผลให้กับสมาชิกทุกคนตามจำนวนที่ได้ลงหุ้นเอาไว้ นอกจากนี้จะมีการตรวจเช็คสินค้าทุก ๆ ปี และจะทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อความโปร่งใส โดยจะนำเงินที่ได้ไปฝากที่ธนาคารการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
นอกจากนี้ กลุ่มทอผ้ายังมีการทำกิจกรรมที่ช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และวัฒนธรรมประเพณีอันสวยงามของชาวไทยทรงดำผ่านวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ 1) การทอผ้าและการผลิตผ้าทอ 2) การเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชน และ 3) การออกร้านตามงานต่าง ๆ ซึ่งมักจะไปร่วมออกร้าน หรืองานนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนต่าง ๆ อาทิ งานแสดงสินค้าไทย งานโอทอปซิตี้ (OTOP city) การจัดนิทรรศการตามโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี และการออกร้านตามงานแสดงสินค้าพื้นบ้านต่าง ๆ
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ศาสนา
ในท้องถิ่นมีวัด 2 แห่งคือ วัดกลางบ้านดอน และวัดยางสว่างอารมณ์ หมู่บ้านจะอยู่กึ่งกลางระหว่างวัดทั้งสอง ใครอยู่ใกล้วัดไหนก็ไปทำบุญที่วัดนั้น วัดทั้งสองคือสิ่งที่แสดงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาตามแบบของชาวบ้าน การนับถือพุทธศาสนาอาจจะเป็นของใหม่สำหรับโซ่งผู้ที่ยังยึดมั่นอยู่กับความเชื่อในผีสางเทวดาอย่างเหนียวแน่น กระนั้นโซ่งก็รับนับถือได้อย่างไม่ขัดแย้งกัน จะเห็นได้จากการทำบุญตามเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและการทำบุญใส่บาตรตอนเช้า ๆ ช่วงเข้าพรรษาที่พระสงฆ์จะเดินมารับบิณฑบาตตามละแวกบ้าน วันพระคนชราหลายคนทำบุญและรับศีลด้วยการสวดมนต์ภาวนาอยู่ที่วัด 1 คืน คนรุ่นลูกหลานนิยมการบวชประจำพรรษาเมื่ออายุย่างเข้า 20 ปี ส่วนใหญ่มักจะต้องเข้ารับการคัดเลือกทหารจากทางราชการก่อน ใครที่ไม่ถูกเกณฑ์ทหารก็จะจัดบวชเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่
การนับถือผี
ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดานั้นมีทั้งผีที่คิดว่าให้คุณและโทษได้หากทำผิดข้อห้ามต่าง ๆ ผีที่โซ่งเห็นว่ามีส่วนสัมพันธ์ กับชีวิตของคนภายหลังความตาย คือ ผีแถนผีฟ้า ที่ระดับชุมชนนั้นได้มีการสร้างศาลให้เป็นที่สิงสถิตของเจ้าพ่อปู่เดิม เจ้าน้อยมหาพรหม และเจ้าพ่อทวน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้มีอำนาจคุ้มครองดูแลหมู่บ้านให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ทุกปีในเดือนพฤษภาคมชาวบ้านจะจัดให้มีการเซ่นไหว้และเข้าทรงเพื่อซักถามโชคชะตาอนาคตของชุมชน ส่วนผีที่เชื่อว่ามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในวงศ์ตระกูลนั้นก็คือผีบรรพบุรุษ นอกนั้นอาจมีผีตามป่าเขาลำเนาภัย เช่นผีป่า ผีพราย ผีกระสือ และผีแม่ซื้อซึ่งไม่มีที่สิงสถิตที่แน่นอนเหมือนผีระดับสูงอย่างแถน ผีระดับชุมชนและผีระดับครอบครัวดังที่ได้กล่าวมา
ขวัญ
โซ่งเชื่อว่าแถนผู้สร้างมนุษย์ได้กำหนดให้คนแต่ละคนมี 32 ขวัญ เชื่อว่าขวัญเป็นสิ่งสำคัญที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉพาะความทุกข์ ความสุข เคราะห์ หรือการเจ็บป่วยเป็นเพราะขวัญที่อยู่ในตัวของตนเองเป็นเหตุ เชื่อว่าหากขวัญออกจากตัวไปหรืออยู่ไม่ครบ 32 ขวัญ จะเกิดเจ็บป่วยได้เพราะขวัญหลงไปที่อื่นหรือมีใครเอาขวัญไปซ่อนไว้จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญแบบต่าง ๆ การเสนขวัญซึ่งทำขึ้นเมื่อยามป่วยไข้เพราะขวัญหายหรือขวัญเสีย เรื่องของขวัญดูจะเป็นสิ่งที่โซ่งเน้นเป็นพิเศษด้วยเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ที่บางครั้งก็ไม่อาจจะอยู่ในความบังคับควบคุมได้อย่างปกติ ฝในพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิตโดยเฉพาะพิธีการเกิดและพิธีแต่งงานจีการสู่ขวัญเป็นสาระสำคัญของกิจพิธี ในส่วนของลาวโซ่งนั้น ในกรณีที่คนในบ้านป่วยเพราะแถนเป็นต้นเหตุก็จะต้องทำพิธี “เสนเตง” เพื่อเรียกขวัญให้ผู้ป่วย ถ้ามีเคราะห์ร้ายเกิดขึ้นในครอบครัวจะทำพิธีเสนแก้เคราะห์เรือน ภายหลังงานศพจะทำ “พิธีเสนหวัดไกว้” เพื่อเรียกขวัญทุกคนในบ้านไม่ให้ขวัญหนีเพราะความเศร้าโศก ผู้นำทำพิธีเสนเรือนจะเป็นผู้ชาย ในขณะที่ผู้นำทำพิธีเสนเพื่อเรียกขวัญในกรณีต่าง ๆ อาจจะเป็นผู้หญิงก็ได้ ซึ่งคนลาวโซ่งเรียกว่า “มด” เทียบได้กับหมอผีตามคติของไทย เชื่อกันว่าทารกแรกเกิดจะมีแม่ซื้อหรือแม่เดิมซึ่งเป็นผีคอยจะแย่งเอาเด็กกลับคืนจึงต้องทำพิธีเสนฆ่าเกือดโดยนำสัตว์เล็ก ๆ เช่น นก ไก่ หรือหนูมาแล้วเรียกวิญญาณแม่เดิมเข้าร่างสัตว์พร้อมกับฆ่าสัตว์นั้นแล้วนำซากสัตว์ไปฝังไว้ที่ตีนบันไดบ้าน พร้อมกันนั้นก็เลี้ยงผีเรือนด้วย การเซ่นไหว้ผีสางเทวดาตามแบบแผนความเชื่อของโซ่งมีระยะเวลากำหนดไว้แน่นอนพอสมควรดังจะเห็นได้จากปฏิทินข้างล่างนี้
ปฏิทินประเพณีพิธีกรรมในรอบปีของโซ่ง
- เดือนอ้าย (ธ.ค.) : ปัดตง (ข้างขึ้น)
- เดือนยี่ : ปัดตง
- เดือนสาม : ปัดตง
- เดือนสี่ : เสนเรือน , แต่งงาน
- เดือนห้า : บวชนาค , สงกรานต์
- เดือนหก : เสนเรือน , แต่งงาน , บวชนาค , ไหว้ศาลหมู่บ้าน
- เดือนเจ็ด : บวชนาค
- เดือนแปด : เสนเรือน , แต่งงาน , บวชนาค
- เดือนเก้า : สารท
- เดือนสิบ : เสนเรือน
- เดือนสิบเอ็ด : ปัดตง (ข้างแรม)
- เดือนสิบสอง : เสนเรือน แต่งงาน
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
เกษตรกรรม
- เดือนสิงหาคม - เดือนพฤศจิกายน : ทำนาปี
- เดือนมีนาคม - เดือนมิถุนายน : นาปรัง
การเลี้ยงสัตว์เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่วัว หมูและไก่ ผู้มีทุนจะซื้อพ่อพันธุ์วัวเพื่อมาผสมและได้ลูกวัวเพื่อเลี้ยงไว้จนโต วัวอายุ 3-4 ปีจะขายได้ราคาตัวละ 2,000-3,000 บาท ส่วนหมูนั้นก็เลี้ยงไว้เพื่อให้โตและขาย บางรายเลี้ยงแม่หมูเพื่อขายลูก ลูกหมูอายุ 2 เดือนขายได้ราคาคู่ละ 1,300-1,400 บาท
หากพิจารณาแหล่งรายได้แล้วอาจจะบอกได้ว่ามาจากการทำนา แต่ปีหนึ่ง ๆ จะมีรายได้จากการทำนาเพียง 2 ครั้ง (หากทำนาปรังและนาปี) ในความเป็นจริงนั้นการที่รายจ่ายไม่สูงมากกับผู้คนในเมืองอาจเป็นเพราะไม่ต้องห่วงรายจ่ายสำหรับค่าอาหารส่วนที่เป็น “กับข้าว” ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไปสมาชิกในครอบครัวจะหายิงนกตกปลาและเก็บพืชผักที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำลำคลองอยู่เป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังมีการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมขนาดเล็กประเภทแปรรูปผลผลิตต่อเนื่องทางการเกษตร ได้แก่ โรงสีข้าว ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อให้บริการเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้ประชากรมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000-50,000 บาท/คน/ครัวเรือน/ปี แต่ปัจจุบันคนในพื้นที่เริ่มหันไปประกอบอาชีพที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ การทำงานในโรงงาน โดยคนในตำบลจะนิยมทำงานทั้งในโรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดข้างเคียง รวมไปถึงการเข้ามายังกรุงเทพมหานครเพื่อหางานทำ
1. คุณไกร มั่นเพชร ผู้นำก่อตั้งกลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านยางลาว
ทุนทางวัฒนธรรม
หัตถกรรม
การทำหัตถกรรมทั้งเครื่องจักสานและสิ่งทอก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนอยู่รอดมาได้ตลอด หากแยกเครื่องจักสานตามประโยชน์ใช้สอยก็จะพบว่าเครื่องจักสานที่เกี่ยวกับการทำมาหากินโดยตรงจะได้แก่สุ่มที่ใช้จับปลา ลอบ ไซ ลันและข้องก็อยู่ในจำพวกเดียวกันนี้ ส่วนกระบุง ตะกร้า ตะแกรงอ่อน กระด้งและกระจาดจะเป็นข้าวของเครื่องใช้เพื่อการร่อน ฟัด แยกและบรรจุข้าวเปลือก ข้าวสารและสิ่งอื่น ๆ และแอ๊บข้าวซึ่งเป็นภาชนะข้าวหรือข้าวเหนียว นอกจากนี้ยังมีขมุก ใช้เก็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และกะเหล็บเป็นถุงย่ามหรือกระเป๋าเดินทางของผู้คนในเมือง
การทำเครื่องจักสานอย่างข้างต้นเป็นฝีมือของผู้ชายแต่การทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงอย่างแท้จริง นอกเหนือจากการทำนาและทำไร่จับปูปลาหาผักหญ้ามาทำอาหารแล้ว เวลาที่เหลืออีกส่วนหนึ่งของสตรีชาวโซ่งจะหมดไปกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและเห็บฝ้ายมาถักทอผ้าให้สมาชิกในครอบครัว การที่ชาวบ้านกล่าวว่า ”ยามว่างผู้หญิงทอผ้าผู้ชายจักสาน” น่าจะเป็นคำอธิบายที่บอกถึงหน้าที่การงานของผู้คนได้พอสมควร การผลิตเสื้อผ้านุ่งห่มของลาวโซ่งคล้ายกับของคนกลุ่มอื่นในพื้นที่ราบ กระนั้นก็มีลักษณะแตกต่างบางประการที่น่ากล่าวถึงเช่นเรื่องของผ้าซิ่น ซึ่งผ้าซิ่นของหญิงชาวโซ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างจากซิ่นของกลุ่มชนอื่น ตัวซิ่นมีสีครามหรือเงินแก่ มีสีขาวสลับเป็นช่วง ๆ ก่อให้เกิดลวดลายเป็นลายตามยาว ตามลำตัวมีลักษณะคล้ายผิวแตงโม ความกว้างของซิ่นทั้งผืนประมาณ 1-1/2 วา ขึ้นอยู่กับขนาดรูปร่างของผู้นุ่ง เป็นผ้าซิ่นที่ทอโดยใช้ไหมสีแดงเป็นเส้นยึดใช้ด้ายสีดำและขาวเป็นเส้นพุ่ง
ลักษณะโครงสร้างของซิ่น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น การต่อหรือการเย็บผ้าซิ่นให้ติดกันเป็นผืนครบทั้ง 3 ส่วน ใช้มือเย็บทั้งหมดเป็นงานฝีมือที่ละเอียดประณีตมาก การต่อผืนซิ่นใช้วิธีการเย็บตะเข็บโดยวิธีการที่เรียกว่า “หล้นหน” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฝีจักร เมื่อหล้นหนเสร็จแล้วจึงใช้วิธีเรียกว่า “ป้าหลุ” ซ้ำอีกครั้งเพื่อความเหนียวแน่นของรอยตะเข็บ ส่วนการต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นเข้ากับตัวซิ่นใช้วิธีการ “สอย”
ปกติจะใช้ภาษาลาวโซ่งในหมู่พวกของตนเองและใช้ภาษาไทยกลางกับคนภายนอก ผู้สูงอายุจะพูดภาษาไทยกลางไม่ค่อยสันทัดนัก ส่วนคนรุ่นหลานได้รับการศึกษาสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยกลางได้ แต่เดิมลาวโซ่งมีภาษาเขียนเป็นของตนเอง ตัวหนังสือคล้ายตัวหนังสือลาว ระเบียบของไวยากรณ์ก็ไม่ต่างไปจากภาษาไทย ในแง่ของภาษาศาสตร์ภาษาลาวโซ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยสาขาตะวันตกเฉียงใต้ มีความแตกต่างและแปรผันไปจากภาษาไทยภาคกลางเพียงเล็กน้อย
มีระบบสาธารณูปโภคแรกเข้ามา คือ ไฟฟ้า ทำให้ชีวิตประจำวันของคนในชุมชนสามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีไฟฟ้าเข้ามาระบบสาธารณูปโภคอย่างอื่นก็ทยอยเข้ามาอย่างประปา
การก่อตั้งโรงเรียนขึ้นทำให้ลูกหลานของคนในหมู่บ้านสามารถเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนได้ และไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปเรียนในโรงเรียนต่างอำเภอเฉกเช่นในอดีต เด็กและเยาวชนในชุมชนจึงเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายดายขึ้น ส่งผลให้การศึกษาเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันแทนที่การสั่งสอนจากคนในครอบครัว
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
เทศบาลตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. (2565). กลุ่มอาชีพ กลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านยางลาว จำหน่ายสินค้าจากผ้าทอไทยทรงดำ. ค้นคืนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.bandon.go.th/
เพจ โรงเรียนวัดกลางบ้านดอน. (2559). ค้นคืนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/
เพจ โรงเรียนวัดยางสว่างอารมณ์. (2563). ค้นคืนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/
ศศินุช สุขโข. (2558). กลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านยางลาว หมู่ 2 ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี : การธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไทยทรงดำผ่านผ้าทอท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.sure.su.ac.th/