
ชุมชนของคนไทยในภาคอีสานที่มีคนญวนอพยพมาจากลาวในช่วงสงครามอินโดจีน มีแบบแผนวัฒนธรรมที่แตกต่างแต่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สังคมพื้นที่เดียวกัน
เล่ากันว่าสมัยก่อนมีผู้เห็นดาวตกในบริเวณนี้หลายครั้ง จึงเรียกชุมชนใหม่นี้ว่า “ทุ่งนาดาว”
ชุมชนของคนไทยในภาคอีสานที่มีคนญวนอพยพมาจากลาวในช่วงสงครามอินโดจีน มีแบบแผนวัฒนธรรมที่แตกต่างแต่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สังคมพื้นที่เดียวกัน
ในอดีตมีชาวบ้านท่าบ่อ สองสามีภรรยา คือ นายหาและนางเทา พันจุมพิงค์ ได้มาหักร้างถางป่าบริเวณบ้านทุ่งนาดาวเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำนา ระยะแรกก็สร้างเถียงนาไว้เพื่อพักระหว่างที่มาดำนาและเกี่ยวข้าว และใช้ไม้ไผ่ปักเป็นหลักบ่งบอกเขตที่ทำนาของตน ครั้งนั้นได้จับจองที่นาไว้ประมาณ 50 กว่าไร่ เพื่อให้มีเพื่อนบ้านนายหาได้ชักชวนญาติพี่น้องจากบ้านท่าบ่อให้มาอยู่ทำนาด้วยโดยแบ่งที่ผ่าซึ่งจับจองให้โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ
ระยะแรกเริ่มสร้างชุมชนมีบ้านประมาณ 15 หลัง ประชากรราว ๆ 40 คน เกือบทุกคนเป็นญาติพี่น้องกันและใช้นามสกุลพันจุมพิงค์ด้วยกันและยังคงติดต่อกับญาติ ๆ ที่บ้านท่าโคกอยู่เป็นประจำ เพราะในความเป็นจริงนั้นบ้านทุ่งดาวเคยเป็นคุ้มบ้านคุ้มหนึ่งของบ้านท่าโคกเรือ
ช่วงสงครามอินโดจีนเมื่อ 70 ปีก่อน เวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินห์ได้รวมตัวกันสร้างชาติเพื่อให้เป็นอิสระจากการปกครองของฝรั่งเศส การต่อสู้เพื่ออิสระภาพในระยะแรกส่งผลให้ชาวเวียดนามจำนวนนับพันคนต้องหนีภัยสงครามเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศลาว แต่ประเทศลาวก็ไม่อาจแบกภาระรับผู้ลี้ภัยเหล่านั้นได้ทั้งหมด ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งจึงข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ตามชายแดนไทย เช่น จังหวัดอุบลราชธานี นครพนม และหนองคาย ชาวบ้านทุ่งนาดาวเล่าว่ามีคนญวนเข้ามาขออาศัยตามบ้านของตนหลายราย ชาวบ้านให้ทั้งที่พัก อาหาร และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม โดยมากจะให้หลับนอนตามใต้ถุนบ้าน การสื่อสารระหว่างกันยังไม่ค่อยดีนัก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็พูดและฟังภาษาของแต่ละคนไม่รู้เรื่อง คงใช้ภาษาท่าทางกันเป็นส่วนใหญ่ อยู่ไปพักหนึ่งก็พอรู้วิธีทำมาหากินด้วยการช่วยเจ้าของบ้านทำนาทำไร่เพื่อแลกกับอาหาร หลังเลิกงานก็เที่ยวจับปลาเก็บผักหาฟืนที่มีอยู่ตามเนินป่า หลังสงครามสงบชาวญวนจำนวนมากไม่กลับบ้านเกิดเมืองนอนแต่เริ่มตั้งหลักแหล่งเป็นการถาวรในประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของอำเภอท่าบ่อเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่บ้านทุ่งนาดาวมักมีน้ำท่วมขังอยู่เสมอในช่วงฤดูฝน บ้านทุ่งนาดาวมีพื้นที่ทั้งหมด 1,366 ไร่ ในจำนวนนั้นเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรม 1,020 ไร่ นอกนั้นเป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ลักษณะดินตามที่ชายฝั่งและที่ดอนเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนในที่น้ำท่วมยังเป็นดินเหนียวซึ่งมีคุณสมบัติอุ้มน้ำ เนื้อดินมีสีดำอย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดินขี้เถ้า” กล่าวกันว่าเหมาะต่อการปลูกข้าว แหล่งน้ำสำคัญ คือ แม่น้ำโขงที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เพื่อการจับปลาและการเกษตรกรรมโดยการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าส่งไปตามคลองชลประทานสายต่าง ๆ และห้วยโมงเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง
บ้านทุ่งนาดาวมีประชากรทั้งหมด 632 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 306 คน ประชากรหญิง 326 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 324 ครัวเรือน
รูปแบบและขนาดของครอบครัว ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการผลิต กล่าวคือมีขนาดครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย 3 คนรุ่นอายุร่วมกัน กับครอบครัวขนาดเล็กที่มีพ่อแม่และลูก ๆ ที่ยังต้องได้รับการเลี้ยงดูรวมอยู่ด้วย ลักษณะและขนาดของครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยคน 3 รุ่นอายุร่วมกัน กับครอบครัวขนาดเล็กที่มีพ่อแม่และลูก ๆ ที่ยังต้องได้รับการเลี้ยงดูรวมอยู่ด้วย ลักษณะและขนาดของครอบครัวจะพัฒนาไปมาระหว่างครอบครัวเล็กและครอบครัวใหญ่เมื่อสมาชิกในครอบครัวปรับเปลี่ยนบทบาทสถานภาพความเป็นครอบครัวขนาดใหญ่จะปรากฏอยู่นานและดูมีจำนวนมากกว่าครอบครัวเล็ก ๆ เพราะต้องอาศัยแรงงานจากสมาชิกเพื่อรับผิดชอบภาระงานต่าง ๆ ในการทำนาทำไร่ แต่เมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งการคมนาคม การศึกษาและการมีทางเลือกในการทำมาหากินหลากหลายยิ่งขึ้น คนรุ่นหลังจึงมีอิสระที่จะแยกตัวออกไปจากครอบครัวใหญ่ได้ง่ายกว่าแต่ก่อน จึงพบว่าปัจจุบันครอบครัวที่มีคนรุ่นปู่ย่าตายายรุ่นพ่อแม่และรุ่นลูก รุ่นหลานรวมกันนั้นมีอยู่น้อยกว่าครอบครัวขนาดเล็ก ระยะเวลาของการเป็นครอบครัวขนาดใหญ่และขนาดเล็กก็สั้นลง เพราะเมื่อลูกหลานเรียนจบก็มีช่องทางให้ไปทำงานต่างถิ่น จำนวนสมาชิกจึงลดลงไป ในครอบครัวขนาดใหญ่ก็จะเหลือเฉพาะคนรุ่นปู่ย่าและรุ่นพ่อแม่ ส่วนในครอบครัวขนาดเล็กก็จะเหลือลำพังเพียงพ่อกับแม่
ธรรมเนียมของชาวอีสาน อย่างบ้านทุ่งนาดาวที่คู่สมรสจะอยู่กับครอบครัวดังเดิมของภรรยาระยะหนึ่งช่วยครอบครัวของภรรยาทำนาทำไร่ไป 2-3 ปี ก็อาจจะแยกออกไปสร้างบ้านใหม่ในละแวกใกล้ ๆ กับบ้านเดิมของภรรยา อันที่จริงก็คือปลูกบ้านใหม่ในที่ดินมรดกของฝ่ายหญิงเพราะสภาพของบ้านทุ่งนาดาวเป็นที่ต่ำ มักมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน
การอยู่รวมกันของคนช่วงอายุต่าง ๆ ในบ้านทุ่งนาดาวเป็นไปภายใต้ธรรมเนียมของการมีอาวุโส ปู่ย่าตายายและพ่อแม่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของคนรุ่นลูกหลานพอสมควร ผู้มีอาวุโสย่อมรู้จักธรรมเนียมและแบบแผนประเพณีทั้งที่เนื่องด้วยชีวิตและที่เดียวกับการทำนามาหากินซึ่งพอจะนำให้เกิดการทำตามได้ เวลาทำบุญเทศกาลต่าง ๆ ที่วัด คนเฒ่าคนแก่จึงเป็นคนนำสวดมนต์ ไหว้พระและรับศีลพร
กรณีของชาวญวน มีความเชื่อที่บอกเป็นนัยถึงขนาดของและขนาดของครอบครัว คือ การสืบทอดลัทธิธรรมเนียมความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษที่ลูกหลานจะต้องเซ่นไหว้เพื่อความเป็นศิริมงคลโดยเป็นครอบครัวขยายที่จะรวมเอาคนรุ่นปู่ย่า พ่อแม่ และลูกหลานเข้าไว้ด้วยกัน ครอบครัวเป็นศูนย์รวมของสมาชิกเพศชายผู้มีบรรพบุรุษร่วมกัน ผู้เป็นสะใภ้ในระดับชั้นย่าและแม่คือคนภายนอกที่แต่งงานแล้วเข้ามาอยู่ข้างฝ่ายสามี บุคคลภายนอกเช่นนี้จะได้รับการยอมรับจากบรรดาญาติฝ่ายชายว่าเป็นสมาชิกวงศ์ตระกูลก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนานนับปี (ภายหลังแต่งงาน) และมีบุตรหลานให้ครอบครัวดั้งเดิมของฝ่ายชาย การไม่มีบุตรหลานให้สืบตระกูลด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตามเท่ากับเป็นการเปิดทางให้พ่อบ้านได้มีภรรยาใหม่เข้ามาร่วมวงศ์เพื่อว่าจะได้มีทายาทสืบทอดพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษต่อไปในภายภาคหน้า การเน้นความสำคัญของฝ่ายชายในส่วนเกี่ยวข้องกับค่านิยมของการมีบุตรชาย ยิ่งถ้าลูกคนโตเป็นผู้ชายก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งน่าพึงปรารถนาและเป็นมิ่งขวัญแก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีบุตรหลายคนเพื่อจะได้มีแรงงานจำนวนมากพอที่จะช่วยกันทำมาหากิน
ชวนญวนอพยพนี้โดยมากจะเลือกคู่ชีวิตที่เป็นคนพวกเดียวกันเพื่อความสะดวกต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ไทยวนในเขตอำเภอท่าบ่อไม่มีองค์กรหรือสมาคมที่เกี่ยวกับชาวญวน การรวมตัวกันของคนญวนจึงเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวกันของคนในหมู่ญาติและเพื่อนพ้องในโอกาสต่าง ๆ เช่น ตอนปีใหม่ที่มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตอนคราวพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิตโดยเฉพาะงานแต่งและงานศพ
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ผู้คนในชุมชนมีทั้งผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา คริสต์ศาสนาและความเชื่อในผีสางเทวดา ชาวอีสานบ้านทุ่งนาดาวนับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้านควบคู่ไปกับความเชื่อในภูตผีและวิญญาณ ชาวญวนรุ่นปู่ย่าตายายที่เกิดและเติบโตมาจากเวียดนาม โดยมากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ก็มีมีแบบแผนความเชื่อเช่นชาวคริสต์ทั่วไป วันอาทิตย์จะไปโบสถ์คริสต์ในตลาดท่าบ่อ ส่วนคนญวนรุ่นลูกหลานทั้งที่เกิดในประเทศลาวและประเทศไทยจะนับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับคนอีสาน จึงทำบุญทำทานและร่วมประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในโอกาสต่าง ๆ พร้อมกันไปกับชาวบ้านส่วนใหญ่
ถ้าจะเรียงลำดับการทำบุญตามประเพณีของเดือนต่าง ๆ แล้ว บุญเดือน 5 น่าจะเป็นเทศกาลที่ครึกครื้นมากที่สุดในรอบปีเพราะเป็นช่วงสงกรานต์และก่อนเทศกาลสงกรานต์ 5-6 วัน มีงานประจำปีบูชาพระเจ้าองค์ตื้อ พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร 24 เซนติเมตร สูง 4 เมตร นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย งานฉลองพระเจ้าองค์ตื้อมี 5 วัน 5 คืน ต่อจากนั้นก็เป็นช่วงปีใหม่แบบพื้นเมือง ชาวบ้านทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว และร่วมกันสรงน้ำพระที่วัดพร้อมเล่นสนุกสนานกันตามบริเวณวัดและตามกลุ่มบ้าน กลางเดือน 6 หรือกลางเดือน 7 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชามีงานบุญบั้งไฟ ในหมู่บ้านทุ่งนาดาวมีงานบุญบั้งไฟ 2 วัน 2 คืน ทั้งชาวอีสานและชาวญวนต่างฉลองกันอย่างครื้นเครง เดือน 8 เทศกาลเข้าพรรษาเป็นเวลาที่จะแสดงการงดเลิกการกระทำบาปต่าง ๆ ผู้ที่เคร่งครัดก็จะปวารณาตนเพื่อให้อยู่ในศีลธรรมในช่วง 3-4 เดือนต่อจากนี้ไป เดือน 9 ตอนกลางเดือนมีงานบุญห่อข้าวประดับดิน หรือทำบุญข้าวจี่ เพื่ออุทิศบุญแก่ผีไม่มีญาติหรือเปรตทั้งหลาย
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านทุ่งนาดาวมาตั้งแต่อดีต สมัยที่อาศัยน้ำฝนเพื่อประกอบการเกษตรจะเริ่มตระเตรียมพื้นที่นาในเดือนเจ็ด พร้อมกันนั้นหากมีน้ำพอให้เพาะปลูกได้บ้างก็จะตกกล้า รอให้ฝนตกติดต่อกันจนเป็นที่แน่ใจว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการทำนาก็จะเริ่มดำนากันในเดือนแปดถึงเก้า พอย่างเข้าเดือนอ้ายข้าวเบาก็ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ และจะเกี่ยวข้าวหนักในเดือนยี่ เดือนสามก็ขนข้าวเปลือกเข้าเล้า (ยุ้ง) เรียบร้อยแล้ว ฤดูแล้งมีช่วงระยะตั้งแต่เดือนสี่เป็นต้นไป มีเวลาว่างจากการทำนาก็หาจับปลาตามธรรมชาติโดยเฉพาะแม่น้ำโขงเพื่อประกอบอาหารและแปรรูปเป็นปลาแดกเพื่อเก็บไว้กินต่อไป บรรดาพ่อบ้านอาจนำควายเทียมเกวียนไปหาของผ่าจากป่าเขาในเขตและอำเภออื่น ๆ ระหว่างนั้นแม่บ้านก็นำใบคาหรือใบหญ้าแฝกมาเย็บเป็นตับ ๆ หรือเตรียมไว้มุงหลังคา ชาวบ้านส่วนหนึ่งทำนาเกลือสินเธาว์ขายโดยมีพ่อค้าคนกลางนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของต่าง ๆ สิ่งของที่ชาวบ้านทุ่งนาดาวจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นที่สำคัญก็คือ หม้อดิน ไฟ (สำหรับใส่ปลาร้า) โอ่ง ไต้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและให้แสงสว่าง นอกนั้นคงได้แก่เครื่องมือที่ทำจากเหล็ก และเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
เมื่อราชการสร้างเขื่อนขนาดเล็กกั้นน้ำในห้วยโมง ทำให้มีปริมาณน้ำมากพอที่จะใช้ทำเกษตรกรรมหลังฤดูฝน จึงพบว่ามีความนิยมทำนาปรังกันอย่างแพร่หลาย พอเกี่ยวข้าวเสร็จปลายเดือนยี่ ก็เริ่มลงมือทำนาปรังกัน การทำนาปรังจะใช้วิธีหว่านน้ำตมและใช้พันธุ์ข้าว ซึ่งโตเร็วและให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน นับตั้งแต่เริ่มปลูก ราว ๆ กลางเดือนห้าก็เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังกันแล้ว หากมีความชื้นก็จะตากข้าวที่เกี่ยวไว้กลางแจ้ง 2-3 วัน จากนั้นจึงนำเข้าสู่เครื่องนวดฟัดต่อไป
หากไม่ปลูกนาปรังชาวบ้านก็อาจจะปลูกพืชไร่ที่ให้ผลได้ในระยะเวลาอันสั้นเช่น ถั่วเหลือง ระยะหลังมีความต้องการจากตลาดเพื่อนำถั่วเหลืองไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ชาวบ้านปลูกถั่วเหลือครอบครัวละ 1-2 ไร่ เมื่อถั่วเหลืองแก่จะใช้รถเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกับการเก็บเกี่ยวข้าว
ชาวญวน ทำการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่อยู่ในตลาดท่าบ่ออาจจะเป็นพ่อค้าคนกลางตั้งร้านขายสินค้าต่าง ๆ ตามความถนัด ผู้ที่อยู่ห่างจากย่านตลาดสดอย่างบ้านทุ่งนาดาวจะประกอบการค้าด้วยการเป็นผู้ผลิตสินค้าออกจำหน่าย ส่วนมากจะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารซึ่งพอแยกประเภทได้คือ การทำแผ่นยอ และเส้นหมี่
นอกจากอาชีพข้างต้นแล้ว ชาวญวนครอบครัวหนึ่งรับซ่อมมอเตอร์ไซค์ โดยอาศัยพื้นที่ใต้ถุนบ้านพักเป็นที่ทำงาน ลูกค้าส่วนมากก็คือชาวบ้านทุ่งนาดาวด้วยกันและชาวบ้านในละแวกโรงพยาบาลชาวญวน ผู้ไม่มีทุนและไม่มีประสบการณ์การค้าขายก็ยึดการขายแรงงานเป็นอาชีพหลัก โดยมากจะเข้าไปรับจ้างชาวญวนในตลาดท่าบ่อทำงานต่าง ๆ เช่น งานส่งของ ทำความสะอาด หรือเป็นลูกมือในร้านค้า
อาหารการกิน
ชาวบ้านทุ่งนาดาวชอบอาหารรสจัดที่มีทั้งเปรี้ยว เผ็ดและเค็ม วิธีปรุงอาหารเฉพาะถิ่น เช่น ลาบ หลาม หมก ป่น พล่า อ่อม จึงเป็นแบบแผนที่ช่วยให้ได้อาหารที่มีรสชาติดั่งใจ ณ ที่ระดับท้องถิ่นนั้นแหล่งธรรมชาติทั้งป่าเขา ห้วยน้ำลำธาร ฯลฯ ย่อมเป็นเสมือนตู้เก็บเครื่องอาหารขนาดใหญ่ ดูง่าย ๆ จากเครื่องปรุงเพื่อให้ได้รสดี เกลือสินเธาว์เป็นเครื่องปรุงราคาถูกและหาได้โดยทั่วไปในท่าบ่อซึ่งเป็นแหล่งทำเกลือของภาคอีสาน ตลอดจนอาหารประเภท พล่า ยำ ต้ม แกง ผัด อาจจะใส่เกลือโดยตรง ส่วนอาหารประเภทเนื้อและปลาที่ถนอมโดยการใส่เกลือและตากแห้ง เวลาจะรับประทานอาจต้องนำมาล้างน้ำก่อนเพราะได้ใส่เกลือไว้ค่อนข้างมากตอนทำตากแห้งใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้เนื้อและปลาเค็มเน่าเหม็นไม่น่ารับประทาน รสเปรี้ยวอาจได้จากมะนาว มะขามทั้งสดและแห้ง ใบมะขาม ใบส้มเสี้ยว มะว้อและมดส้ม (มดแดงที่ทำรังอยู่ตามต้นไม้) เครื่องปรุงรสเปรี้ยวเหล่านี้นิยมใช้กับการทำอาหารสด แต่รสเปรี้ยวจากการหมักดองอาจได้มาจากการใส่ข้าวนึ่งลงไปด้วย เช่น การทำส้มเนื้อวัว สำหรับรสเผ็ดอาจจะได้มาจากพริกเป็นหลัก นอกจากนี้ยังอาจได้ความเผ็ดจากใบผักไผ่ หัวข่าและลูกไม้จากป่าลักษณะคล้ายเม็ดพริกไทย ตามละแวกบ้านจะปลูกพืชผักสวนครัว ในสวนครัวจะเห็นทั้งพริกชี้ฟ้าและพริกขี้หนูนานาชนิด ชนิดเม็ดเล็กรสเผ็ดร้อนกว่าชนิดเม็ดโต แทบทุกครัวจะมีพริกแห้งที่ตำป่นใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดนับว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะเวลาจะผัด คั่ว ยำอะไรก็มีพริกป่นพร้อมไว้ให้ใช้ใกล้มือ ชาวนาทุ่งนาดาวจะให้เหตุผลว่าหากกินข้าวแล้วไม่มีรสเผ็ดดูเหมือนจะกินไม่อร่อยและพลอยให้ไม่อยากทำงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงานอาหารเผ็ดร้อนเสมือนเป็นยาชูกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง
มีแมลงหรือเรียกอย่างพื้นบ้านว่า “แมง” มากกว่า 30-40 ชนิด ที่ชาวบ้านทุ่งนาดาวรู้จักที่จะนำมาทำอาหาร เช่น แมงดานา แมงจินูน ดักแด้ไหม แมงตับเต่า (อยู่ในน้ำ) แมงเหนี่ยว แมงกุดจี่ แมงงำ แมงโป้งเป้ง แมงหัวควาย จิ้งหรีด จักจั่น แมงทับ ตั๊กแตน แมงข้าวสาว แมงเม่า แมงค่อมทอง เมื่อได้แมลงเหล่านั้นมาจะนำไปทำอาหารด้วยการคั่ว เผาไฟ ผัด แกงผสมกับผักตามต้องการ ทำน้ำพริก ทำลาบและพล่า ฯลฯ การรู้วิธีทำกินจากธรรมชาติที่มีอยู่อาจทำให้คนอีสานอย่างที่นี่ได้ชื่อว่าอยู่ง่ายกินง่าย
ชาวญวน มีอาหารการกินที่ต่างไปจากชาวอีสาน อาหารประเภทแป้งจะใช้ข้าวเจ้าเป็นหลัก มื้อเช้ามักเป็นข้าวต้ม มื้อกลางวันและมื้อเย็นจะเป็นข้าวสวย ขนมจีน ลอดช่อง เส้นหมี่ ข้าวเปียก จะใช้ข้าวเหนียวเพื่อทำขนม เช่น ขนมบังงาย ตรุษญวนและงานแต่งงาน โดยรวมแล้วส่วนของกับข้าวจะมีต้มเค็มหมูหรือปลาเป็นประจำควบคู่ไปกับผักต้มชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะผักกินใบ เช่น ผักบุ้ง คะน้า และกวางตุ้ง รสชาติอาหารจะออกหวานการปรุงอาหารให้มีรสเค็มจะใช้เกลือและน้ำปลา รสชาติอาหารค่อนข้างไปทางจืดคล้ายอาหารจีน หากจะให้ต้มและผักมีรสเผ็ดจะใช้พริกไทยโรยหน้า ไม่นิยมรับประทานปลาร้าเพราะเชื่อว่ามีกลิ่นแรงและเหม็น การถนอมอาหารจากเนื้อสัตว์จะใช้การต้มเค็ม แล่เนื้อใส่เกลือตากแห้งหรือทำในรูปหมูหย็อง แหนม กุนเชียงและหมูยอ ส่วนผักจะนิยมดองเป็นที่สุดที่มีเช่น หัวผักกาด คะน้าดอง แครอทดอง กระเทียมดอง หอมดอง มะเขือดอง โดยมากชอบใช้มะเขือสีเขียวดองและที่ทำกันเกือบทุกครัวเรือนคือ กะหล่ำปลีดอง ผักดองเหล่านี้จะทำครั้งละเพียงพอกิน 1-2 มื้อ ตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวเพราะการดองจะใช้เวลา 2-3 วันก็รับประทานผักนั้นได้
คนชาวญวนรุ่นปู่ย่าตายายพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ จึงยังคงใช้ภาษาญวนในชีวิตประจำวันในหมู่พวกเดียวกัน
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
หมอแป็ปชวนเที่ยว . (2564). อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ... กับ 7 ที่เที่ยว ที่ต้องไปให้ได้. ค้นคืนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566 , จาก https://pantip.com/topic/