ชุมชนชาวไทยมุสลิมริมฝั่งลำน้ำคลองสอง เจ้าของรางวัลพระราชทานการปฏิบัติงานดีเด่นด้านการพัฒนาชุมชนและภูมิทัศน์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
“ลําสนุ่น” มาจากคำว่า ลําราง และ สนุ่น ตามลักษณะสภาพแวดล้อมที่อยู่บริเวณลำราง และมีต้นสนุ่นขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
ชุมชนชาวไทยมุสลิมริมฝั่งลำน้ำคลองสอง เจ้าของรางวัลพระราชทานการปฏิบัติงานดีเด่นด้านการพัฒนาชุมชนและภูมิทัศน์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าภูมิประเทศของอําเภอคลองหลวงมีลักษณะเป็นป่าทึบ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีสัตว์ป่าชุกชุมโดยเฉพาะช้าง บริเวณที่ช้างอยู่เรียกว่า "ท่าโขลง" ส่วนตอนใต้ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มมีบึงใหญ่หลายแห่ง บริเวณบึงต่าง ๆ ชาวบ้านเรียกชื่อว่า บึงเขาย้อย บึงอ้ายเสียบ บางหวาย บึงจระเข้ และบึงตะเคียน ภายหลังพุทธศักราช 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า ประชาชนบางส่วนถูกกวาดต้อนไปพม่า บางส่วนหลบหนีมาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา ส่วนหนึ่งได้เข้ามาตั้งรกรากแถบพื้นที่บึงต่าง ๆ มีทั้งชาวไทย และชาวมอญอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ปะปนกัน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีชาวมอญอาศัยอยู่ในพื้นที่อําเภอคลองหลวงเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะตําบลคลองสี่ และตําบลคลองห้า
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีประชาชนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น สภาพพื้นที่จากเดิมที่เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุม ก็ได้แปรสภาพเป็นที่ราบและป่าละเมาะ ประชาชนเริ่มทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ กระทั่งราวปีพุทธศักราช 2433 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยเริ่มตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก บริเวณตําบลบ้านใหม่ อําเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ไปทางตะวันออกถึงจังหวัดนครนายก ด้านทิศเหนือของพื้นที่แห่งนี้ได้ขุดคลองระพีพัฒนศักดิ์แยกตก เริ่มขุดจากคลองเชียงรากน้อยถึงอําเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปทางทิศตะวันออกถึงจังหวัดสระบุรี ต่อมาได้มีชุมชนกลุ่มต่าง ๆ อพยพจากกรุงเทพฯ อยุธยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ฯลฯ มาอยู่ที่ลํารางธรรมชาติยาวตามตะวัน ซึ่งมีต้นสนุ่นขึ้นเป็นจํานวนมาก ประชาชนที่อพยพเข้ามาอยู่บริเวณนี้จึงตั้งชื่อกันเองว่า "ลําสนุ่น" มาจาก ลําราง+สนุ่น ในจํานวนผู้อพยพนั้น ได้มีผู้นับถือศาสนาอิสลามรวมอยู่ด้วย
พ.ศ. 2448 มีการขุดคลองส่งน้ำเพื่อเชื่อมต่อระหว่างคลองรังสิตประยูรศักดิ์กับคลองระพีพัฒนศักดิ์แยกตกทางทิศเหนือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลําราง จึงอพยพจากลํารางมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองสอง และจัดตั้งมัสยิดขึ้นที่ปากลํารางลําสนุ่นเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงและตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ว่า "มัสยิดลําสนุ่น"
ปัจจุบันอาณาบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชนบริเวณลำรางลำสนุ่นได้รับการยกฐานะเป็นชุมชน โดยให้ชื่อว่า "ชุมชนลำสนุ่น" ตามลักษณะสภาพแวดล้อมที่อยู่บริเวณลำราง และมีต้นสนุ่นขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แล้วให้ขึ้นกับหมู่ 12 และ 13 ตำบลคลองสอง (ตำบลท่าโขลงเดิม) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ที่ตั้งและอาณาเขต
ชุมชนลำสนุ่น หมู่ที่ 12 และ 13 ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อยู่ห่างจากเทศบาลเมืองท่าโขลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ห่างจากตลาดไทไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอคลองหลวงไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดปทุมธานีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 14 (คลองระพีพัฒนศักดิ์แยกตก)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองแอนที่ 8 คลองส่งน้ำคลองชลประทาน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 11 (คลองรังสิตประยูรศักดิ์)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองแอนที่ 9 คลองส่งน้ำชลประทาน
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ชาวบ้านได้ร่วมมือจัดการส่งเสริมรักษาสภาพแวดล้อมให้สวยงามน่าอยู่ปราศจากมลพิษทั้งในน้ำและบนบก ให้น้ำในลำคลองใสสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่สำคัญของชาวบ้าน โดยบริเวรริมคลองชาวบ้านได้ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ผล และไม้ใบต่างชนิด เช่น มะพร้าว มะขาม มะม่วง มะยม ขนุน กระท้อน กล้วย ทับทิม ต้นหว้า ขี้เหล็ก สะเดา ทรงบาดาล ตะแบก พญาสัตบรรณ หูกวาง ยอ ไผ่ เป็นต้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการรับประทานและเพื่อความสวยงามของภูมิทัศน์อันอุดมสมบูรณ์
ปัจจุบันพื้นที่กว่าร้อยละ 50 ของชุมชนมีลักษณะเป็นพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 30 เป็นพื้นที่บ้านจัดสรร ร้อยละ 15 เป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และร้อยละ 5 เป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่กว่าร้อยละ 15 ของชุมชนเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 34 แห่ง ทว่า สภาพกิจการโรงงานต่าง ๆ ในชุมชนลําสนุ่นมิได้ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษแต่อย่างใด เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่เป็นกิจการที่เกี่ยวกับผักผลไม้ ส่วนโรงกลึงโลหะและอื่น ๆ มีระบบผู้รับซื้อเศษวัสดุจากโรงงานโดยตรง ไม่มีการเผาทำลายภายในอาณาบริเวณชุมชนแต่อย่างใด
การคมนาคม
การเดินทางจากชุมชนลําสนุ่นเข้าสู่กรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางโดยผ่านเส้นทางถนนไอยรา 2 (ถนนเลียบคลองสอง) และถนนเอราวัณ 1 (ถนนเลียบคลองสอง) ซึ่งตัดผ่านชุมชนชุมชนลําสนุน มีลักษณะเป็นถนนคอนกรีต ค.ส.ล. กว้าง 4 เมตร ไปทางทิศใต้เลี้ยวขวาขึ้นสะพานเอราวัณ 3 เข้าสู่ถนนสีขาว ตรงไปเพื่อเข้าเส้นทางหลักถนนพหลโยธิน หรือตรงไปเข้าสู่ถนนคลองหลวง และเข้าเส้นทางหลักถนนพหลโยธิน เพื่อมุ่งเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และเนื่องจากการเดินทางสัญจรที่ค่อนข้างสะดวกสบายนี้ จึงทําให้ชุมชนมีการติดต่อกับตัวเมืองอยู่เป็นประจํา
ครอบครัวชาวไทยมุสลิมชุมชนลําสนุ่นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวขยาย ครอบครัวขยาย คือ ครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีคนหลายรุ่นอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน หรือมีหลายครัวเรือนอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีอยู่เป็นส่วนมากในชุมชน ส่วนครอบครัวเดี่ยว คือ ครอบครัวขนาดเล็ก มีเพียงพ่อ แม่ ลูก อาศัยอยู่ครัวเรือนเดียวกัน และแยกอยู่ตามลําพัง แต่ยังคงอาศัยอยู่ในละแวกกลุ่มเครือญาติเดียวกัน และมีระบบเครือญาติสืบเชื้อสายทางฝ่ายพ่อเป็นสําคัญ
ชุมชนลําสนุ่นมีสมาชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4-5 คนต่อครอบครัว ซึ่งผู้นําครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายชาย ทั้งด้านความคิดและการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายในครอบครัว ปัจจุบันความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวลำสนุ่นยังคงความเป็นอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ เมื่อสมาชิกในบ้านแต่งงาน จะยังคงอาศัยอยู่ร่วมกับบิดามารดา ครั้นจะแยกเป็นครอบครัวเดี่ยวก็ยังคงเลือกพื้นที่สร้างบ้านในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านบิดา มารดาของตน ส่วนผู้อาวุโสจะทําหน้าที่เป็นครูสอนอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับให้แก่ลูกหลานในบ้าน และลูกหลานบ้านใกล้เรือนเคียงที่สมัครใจเรียน นอกจากนี้ภายในชุมชนลําสนุ่นนอกจากจะมีชาวไทยมุสลิมแล้ว ยังแวดล้อมด้วยชาวไทยพุทธ ซึ่งแม้ว่าประชาชนชาวลำสนุ่นทั้งสองกลุ่มจะมีความแตกต่างกันทางด้านศาสนา ทว่า สามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ภายใต้การยอมรับซึ่งความแตกต่าง ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียม และหลักปฏิบัติของศาสนา
มลายูปัจจุบัน ชุมชนลำสนุ่นเป็นชุมชนย่านการค้าอุตสาหกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย และทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งภายในชุมชนลำสนุ่นมีกลุ่มองค์กรชุมชนมากมายที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ สุขภาพอนามัย ชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ มีทั้งกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ มีเจ้าหน้าที่อาสา และอาสาสมัครของแต่ละฝ่ายร่วมมือกันทำงาน ดังนี้
- กองทุนหมู่บ้านชุมชนเมืองบุญช่วย หมู่ที่ 13 : ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สมาชิก ส่งเสมริมการออมด้วยวิธีการถือหุ้น ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิก พัฒนาให้สมาชิกเป็นคนดีมีคุณธรรมและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อทุกคน
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อ.ส.ม.) : เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีจํานวนน้อย ไม่สามารถดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนลําสนุนได้อย่างทั่วถึง ชุมชนจึงจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อ.ส.ม.) ทั้งหมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เป็นผู้นําการดําเนินงานพัฒนาสุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน และเป็นตัวกลางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน มีหน้าที่แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บําบัดทุกข์ประชาชน ดํารงตนเป็นตัวอย่างที่ดี
- กลุ่มกรรมการชุมชนลำสนุ่น : จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 เดือนกันยายน พ.ศ. 2547 มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน บางครั้งทําหน้าที่เป็นตํารวจชุมชน บางครั้งทําหน้าที่เป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนทั้งเรื่องส่วนรวมและงานส่วนตัวตามที่เจ้าภาพร้องขอ
- กลุ่มผู้ชายสูงอายุ : มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มผู้ชายสูงอายุที่ว่างงานมาร่วมพบปะสังสรรค์ยามว่าง ด้วยการพักผ่อนอิริยาบถ และมีกิจกรรมเล่นหมากรุก เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 นาฬิกาของทุกวัน โดยสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้ชายอายุระหว่าง 40-80 ปี ประมาณ 20 คน
การดำเนินวิถีชีวิตตามหลักศาสนา
ศาสนาอิสลามได้บัญญัติแนวทางที่แน่นอนให้ชาวมุสลิมนําไปปฏิบัติตามในทุกย่างก้าวของชีวิต เป็นทางนําที่กว้างไกลและครอบคลุมทุกแง่มุมของชีวิต ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศีลธรรม และจิตวิญญาณ ศาสนาอิสลามมีองค์ประกอบที่สําคัญอย่างหนึ่ง คือ มุสลิมทุกคนทําหน้าที่เป็นตัวแทนใน การเผยแผ่ศาสนาโดยตรง และต้องมีความรู้ในศาสนาอิสลามอย่างน้อยที่สุดก็เพื่อจะปฏิบัติตน ในฐานะศาสนิกชนเช่นมุสลิมทุกคนต้องอ่านภาษาอาหรับให้ได้ หรือถ้าอ่านไม่ได้ก็ต้องท่องจําให้ได้ และไม่มีการกราบไหว้สิ่งใดนอกจากการบําเพ็ญนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า เมื่อศรัทธาจากหลักศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวลำสนุ่น ทําให้คณะกรรมการมัสยิดลําสนุ่นต้องมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องศาสนาอย่างสม่ำเสมอ และจากบทบัญญัติทางศาสนาที่ได้กําหนดให้ชาวไทยมุสลิมต้องละหมาดร่วมกันที่มัสยิดทุกวันศุกร์จาก หากผู้ใดละทิ้งการละหมาดในวันศุกร์ เกิน 3 ครั้ง ถือว่าเป็นการทําผิดหลักศาสนาร้ายแรงต่อพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น ผู้ชายไทยมุสลิมชุมชนลําสนุ่นจึงร่วมกันละหมาดทุกบ่ายวันศุกร์เป็นประจําด้วยความพร้อมเพรียง ส่วนผู้หญิงจะละหมาดที่บ้าน
สําหรับมัสยิดลําสนุ่นได้กําหนดการละหมาดในบ่ายวันศุกร์ เวลาประมาณ 12.30-13.30 นาฬิกา ก่อนเริ่มละหมาด อิหม่ามจะแจ้งข่าวสารกิจกรรมทางศาสนาและสาธารณประโยชน์ในชุมชน จากนั้นจึงเชิญคอเต็บ (ผู้แสดงธรรมประจํามัสยิด) ขึ้นมิมบัร (ธรรมาสน์) เพื่อกล่าวคุตบะฮฺ (แสดงธรรม) เป็นเวลา 30 นาที ด้วยภาษาอาหรับ เนื่องจากที่มัสยิดลําสนุ่นมีข้อบังคับว่าต้องใช้ภาษาอาหรับในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาโดยห้ามไม่ให้มีภาษาอื่นมาปะปน แล้วลงจากมิมบัรมาที่เมียะห์รอบ (ที่ยืนนําละหมาดของอิหม่าม) เพื่อนําการละหมาด
ก่อนละหมาด ผู้ละหมาดจะต้องอาบน้ำละหมาด คือ น้ำธรรมดาที่นํามาชําระบางส่วนของร่างกาย การอาบน้ำละหมาดเป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับของศาสนา ผู้ที่ชําระร่างกายถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นี้จะหมดสิ้นไปต่อเมื่อถ่ายปัสสาวะ ถ่ายอุจจาระ ผายลม นอนหลับ ถูกแตะต้อง หรือแตะต้องร่างกายของบุคคลต่างเพศ ยกเว้นเฉพาะบุคคลต่างเพศที่แต่งงานกับตนไม่ได้ คือ พ่อ แม่ พี่ น้อง และบุตร
การแต่งกายสําหรับละหมาด ปกติผู้ชายจะต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด เรียบร้อย เป็นรูปแบบที่อนุญาตในกรณีทั่วไปว่าอย่างน้อยต้องปิดระหว่างสะดือถึงหัวเข่า แต่เวลาละหมาดผ้าผู้ชายจะยาวถึงข้อเท้า ส่วนผู้หญิงจะต้องปิดมิดชิด จะเปิดได้เฉพาะใบหน้าและฝ่ามือเท่านั้น
ศาสนาเป็นศรัทธาอรูปธรรมที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมชุมชนลําสนุ่นอย่างมาก ทั้งยังมีส่วนเกื้อกูลให้คนในชุมชนเชื่อมั่นและปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระอัลเลาะห์ในหลักศรัทธา 6 ประการ หลักปฏิบัติ 5 ประการ และหลักปฏิบัติเกี่ยวกับกิจกรรมประจําวันด้วยการระลึกถึงพระอัลเลาะห์ เพราะตามคติของชาวมุสลิมแล้ว เชื่อมั่นว่าพระอัลเลาะห์เป็นผู้สร้างชีวิตและให้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกมนุษย์ตามที่ตนต้องการ หากมุสลิมมีความศรัทธาเชื่อมั่นในพระองค์ และพึงปฏิบัติตนดีงามตามที่พระองค์ทรงบัญญัติ พระองค์ก็จะทรงเมตตา ประทานความสุขสมหวังให้แก่ตน
การแต่งกาย
ปัจจุบันการแต่งกายของชาวไทยมุสลิมในชุมชนลําสนุ่น ผู้สูงอายุทั้งบุรุษและสตรียังคงแต่งกายตามหลักศาสนา โดยสตรีแต่งกายมิดชิด นิยมนุ่งโสร่งกรอมเท้า สวมเสื้อแขนยาวหลวม ๆ เมื่อออกจากบ้านจะคลุมศีรษะด้วยผ้ายาวประมาณ 1.5 หลา สําหรับบุรุษจะนุ่งโสร่งหรือสวมกางเกงสากลตามสมัยนิยม และเมื่อออกจากบ้านจะสวมเสื้อแขนยาวพร้อมสวมหมวก สําหรับวัยรุ่นทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะแต่งกายตามสมัยนิยมของสังคมไทย หากแต่เมื่อไปร่วมงานพิธีกรรมทางศาสนา ทุกคนจะแต่งกายตามหลักศาสนากำหนด
1. สมหมาย โสนามิตร ชาวไทยมุสลิมชุมชนลำสนุ่น อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองท่าโขลง
นายสมหมาย โสนามิตร ชาวไทยมุสลิมชุมชนลำสนุ่น บุคคลสำคัญผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานของเทศบาลเมืองท่าโขลง เดิมทีเคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ก่อนลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองท่าโขลง สังกัดกลุ่มพัฒนาท่าโขลงเมื่อปี พ.ศ. 2540 และต่อมาได้รับตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเมืองท่าโขลง วาระปี พ.ศ. 2544-2548
ตั้งแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน กระทั่งมีโอกาสได้รับตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเมืองท่าโขลง นายสมหมาย โสนามิตร ได้มีบทบาทและสร้างผลงานในการพัฒนาชุมชนลำสนุ่นมากมาย และได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมแหนบทองคำ จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2535 โดยผลงานการพัฒนาชุมชนของนายสมหมาย โสนามิตร สามารถสรุปได้ ดังนี้
- เป็นผู้ริเริ่มนำน้ำประปาเข้ามาในชุมชนลำสนาน โดยกที่ดินส่วนตัว 30 ตารางวา ให้สุขาภิบาลคลองหลวง เพื่อดำเนินการระบบน้ำประปาในชุมชน
- สนับสนุนงานสาธารณสุข โดยริเริ่มก่อสร้างสถานีอนามัยคลองสอง หมู่ 13
- สนับสนุนโครงการงานประเพณีชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม
- ริเริ่มโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนเลียบคลองสองฝั่งตะวันออก โดยปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผลตลอดริมสองฝั่งคลอง จนได้รับพระราชทานรางวัลการปฏิบัติงานดีเด่น ด้านการพัฒนาชุมชนและภูมิทัศน์
- เป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างถนน ค.ส.ล. ในชุมชน
- จัดตั้งหมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติดในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง จนได้รับรางวัลชุมชนลำสนุ่นดีเด่น
- สร้างอ่างเก็บน้ำหน้ามัสยิดลำสนุ่น พร้อมเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
- ฟื้นฟูส่งเสริมอาชีพการทำขนมไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนรุ่นเก่า โดยผลักดันให้ขนมไทยจากฝีมือชาวลำสนุ่นกลายเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน
2. รัศมี ดำชะไว อิหม่ามและประธานกรรมการมัสยิดลำสนุ่น
อิหม่ามรัศมี ดำชะไว ผู้นำทางศาสนาอิสลามประจำมัสยิดลำสนุ่น มีหน้าที่ปกครอง ดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชน และทำหน้าที่อบรมสั่งสอนลูกหลานชาวลำสนุ่นเพื่อให้มีชีวิตที่ดีทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า
อิหม่ามรัศมี ดําชะไว เป็นชาวไทยมุสลิมที่เชื่อมั่นและเคร่งครัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และเป็นที่รักเคารพของคนในชุมชน ปัจจุบันดํารงตําแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดปทุมธานี รองประธานกรรมการฝ่ายบริหารคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อิหม่ามรัศมี ดําชะไว มีปณิธานในการบริหารชุมชนลําสนุ่นด้วยหวังให้ทุกคนมีความรักความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งแยกศาสนา ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งยังสนับสนุนให้ทุกคนในชุมชนมีงานทําตามความสามารถ และร่วมกันต่อต้านยาเสพติดทั้งในชุมชนและนอกชุมชน อันส่งผลให้ประชาชนชุมชนลําสนุ่นมีความรัก ความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรักในถิ่นฐานบ้านเกิด
การแข่งขันเรือ 7 ฝีพาย สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น มัสยิดลำสนุ่น
การแข่งขันเรือ 7 ฝีพาย บริเวณคลองสอง หน้ามัสยิดอาลีย์ยิสซากีรอยน์ลำสนุ่น เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการมัสยิดลำสนุ่น กลุ่มท่าโขลงก้าวหน้า โรงเรียนลำสนุ่น วัดทวีการะอนันต์ ชุมชนชาวท่าโขลง และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสี่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม และรักษาประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน ทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิม ทั้งต้องการสนับสนุนให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเพื่อสืบสานประเพณีการแข่งเรือพายให้คงอยู่อย่างยั่งยืน (ที่มา: พนอ ชมภูศรี, 2561: ออนไลน์)
ชาวบ้านชุมชนลำสนุ่นใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจําวัน มีคําภาษามลายูท้องถิ่นปนบ้าง เนื่องจากบรรพบุรุษเดิมส่วนหนึ่งได้เดินทางมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาพูดในขณะนั้น คำภาษามลายูที่ยังปรากฏใช้ในชุมชนลำสนุ่นส่วนใหญ่เป็นคําเฉพาะที่ใช้เรียก บุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ เรียกว่า เป๊าะ หรือป๊ะ แม่ เรียกว่า เมาะ หรือต๊ะ ผู้สูงอายุผู้ชาย เรียกว่า กี ผู้สูงอายุผู้หญิง เรียกว่า โต๊ะ พี่ชาย เรียกว่า บัง พี่สาว เรียกว่า นิ น้องชาย น้องสาว เรียกว่า เด๊ะ เป็นต้น สําหรับภาษาอาหรับนั้นใช้ในการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและประกอบศาสนกิจ ซึ่งมุสลิมทุกคนจําเป็นต้องอ่านภาษาอาหรับ ถ้าอ่านไม่ได้ก็ต้องท่องจําให้ได้ โดยในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานมีรายละเอียดที่ควรศึกษา เช่น เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า นรก สวรรค์ กฎหมาย วิทยาศาสตร์ ศาสนกิจทางศาสนา มารยาทต่าง ๆ ฯลฯ รวมถึงบทฝึกหัดพูดภาษาอาหรับประโยคง่าย ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เช่น ข้อความเกี่ยวกับการทําหนังสือเดินทาง การทักทาย การสอบถามข้อมูล เป็นต้น
ชาวไทยมุสลิมชุมชนลำสนุ่นหมู่ที่ 12 และ 13 แบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบเทศบาลเมืองท่าโขลง และรูปแบบการบริหารมัสยิดลำสนุ่น ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- รูปแบบเทศบาลเมืองท่าโขลง การปกครองแบบเทศบาลเมืองท่าโขลงของชุมชนลำสนุ่นจะมีนายกเทศมนตรีเมืองท่าโขลง เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และดูแลรับผิดชอบให้ประชาชนอยู่กันอย่างสงบเรียบร้อย รูปแบบดังกล่าว ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง โดยมีวาระดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี
- รูปแบบการบริหารมัสยิดลำสนุ่น การปกครองแบบการบริหารมัสยิดลำสนุ่น บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการมัสยิด มีอิหม่ามรัศมี ดำชะไว เป็นประธานกรรมการมัสยิด
เนื่องจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนลำสนุ่นที่ได้ร่วมมือกันในการจัดการส่งเสริมรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชนให้คงภูมิทัศน์ที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชนแล้ว ยังช่วยให้ชาวบ้านในชุมชนมีความรู้สึกดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้ชุมชนลำสนุ่นได้รับรางวัลพระราชทานการปฏิบัติงานดีเด่นด้านการพัฒนาชุมชนและภูมิทัศน์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. 2542 ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวบ้านในชุมชนลำสนุ่นเป็นอย่างมาก เป็นที่มาของการตั้งปณิธานของชาวชุมชนลำสนุ่นว่าจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพดีอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบสืบไป
ปาณฑรา มีนะกนิษฐ. (2551). ชาวไทยมุสลิม: วิถีชีวิตและโลกทัศน์การพัฒนาคุณภาพชีวิต กรณีศึกษาชุมชนลำสนุ่น ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชนบทศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.
พนอ ชมภูศรี. (2561). ชาวมุสลิม จัดแข่งขันเรือ 7 ฝีพาย ประจำปีสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ณ มัสยิดลำสนุ่น. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.77kaoded.com/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/