มัสยิดยาแมะปาลอฆือเตาะสะเตง
เป็นชุมชนดั้งเดิม ตั้งอยู่ละแวกสะพานสะเตง
มัสยิดยาแมะปาลอฆือเตาะสะเตง
ชุมชนหัวสะพานสะเตง เป็นชุมชนที่จัดตั้งขึ้นพร้อมๆกันกับ 3 ชุมชนแรกในปี พ.ศ.2536 คือหลังวัดยะลาธรรมาราม ชุมชนจารูพัฒนา ชุมชนหัวสะพานสะเตง เป็นชุมชนดั้งเดิม โดยมีนางสุกัญญา หมื่นวิเศษ เป็นประธานชุมชนคนแรกประชาชนส่วนใหญ่มีความคุ้นนเคยและรู้จักกันมาก่อนจึงค่อข้างเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ประชาชนในชุมชนมีความ ร่วมมือร่วมใจเป็นอย่างดี ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตําบลสะเตง อําเภอเมือง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประมาณ 360,407.81 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ถนนสิโรรสตั้งแต่หน้ากูโบร์บูเกะซีรอ ซอยมูซอ 1 ซอยมูซอ 2 ซอยหัวสะพาน 1 ซอย หัวสะพาน 2 ซอยศรีนวลอุทิศ และซอยเจ๊ะแวร่วมพัฒนา ถึงหน้าแยกไปเรือนจํา
ชุมชนหัวสะพานสะเตง ตั้งอยู่ในเทศบาลนครยะลา อําเภอเมือง จังหวัด ยะลา ห่างจากสํานักงาน เทศบาลนครยะลาไปทางทิศตะวันตก 2.5 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ กูโบบูเกะซีรอ ชุมชนพิทยนิโรธ และแม่น้ำปัตตานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ สวนขวัญเมือ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนหน้าศูนย์แม่และเด็กและสวนขวัญเมือง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำปัตตานีและชุมชนบ้านร่ม
สภาพพื้นที่กายภาพ
ชุมชนหัวสะพานสะเตง เป็นชุมชนเมืองขนาดปานกลาง โดยมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประมาณ 360,407.81 ตารางเมตร ลักษณะอาคารบ้านเรือนติดกัน และมีอยู่บ้างที่เป็นบ้านเดี่ยว เป็นชุมชนที่แม่น้ำปัตตานีไหลผ่านและติดกับถนนใหญ่ (ถนนสิโรรส) ซึ่งจะคั่บคั้งไปด้วยรถที่สัญจรไปมา
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนหัวสะพานสะเตง จำนวน 346 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,032 คน แบ่งประชากรชาย 490 คน หญิง 542 คน เป็นชุมชนมุสลิมมลายู โดยสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูกลุ่มกิจกรรม/อาชีพ มีจํานวน 1 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มน้ำจิ้มหัวสะพาน เป็นกลุ่มอาชีพที่มีการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านในการทำน้ำจิ้มสูตรเด็ดและมีเอกลักลักษณ์เฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ด้านการบริหารชุมชน
- นายยูโซ๊ะ มะเซ็งบางี ประธานชุมชน
- นางสุกัญญา หมื่นวิเศษ รองประธานชุมชน
ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดัง ต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
เทศกาลวันฮารีรายอ (วันอีดิลฟิตรี และวันอีดิลอัฏฮา) เป็นเทศกาลและวันสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลกวันหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นวันรื่นเริงประจำปีซึ่งชาวมุสลิมได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้องเพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน ช่วงเวลาในรอบ 1 ปีของชาวมุสลิมมีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง คือ วันอีดิลฟิตรี และวันอีดิลอัฏฮา ในวันดังกล่าว ชาวมุสลิมนิยมใส่เสื้อผ้าของใหม่ๆ สะอาด สวยงาม มีกลิ่นหอม สำหรับอาหารที่นิยมทำในวันฮารีรายอ คือ ตูปะ (ข้าวเหนียวต้ม)
ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน
ประเพณีเมาลิดสัมพันธ์ เป็นกิจกรรมประจำปีที่ชุมชนจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการรำลึกถึงหลักธรรมคำสอน คุณงามความดีและสรรเสริญศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล) ที่มีต่อศาสนาอิสลาม ทั้งยังมีการรวมตัวกันเพื่อฟังเรื่องเล่าชีวประวัติแบบฉบับอันงดงาม บุคลิกภาพอันมีเกียรติของท่านนบี และมีการเลี้ยงรับอาหารคนจน รวมไปถึงบรรดามุสลิม
ประเพณีรอมฎอนสัมพันธ์ เดือนรอมฎอน เป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งยึดตามจันทรคติ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะถือศีลอดประจำปีในช่วงเวลากลางวันของเดือนนี้โดยพวกเขาจะอดอาหารตั้งแต่แสงอรุณขึ้นไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน
เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 นก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ”ถนนคนเดิน” ขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ
เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคํญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนจะประกอบอาชีพหลัก คือ รับราชการ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
นางสุกัญญา หมื่นวิเศษ ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านอาหารพื้นถิ่นและขนมไทย อาทิ แกงมัสมั่น นาซิดาแฆ สะเต๊ะไก่-เนื้อ และรอเยาะ เป็นต้น โดยได้รับการยอมรับและความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรด้านอาหารให้กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา
ในชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ มัสยิดยาแมะปาลอฆือเตาะสะเตง กูโบบูเก๊ะซีรอ สวนขวัญเมือง และแม่น้ำปัตตานี ซึ่งสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน
อาหาร ได้แก่ แกงมัสมั่น นาซิดาแฆ สะเต๊ะไก่-เนื้อ และรอเยาะ เป็นต้น โดยเมนูอาหารเหล่านี้มักจะทำและรับประทานกันในช่วงเทศกาลและงานสำคัญๆของชุมชน อาทิ งานมงคลต่างๆ วันรายอ เป็นต้น
ด้านการศึกษา ชุมชนจะมีโรงเรียนตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) และห้องเรียนอัลกุรอ่าน ซึ่งจะตั้งอยู่ในบริเวณมัสยิด ซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆในชุมชน สำหรับการเรียนการสอนของผู้ใหญ่ จะเรียนกันในมัสยิดจะเรียกว่า บายาน (บรรยายธรรม)
สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ ได้แก่ มัสยิดยาแมะปาลอฆือเตาะสะเตง กูโบบูเก๊ะซีรอ สวนขวัญเมือง และแม่น้ำปัตตานี
ผู้คนในชุมชนจะใช้ภาษาไทยและภาษามลายูในการสื่อสารเนื่องด้วยเป็นชุมชนมุสลิมและสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนมลายู
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ จำนวนอาคารบ้านเรือน ด่านความมั่งคง ร้านค้า และอาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ในส่วนของประชากรมีการเพิ่ม-ลดจำนวนประชากรในชุมชน เนื่องจากเป็นชุมชนเมือง
ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนประสบกับความท้าท้าย ดังนี้
1. ปัญหาการมั่วสุมยาเสพติดของกลุ่มวัยรุ่นในชุมชน
2. ปัญหาความปลอดภัยในชุมชน
3. ปัญหาน้ำท่วมมขังในชุมชน
อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และ
หน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนงบประมาณและบุคลากร เข้ามาดูแล ติดตาม และแก้ไข้ปัญหาดังกล่าวให้กับชุมชน
ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการทำกิจกรรมต่างๆของชุมชน
ชุมชนหัวสะพานสะเตงและพื้นที่ใกล้เคียง มีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ มัสยิดยาแมะปาลอฆือเตาะสะเตง กูโบบูเก๊ะซีรอ สวนขวัญเมือง และแม่น้ำปัตตานี
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
นายยูโซ๊ะ มะเซ็งบางี. (8 มิถุนายน 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, ผู้สัมภาษณ์)