เคยเป็นพื้นที่ของชาวลัวะมาก่อน ต่อมามีการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนและเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่โดยกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีการอยู่อาศัยและทำกินบนพื้นที่แห่งนี้มากกว่าร้อยปี เดิมเป็นหย่อมบ้านที่ขึ้นกับหมู่ที่ 6 บ้านแม่ลานคำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จึงได้ทำการแยกเป็นหมู่บ้านป่านอก หมู่ที่ 11
ชื่อหมู่บ้านป่าคานอก มีที่มาจาก "หญ้าคา" ซึ่งในพื้นที่เดิมก่อนที่จะมีการก่อตั้งหมู่บ้านป่าคานอก ได้มีหญ้าคาขึ้นจำนวนมากลักษณะเป็นป่าหญ้าคา จึงตั้งชื่อว่า "บ้านป่าคา"
เคยเป็นพื้นที่ของชาวลัวะมาก่อน ต่อมามีการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนและเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่โดยกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีการอยู่อาศัยและทำกินบนพื้นที่แห่งนี้มากกว่าร้อยปี เดิมเป็นหย่อมบ้านที่ขึ้นกับหมู่ที่ 6 บ้านแม่ลานคำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จึงได้ทำการแยกเป็นหมู่บ้านป่านอก หมู่ที่ 11
แต่เดิมเป็นพื้นที่ของชาวลัวะมาก่อน ต่อมามีการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนและเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่โดยกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เล่าถึงการมีบทบาทและภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ ในการเป็นควาญช้างสมัยที่อังกฤษเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้บริเวณลุ่มน้ำแม่ลานและลุ่มน้ำแม่ขาน ราวปี พ.ศ. 2440 แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านแห่งนี้มีการอยู่อาศัยและทำกินบนพื้นที่แห่งนี้มากกว่าร้อยปี ซึ่งแต่เดิมนั้นบ้านป่าคานอกเป็นหย่อมบ้านที่ขึ้นกับหมู่ที่ 6 บ้านแม่ลานคำ มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายพะโพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จึงได้ทำการแยกเป็นหมู่บ้านป่านอก หมู่ที่ 11
บ้านป่าคานอกแต่เดิมรวมกับบ้านป่าคาใน เรียกว่า หย่อมบ้านแดลอ ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณระหว่างทางกึ่งกลางของหมู่บ้านป่าคาในและป่าคานอก ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
- พ.ศ. 2511 : มีการแยกหย่อมบ้านแดลอ เป็นหย่อมบ้านป่าคาใน และหย่อมบ้านป่าคานอก เนื่องจากปัญหาเรื่องการเพาะปลูกที่ไม่ได้ผลเพียงพอและการจัดการสัตว์เลี้ยงในชุมชน และอีกปัญหาที่สำคัญคือโรคระบาด หรือหากเป็นทางจิตวิญญาณเชื่อว่าที่แห่งนี้มีผีร้าย ทำให้คนในหมู่บ้านมีการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านกลุ่มแรกทำการตั้งถิ่นฐาน แต่เดิมมีบ้าน 7 หลังคาเรือน หย่อมบ้านแรกตั้งอยู่ที่บริเวณโรงเรียนบ้านป่าคานอกและวัดป่าคานอก
- พ.ศ. 2516 : ชาวบ้านย้ายถิ่นฐานอพยพลงไปที่บ้านห้วยแสน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากปัญหาความห่างไกลจากแม่น้ำ แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีชาวบ้านส่วนใหญ่ก็พากันขายที่ดินและอพยพขึ้นมา เนื่องจากปรับตัวกับวิถีและวัฒนธรรมพื้นราบไม่ได้ แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ไม่ได้กลับขึ้นมาด้วยและทำการตั้งถิ่นฐานอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2526 : ทางภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวชุมชนมีนามสกุลใช้ ขณะนั้นมีเพียงนายอินตาที่เสนอไปและได้รับเลือกนามสกุล สวรรค์ประทาน ให้เป็นนามสกุลแรกของหมู่บ้านป่าคานอก
- พ.ศ. 2531 : ก่อตั้งโรงเรียนบ้านแม่ลานคำ (สาขาป่าคานอก) เนื่องจากสมัยก่อนบ้านป่าคานอกเคยรวมกับหมู่ที่ 6 ซึ่งมีโรงเรียนลานคำอยู่ เด็กข้ามน้ำและใช้เวลาในการเดินทางด้วยความยากลำบากและใช้เวลานาน จึงขอขยายโรงเรียนขึ้นมาบนสาขาป่าคานอก
- พ.ศ. 2532 : มีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน และทำการยกเว้นบริเวณบ้านป่าคานอกและพื้นที่ทำกินรอบหมู่บ้าน เนื่องจากมีการพิพาทและเกิดข้อถกเถียงระหว่างข้าราชการป่าไม้และชาวบ้าน
- พ.ศ. 2533 : ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายอินตา สวรรค์ประทาน และชาวบ้านร่วมกันขอเสนอให้ทำการแยกหมู่บ้านป่าคานอกจากหมู่ 6 แยกเป็นหมู่ 11 ต่อทางอำเภอสะเมิง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและจำนวนหลังคาเรือนทำให้ไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึง
- พ.ศ. 2535 : ทางราชการและอำเภอสะเมิงได้มีมติและคำสั่งประกาศให้บ้านป่าคานอก แยกจากหมู่ 6 บ้านแม่ลานคำ เป็นหมู่ 11 บ้านป่าคานอก ประกอบด้วย 3 หย่อมบ้านคือ ป่าคาใน ป่าคานอก และอมก๋น อีกทั้งในปีเดียวกันจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งแรก ทำให้เกิดผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการคนแรกคือพ่อหลวง อินตา(โท๊ะ) สวรรค์-ประทาน และได้ดำรงถึงตำแหน่ง 2 วาระ
- พ.ศ. 2536 : มีการทำถนนดิน เชื่อมหมู่บ้านหย่อมบ้าน ขณะนั้นยังเป็นถนนดินลูกรัง
- พ.ศ. 2537 : ก่อตั้งวัดป่าคานอกโดยครูบาดวงจันทร์ ขันติคุณาทวน และพ่อหลวงอินตา สวรรค์ประธาน ร่วมกับชุมชน ทำให้ครั้งนั้นการนับถือผี เลี้ยงผีก็สิ้นสุดลง เนื่องจากใช้ทรัพยากรค่อนข้างมากและความเคร่งครัดในพิธีกรรมว่าหากมีข้อผิดพลาดจะส่งผลถึงชีวิต การนับถือผีมีพิธีกรรมที่ยุ่งยากหลายขั้นตอนและมีค่าใช้จ่ายในการทำพิธีกรรมจำนวนมาก ชาวบ้านเลยเปลี่ยนจากนับถือผีไปนับถือศาสนาพุทธ แต่ถึงกระนั้นพิธีกรรมทางจิตวิญญาณอีกหลายอย่างก็ยังมีการทำการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2539 : น้ำประปาเข้าสู่หมู่บ้าน มีการทำแท้งค์เก็บน้ำกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ต้องลงไปตักน้ำแล้วแบกขึ้นมาอีก
- พ.ศ. 2541 : มีการทำถนนคอนกรีตมาถึงบ้านป่าคานอก
- พ.ศ. 2542 : ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 หลวงดาหวิล ปฐมเอกจิตร ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ
- พ.ศ. 2550 : ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 พ่อหลวงสุรชัย พะแจะ ดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2563 : มีพืชชนิดใหม่เข้ามา คือข้าวโพดอาหารสัตว์ ทำให้มีการเริ่มปลูกข้าวโพดส่งขาย แต่ต้องปลูกในจำนวนมากถึงจะได้กำไรและราคาทุน ซึ่งเป็นผลกระทบที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการทำไร่หมุนเวียนที่เปลี่ยนไป
พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ทำกิน ได้แก่ พื้นที่นา ไร่ สวน ซึ่งเป็นของกลุ่มผู้คนที่ตั้งรกรากแต่แรกเริ่ม ส่วนรอบนอกออกไปเป็นส่วนขยายของการใช้พื้นที่ทำกินซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของหมู่บ้าน กล่าวคือ ครอบครัวที่แยกออกจากบ้านหลักต้องไปหักล้างถางพงทำพื้นที่ทำกินของตนเองทำให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่ทำกิน เช่น นาข้าวของหมู่บ้านหนึ่งอาจมีอาณาเขตไปเกือบถึงอีกหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียง
ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน
หมู่บ้านจะตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้แหล่งน้ำ ตั้งอยู่บนดอย สันดอย และลาดไหล่เขา บ้านป่าคานอกตั้งไต่ระดับต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกที่ความสูงประมาณ 700-800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะบ้าน
ลักษณะบ้านที่พบเห็นในปัจจุบัน เป็นบ้านแบบใหม่และแบบประยุกต์ ส่วนบ้านแบบดั้งเดิม (แบบประเพณี) หลงเหลือให้เห็นน้อยมาก กล่าวคือ เป็นเรือนไม้ยกพื้นเล็กน้อย มีบันไดขึ้นเรือนจากพื้นดิน สร้างจากไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยไม้ไผ่และใบหญ้าคา ผนังเป็นฟากไม้ไผ่ที่ถูกตีเป็นแผ่น มีชานเรือนด้านหน้าและประตูเข้าสู่ตัวเรือนด้านในซึ่งเป็นห้องเดี่ยว ใช้งานทุกหน้าที่โดยมีเตาไฟอยู่ภายในเพื่อใช้ในการประกอบอาหารและให้ความอบอุ่น แยกห้องส้วมออกจากบ้าน
องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างของบ้านในอดีต คือ การสร้างยุ้งฉางจากไม้เนื้อแข็งสำหรับเก็บข้าวและเป็นที่เลี้ยงสัตว์เกือบทุกครัวเรือน ได้แก่ หมู โดยกั้นเป็นคอกและผูกล่ามแม่หมูไว้บริเวณข้อเท้า ส่วนลูกหมูหลายบ้านเลี้ยงแบบปล่อย มีเล้าสำหรับไก่ หลายบ้านเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยเป็นอิสระ ไก่จะหากินอยู่แถวบริเวณบ้าน สัตว์เลี้ยงประจำบ้าน คือ หมา เลี้ยงไว้เพื่อดูแลบ้าน
บ้านในรุ่นหลังถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยตามแบบบ้านคนพื้นราบและสอดคล้องกับการส่งเสริมสุขอนามัยตามนโยบายภาครัฐ มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
- บ้านไม้ยกพื้นสูง ใต้ถุนโปร่ง หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้อง ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และเก็บฟืน ทั้งยังใช้ตากผ้าในฤดูฝน หรือเก็บถุงข้าวเปลือก
- บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ยกพื้นสูง หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง ลาดพื้นปูนและก่อนผนังด้วยอิฐ ใช้เป็นตัวเรือนรับรอง ห้องนั่งเล่น พักผ่อน ทำงานอาชีพเสริม รับประทานอาหาร ส่วนเรือนชั้นบนที่เป็นไม้จัดเป็นส่วนห้องนอน ไม่มีระเบียง
- บ้านแบบเรียบง่าย สร้างด้วยปูน ผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยม ขนาดเล็กถึงปานกลาง หลังคาทรงจั่ว มุงกระเบื้อง ผนังบ้านก่อนอิฐบล็อก มีประตูหน้าต่างไม้
นอกจากตัวบ้านแล้วชาวปกาเกอะญอส่วนใหญ่ในอดีตยังนิยมสร้างยุ้งฉางไว้เก็บข้าว (หลองข้าว) แยกไว้ต่างหาก ลักษณะเป็นเรือนไม้เนื้อแข็งยกพื้นสูงในผังสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างยาวประมาณ 1.5-2 เมตร หลังคาทรงจั่ว ผนังมีทั้งแบบตั้งตรงและแบบผ้านออกด้านบน ตัวเรือนตอนบนใช้เก็บเมล็ดข้าว ปุ๋ยและอุปกรณ์เพื่อการเกษตร นอกจากใช้เป็นที่เก็บข้าวแล้วยังใช้เป็นที่เก็บข้าวแล้วยังใช้เป็นที่เก็บผลผลิตทางการเกษตรและเป็นที่เลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันหมดความนิยมไป บางครอบครัวต้องการสร้างบ้านเพิ่มในพื้นที่เดิมก็ปรับใช้หลองข้าวให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ เป็นการประยุกต์ใช้อาคารและวัสดุเดิมให้เกิดประโยชน์
ปฏิทินเศรษฐกิจ
- มกราคม = สำรวจการไร่หมุนเวียน
- กุมภาพันธ์ = เริ่มเตรียมไร่ / ถางไร่
- มีนาคม = ทำแนวกันไฟ
- เมษายน = เริ่มเพาะปลูก
- พฤษภาคม = เริ่มลงเมล็ดผลผลิตที่ใช้เวลานานในการเจริญเติบโต
- มิถุนาคม = เริ่มหยอดข้าวไร่
- กรกฎาคม = ถอนหญ้าที่ขึ้นตามไร่
- สิงหาคม = ถอนหญ้าครั้งที่ 2 / ดูแลไร่
- กันยายน = ดูแลไร่ / ทำนา
- ตุลาคม = จับสัตว์ / ทอผ้า
- พฤศจิกายน = เก็บเกี่ยว
- ธันวาคม = เกี่ยวข้าว / ฟาดข้าว
สำหรับสัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ที่ไร่เลื่อนลอยและใช้เป็นแรงงาน ได้แก่ วัว ควาย โดยทำห้างในที่นาไว้คุ้มแดดคุ้มฝนให้กับสัตว์เลี้ยง ปล่อยอิสระให้สัตว์หากินเองตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากมูลวัวและควาย นำไปเป็นปุ๋ยใส่ในท้องนา เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้เงินก็ขายสัตว์ดังกล่าวให้กับพ่อค้าเปลี่ยนเป็นเงินนำมาใช้สอย ส่วนหมู ไก่ ซึ่งเลี้ยงไว้ที่บ้านก็นำมาทำอาหารในบางโอกาส และเป็นสัตว์ที่ใช้ทางพิธีกรรมทางความเชื่อ
ปฏิทินประเพณีพิธีกรรม
- มกราคม = การผูกข้อมือ
- กุมภาพันธ์ = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- มีนาคม = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เมษายน = พิธีกรรมในวันสงกรานต์
- พฤษภาคม = การขอฝน
- มิถุนาคม = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- กรกฎาคม = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- สิงหาคม = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- กันยายน = เลี้ยงผีฝาย / ผีไร่
- ตุลาคม = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- พฤศจิกายน = ลอยกระทง
- ธันวาคม = พิธีทำขวัญข้าว
ทุนทางวัฒนธรรม
ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่สะเมิงใต้นั้นมีความผูกพันกับธรรมชาติ ด้วยเหตุที่ธรรมชาติแวดล้อมเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ซึ่งเป็นป่า (พ่อ) และ ต้นน้ำลำธาร (แม่) ตลอดจนสัตว์และทรัพยากรอื่น ๆ โดยเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของ คือ ผี
ในการทำพิธีที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ (ผี) จะมีฤกษ์ยาม นอกจากการนับเวลาจากดวงดาวด้วยจันทรคติแล้ว ยังสามารถนับเวลาที่ละเอียดขึ้นอีกโดยการดูโมงยาม โดยการใช้แผ่นดูฤกษ์ยามซึ่งมีลักษณะเหมือนไม้บรรทัดซึ่งทำด้วยไม้ ภายในมีการแบ่งช่องให้สัญลักษณ์ด้วยการเจาะรูไว้ที่หน้าไม้ช่วยในการนับวันเวลา ผู้ที่จะใช้แผ่นดูฤกษ์ยามนี้ได้จะต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านดาราศาสตร์และการคำนวณซึ่งก็คือ อิโข่ นั่นเอง
การทอผ้า
การทอผ้า เป็นงานของผู้หญิงชาวปกาเกอะญอ ส่วนใหญ่มีความสามารถทอกันได้และทอใช้ในครัวเรือน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมที่ผู้หญิงจะออกเรือนต้องทอเสื้อผ้าให้ตนเองและทอทั้งเสื้อชิ้นที่นอนหมองมุ้งผ้าห่มผ้าคลุมไหล่ ซึ่งต้องอาศัยความเพียรและความอดทนมาก หากไม่มีพร้อมแล้วก็คงไม่มีความอดทนในการดูแลบ้านเรือน สามี และลูกได้
ผ้าทอที่เอวแบบฉบับของชาวปกาเกอะญอเป็นเอกลักษณ์อันสะดุดตา มีบางบ้านที่มีการออกแบบลวดลายสวยงามส่งออกไปขายนอกชุมชน การทอผ้าใช้กี่ทอแบบติดเอว หรือที่เรียกว่า “กี่เอว”
ทุนทางกายภาพ
แหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญในพื้นที่ คือ น้ำแม่ลาน ซึ่งเกิดจากป่าต้นน้ำบนเขาของแต่ละหมู่บ้านไหลเป็นลำธาร ทางน้ำรวมกันไหลลงสู่แม่น้ำลานและแม่น้ำลาซึ่งหล่อเลี้ยงหมู่บ้าน ๆ ได้แก่ บ้านป่าคานอก ป่าคาใน ห้วยหญ้าไซ บ้านใหม่และลานคำ และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำแม่ขานที่มีต้นน้ำมาจากขุนขานในเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน
ตระกูลภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman)
ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยง
ภาษาเขียน : อักษรลิวา
กรมพัฒนาที่ดิน. (ม.ป.ป.). โครงการปลูกหญ้าแฝกในโรงเรียน ปี 2547 สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่. ค้นคืนเมื่อ 2 มิถุนายน 2566, จาก https://www.ldd.go.th/47/06/47/
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 2 มิถุนายน 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2562). กลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ). ค้นคืนเมื่อ 2 มิถุนายน 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). บ้านป่าคานอก จ.เชียงใหม่. ค้นคืนเมื่อ 2 มิถุนายน 2566, จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanPaKhaNok