
ชุมชนมีศักยภาพของพื้นที่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวปกาเกอะญอ
เดิมทีชาวบ้านเรียกหมู่บ้านของตนเองว่า “ซูเหลาะถ่า” หมายถึงสายน้ำมาบรรจบกัน หรือ ห้วยสบหลอด ต่อมาในปี 2517 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาได้เข้ามาในพื้นที่และตั้งชื่อหมู่บ้านตามสถานที่ตั้งว่า “บ้านผาแตก”
ชุมชนมีศักยภาพของพื้นที่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวปกาเกอะญอ
หมู่บ้านผาแตกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2492 โดยมีผู้อพยพมาจากสวนปู่เทิ่มหรือปางปู่เทิ่มเนื่องจากมี ผู้คนอาศัยอยู่มากต้องแย่งกันทำมาหากินและมีคนเจ็บป่วยล้มตายด้วยสาเหตุไข้ทรพิษ หรือโรคห่า จึงต้องย้ายถิ่นฐานแห่งใหม่และได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านผาแตกแห่งนี้ ครอบครัวที่ย้ายมาครั้งแรก ได้แก่ ครอบครัวของนายอู สิงห์แก้ว สมาชิก จำนวน 3 คน ครอบครัวของนายขาว สาโทสมาชิก จำนวน 4 คน ครอบครัวของนายอ้าย หน่อแก้ว สมาชิก จำนวน 5 คน ครอบครัวของนายดอก อุเหม่ สมาชิก จำนวน 5 คน ครอบครัวของนางเอ้ย มูลหน่อ สมาชิก จำนวน 7 คน ครอบครัวของนายแก่น อินตา สมาชิก จำนวน 5 คน แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านเรียกหมู่บ้านของตนเองว่า “ซูเหลาะถ่าง" (หมายถึงสายน้ำมาบรรจบกัน หรือ ห้วยสบหลอด) บ้าง เรียกว่าหมู่บ้านผายองบ้าง แต่เมื่อปี 2517 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงและสงเคราะห์ชาวเขาได้เข้ามาในพื้นที่ และตั้งชื่อหมู่บ้านตามสถานที่ตั้ง “บ้านผาแตก” และคนต่างถิ่นต่างรู้จักในชื่อหมู่บ้านผาแตกมากกว่า และเรียกกันจนติดปาก ชาวบ้านจึงยอมใช้ชื่อหมู่บ้านผาแตกเป็นต้นมาตลอด
เ
พื้นที่บ้านผาแตกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ประมาณ 57 ปีมาแล้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง โซน C (ป่าอนุรักษ์) และอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 2 มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 500-1,000 เมตร มีระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์ฯแม่หลอด 63.6 กิโลเมตร และถึงหมู่บ้านรวม 64 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านแม่เจี้ยว
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านป่าเป๋า
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านผาแด่น
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่หลอดเหนือ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีความลาดชันลักษณะเป็นบริเวณเชิงเขาและมีที่ว่างระหว่างหุบเขา สาหรับการปลูกพืชและทำนาทำไร่ ในพื้นที่เป็นดินประเภท Reddish Brown Laterite เนื้อดินร่วมซุย เป็นดินร่วนปน ทราย มีการระบายน้าและอากาศดี จัดเป็นดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยมีอินทรียืวัตถุ 4.431 ไนโตรเจน 0.22% ฟอสฟอรัส 5 mg/kg และโพแทสเซียม 241 mg/kg
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านผาแตก มีลักษณะเป็นบริเวณเชิง เขาและมีที่ว่างระหว่างหุบเขาสำหรับการปลูกพืชและทำนาทำไร่
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตอากาศอบอุ่นและมีฝนปานกลาง โดยมีอุณหภูมิสูงสุด 30 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 16 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ย 23 องศาเซลเซียส และมีปริมาณ น้ำฝนเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตรต่อปี
แหล่งน้ำที่สำคัญ
แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้าชั้น 2 แหล่งน้าธรรมชาติคือ น้ำแม่ริม น้ำแม่หลอด ไหลผ่านในหมู่บ้าน โดยทางกรมทรัพยากรน้ำ ได้เข้าไปสำรวจแหล่งน้ำและได้วางแผนก่อสร้างฝายน้ำล้น ในน้ำแม่ริม จำนวน 1 แห่ง ในปีงบประมาณ 2551 – 2552 และเจอปัญหาน้ำอุปโภคและบริโภคในช่วงภัยแห้ง 2 กลุ่มบ้าน ได้แก่ บ้านแม่เจี้ยว และบ้านแม่ตอ และมีปัญหา ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรมาก เนื่องจากลำห้วยอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่ตั้งชุมชน ซึ่งจากการ ดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำจากหน่วยงานต่างๆแล้วบางส่วน เช่น การสร้างฝายเพื่อกระจ่ายน้ำ ระยะทาง 3,950 เมตร พร้อมแท็งค์เก็บน้ำจำนวน 4 แท็งก์จากกรมชลประทาน
สภาพสังคม และชุมชน
กลุ่มบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก ทั้ง 5 หมู่บ้าน มี ประชากรจำนวน 249 ครัวเรือน จำนวน 1,154 คน ประกอบด้วย 2 เผ่า คือ กระเหรี่ยง และคนเมือง ด้านสาธารณสุข ประชาชนใช้บริการจากสถานีอนามัยสบเปิง ตำบลสบเปิง และคลินิก หรือโรงพยาบาลแม่แตง อำเภอแม่แตง จัวหวัด เชียงใหม่ อัตราการตรวจสารเคมีที่พบในเลือก ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 และที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงผาแตกได้ สนับสนุนการจัดกิจกรรมการตรวจสารพิษตกค้าง ใน 4 กลุ่มบ้าน ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มไม้ผล และกลุ่ม ปลูกผัก กลุ่มพืชไร่ การจัดตั้งกลุ่มและกองทุนเพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ การพัฒนาหมู่บ้านสะอาด ชุมชนเข้มแข็ง และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อรักษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมของเยาวชนในพื้นที่
ปกาเกอะญอการประกอบอาชีพ
ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ ทำนาทำไร่หมุนเวียน ปลูกกล้วย และลิ้นจี่ อาชีพรอง ได้แก่ เลี้ยงโค หาของป่าขายตามฤดูกาล โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน ประมาณ 1,100 ไร่ จำนวน 86 แปลง
การถือครองที่ดิน
การถือครองที่ดินของราษฎรโดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง โดยส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำนา ไร่หมุนเวียน ปลูกกล้วย และลิ้นจี่
การรวมกลุ่มเกษตรกร
ประชากรบ้านผาแตกมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทางด้านสังคม ได้แก่ กลุ่มเยาวชน กลุ่มสมุนไพร กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มธนาคาร ข้าว และกลุ่มอนุรักษ์ เป็นต้น
วิถีชีวิตชาย
ความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนนั้นอยู่อย่างเรียบง่ายไม่ยุ่งยากและฟุ้งเฟ้อเฉกเช่นสมัยนี้ผู้ชายกะเหรี่ยงนั้นตื่นนอนแต่เช้าก็จะสานเสื่อ บางวันก็ไปหาปลาตามห้วย-หนอง เพื่อมาประกอบอาหารเช้า หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จก็จะไปไร่พร้อมด้วยลูกและภรรยา ถางหญ้า ปลูกข้าว ปลูกพืชผักไว้กิน บางวันก็ไปรับจ้างถางหญ้าสวน ค่าจ้างวันละ 2.50 บาท จนถึงเย็น แล้วจะตัดไม้ไผ่ ตัดฟืนมาก่อไฟที่บ้านรอภรรยาทำอาหารให้ทาน หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จก็จะนำไม้ไผ่ที่ตัดมาสานเสื่อ ในขณะสานก็จะต้มน้ำชา น้ำสมุนไพร ดื่มแก้ปวดหลัง ปวดเอว
วิถีชีวิตหญิง
ความเป็นอยู่ของฝ่ายหญิงเริ่มจากการตื่นนอนหุงหาอาหารให้กับสามีและลูก รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้ด้วย ในสมัยก่อนจะมีการตำข้าวเองไม่ต้องใช้โรงสีเหมือนในปัจจุบัน หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จก็จะออกไปทำไร่ ปลูกผักจนถึงเย็น กลับมาก็จะตำข้าว ทำอาหารเย็น เอาข้าวให้สัตว์เลี้ยง หลังรับประทานอาหารเย็นเสร็จก็จะไปทอผ้าเพื่อเก็บไว้ใช้ภายในครอบครัว
ความเป็นอยู่ทั้งชายและหญิงไม่ได้มีอะไรมากมาย จะหมุนเวียนอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในทุกวัน ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่บ้างแต่ก็ไม่มาก เพราะมีความทันสมัยขึ้น มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปตามเวลา
ผู้นำชุมชน
- นายนิคม ธูปเทียน เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- นายบวรณ์ มูลหน่อ เป็นสมาชิกอบต.
ผู้นำกลุ่มต่างๆ
- หมอพื้นบ้าน คือ นางบือ บุญปั๋น และนางวาง มูลหน่อ
- ด้านสมุนไพรพื้นบ้าน คือ นายเฮือน มูลหน่อ, นายปอน มูลหน่อ และนายแดง สิงห์แก้ว
- ด้านการนวดแผนโบราณ คือ นายนุ โดงเย็น
- ด้านงานทอผ้า คือ นางกาญจนา มูลหน่อ, นางมะลิ ดียะ, นางวัฒนา สะโนวิโต และนายแก้ว สะโนวิโต
- ด้านงานจักสาน คือ นายดี ดียะ และนายชอนมูลหน่อ
ทุนกายภาพ
- แหล่งน้ำธรรมชาติ พื้นที่โครงการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 2 แหล่งน้ำธรรมชาติ คือ น้ำแม่ริม น้ำแม่หลอด ไหลผ่านในหมู่บ้าน โดยทางกรมทรัพยากรน้ำได้เข้าไปสำรวจแหล่งน้ำและได้วางแผนก่อสร้างฝายน้ำล้นในน้ำแม่ริม
- ป่าไม้ พื้นที่บ้านผาแตกอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ โซน C สภาพป่าทั่วไปถูกถางทำลาย และทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวไร่และข้าวนา ในพื้นที่จึงมีปัญหาสำคัญ คือ การสูญเสียป่าต้นน้ำ การชะล้างพังทลายและเสื่อมโทรมของดิน มลภาวะจากการเผา และการใช้สารกำจัดวัชพืช ทั้งนี้การดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงผาแตก ได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่าชาวบ้าน การปลูกหญ้าแฝก การฟื้นฟูป่าชุมชน การจัดทำฝาย การลดใช้สารเคมีและลดการเผา การทำปุ๋ยหมัก และการจัดทำแผนที่ดินรายแปลง และปรับระบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน/หน่วยงาน
- ดิน ลักษณะดินในพื้นที่เป็นดินประเภท Reddish Brown Laterite เนื้อดินร่วมซุย เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำและ อากาศดี จัดเป็นดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยมีอินทรียืวัตถุ 4.43 ไนโตรเจน 0.22% ฟอสฟอรัส 5 mg/kg และโพแทสเซียม 241 mg/kg
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
- การจักสานไม้ไผ่
1.) ขล่อ (สาด) ต้องจักตอก กว้าง 1 นิ้ว ยาว 24-25 นิ้ว เหลาให้เสมอกันแล้วเอามาตากให้แห้งก่อนแล้วค่อยสานิวิธีสานลายตั้งต้องใช้ดอก 2 เส้น ลายขวางต้องใช้ดอก 1 เส้น สานต่อๆ กันก็จะเป็นกว้าง 1 เมตร หรือกี่เมตรแล้วแต่ต้องการ สาดนี้เรียกว่า สาดลายสอง ใช้ไม้ปัง ไม้ข้าวหลาม
2.) เส่อกัวะ (ก๋วย) ต้องจักตอกกว้างประมาณครึ่งนิ้ว ยาว 2 เมตร วิธีสานลายตั้งสูง 4 คู่ ลายขวาง 5 คู่ สานสูงประมาณ 2 ฟุต กว้างประมาณ 1 ศอก เรียกว่า ลายห่าง (ตาโฮแบะ) ใช้ไม้ซางในการสาน
3.) ก่อแล (โด้ง) ต้องจักตอกกว้าง 1 นิ้ว แล้าเหลาให้เสมอกันแล้วเอามาตากให้แห้งก่อนนำมาสาน วิธีสานต้องสาน 4 คู่ก่อน แล้วค่อยสานให้กว่างประมาณ 1 ศอกแล้วเอาไม้กว้างประมาณ 1 นิ้วครึ่ง อีกอันมาทำเป็นขอบรอบโด้งแล้วเอาหวายมาเหลาให้เรียบแล้วค่อยเอามามัดขอบโด้ง ลายนี้เรียกว่า ลายสอง-สาม (ต่าเปาะเซอ) ใช้ไม้บงในการสาน
4.) ชอสึ (สุ่มไก่) ต้องจักตอกกว้างครึ่งนิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตรครึ่ง แล้วเอามาสาน วิธีสานลายกว้าง 12 เส้น ลายตั้ง 12 เส้น แล้วสานลายตั้งอีก 10 เส้น ความสูง 1 ฟุต แล้วสานที่รองก้นให้พอดีกับสุ่มไก่อีก 1 แผ่น แล้วนำมารวบปาก ลายนี้เรียกว่า ลายเดี่ยว (ต่าโอเค) ใช้ไม้ซางสาน
- การทอผ้าด้วยกี่เอว (เครื่องทอผ้าห้างหลัง)
เริ่มต้นจากการปลูกต้นฝ้ายเพื่อนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม พอดอกฝ้ายบานก็นำดอกฝ้ายที่แก่จัดมาตากแห้ง จากนั้นก็นำไปรีด โดยเครื่องรีดฝ้ายเพื่อให้เมล็ดฝ้ายหลุดออก แล้วก็นำฝ้ายมาตีให้ฟูมากที่สุด จากนั้นก็นำมาฟั่นเป็นท่อนๆ แล้วดึงฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย แล้วนำมาม้วนให้เป็นใจ จากนั้นนำฝ้ายไปต้มใส่ข้าวสารลงในหม้อต้มพอประมาณ รอให้ด้ายสุกตามแต่ละคนต้องการ เมื่อต้มเสร็จนำไปตากแห้งจนแห้งจึงจะนำมาม้วนเก็บไว้ทอต่อไป
การย้อมสีด้ายให้เป็นสีตามต้องการ เช่น สีดำ สีแดง หรือสีเหลือง ก็จะใช้วัสดุจากธรรมชาติในการย้อม เช่น สีดำจะใช้ใบฮ่อมนำมาต้มจนน้ำออกสีดำแล้วนำด้ายลงไปแช่ประมาณ 3 วัน ด้ายก็จะกลายเป็นสีดำ ส่วนสีแดงก็จะใช้ต้นสมุนไพรเคาะ โดยเอารากไม้เคาะมาตัดเป็นท่อนๆ แล้วนำมาต้มจนน้ำออกสีแดง แล้วนำมาแช่กับด้าย และสีเหลืองจะได้จากขมิ้น โดยวิธีทำเหมือนกับสีอื่นๆ ความเชื่อในการย้อมสีนั้น จะไม่ให้เด็กเข้าใกล้ เพราะกลัวว่าเด็กจะบ้วนน้ำลายลงบริเวณใกล้ๆ ที่ย้อมด้าย เชื่อว่าจะทำให้สีไม่ติดด้าย จะต้องย้อมคนเดียวเงียบๆ ส่วนวหญ่ชาวปกาเกอะญอจะใช้สีแดง เพราะเชื่อว่าสีแดงเป็นสีนำชัยและต้องตาผี (ผีจะมองไม่เห็นเพราะมีสีคล้ายดวงอาทิตย์ทำให้ตาพร่ามัว)
เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผู้ใหญ่บ้านผาแตก ได้ทำหนังสือลงวันที่ 10 เมษายน 2548 ถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่หลอดเรื่องขอขยายพื้นที่งานส่งเสริมอาชีพเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรหมู่บ้านผาแตกมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตโดยขอให้ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่หลอดเข้าไปช่วยเหลือในการขยายงานส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรหมู่บ้านผาแตก เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่หลอด ได้ทำหนังสือถึง หัวหน้าฝ่ายพัฒนามูลนิธิโครงการหลวง ลงวันที่ 22 เมษายน 2548 เรื่องขออนุมัติขยายงานส่งเสริมอาชีพเกษตรกรไปหมู่บ้านผาแตก โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากราษฎรหมู่บ้านผาแตกประกอบอาชีพทำนา หาของป่า และจักสาน ซึ่งเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และเบียดเบียนธรรมชาติทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ยากจน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน
ศูนย์ฯแม่หลอด มีความเห็นในเบื้องต้นว่า ควรขยายงานส่งเสริมไปที่หมู่บ้านผาแตก โดยเน้นการส่งเสริมพืชผักเป็นหลัก และควรร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำการพัฒนาที่ดินเพื่อให้มีสภาพที่พร้อมจะทำการส่งเสริมต่อไป ซึ่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาได้เสนอแนะให้นำเรื่องนี้เสนอให้คณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่หลอดพิจารณาถึงความจำเป็นของเกษตรกร รวมทั้งปัญหาที่ตั้งหมู่บ้านว่าอยู่ในขอบเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือเขตอุทยานแห่งชาติ
พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก ทั้ง 5 กลุ่มบ้าน มีพื้นที่รวมประมาณ 38,226.94 ไร่ โดยอยู่ในเขตป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์โซน C สภาพป่าทั่วไปถูกถางทำลาย และทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวไร่และข้าวนา ในพื้นที่จึงมีปัญหาสำคัญคือ การสูญเสียป่าต้นน้ำ การชะล้างพังทลายและ เสื่อมโทรมของดิน มลภาวะจากการเผา และการใช้สารกำจัดวัชพืช ทั้งนี้การดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูง ผาแตก ได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่าชาวบ้าน การปลูกหญ้าแฝก การ ฟื้นฟูป่าชุมชน การจัดทำฝาย การลดใช้สารเคมีและลดการเผา การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และการจัดทำแผนที่ดินรายแปลง และปรับระบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน/หน่วยงาน
แหล่งท่องเที่ยว
ในหมู่บ้านผาแตก มีจุดแวะพักของนักท่องเที่ยว (Home stay) และมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่บริเวณใกล้เคียง ได้แก่ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด น้ำตกหมอกฟ้า และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย
ข้อมูลพื้นฐานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. (2561). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.hrdi.or.th/public/files/Areas-Profile/08-tae.pdf
ดุษฎี ชาวนา. (2551). รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านผาแตก หมู่ที่ 10 ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
ผาแตก. (2555). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/cbtcommunity/northcommunity/patak