ท่าเรือโบราณน้ำใส เลื่องลือไกลดอยหลวง บวงสรวงพระธาตุดอยโตน ประชาชนเก่งกสิกรรม งามเลิศล้ำธรรมมาสโบราณ งานจักสานไม้ไผ่เลื่องชื่อ
ตำนานสามกษัตริย์ พระร่วงเจ้า พญามังราย และพญางำเมือง เมื่อพระร่วงได้โอกาสพยายามจะลักลอบเป็นชู้กับพระนางอั้วเชียงแสน พญางำเมือง จึงได้ให้เสนาอำมาตย์หาเสียมมาขุดไล่ตามตุ่น ที่พระร่วงแปลงกายเป็นตัวตุ่น เกือบจะถึงตัวตุ่นแต่ไม่ทัน พญางำเมืองจึงเนรมิตแปลงกายเป็นก้อนหินไปปิดข้างทางข้ามดอยหลวง ตุ่นจึงมุดหนีไปไม่ได้ พญางำเมืองจึงจับตัวตุ่นได้ที่นั่น บริเวณนั่นจึงได้ชื่อว่า "บ้านตุ่น" ร่องรอยที่ตุ่นหนีไปในการตามล่าของพญางำเมือง เรียกว่า "ห้วยแม่ตุ่น"และสำหรับบ้านตุ่นใต้นั้น มีที่มาจากคำว่า “ใต้” นั้นหมายถึง ทิศด้านล่าง ซึ่งหมายถึงอยู่ทิศด้านล่างของบ้านตุ่นกลาง หรือเรียกอีกอย่างว่า บ้านใต้
ท่าเรือโบราณน้ำใส เลื่องลือไกลดอยหลวง บวงสรวงพระธาตุดอยโตน ประชาชนเก่งกสิกรรม งามเลิศล้ำธรรมมาสโบราณ งานจักสานไม้ไผ่เลื่องชื่อ
เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์
พ.ศ. 2310 หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
พ.ศ. 2315 ได้มีการสร้างวิหาร วัดตุ่นใต้ตั้งอยู่เลขที่ 105 บ้านตุ่นใต้หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ จำนวน 3 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวาโฉนดเลขที่ 27845 อาณาเขตทิศเหนือติดลำน้ำตุ่น ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกติดถนน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ หอระฆังศาลาหอฉันปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูป ธรรมาสน์
วัดตุ่นใต้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2315 เดิมชาวบ้านเรียก วัดตุ่นใต้น้ำล้อม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 การบริหารการปกครองมีเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจำนวน 14 รูป
พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จจึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมืองพะเยายังขึ้นกับเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนในตระกูลมาปกครอง โดยต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ โดยมีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
พ.ศ. 2330 เจ้าเมืองอังวะสั่งให้หวุ่นยี่มหาไชยสุระ ยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผ่านฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยาด้วย ผู้คนกลัวแตกตื่น อพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลาถึง 56 ปี
พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กราบถวายบังคมทูลของตั้งเมืองเชียงรายขึ้นกับเมืองนครเชียงใหม่ และขอตั้งเมืองพะเยา และเมืองงาว ทั้งสองเมืองนี้ขึ้นกับเมืองนครลำปาง ฝ่ายเมืองพะเยาทรงตั้งนายพุทธวงศ์ น้องคนที่ 1 ของพระยานครอินทร์ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา
พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา
พ.ศ. 2389 นายฐา มารสาร อพยพจากสงคราม มาจากเมืองแพร่มาได้ภรรยาอยู่บ้านตุ่นและได้เปลี่ยนนานสกุลเป็นนามสกุลของภรรยาเป็น “เสธา” ได้มีบุตรด้วยกัน 9 คน เดิมนายฐาเคยเป็นทหารเก่าที่รบอยู่ชายแดน และได้หนีมาอยู่บ้านตุ่น ก็ได้มาเป็นหมอเมือง หรือเรียกว่า “หมอชาวบ้าน” โดยรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านและยังเป็นหมอตำแยทำคลอดคนในหมู่บ้าน
โดยในสมัยแต่ก่อนหมอตำแยจะนำเอาน้ำมะพร้าวมานวดที่ท้อง เพื่อให้ถุงน้ำคร่ำแตก หากแม่มีเชิงกรานที่เล็ก จะต้องดื่มน้ำอุ่นกับใบมะนาวเพื่อให้คลอดง่ายขึ้นและให้มีแรงเบ่งคลอด และจะมีการใช้เชือกและผ้ามัดขื่อไว้ให้แม่โหนหรือเหนี่ยวรั้งขณะเบ่งคลอด จะมีไม้ไว้เหยียบด้วย
ความเป็นมาของบ้านตุ่นใต้ จากหลักฐานและประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่า พ่อหน่อม เครือสาร อดีตผู้ใหญ่บ้านตุ่นใต้หมู่ที่ 1 (พ.ศ. 2523-2542) ว่าสำหรับบ้านตุ่นใต้นั้น คำว่า “ใต้” หมายถึง “ทิศด้านล่าง” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า อยู่ด้านล่างของบ้านตุ่นกลางหรือเรียกอีกอย่างว่า “บ้านใต้” รวมทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน คือ ห้วยแม่ตุ่น ไหลมาจากเทือกเขาผีปันน้ำระหว่างอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางกับอำเภอเมืองพะเยา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบัวและมีพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นปี พ.ศ. 2447 พร้อมกับได้มีการจัดตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ ท้าวสาร คำโล และมีกำนันคนแรกของบ้านตุ่นใต้ ชื่อนายอิน ริมจันทร์หมู่ที่ 1 ก็ได้แยกหมู่บ้านออกเป็นอีก 1 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7 ในปี พ.ศ. 2476
เดิมคนไทยไม่มีนามสกุล มีเพียงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ให้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 หลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ซึ่งนามสกุลเดิมในอดีตประมาณ 100 ปี ของบ้านตุ่นใต้ ตั้งแต่มีการตราพระราชบัญญัตินามสกุลมาจากต้นตระกูลของท้าวสาร คำโล คือนามสกุล คำโล ในหมู่บ้าน นามสกุลเครือสารและนามสกุลริมจันทร์ ในปัจจุบันนามสกุลที่มีมากที่สุดในคือ นามสกุลเครือสาร นามสกุลหล่อวงศ์ และนามสกุล เสธา บ้านตุ่นเป็นชุมชนขนาดกลาง ลักษณะของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ของเทือกเขาดอยหลวง พื้นที่ของหมู่บ้านมีทั้งหมด 863 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อยู่อาศัย 203 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 660 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ทำนา 633 ไร่ พื้นที่ทำสวน 15 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ 12 ไร่ ซึ่งลักษณะทั่วไปของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนามีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพืชพรรณการเกษตร เช่น มะม่วง ลำไย มะขาม และข้าว ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคืออาชีพเกษตรกร ได้แก่ การทำนา และมีแม่น้ำตุ่น ซึ่งมีต้นน้ำที่เทือกเขาดอยหลวงและเส้นทางน้ำได้แยกเป็น 2 สาย บริเวณหลังโรงเรียนบ้านตุ่น โดยลำน้ำสายแรกไหลผ่านกลางหมู่บ้านและลำน้ำอีกสายเลียบผ่านไปตามถนนที่ใช้สัญจรไปบ้านสันกว้าน ลำน้ำทั้งสองสายไหลลงกว๊านพะเยาที่บ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 7 ประชาชนในหมู่บ้านใช้น้ำจากแหล่งน้ำแม่ตุ่นสำหรับทำการเกษตร
พ.ศ. 2457 นายอินถา ริมจันทร์ ได้รับตำแหน่งเป็นกำนันบ้านตุ่นและผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 โดยที่บ้านของนายอินถา ได้มีวิทยุสื่อสาร 1 เครื่อง เพื่อแจ้งเหตุที่เกิดในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีวิทยุสื่อสาร ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน 1 เครื่องและที่วัดอีก 1 เครื่องซึ่งในสมัยนั้น ยังไม่มีถนนสำหรับเชื่อมต่อ จากตำบลบ้านตุ่นไปยังตำบลแม่ใจ ต่อมาเริ่มมีการสร้างถนนเดินแดงเพื่อเชื่อมถนนภายในหมู่บ้านและเชื่อมกับตำบลอื่น นอกจากนี้ นายบุญศรี เครือสาร ได้มีรถจักรยานยนต์คันแรกใช้ในหมู่บ้าน และได้มีการจัดตั้งโรงเรียนบ้านตุ่นขึ้นครั้งแรก โดยนายพุธ วงศ์ดวง หรือ “ครูพุธ” โดยได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้าน มาช่วยการสร้างโรงเรียนขึ้นมา และครูพุธยังเป็นบุคคลแรกที่มีรถจักรยานใช้ ในหมู่บ้าน ในขณะนั้น
บ้านตุ่นใต้หมู่ 7 ในอดีตนั้นชื่อว่าบ้านสันกำแพงซึ่งมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานประมาณ 30 ครัวเรือน เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นและต้องการแยกเขตการปกครองให้เล็กลงจึงได้แยกออกจากบ้านตุ่นใต้หมู่ที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2476 เป็นบ้านตุ่นใต้หมู่ 7 ขึ้นมา และมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายหน สืบสายโดยแรกเริ่มการก่อตั้งหมู่บ้านนั้นได้มีการสร้างสุสานของหมู่บ้านร่วมกับบ้านตุ่นใต้หมู่1โดยใช้วิธีการเผาศพบนเชิงตะกอน
พ.ศ. 2485 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ชื่อนายมูล ริมจันทร์ เป็นผู้ริเริ่มสร้างโรงเรียนบ้านตุ่น เป็นโรงเรียนที่ให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านและในหมู่บ้านใกล้เคียงให้เรียนหนังสือ
พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มาพัฒนาการหลายอย่าง เช่นปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำและตำบลใหม่ 28 ก.ม. ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ ประชาชนเรียกถนนสายรอบกว๊าน ถนนได้ตัดผ่านตำบลบ้านตุ่นที่หมู่ 6 หมู่ 11 หมู่ 2 และหมู่ 3 ทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น
พ.ศ. 2512 มีรถจักรยานยนต์คันแรกใช้ในหมู่บ้านเป็นของครูบุญศรี เครือสาร เริ่มมีความเจริญรุ่งเรืองในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น
พ.ศ. 2515 ชาวบ้านช่วยกันสร้างวิหารใหม่ที่วัดตุ่นใต้ ปัจจุบันวัดตุ่นใต้เป็นวัดที่ใช้ร่วมกันทั้งสองหมู่บ้าน คือบ้านตุ่นใต้หมู่ 1 และบ้านตุ่นใต้หมู่ 7
พ.ศ. 2516 เกิดความกดอากาศสูงปกคลุมภาคเหนือทำให้เกิดพายุฝนขึ้นทั่วบริเวณอำเภอพะเยาอำเภอแม่ใจอย่างหนาแน่น ทำให้ฝนตกลงมามากผิดปกติ ตั้งแต่วันที่ 5-6 สิงหาคม 2516 พายุเข้าวันที่ 7 สิงหาคมเวลา 16.00 น. น้ำจากป่าเขาไหลลงกว๊านพะเยามาก เอ่อขึ้นท่วมวัดวาอารามและบ้านเรือน อย่างรวดเร็ว
จากนั้นมีการสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านตุ่น ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เริ่มเปิดให้บริการประชาชนในพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยขณะนั้นยังมีสถานะเป็นสำนักงานผดุงครรภ์บ้านตุ่นลางโดยนายอินทร์ สอนเผ่า ได้บริจาคที่ดินให้แก่ทางราชการจำนวน 1 ไร่ 1 งาน เพื่อสร้างเป็นที่ทำการฯ
พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138)
พ.ศ. 2520 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในระยะแรกเป็นไปในลักษณะโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยดำเนินการทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบลและเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2522 คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้เปลี่ยนคำว่า การสาธารณสุขเบื้องต้น เป็นสาธารณสุขมูลฐาน จึงมีการคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขคนแรกของหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคนในชุมชนทำให้เข้าถึงระบบสุขภาพได้ง่ายขึ้น ในปี พ.ศ. 2528 โดย อสม.คนแรกของหมู่บ้าน ชื่อนาง วิมาลา แสนหมุด ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528-ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน อสม. ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งได้มีการพัฒนาการบริการและการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองโรคเรื้อรัง การสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ (นางวิมาลา แสนหมุด, สัมภาษณ์)
พ.ศ. 2521 สร้างเมรุมาศของหมู่บ้าน ช่วงผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 คือนายบุญรอด วงศ์ราษฎร์ เริ่มมีทีวี โดยใช้แบตเตอรี่รถยนต์ แต่การคมนาคมถนนในหมู่บ้านยังเป็นถนนลูกรัง
พ.ศ. 2533 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 นายจันทร์เป็ง ปวงงาม ได้มีการสร้างถนนคอนกรีต ถนนการเกษตร ถนนสายริมทุ่ง ทำให้การคมนาคมสะดวกมากขึ้น และจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 7 ที่ต้องมีการจัดหาน้ำสะอาดในรูปแบบของน้ำประปาสำหรับประชาชนใช้อุปโภคบริโภค
พ.ศ. 2554-2566 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ของหมู่บ้าน นายสงกรานต์ บุญมา รณรงค์ให้มีการเก็บออมจัดโครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ มีลานกว้างที่เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรม ของชาวบ้านในหมู่บ้าน ปี พ.ศ. 2555 มีเจ้าหน้าที่จากโครงการเทศบาลมาสอนอาชีพจักสาน ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า เข่ง และสุ่มไก่ ประมาณปี พ.ศ. 2559 ได้มีการสร้างศาลาประชาคมในหมู่บ้าน ปี พ.ศ. 2560 ได้มีโครงการประชารัฐ ได้มีปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ และรถไถหมู่บ้าน ปัจจุบันบ้านตุ่นใต้หมู่ 7 มีทั้งหมด 63 ครัวเรือน มีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านจำนวน 7 คน
14 มีนาคม 2566 มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านหลังจากสงกรานต์ บุญมา ลาออกจากตำแหน่ง ผลการเลือกตั้งได้นายสืบศักดิ์ สมศักดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนใหม่
พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกันซึ่งจะมีทั้งหมด 3 คุ้ม คือคุ้มพอเพียง คุ้มพัฒนา และคุ้มสามัคคี ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวรมีรั้วรอบขอบชิด ครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเป็นอาหาร เช่น ไก่ เป็ด ปลา และสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินได้แก่ สุนัข แมว และมีพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านได้แก่ ศาลาเอนกประสงค์
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านสันเวียงใหม่ หมู่ 4 ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านตุ่นใต้หมู่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านทุ่งกิ่ว หมู่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านตุ่นกลาง หมู่ 3 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
จำนวนประชากรบ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีจำนวน 54 ครัวเรือน มีประชากร 119 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิงจำนวน 60 คน เพศชาย 59 คน จำแนกตามสัดส่วนประชากรตามอายุ ปี พ.ศ. 2560 พบว่าช่วงอายุที่พบมากที่สุด อันดับแรก คือ ช่วงอายุ 16-59 รองลงมาคือ 60 ปีขึ้นไปและ 0-14 ปี ตามลำดับ มีจำนวน 68,44 และ 7 คน ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 57.14, 36.97 และ 5.89 ตามลำดับ และการนับถือของศาสนาของประชากร นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 100
บ้านตุ่นใต้เป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ในการติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ และสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน ไม่มีป่าในชุมชน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป
1. นายสืบศักดิ์ เทพสืบ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 7 ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566
บ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประชาชนมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบพึ่งตนเองโดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบทั้งการทำนา ทำสวน ปลูกกระเทียมหัวหอม หาของป่า รับจ้าง อีกทั้งยังมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มจักสานผักตบชวา กลุ่มจักสารไม้ไผ่ เป็นการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและคนในชุมชน ประชากรในหมู่บ้านทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าในวันพระและสำคัญทางประพุทธศาสนา ที่วัดบ้านตุ่น ประชาชนส่วนใหญ่จะไปวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม และส่งเสริมรักษาประเพณีอันดีงามต่าง ๆ ตลอดทั้งปีรวมทั้งการนับถือผี เช่น การเลี้ยงผีปู่ย่า
พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกันซึ่งจะมีทั้งหมด 3 คุ้ม คือคุ้มพอเพียง คุ้มพัฒนา และคุ้มสามัคคี ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวรมีรั้วรอบขอบชิด ครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเป็นอาหาร เช่น ไก่ เป็ด ปลา และสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินได้แก่ สุนัข แมว และมีพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านได้แก่ ศาลาอเนกประสงค์
- อาชีพหลัก : การเกษตร
- อาชีพเสริมรับจ้างทั่วไป : จักสาน, สานเข่ง, สุ่มไก่
- รายได้ของประชาชน : การทำนา, ปลูกกระเทียม, ค้าขาย, เบี้ยยังชีพ, รับจ้างทั่วไป, เบี้ยยังชีพ, เงินจากลูกหลาน, หัตถกรรม (ไม้กวาดทางมะพร้าว), รับราชการ, พนักงานบริษัท
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีทางการเกษตร, ค่าบุหรี่-สุรา
ทุนทรัพยากรธรรมชาติ : หมู่บ้านตุ่นใต้หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 830 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ประมาณ 120 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร ประมาณ 370 ไร่ พื้นที่ทำนา ประมาณ 300 ไร่ พื้นที่ทำสวน ประมาณ 40 ไร่ ไม่มีพื้นที่ป่าในชุมชน
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
ปัจจุบันชาวบ้านเล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินมีการซื้อขายกันมากขึ้น อาหารแปลกใหม่ที่ไม่เคยรับประทานเริ่มเข้า มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชใช้สารเคมีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในการทำการเกษตรจึงทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคใหม่ ๆ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังปลูกผักแบบปลอดสารพิษ รับประทานอาหารเองอยู่ เนื่องจากเชื่อว่ามันดีต่อสุขภาพตนเอง และยังมีการรักษาโดยหมอพื้นบ้าน (หมอเป่า) การใช้สมุนไพร (ฟ้าทะลายโจร) ดังเช่นอดีต ชาวบ้านมีการดื่มสุราและสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นเป็นการดื่มสุราตามเทศกาลต่าง ๆ และเครื่องดื่มเมื่อทำงานหนักเพื่อผ่อนคลาย ความเมื่อยล้า ส่งผลให้เกิดโรคตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด เป็นต้น
- บ้าน "ไหมแพร" เป็นเรือนทรงไทยล้านนา ได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ การจัดส่วนต่าง ๆ ของบ้านได้สวยงาม เป็นจุดสนใจ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์สะสมของเก่าในอดีต เช่น เครื่องใช้ของคนยุคก่อน ๆ สบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ยี่ห้อเก่า ๆ กระเป๋า นาฬิกา เป็นต้น ปัจจุบันที่นี่ได้จัดบริการที่พัก แบบโฮมสเตย์
- ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ปี 2561 เป็นชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชน ตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาดอยหลวง ทำให้มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมาก
- การรวมกลุ่มกันของสตรีแม่บ้านในการทำน้ำพริกสำเร็จรูปออกจำหน่าย อาทิเช่น น้ำพริกข่า น้ำพริกตาแดง น้ำพริกแกงอ่อม เป็นต้น
- ในชุมชนมีการอนุรักษ์ รักษาวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนชาวล้านนาไว้อย่างแนบแน่น ที่นี่มีพื้นที่การเกษตรสีเขียวขจี และเป็นพื้นที่การเกษตรแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ (องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น)
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอนพิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 29. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านตุ่นใต้หมู่ 7 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา