Advance search

ชุมชนย่านเศรษฐกิจ

สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
อับดุลเลาะ รือสะ
22 พ.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
28 มิ.ย. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
2 มิ.ย. 2023
สะพรั่ง


ชุมชนย่านเศรษฐกิจ

สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
95000
6.54416827012502
101.290699839591
เทศบาลนครยะลา

ตามที่เทศบาลนครยะลา ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งชุมชนย่อยขึ้นในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลาให้เต็มพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนสามารถกำหนดแนวทางในการพัฒนาชุมชนตนเองในด้านต่าง ๆ ตามที่ชุมชนต้องการเป็นการส่งเริมให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของเทศบาลและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนเอง รู้สึกรับผิดชอบร่วมต่อชุมชนที่อาศัย ตลอดจนเป็นการแบ่งภาระหน้าที่ของเทศบาลในการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามความสามารถ โดยเทศบาลจะเป็นฝ่ายสนับสนุนในส่วนที่เกินกำลังความสามารถของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนถาวรตามนโยบายของรัฐ จึงมีการจัดตั้ง ชุมชนบ้านสะพรั่งขึ้นตามลำดับ

จากเทศบาลนครยะลามุ่งไปทางทิศใต้ ไปยังถนน พิพิธภักดี 97 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถนนพิพิธภักดี เมื่อถึงวงเวียนใช้ทางออกที่ 1 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนอาคารสงเคราะห์ เจอสี่แยกไฟแดงเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนน ผังเมือง 4 ผ่านตลาดประชาชื่นถึงชุมชนสะพรั่ง

อาณาเขตติดต่อ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนผังเมือง 4 ซอย 24
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนอาคารสงเคราะห์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนผังเมือง 4
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทศบาลเมืองสะเตงนอก

สภาพพื้นที่กายภาพ สภาพโดยทั่วไปของชุมชนสะพรั่ง ลักษณะพื้นที่สามารถแบ่งเป็นสองส่วน พื้นที่ส่วนนอกจะเป็นที่ตั้งของร้านค้า หอพักและบ้านเช่า ส่วนพื้นที่ส่วนในจะมีลักษณะเป็นที่พักอาศัยของคนในชุมชน ชุมชนสะพรั่งอยู่ในเขตมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม และฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 28.20 องศาเซลเซียสและสูงสุดเฉลี่ย 34.50 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,712.3 มิลลิเมตร/ปี มีฝนตกเฉลี่ย 148 วัน/ปี เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะมีฝนตกชุกที่สุด

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนประชารัฐ มีจำนวน 250 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 434 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 184 คน หญิง 250 คน ในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธรองลงมานับถือศาสนาอิสลาม

มลายู

ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการและค้าขาย ผู้คนในชุมชนสะพรั่งมีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มสตรี เป็นกลุ่มองค์กรที่มีเป้าหมายให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้ใช้หมุนเวียนในชุมชนโดยการจัดทำขนมเพื่อนำไปขายต่อเป็นรายได้แก่สมาชิกในชุมชนสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจระดับรากหญ้า

  • กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นเจตนารมณ์สูงสุดที่มุ่งหวังให้เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนที่จะร่วมกันประกอบกรรมดี เป็นการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานพัฒนาทั้งมวลที่มุ่งเน้นให้พสกนิกรมีอาชีพสร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงฟื้นฟูวัฒนธรรม สร้างภูมิปัญญาท้องถิ่นปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พึ่งพาความเข้มแข็งของตนเอง ขจัดยาเสพติดบนพื้นฐานของการให้อภัยทางสังคม ความรู้รักสามัคคี การสร้างสมานฉันท์ของคนในชุมชน การร่วมกันเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยแนวทางสันติ การสร้างพลังแห่งความดี พลังเหล่านี้ หากปรากฏมากขึ้นจะทำให้สังคม และชุมชนนั้น ๆ เป็นสังคมแห่งคุณธรรมอย่างแท้จริง

  • กลุ่มผู้สูงอายุ การจัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานผู้สูงอายุในชุมชน และเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในอดีตให้ความรู้แก่คนในชุมชนเพื่อการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นระหว่างคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น

  • กลุ่ม อ.ส.ม การจัดตั้งกลุ่ม อ.ส.ม มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน และมีหน้าที่แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อคนในชุมชน

  • กลุ่มเต้นแอโรบิค เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนคนในชุมชนให้หันมาออกกำลังกายดูแลสุขภาพและเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนของคนในชุมชน

ในรอบปีของชุมชนสะพรั่งมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • มีนาคม : มหกรรมนกเขาชวาอาเซียน เป็นงานที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนกเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสถานที่จัดงานจัดที่สนามนกเขาสวนขวัญเมือง เทศบาลนครยะลา

  • เมษายน : ประเพณีสงกรานต์ (กิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ชุมชนเมืองทองจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น ซึ่งประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีและมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการสานสัมพันธ์และใช้เวลาร่วมกันระหว่างบุคคลในครอบครัวและชุมชน เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรม ประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น

  • พฤษภาคม : งานสมโภชหลักเมืองยะลา การจัดงานสมโภชหลักเมืองและงานกาชาดจังหวัดยะลา ได้จัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อเนื่องทุกปี จนถึงปัจจุบัน ในระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม จนถึงวันที่ มิถุนายน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดยะลา นำรายได้จากการจัดงานไปใช้ในการทำนุบำรุงบูรณะศาลหลักเมือง และใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลของสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ของจังหวัดยะลา เป็นการเผยแพร่ และสร้างความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ที่ดีงาม ที่ควรอนุรักษ์คู่กับจังหวัดยะลา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในด้านนันทนาการ และกิจกรรมอันเป็นประโยชน์อื่น ๆ ที่เกื้อกูลให้เกิดความสามัคคีสมานฉันท์ในสังคม และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงาน การพัฒนาของจังหวัดยะลา และการบริการประชาชนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมที่ผ่านมา จะประกอบด้วย พิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์บนศาลหลักเมือง ขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) และกิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ประกอบด้วย การออกร้านนาวากาชาด การแสดง การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล ศิลปวัฒนธรรมธรรม การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน การแสดงมหรสพ และการแสดงของศิลปินดารานักแสดงอีกมากมาย

  • ตุลาคม : ประเพณีชักพระ ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนกระทำกันหลังวันออกพรรษา วัน โดยการพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางเหนือรถ เรือหรือล้อเลื่อน แล้วแห่แหนชักลากไปตามลำน้ำหรือตามถนนหนทาง และเป็นประเพณี ที่สำคัญที่พี่น้องพุทธศาสนิกชนชาวยะลาและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงาน และร่วมทำบุญในทุกค่ำคืนเป็นจำนวนมาก เทศบาลนครยะลาร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา จึงได้กำหนดจัดงานประเพณีชักพระ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชุมนุมเรือพระจากวัดในจังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ประชาชน พุทธศาสนิกชน ได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นร่วมกันแสดงออกถึงคุณธรรม ความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธมากยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ คือ ชุมนุมเรือพระ ประกวดเรือพระ พิธีสมโภชเรือพระ การประกวดขบวนแห่เรือพระ การแข่งขันตีโพน การแข่งขันแทงต้ม ซัดต้ม การแข่งขันขูดมะพร้าว นิทรรศการอาหารและขนมพื้นบ้าน การแสดงของนักเรียน การแสดงมหรสพ และการแสดงธรรมเทศนาทุกคืน

ประเพณีของชาวมุสลิม

  • เดือนมูฮัรรอม : ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้เริ่มน้อยลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
  • เดือนเราะบีอุลเอาวัล : เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม 
  • เดือนซะบาน : กิจกรรมฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฏิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือน ซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการ จะมีการกินเลี้ยงร่วมรับประทานอาหาร และอาหารบางส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน

  • เดือนรอมฎอน : การถือศีลอด เป็นหลักปฏิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า ละหมาดตะรอเวียะห์

  • เดือนเชาวาล : วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือ ศีลอดมาตลอด ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย ซะกาตฟิตเราะฮ์"
  • วันรายอแนหรือรายอหก : ความหมายรายอแน คือ คำว่า รายอ ในภาษามลายูแปลว่า ความรื่นเริง และ คำว่า แน คือ หก ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษ อีฎี้ลฟิตรี จะเฉลิมฉลองวันอีดใหญ่และวันต่อมาชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องไปเลย จนครบ 6 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอด คนในพื้นที่จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองวัน วันรายอแน โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์หรือสุสาน

  • เดือนซุลฮิจญะฮ์ : การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน การทำฮัจญ์จะจัดขึ้นในเดือน ซุลฮิจญะฮ์ซึ่งเป็นเดือน 12 ของอิสลาม

  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี : เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ จะตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต : เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่า เป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บ้างพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ จะมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

  • การละหมาด : เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ เวลา

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการและค้าขาย

1. นางสาวอารี สิทธิจินดา : เป็นประธานชุมชนที่ได้รับการยอมรับของคนในชุมชน

ทุนเศรษฐกิจ ชุมชนสะพรั่ง เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีการค้าขายอย่างคึกคักโดยตลอดทางถนนมีร้านค้าตั้งอยู่อย่างเรียงรายเป็นจำนวนมาก

การสื่อสารในชุมชนสะพรั่งใช้ภาษาไทยเป็นหลัก 


ด้วยลักษณะบางพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มทำให้เกิดน้ำท่วมง่าย จึงทำให้บริเวณชุมชนสะพรั่งน้ำท่วมบ่อย ซึ่งทางชุมชนได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดูแลทางระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมซ้ำซาก 

ในชุมชนสะพรั่งมีจุดน่าสนใจ ได้แก่ ร้านยำ 20

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ. กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี 2564เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ปฎิทินวัฒนธรรม : ประเพณีชักพระ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://calendar.m-culture.go.th/

อารี สิทธิจินดา (ผู้ให้สัมภาษณ์), อับดุลเลาะ รือสะ (ผู้สัมภาษณ์), เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566