Advance search

มัสยิดนูรุลยากีน และติดกับชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ 

16
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
มูฮำหมัดอาลี ซง
18 มี.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
20 พ.ค. 2023
มูฮำหมัดอาลี ซง
27 พ.ค. 2023
สามัคคี

สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะประชาชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมส่วนรวม จึงคิดว่าควรจะใช้ชื่อ สามัคคีและหลังจากตั้งชื่อแล้ว ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


มัสยิดนูรุลยากีน และติดกับชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ 

16
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
95000
6.566226
101.2967
เทศบาลนคร

ชุมชนสามัคคี การก่อตั้งชุมชนเกิดขึ้นจากประชาชนในเขตเทศบาลนครยะลามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทให้การดูแลไม่ทั่วถึง ดังนั้น เพื่อความสะดวกต่อการดูแลและประสานงานเทศบาลนครยะลา จึงได้จัดตั้งชุมชนขึ้นจำนวน 40 ชุมชน และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ชุมชนสามัคคี สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะประชาชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมส่วนรวม จึงคิดว่าควรจะใช้ชื่อ สามัคคีและหลังจากตั้งชื่อแล้ว ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งการแต่งตั้งชุมชนสามัคคีในครั้งนี้มี นายมะตา ตาเละ เป็นประธานชุมชนคน แรก ต่อมา นายเจ๊ะอูมา เจ๊ะปูเต๊ะ เป็นประธานชุมชนคนที่ 2 นายแวหะมะ หะยีนิแว ประธานชุมชนคนที่ 3 และในปัจจุบันมี นายอารัน สมั่น เป็นประธานชุมชน 

ปัจจุบันชุมชนสามัคคีตั้งอยู่หมู่ที่ 16 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประมาณ 116,186.12 ตารางเมตร คลอบคลุมพื้นที่ถนนสิโรรส 2, 4, และถนนวิฑูรอุทิศ 5-8

ชุมชนสามัคคี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ห่างจากอำเภอเมือง ไปทางทิศตะวันตก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดยะลาไปทางทิศตะวันตก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ           ติดต่อกับ    ชุมชนตลาดเก่าซอย 8, เทศบาล 5
  • ทิศใต้              ติดต่อกับ    วิฑูรอุทิศ 1
  • ทิศตะวันออก     ติดต่อกับ    วิฑูรอุทิศ 10
  • ทิศตะวันตก      ติดต่อกับ     ชุมชนสันติสุข

สภาพพื้นที่กายภาพ

ชุมชนสามัคคี เป็นชุมชนเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา สภาพพื้นที่ทั่วไปของชุมชนเป็นที่ราบ มีพื้นที่ประมาณ 116,186.12 ตารางเมตร ลักษณะที่อยู่อาศัยภายในชุมชนจะประกอบไปด้วยอาคารบ้านเรือนที่มีรูปแบบทันสมัยและรูปแบบดั่งเดิมที่มีลักษณะอาคารบ้านเรือนติดกัน โดยมีทั้งร้านค้า มัสยิด ร้านตัดผม และร้านซ่อมมอเตอไซต์

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนสามัคคี จำนวน 273  ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,353 คน แบ่งประชากรชาย 639 คน หญิง 714 คน เป็นชุมชนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมลายูโดยสมาชิกในชุมชนจะอาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

มลายู

กลุ่มอาชีพสตรีชุมชนสามัคคี เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การทำฝาชีสายรุ้ง ขนมพื้นบ้าน เป็นต้น โดยมีนางอาพัน รัตนานิกรกาณจน์ เป็นประธานกลุ่มอาชีพสตรีชุมชนสามัคคี

ด้านการบริหารชุมชน

  1. นายอารัน สมั่น             ประธานชุมชน
  2. นายอิสมาแอ กอและ    รองประธานชุมชน

ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีเมาลิดสัมพันธ์  เป็นกิจกรรมประจำปีที่ชุมชนจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการรำลึกถึงหลักธรรมคำสอน และผลงานของท่านนบีมูฮัมมัด ทั้งยังมีการรวมตัวกันเพื่อฟังเรื่องเล่าชีวประวัติแบบฉบับอันงดงาม บุคลิกภาพอันมีเกียรติของท่านนบี และมีการเลี้ยงรับอาหารคนจน รวมไปถึงบรรดามุสลิม

ประเพณีอาซูรอสัมพันธ์ เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน

เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 นก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เดือนเมษายน ประเพณีเข้าสุนัตหมู่ เป็นประเพณีการการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายของมุสลิม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะจัดขึ้นในช่วงปิดเทอมยาว

เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา  เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ถนนคนเดินขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ

เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคํญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพหลัก คือ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป และรับราชการ ในส่วนอาชีพเสริม เช่น ซ่อมรถ รับเลี้ยงเด็ก มอเตอร์ไซด์รับจ้าง แกะสลักงานเฟอร์นิเจอร์ ช่างกลึงทําขนมจีน และช่างเชื่อมเหล็ก  

นายมะตา ตาเละ ประธานชุมชนคนแรกของชุมชนสามัคคี เป็นผู้มีความเป็นผู้นำและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาชุมชนเพื่อให้สมาชิกในชุมชนอยู่กันอย่างสามัคคีกัน

ด้านการศึกษา ชุมชนมีโรงเรียนตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) และสถานที่เรียนอัลกุรอ่าน ซึ่งสถานศึกษาเหล่านี้จะตั้งอยู่ในบริเวณมัสยิด โดยผู้สอนจะเป็นผู้รอบรู้ด้านศาสนาอิสลามและผู้เรียนจะเป็นเด็กๆในชุมชน

อาหาร ได้แก่ ขนมจีน เนื่องในเทศกาลสำคัญต่างๆ อาทิ วันอีด ขึ้นบ้านใหม่ วันเมาลิด เป็นต้น สมาชิกในชุมชนจะนิยมกันทำและรับประทานขนมจีน ในภาษามลายูถิ่นเรียกว่า ละซอ

ผู้คนในชุมชนจะใช้ภาษาไทยและภาษามลายูในการพูดคุยสื่อสารกันภายในชุมชน


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ เนื่องด้วยจำนวนประชากรของชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการสร้างอาคารบ้านเรือนที่มีรูปแบบทันสมัยเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีบ้านเรื่อนที่ยังคงสภาพเดิม

ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนสามัคคีเผชิญกับความท้าทาย ดังนี้

1. ปัญหาเยาวชนติดยาเสพติด

2. การว่างงานของเยาวชน

3. สมาชิกในครอบครัวมีรายได้น้อย

4. เยาวชนขาดการศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา

5. ชุมชนมีสี่แยกมากจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย

6. ประชาชนมีความรู้ ความเข้าในในเรื่องของการดูแลสุขภาพน้อย

อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และอื่นๆ ได้เข้ามารับฟัง ติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการจัดกิจกรรมต่างๆในชุมชน 

ในชุมชนมีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ มัสยิดนูรุลยากีน

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

นายอารัน สมั่น. (1 มิถุนายน 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, ผู้สัมภาษณ์)