![](/files/community/74/thumb-65cf88b4ab23a.jpg)
หมู่บ้านไทยสไตล์จีนยูนนาน ดินแดนในฝันของเหล่านักเดินทาง จากความพยายามหลายสิบปีในการนำเอาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวจีนยูนนาน หรือจีนฮ่อมานำเสนอ ถ่ายทอดผ่านการปรับเปลี่ยนหมู่บ้านรกร้างในอดีตให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
หมู่บ้านไทยสไตล์จีนยูนนาน ดินแดนในฝันของเหล่านักเดินทาง จากความพยายามหลายสิบปีในการนำเอาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวจีนยูนนาน หรือจีนฮ่อมานำเสนอ ถ่ายทอดผ่านการปรับเปลี่ยนหมู่บ้านรกร้างในอดีตให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน ถือเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยที่มีประชากรจากหลายเชื้อชาติ หลากชาติพันธุ์ ทั้งที่ตั้งรกรากอยู่มาแต่เดิม เช่น ลัวะ ปกาเกอะญอ และไทใหญ่ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากเมียนมา เช่น ปะโอ ปะหล่อง ตะยา ล่าหู่ ลีซู ม้ง รวมถึง "จีนฮ่อ" ซึ่งอพยพหนีภัยคอมมิวนิสต์มาจากจีน บางส่วนถอยร่นเข้าสู่ประเทศเมียนมา และหนีตายเข้าสู่ชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
บ้านรักไทย ตั้งอยู่ในเขตตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านรักไทยแห่งนี้เป็นที่รู้จักในนามของการเป็นชุมชนชาวจีนยูนนานที่อพยพหนีภัยคอมมิวนิสต์มาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ทหารจีนคณะชาติ (ทจช.) แต่เดิมสภาพภูมิประเทศของบ้านรักไทยส่วนใหญ่เป็นป่าหญ้าคาสลับกับป่าไม้เบญจพรรณซึ่งปกคลุมยอดเขาสูงอยู่ทั่วไป ช่วงแรกไม่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยอยู่มากนัก มีเพียงชาวม้ง 4-5 ครอบครัวที่เข้ามาประกอบอาชีพทำไร่ฝิ่น ไร่ข้าวโพด ปลูกพืชผักรวมกับราษฎรชาวไทใหญ่ในเขตเมียนมาโดยกระจายกันอยู่บริเวณเชิงเขาดอยต่องมอก ซึ่งถือเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในบรรดาดอยต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้บ้านรักไทยปัจจุบัน ดอยต่องมอกนี้เป็นทิวเขาบริวารของทิวเขาถนนธงชัยอันเป็นแนวแบ่งเขตแดนธรรมชาติกั้นระหว่างพรมแดนไทย-เมียนมา ที่ทอดขวางเป็นแนวยาวตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปจนถึงจังหวัดเชียงราย
เมื่อการบุกเบิกพื้นที่ทำกินของชาวม้งและชาวไทใหญ่เป็นไปได้ด้วยดี ในเวลาต่อมาจึงมีทหารจีนคณะชาติจากบ้านถ้ำง๊อบ 3-4 ครอบครัวเริ่มอพยพเข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนไม้ไผ่ มุงด้วยหญ้าคา ทำสวน ทำไร่ในพื้นที่บ้านรักไทย ถือเป็นจุดกำเนิดบ้านรักไทยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา
ต่อมาสภาพดินเกิดความเสื่อมโทรมลง รวมทั้งรัฐบาลไทยมีนโยบายปราบปรามการปลูกฝิ่น อีกทั้งยังมีโครงการตามแนวพระราชดำริส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่ และส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำลำธาร ราษฎรกลุ่มนี้จึงได้อพยพย้ายไปทำกินในพื้นที่บ้านนาป่าแปกและบ้านห้วยมะเขือส้มอยู่จนถึงปัจจุบัน
ใน พ.ศ. 2519 นายเล่าจูและนายเล่าหยาง เสนาธิการทหาร ทจช. (ขณะนั้นมียศเป็นพันตรี สังกัดนายพลลี) ได้นำทหาร ทจช. จากบ้านถ้ำง๊อบ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปอาศัยทำกิน ปลูกฝิ่นในพื้นที่บ้านแม่ออหลวง ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านรักไทยปัจจุบัน ต่อมาใน พ.ศ. 2520 รัฐบาลไทยได้มีนโยบายปราบปรามการปลูกฝิ่นตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และได้ขับไล่กองกำลังไทใหญ่ (กลุ่มขุนส่า) ออกไป
ในระยะเวลาต่อมาเมื่อสามารถขับไล่กลุ่มขุนส่าออกไปได้หมด กลุ่ม ทจช. บางส่วนได้เข้ามาอาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่บ้านรักไทยโดยได้รับความช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคจากรัฐบาลไต้หวัน โดยการประสานงานขอรับความช่วยเหลือของนายเล่าจูและนายเล่าหยาง ซึ่งในเวลานั้นอาศัยอยู่ที่บ้านใหม่หนองบัว อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ต่อมาได้อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านรักไทยปัจจุบัน โดยเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านแม่ออใหม่" สันนิษฐานว่าน่าจะมีความมุ่งหมายให้คล้องจองกับชื่อบ้านแม่ออหลวงในเขตเมียนมาที่อยู่ตรงข้ามบ้านแม่ออใหม่แห่งนี้ (แม่ออ เป็นคําที่มาจากภาษาจีนว่า หมี่ออ โดย หมี่ แปลว่า ข้าว ออ แปลว่า ที่เก็บรวบรวมข้าว แต่บางครั้งคนไทใหญ่ก็เรียกหมู่บ้านนี้ว่า โท้งเยข้าว ซึ่ง โท้ง หมายถึง ทุ่ง เยข้าว หมายถึง ยุ้งฉางเก็บข้าว เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้คงเป็นที่ปลูกข้าวไร่ และมีที่ราบเล็กน้อย เหมาะแก่การสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว)
ท้ายที่สุดใน พ.ศ. 2529 ได้มีมติของคณะรัฐมนตรี กำหนดให้บ้านแม่ออใหม่ (รักไทย) เป็นหมู่บ้านตามลักษณะการปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2475 โดยให้แยกออกจากบ้านนาป่าแปก แล้วให้เปลี่ยนชื่อจากบ้านแม่ออใหม่ เป็น บ้านรักไทย หมู่ที่ 6 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านรักไทย มีที่ตั้งห่างจากอําเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 45 กิโลเมตร ในบริเวณหุบเขาติดแนวชายแดนไทย-เมียนมา เขตรัฐฉาน มีภูเขาล้อมรอบ สภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม อาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดต่อกับประเทศเมียนมา ทิศใต้ติดต่อกับบ้านนาป่าแปก ทิศตะวันออกติดต่อกับบ้านห้วยผึ้ง และทิศตะวันตกติดต่อกับบ้านรวมไทย
บ้านรักไทยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบระหว่างเนินเขา โดยมีการสร้างบ้านเรือนกระจายตัวเป็นรัศมีขึ้นไปตามเนินเขา เนื่องจากพื้นที่ราบบริเวณกลางหมู่บ้านมีน้อย เพราะเป็นพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีประชากรประมาณร้อยละ 30 เท่านั้นที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ เส้นทางการจราจรมีลักษณะเลียบยาวตามแนวอ่างเก็บน้ำที่มีบ้านเรือนเรียงรายอยู่ มีถนนสายย่อยที่แยกออกจากสายหลักขึ้นไปบนเนินเขาต่อเนื่องทางทิศใต้ มีลักษณะคล้ายวงแหวน ทั้งนี้ ถนนทุกสายจะมีจุดหมายปลายทางบรรจบกันถนนส่วนกลางของหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถเข้าถึงบ้านเรือนได้ทุกหลัง ทั้งที่อยู่บริเวณพื้นราบ และที่กระจายตัวอยู่บนเนินเขา
ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินแบ่งออกเป็นประเภทที่พักอาศัย ที่พักนักท่องเที่ยว สถานศึกษา สถานที่ราชการ และศาสนสถาน โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรอยู่บริเวณโดยรอบ และมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ได้แก่ ศาลาพักผ่อนและลานกิจกรรมบริเวณตลาด วัดและศาลเจ้าจีน อาคารและลานอเนกประสงค์ โรงเรียน และอ่างเก็บน้ำ “เขื่อนในหมอก (Richpoor)” ที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านและถือเป็นจุดหมุดหมายที่สำคัญของหมู่บ้าน
อ่างเก็บน้ำหมู่บ้าน
อ่างเก็บน้ำหมู่บ้านรักไทย หรือ "เขื่อนในหมอก" เป็นแหล่งน้ำชุมชนที่ได้รับการอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกองทัพบกในการดำเนินการจัดสร้าง เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในการอุปโภคบริโภค และใช้ในไร่สวนของชาวบ้านตลอดระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ เขื่อนในหมอกยังมีส่วนช่วยเสริมบรรยากาศของหมู่บ้านให้มีความเป็นธรรมชาติ เหมาะแก่การมาเยือนของนักท่องเที่ยว มีถนนคอนกรีตเชื่อมต่อวนเป็นทางโดยรอบ พร้อมร้านค้า ร้านอาหารหลายอย่างให้นั่งรับประทาน ชมวิว ชมบรรยากาศในสายหมอกของบ้านรักไทยไปในตัว
ยุ้งข้าวรวม
อาคารไม้ยกพื้นสูงตั้งอยู่กึ่งกลางหมู่บ้าน ใช้สำหรับเก็บข้าวเปลือกรวมของหมู่บ้านไว้ใช้สำรองตลอดทั้งปี
ลานเอนกประสงค์
ลานเอนกประสงค์เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาสูงสุดกลางหมู่บ้าน สถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนหอคอยสังเกตการณ์ เพราะเมื่อขึ้นไปยืนบนลานยอดจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพของหมู่บ้านโดยรอบ ทั้งรัศมีการกระจายตัวของบ้านเรือน ไร่ นา พื้นที่ทำกิน ลานเอนกประสงค์เป็นลานที่ใช้ประกอบกิจกรรมทางประเพณี โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ขอฝน และประเพณีรื่นเริงหลังการเก็บเกี่ยว
ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน
ศาลเจ้าประจำหมู่บ้านรักไทย ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน บริเวณหลังโรงเรียนบ้านแม่ออรักไทย เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพของคนในหมู่บ้าน และเป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม ทุกปีในวันตรุษ สารท และวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ชาวบ้านจะมาไหว้เจ้าที่ศาลประจำหมู่บ้านตามความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านรักไทย ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,436 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 720 คน ประชากรหญิง 716 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 585 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2566)
ปัจจุบันบ้านรักไทยเป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของผู้คนหลายเชื้อชาติ ทั้งคนเมือง ม้ง ไทใหญ่ และจีนฮ่อ เหล่าอดีตทหารจีนคณะชาติ (ทจช.) กองพล 93 ที่ได้หลบลี้หนีภัยคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ประเทศไทย ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ และบ้านรักไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยชาวจีนยูนนาน หรือจีนฮ่อนี้นับเป็นประชากรส่วนใหญ่ของบ้านรักไทย ขนาดที่ได้รับขนานนามว่าเป็น "หมู่บ้านจีนพลัดถิ่น"
จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)เนื่องจากบ้านรักไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีทัศนียภาพโดยรอบงดงาม มีบ้านดินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านจีนในชนบท มีการนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนานเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน บ้านเรือนหลายหลังในหมู่บ้านได้เปลี่ยนสภาพเป็นร้านค้า ร้านอาหารจีนสไตล์ยูนนาน รวมถึงโฮมสเตย์สไตล์โรงเตี๊ยมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ด้วยบ้านรักไทยตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,776 เมตร ทำให้สภาพอากาศในพื้นที่ค่อนข้างหนาวเย็นตลอดทั้งปี เหมาะแก่การปลูกพืชเมืองหนาวหลายชนิดทั้งลูกท้อ สาลี่ ลูกไหน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่บ้านรักไทยนั่นก็คือ ชา ซึ่งทางรัฐบาลไต้หวันจึงได้สนับสนุนมอบพันธุ์ชาคุณภาพดีให้กับชาวจีนยูนนานหมู่บ้านรักไทยปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ดังนั้น ชาจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตและสร้างมูลค่าให้กับการเกษตรบ้านรักไทยอย่างล้นหลาม ซึ่งปัจจุบันหลายครัวเรือนได้เปลี่ยนบ้านให้เป็นร้านน้ำชา และจำหน่ายใบชาให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมเยือน
อนึ่ง พืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านรักไทยหาได้มีแค่เพียงใบชาเท่านั้น แต่ยังมีลิ้นจี่ ลำไย ผักต่าง ๆ เช่น กระเทียม กะหล่ำปลี ข้าวโพด และข้าว โดยปกติจะปลูกไว้สำหรับบริโภค และอาจนำไปจำหน่ายด้วยหากผลผลิตที่ได้ในรอบปีมากกว่าความต้องการบริโภค แต่ลิ้นจี่ ลำไย และชา จะปลูกไว้สำหรับจำหน่ายเป็นหลัก ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ลิ้นจี่ และชา จะมีตัวแทนในการต่อรองราคาผลผลิตกับพ่อค้าคนกลางให้ได้ราคาที่เป็นธรรม โดยที่ไม่ต้องดำเนินการเอง
นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ เช่น ผักกาดดอง เต้าหู้ยี้ ผลไม้ดอง เช่น ลูกท้อ สาลี่ ลูกไหน บ๊วย มะม่วง รวมถึงการแปรรูปใบชาซึ่งนับเป็นของฝากขึ้นชื่อของบ้านรักไทย
ปัจจุบันหมู่บ้านรักไทยถือเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีธรรมชาติสวยงามมาก บริเวณกลางหมู่บ้านมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนสามารถสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวจีนยูนนานทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย และบ้านเรือนซึ่งสร้างจากดินเหนียวผสมฟางข้าว นอกจากนี้อาหารจีนยูนนานของบ้านรักไทยยังมีชื่อเสียงไม่แพ้ที่ใด ที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวยังจะได้ชิมชารสเลิศจากชาพันธุ์ดีซึ่งมีจำหน่ายในหมู่บ้าน คือ ชาพันธุ์อู่หลง
ใกล้ ๆ กับบ้านรักไทยเป็นชุมชนบ้านรวมไทย ถิ่นที่อยู่ของชาวเขาหลายเผ่า ในหมู่บ้านนี้นักท่องเที่ยวสามารถชิมกาแฟสดจากสวน ชมทัศนียภาพของป่าสนสองใบ ดอกไม้เมืองหนาวที่สวยงาม อีกทั้งยังมีสถานที่กางเต็นท์และบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ตาม ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านรักไทยบางกลุ่มก็ยังไม่ค่อยสู้ดีนัก ชาวบ้านส่วนมากมีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยอาศัยพื้นที่ป่าไม้บริเวณใกล้ลำห้วยที่มีความอุดมสมบูรณ์ สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่เกิดแก่ชาวบ้านบางตระกูลเท่านั้น เป็นการประกอบธุรกิจแบบต่างคนต่างทำ หาได้ครอบคลุมชาวบ้านรักไทยทั้งหมู่บ้าน ดังนั้น เศรษฐกิจโดยรวมของบ้านรักไทยจึงยังถือว่ายากจนบ้างบางส่วน
หมู่บ้านรักไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านที่ปรากฏร่องรอยทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของชาวจีนยูนนานไว้อย่างชัดเจน โดยที่เห็นเด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการสร้างบ้านด้วยดิน ซึ่งเป็นลักษณะบ้านจีนแบบชนบทดั้งเดิมของชาวจีนยูนนาน
ปัจจุบันชาวบ้านรักไทยมีการนับถือศาสนาอยู่ 2 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ และมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ตามธรรมเนียมจีน เช่น วันไหว้พระจันทร์ วันเช็งเม้ง และตรุษจีน
อัตลักษณ์ชุมชนสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านรักไทย
บ้านรักไทยเป็นหมู่บ้านที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นควรค่าแก่การอนุรักษ์หลายด้าน และแม้ว่าจะเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก แต่มีศักยภาพและต้นทุนทางธรรมชาติที่ควรค่าแก่การต่อยอดเพื่อพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมจีนยูนนานอันเป็นเอกลักษณ์ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาหมู่บ้านสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีการปรับปรุงอ่างเก็บบน้ำกลางหมู่บ้านที่ล้อมรอบด้วยภูเขาเขียวขจี อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธรรมชาติและและพื้นที่ทางการเกษตรอยู่ไกล ๆ ให้กลายเป็นจุดแลนด์มาร์กสำคัญของหมู่บ้านจนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวในชื่อ "เขื่อนในหมอก" เนื่องมาจากอ่างเก็บน้ำนี้จะถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาเกือบตลอดทั้งปี ทั้งยังมีการปรับปรุงท่าเรือขนาดเล็กเพื่อจัดกิจกรรมพายเรือชมทิวทัศน์รอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อสร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพโดยรอบ มีการปรับปรุงอาคารบ้านเรือนโดยรอบอ่างเก็บน้ำให้เป็นที่พักโฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ตลอดจนอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เก็บสะสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน มีการใช้ "ล่อ" (ในหมู่บ้านเรียกว่า "ม้าฬ่อ") ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนวัฒนธรรมจีนยูนนานที่ยังปรากฏเด่นชัดอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมบ้านดินจีนยูนนาน อาหารจีนยูนนาน รวมถึงประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนยูนนาน ประกอบกับศักยภาพและความพยายามพัฒนาและสร้างสรรค์แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีชื่อเสียงจนกลายเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น
ภาษาพูด : ภาษาไทย ภาษาไทยท้องถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ภาษาจีนยูนนาน
ภาษาเขียน : ภาษาไทย ภาษาจีนยูนนาน
ธัญธรณ์รัศม์ รชตวัฒน์. (2559). การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียนชาวไทยภูเขา บ้านรักไทย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไปด้วยกัน. (2567). บ้านรักไทย หมู่บ้านจีนกลางสายหมอก จิบชาชั้นดีรสละมุน. สืบค้น 13 มีนาคม 2566, https://www.paiduaykan.com/baanrakthai/
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2565). เยือนบ้านรักไทย ‘หมู่บ้านจีนพลัดถิ่น’ บนแผ่นดินไทย "ใต้ร่มพระบารมี เราจึงอยู่เย็นเป็นสุขจนทุกวันนี้". สืบค้น 13 มีนาคม 2566, https://www.thaipost.net/
สุพัตรา ราษฎร์สิริ. (2562). การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา บ้านรักไทย แม่ฮ่องสอน. งานประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต. 534-547.
สมศักดิ์ คงแดง และคณะ. (2548). โครงการวิจัยการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนที่เอื้อต่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมชุมชนบ้านรักไทย (แม่ออ) ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
อรญา โหมดวัฒนะ. (2564). หมู่บ้านรักไทย สไตล์จีนยูนนาน. สืบค้น 13 มีนาคม 2566, https://www.greenlandholidaytour.com/
อรศิริ ปาณินท์. (2540). การศึกษาหมู่บ้าน บ้าน และเทคโนโลยีการก่อสร้างของหมู่บ้านจีนฮ่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Ajourney. (2564). บ้านรักไทย หมู่บ้านชาวจีนยูนนาน ท่ามกลางหุบเขา และสายหมอก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 https://www.ajourneythailand.com
Hashcorner. (2563). รีวิว บ้านรักไทย x แม่ฮ่องสอน : หมู่บ้านในสายหมอก. สืบค้น 13 มีนาคม 2566, จาก https://www.hashcorner.com/