Advance search

ชาวบ้านดอนทรายได้มีความพยายามที่จะพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนที่หยุดชะงักเพราะความล้มเหลวจากการเลี้ยงกบ สู่การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คืนชีวีบ่อเลี้ยงกบเป็นบ่อเลี้ยงปลาสวยงามจนประสบความสำเร็จเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ประจำตำบลดอนทราย นอกจากนี้บ้านดอนทรายยังเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำนมดิบส่งขายแก่สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี ที่มีการแปรรูปน้ำนมดิบเป็นสินค้าเลื่องชื่อภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ หนองโพ

หมู่ที่ 5
ดอนทราย
ดอนทราย
โพธาราม
ราชบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
13 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
บ้านดอนทราย


ชาวบ้านดอนทรายได้มีความพยายามที่จะพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนที่หยุดชะงักเพราะความล้มเหลวจากการเลี้ยงกบ สู่การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คืนชีวีบ่อเลี้ยงกบเป็นบ่อเลี้ยงปลาสวยงามจนประสบความสำเร็จเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ประจำตำบลดอนทราย นอกจากนี้บ้านดอนทรายยังเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำนมดิบส่งขายแก่สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี ที่มีการแปรรูปน้ำนมดิบเป็นสินค้าเลื่องชื่อภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ หนองโพ

ดอนทราย
หมู่ที่ 5
ดอนทราย
โพธาราม
ราชบุรี
70120
13.63248478
99.85213861
เทศบาลตำบลดอนทราย

ในอดีตบริเวณนี้มีคลองสายสำคัญ ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในการคมนาคมขนส่งสินค้า เป็นเมืองท่าแลกเปลี่ยนสินค้า และแหล่งทำมาหากินอันอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นที่พักอาศัยในยามค่ำคืนของผู้ที่สัญจรไปมา ต่อมาดอนทรายแห่งนี้ได้ขยายอาณาเขตกว้างออกไป และมีผู้คนสัญจรเข้ามาพักอาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา และได้พูดกันติดปากว่า “ดอนทราย” โดยในบ้านดอนทราย หมู่ 5 มีวัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะภาษาพูดที่คล้ายกับภาษาลาวเวียง หรือลาวตี้ อันเป็นอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงที่มาและชาติพันธุ์ของคนบ้านดอนทราย ซึ่งในจังหวัดราชบุรีมีชาวลาวที่อพยพและมาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ด้วยกันสองกลุ่ม คือ ชาวลาวโซ่ง และลาวตี้ (ลาวเวียง) โดยชาวลาวเวียงหรือลาวตี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์ราชบุรี ได้ถูกกวาดต้อนมาจากนครเวียงจันทน์ในช่วงรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ โดยถูกกวาดต้อนและมาตั้งรกรากอาศัยอยู่ในเขตอําเภอโพธาราม และอําเภอจอมบึง รวมทั้งบ้านดอนทรายด้วย ทําให้สามารถสันนิษฐานว่าการอพยพมาตั้งรกรากของคนบ้านดอนทรายน่าจะเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาแล้ว 

บ้านดอนทราย หมู่ที่ 5 ตําบลดอนทราย อําเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ห่างจากตัวอําเภอโพธาราม ประมาณ 8 กิโลเมตร โดยมีถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นถนนหลักไปทางภาคใต้ของประเทศไทยตัดผ่านทางด้านทิศเหนือไปทางทิศใต้ และมีคลองชลประทานมาจากตําบลบ้านสิงห์ ภายในตําบลมีขนาดพื้นที่โดยประมาณ 8,062.50 ไร่ หรือประมาณ 12.90 ตารางกิโลเมตร ซึ่งบ้านดอนทราย หมู่ 5 มีขนาดพื้นที่โดยประมาณ 1,381 ไร่ โดยคิดเป็น 14% จากพื้นที่ทั้งหมดในตําบลดอนทราย

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านเหนือ หมู่ 9 ตําบลดอนทราย
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านวังลึก หมู่ 8 ตำบลดอนทราย
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านท่ามะขาม หมู่ 4 ตําบลดอนทราย
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านน้อย หมู่ 3 ตําบลดอนทราย

ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีคลองชลประทาน ที่เชื่อมต่อมาจากตําบลบ้านสิงห์ อําเภอ โพธาราม และมีถนนเพชรเกษมสายใหม่ตัดผ่านทางด้านทิศเหนือไปทางทิศใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ใช้ทําการเกษตรถึง 1,030 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 40 ไร่ ที่อยู่อาศัย 167 ไร่ ปศุสัตว์ 20 ไร่ ประมง 60 ไร่ และแหล่งน้ำ 100 ไร่

การคมนาคม การเดินทางสู่หมู่บ้านดอนทรายนั้นสามารถเดินทางได้ 4 เส้นทาง ดังนี้

  • เส้นทางกรุงเทพฯ-ราชบุรี ด้วยรถประจําทางปรับอากาศชั้น 1 สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุก ๆ 20 นาที วิ่งมาตามถนนเพชรเกษมสายใหม่ เมื่อรถวิ่งผ่านสี่แยกบางแพแล้ว ประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงทางเข้าวัดดอนทราย

  • เส้นทางอําเภอดําเนินสะดวก-ราชบุรี จะมีรถสองแถวประจําทางสีเหลืองวิ่งให้บริการในช่วงกลางวัน จากอําเภอดําเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี สิ้นสุดที่ตัวเมืองราชบุรี เมื่อถึงแยกบางแพ รถสองแถวจะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงทางเข้าวัดดอนทราย ตรงข้ามกับโรงงานอุตสาหกรรมมั่นยิ่ง

  • เส้นทางกาญจนบุรี-ราชบุรี จะมีรถประจําทางไม่ปรับอากาศสีเหลืองออกวิ่งบริการในช่วงกลางวัน จากตัวเมืองกาญจนบุรี สิ้นสุดที่ตัวเมืองราชบุรี เมื่อผ่านแยกบางแพ รถจะวิ่งตรงมาประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงซอยเข้าวัดดอนทราย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงงานอุตสาหกรรมมั่นยิ่ง

  • เส้นทางรถไฟ จะมีรถไฟออกจากสถานีหัวลําโพงและสถานีบางกอกน้อย กรุงเทพฯ วิ่งบริการตามเส้นทางรถไฟสายใต้สู่จังหวัดราชบุรีทุกวัน สามารถลงที่สถานีรถไฟเจ็ดเสมียน (สถานีที่ใกล้มากที่สุด) แล้วใช้บริการคิวรถมอเตอร์ไซค์ไปที่บ้านดอนทรายได้

สถิติจำนวนประชากรเทศบาลตำบลดอนทราย ข้อมูงเมื่อปี 2564 ระบุจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านดอนทราย จำนวนทั้งสิ้น 304 ครัวเรือน 760 คน แยกเป็นประชากรชาย 368 คน และประชากรหญิง 392 คน ประชากรในชุมชนมีทั้งชาวลาว (ลาวตี้หรือลาวเวียง) ชาวจีน และชาวไทยพื้นถิ่นเดิม

บ้านดอนทรายมีการจัดระเบียบครอบครัว ทั้งลักษณะครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะครอบครัวขยาย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก คือ พ่อ แม่ และลูก ๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน ต่อมาเมื่อลูกถึงวัยที่ต้องแต่งงานมีคู่ครอง ก็จะนําคู่ครองเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันในครอบครัวกับพ่อแม่ของตน โดยมิได้แยกครอบครัวออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ต่างหาก หรือหากแยกครอบครัวก็จะยังคงปลูกบ้านไว้ใกล้ ๆ กับบ้านของพ่อแม่ในลักษณะของครอบครัวขยาย ในกรณีที่ครอบครัวมีลูกหลายคน เมื่อลูกแยกครอบครัวออกไปลูกคนถัดมาหรือลูกคนสุดท้องจะต้องพาคู่ครองเข้ามาอยู่ร่วมกันกับครอบครัวของพ่อแม่ หรืออาจขึ้นอยู่กับมรดกทรัพย์สินด้วย คือ เมื่อลูกคนที่แยกครอบครัวออกไปก็จะได้ทรัพย์สินในส่วนอื่น ส่วนลูกคนที่พาคู่ครองมาอยู่รวมกับพ่อแม่ก็จะได้รับสิทธิ์มรดกที่ดินที่อยู่อาศัยของครอบครัวเดิม แต่ความสัมพันธ์โดยรวมก็ยังไปมาหาสู่ มีความใกล้ชิด เอื้ออาทรและมีปฏิสัมพันธ์อันดีอยู่เสมอ

การเลือกคู่ครอง ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวและชายหนุ่มตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมและประเพณีไทย การพบปะกันระหว่างหนุ่มสาวส่วนใหญ่จึงพบปะกันในเทศกาล งานบุญ งานประเพณีต่าง ๆ ภายในชุมชน การเลือกคู่ครองก็ดูตามความเหมาะสมและเห็นดีเห็นงามของทางครอบครัวทั้งสองฝ่ายด้วย ในอดีตชาวบ้านดอนทรายส่วนใหญ่จึงเลือกคู่ครองและแต่งงานกับคนที่อยู่ภายในชุมชนหรือละแวกใกล้เคียง ซึ่งสังเกตได้จากระบบเครือญาติที่เกี่ยวดองกันจํานวนมากภายในหมู่บ้านดอนทรายและในหมู่บ้านใกล้เคียง ส่วนในปัจจุบันมีวิวัฒนาการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การไปมาหาสู่ระหว่างชายหญิง อีกทั้งการเลือกคู่ครองทางครอบครัวจะให้อิสระระหว่างหนุ่มสาวเป็นฝ่ายตัดสินใจ และเนื่องมาจากรูปแบบการดําเนินชีวิต การติดต่อสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ ทําให้การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวง่ายยิ่งขึ้น การเลือกคู่ครองและแต่งงานของคนบ้านดอนทรายในปัจจุบันจึงมีคู่ครองที่มาจากต่างถิ่น และส่งผลถึงแนวโน้มในการโยกย้ายถิ่นฐานตามคู่ครองเพิ่มมากขึ้น

ในเรื่องของการแบ่งมรดก เมื่อลูกมีครอบครัวหรือแยกครอบครัวออกไปทํามาหากิน พ่อแม่ ก็จะมีการแบ่งมรดกให้กับลูก ๆ โดยมรดกส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินทํากิน ที่สวน ที่นา การแบ่งมรดกจะแบ่งให้เท่า ๆ กันหรืออาจแบ่งตามในกรณีที่ลูกคนที่ใช้ประโยชน์ในการทํามาหากินจากที่ดินผืนนั้น ก็จะยกให้ หรือลูกคนที่เลี้ยงดูพ่อแม่ก็จะยกที่ดินส่วนที่เป็นบ้านของพ่อแม่ให้

จีน, ไทดำ, ลาวเวียง

การประกอบอาชีพ

สภาพเศรษฐกิจทั่วไปของหมู่บ้านดอนทรายส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลผลิตในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม อาชีพที่ทํากันมากที่สุดคือ การรับจ้าง มีแรงงานรับจ้างปอกหอมกันอยู่จํานวนมาก และมีโรงงานอุตสาหกรรมมั่นยิ่ง โรงงานกังวาล (อุตสาหกรรมทอผ้า) และโรงงาน PPK (อุตสาหกรรมเหล็กดัด) ตั้งอยู่ในเขตของตําบลดอนทราย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่รองรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโรงงานของตําบลดอนทรายอยู่จํานวนมาก รองลงมาคือ อาชีพเกษตรกรรม ซึ่งในหมู่บ้านดอนทรายจะทําอาชีพเกษตรกรรมในลักษณะเกษตรแบบปศุสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงโคนม โคเนื้อ การเลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ชน และยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาคราชการในการเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งถือเป็นสินค้า 1 ตําบล 1 ผลิตภัณฑ์ ของตําบลดอนทรายอีกด้วย

ในอดีตผู้คนส่วนใหญ่จะยึดอาชีพในการทํานา พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะเป็นที่นาเกือบทั้งหมด แต่ได้รับผลกระทบและผลพวงมาจากการสร้างเขื่อน ซึ่งเดิมทีแล้วในตําบลดอนทรายนั้นมีคลองที่เรียกว่า คลองหนองบาง ที่เชื่อมต่อกับคลองวังลึก ซึ่งเป็นคลองที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่ทํามาค้าขาย และสัญจรทางลําคลองของผู้คนจํานวนมาก มีระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ มีเรือมาค้าขายและขนส่งยังตัวเมืองราชบุรี มีปลาอาศัยอยู่จํานวนมาก จึงเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำปลาในเวลาต่อมา ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งรับซื้อปลาจากชาวบ้านเพื่อนำไปผลิตน้ำปลาเพื่อส่งขายและนำกลับมาใช้ในครัวเรือนของชาวบ้าน แต่นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเก็บกักน้ำนําไปผลิตกระแสไฟฟ้า ทําให้ระดับน้ำในแม่น้ำแม่กลองลดลง อันเนื่องมาจากเส้นทางน้ำที่จะมาถึงคลองหนองบางงู ตําบลดอนทราย จะผ่านทางตัวอําเภอโพธาราม ตําบลเจ็ดเสมียน ซึ่งเป็นแหล่งของโรงงานอุตสาหกรรมเลี้ยงหมู โรงงานสับปะรด โรงงานทําขนมจีน ฯลฯ ซึ่งจะระบายของเสียลงสู่ลําคลอง คลองน้ำกลายเป็นบ่อปฏิกูลของเสียที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อไม่มีช่องทางน้ำผ่านเพื่อระบายน้ำเสีย จึงทําให้คลองเน่าเสีย สูญเสียระบบนิเวศวิทยาและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่เคยมีมา ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านจากเดิมที่เคยทําโรงงานผลิตน้ำปลา และทําการค้าขาย การสัญจรในทางน้ำก็สูญหายและล้มเลิกไป ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตจากที่เคยสร้างบ้านเรือนหันหน้าบ้านไปทางคลองก็เปลี่ยนมาสร้างบ้านหันหน้าบ้านมาทางถนน และทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลําคลอง โดยสภาพคลองหนองบางงูและคลองวังลึก ในปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถนําไปใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ จึงกระทบต่ออาชีพการทํานาข้าวของชาวบ้าน กอปรกับในเวลาต่อม่การทำเลี้ยงกุ้งเข้ามามีบทบาทต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านดอนทราย กลายเป็นอาชีพยอดนิยมอาชีพใหม่ซึ่งสามารถสร้างรายได้จำนวนมาก ทว่า การเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพที่ต้องควบคุมดูแลคุณภาพของน้ำให้ดีอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีการถ่ายเทน้ำเสียจากบ่อกุ้งซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำเค็มลงสู่ที่นา น้ำเค็มจากบ่อกุ้งเข้าไปทำลายผลผลิตและที่นาจนเป็นสาเหตุหนึ่งให้ชาวบ้านไม่สามารถทํานาได้

ในปัจจุบันชาวบ้านดอนทราย เริ่มหันมายึดอาชีพรับจ้างและทําการเกษตรในรูปแบบอื่น ๆ โดยยึดตามรายได้และสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก เมื่อทําอาชีพเลี้ยงวัวแล้วมีรายได้ดี หรือเลี้ยงปลาสวยงามแล้วรายได้ดี ก็จะยึดอาชีพนั้นตามกันมา จนทําให้เกิดอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นภายในชุมชนดอนทราย ในขณะที่ที่นาตกทอดถูกขายต่อให้นายทุน และเกิดแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย ปัจจุบันจึงไม่ค่อยมีการทํานากันมากในหมู่บ้านดอนทราย อาชีพที่โดดเด่นในบ้านดอนทรายมีดังนี้

  • การปลูกผัก เป็นเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งที่เข้ามาทดแทนการทํานา การปลูกผักในบ้านดอนทรายส่วนใหญ่จะทําการเพาะปลูกอยู่ในที่ดินส่วนตัว เป็นเกษตรกรรมในครัวเรือน โดยมีคนกลางซึ่งเป็นคนภายในชุมชนคอยรับไปส่งขายในตลาดตัวเมืองราชบุรี แต่เนื่องจากผลผลิตของการปลูกผักจะให้ผลผลิตในระยะเวลา 2 - 3 เดือน รายได้ของการปลูกผักจึงเป็นรายได้เสริม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะทําเป็นอาชีพเสริมรอง โดยจะมีอาชีพอื่น ๆ ที่ทําเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว

  • การเลี้ยงโคนม เป็นอาชีพหนึ่งที่นิยมทํากันมากในตําบลดอนทราย เช่นเดียวกับบ้านดอนทราย เนื่องจากมีกลุ่มสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์โคนมที่ส่งขายทั้งภายในประเทศและประเทศใกล้เคียง ทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อนมวัวจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบ้านดอนทรายและอำเภอโพธาราม ตลอดจนฟาร์โคนมทั่วประเทศไทย ทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมมีความมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ได้มาจะไม่สูญเปล่า ทำให้ภายในบ้านดอนทรายมีผู้เลี้ยงโคนมจำนวนมาก กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมในบ้านดอนทราย โดยเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมและคอยส่งน้ำนมดิบให้กับสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี โดยสมาชิกจะได้รับเงินปันผลแต่ละปี คิดตามปริมาณการส่งน้ำนมดิบ การเลี้ยงโคนมภายในบ้านดอนทราย มีตั้งแต่เลี้ยงในโรงขนาดเล็กจนถึงโรงขนาดใหญ่ที่มีวัวประมาณ 40 ตัว โดยวัวแต่ละตัวจะต้องขึ้นทะเบียนไว้กับกรมปศุสัตว์เพื่อควบคุมในเรื่องของการขนย้ายและการควบคุมโรค ทางปศุสัตว์จะเข้ามาควบคุมและฉีดวัคซีนป้องกันโรคปีละครั้ง สำหรับน้ำนมดิบที่ส่งขายให้แก่กลุ่มสหกรณ์หนองโพฯ สามารถสร้างรายได้กิโลกรัมละ 11 บาท การให้อาหารจะมีทั้งอาหารแบบข้นและแบบหยาบ โดยช่วงอายุไม่เกิน 2 เดือนจะให้กินอาหารข้นหรืออาหารอัดเม็ด ในช่วงโตจะให้อาหารหยาบเป็นเปลือกข้าวโพดหมัก โดยทั่วไปจะให้อาหารวันละ 2 ครั้ง หรือวัน ละ 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยง โดยอยู่ในสัดส่วนปริมาณเท่ากัน

  • การเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นธุรกิจภายในครัวเรือนอย่างหนึ่ง โดยมากจะเลี้ยงอยู่ในบริเวณบ้านหรือเป็นสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี รับแสงแดดพอสมควร และมีระบบระบายน้ำที่ดีไม่ท่วมขังเฉอะแฉะ การเลี้ยงปลาสวยงามสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและบ่อปูน ในบ้านดอนทรายส่วนใหญ่จะเลี้ยงในบ่อปูนรวม ทําด้วยการก่ออิฐบล็อกเป็นแนวยาว แบ่งออกเป็นบ่อเล็ก ๆ มีขนาดเท่ากัน ผู้เลี้ยงจะทําการคัดและขยายพันธุ์กันเอง และเลี้ยงโดยคัดขนาดและเกรดของปลาเลี้ยงไว้ในบ่อเดียวกัน การให้อาหารจะให้เป็นไรน้ำหรือไข่นึ่ง ปลาที่นิยมเลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นปลาทอง เช่น ปลาทองออแลนดายักษ์ ปลาทองหัวสิงห์ ฯลฯ มีผู้มารับซื้อถึงที่และนําไปส่งขายที่ตลาดหนองโพและตลาดปลาบ้านโป่ง ราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดและความสวยงามของปลา ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต่อรองราคากันเอง โดยบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อเดือน

  • การตีมีด ภายในหมู่บ้านดอนทรายมีเพียงครอบครัวเดียวที่ยังคงอาชีพตีมีดอยู่ โดยครอบครัวดังกล่าวถือเป็นช่างตีมีดเจ้าแรกของตําบลดอนทราย โดยจะรับตีมีดและเคียวซึ่งมีผู้มารับซื้อจากหลายแห่ง เช่น จากจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และภายในจังหวัดราชบุรี เช่น อําเภอจอมบึง อําเภอบ้านโป่ง และส่งขายในตลาดตัวเมืองราชบุรี ฯลฯ ปกติแล้วในการตีมีดมักจะใช้เหล็กอ่อนนํามาหลอมรวมกับเหล็กแข็ง เนื่องจากตีขึ้นทรงได้ง่าย แต่เมื่อหมดคมแล้วจะนํามาซ่อมแซมใหม่ไม่ได้ ทว่า มีดที่ผลิตโดยช่างตีมีดบ้านดอนทรายจะใช้วัสดุเป็นเหล็กแข็งหรือเรียกว่า “เหล็กนอก” ซึ่งเมื่อหมดคมแล้ว สามารถนํามาลับคมและซ่อมแซมใหม่ได้ แต่ก็ย่อมต้องใช้ความอดทน ความละเอียด และความชํานาญในกรรมวิธีการตีอย่างสูง เคียวและมีดที่มาจากบ้านดอนทรายจะสลักลาย “ป” ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงตัวตนว่ามีดและเคียวนี้มาจากตําบลดอนทราย

กลุ่มองค์กรชุมชน

  • กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาหมู่บ้าน เกิดขึ้นเนื่องจากกรมพัฒนาชุมชนมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนากลุ่มสตรีในหมู่บ้าน เพื่อให้มีการรวมกลุ่มฝึกอบรม เรียนรู้พัฒนาทักษะอาชีพ และเพื่อให้กลุ่มสตรีมีบทบาทภายในชุมชนเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมของกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาดูงานด้านอาชีพ แลกเปลี่ยนและเรียนรู้เพื่อนําความรู้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชน โดยสมาชิกกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาหมู่บ้านต้องเสียค่าสมาชิกต่อปีคนละ 120 บาท แลกกับการได้รับสวัสดิการการประกันชีวิตคือ เมื่อสมาชิกเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 15,000 บาท
  • กลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงาม มีความเป็นมาจากความคิดริเริ่มของกรมพัฒนาชุมชนที่จะพัฒนาอาชีพให้กับตําบลดอน ทราย โดยการจัดอบรมดูงานและสนับสนุนให้เกิดอาชีพการเลี้ยงกบขึ้นในตําบลดอนทราย แต่ต่อมาอาชีพเลี้ยงกบไม่ประสบผลสําเร็จเท่าที่ควรจึงล้มเลิกไป ซึ่งกรมพัฒนาชุมชนก็ไม่ได้เข้ามากํากับดูแลแต่อย่างใด และเนื่องจากชาวบ้านได้ลงทุนลงแรงในธุรกิจการเลี้ยงกบไปมาก หากจะปล่อยให้ล้มเลิกไปก็จะถือเป็นการสูญเสียเงินทุนและทรัพยากรโดยเสียเปล่า จึงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสโดยการใช้สถานที่เดิมที่ใช้เลี้ยงกบมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาสวยงามแทน เกิดเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงามโดยมีผู้ใหญ่ทวี แสงเจริญ เป็นประธานกลุ่ม มีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อสร้างอํานาจต่อรองในการกําหนดราคาซื้อขายไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มคนกลาง และได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ธกส. และจากทาง อบต. ให้เป็นสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วย

ชาวบ้านบ้านดอนทรายมีการนับถือศาสนาพุทธแทบทั้งหมด มีศูนย์รวมจิตใจที่สําคัญคือ วัดดอนทราย เป็นสถานที่ประกอบงานบุญ งานประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา เช่น งานสลากภัต งานวันออกพรรษา วันพระวันศีล ซึ่งจะมีชาวบ้านไปร่วมทําบุญเป็นจํานวนมาก

นอกจากวัดดอนทรายแล้ว ชาวบ้านในหมู่บ้านดอนทรายยังมีศาลเจ้าที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธากันอย่างมาก คือ “ศาลเจ้าแม่ตะเคียน” โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษา คุ้มครอง และบันดาลโชคลาภแก่ชาวบ้าน มีการเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับการประทานโชคลาภของศาลเจ้าแม่ตะเคียนว่า ก่อนหน้าที่จะมีการตั้งศาลเจ้านั้น เดิมที่มีต้นตะเคียนที่อยู่ภายในบริเวณวัดดอนทรายอยู่ 3 ต้น ซึ่งมีอายุยาวนาน ต่อมาถูกโค่นลง โดยมัคทายกวัด ซึ่งต้องมีอันเป็นไปในเวลาต่อมา จนเหลืออยู่เพียงต้นเดียว โดยตะเคียนต้นดังกล่าวมีรูปร่างลักษณะของโคนต้นแปลกประหลาดคือ บริเวณโคนต้น มีลักษณะนูนและพองออกมา ชาวบ้านมีความเชื่อว่าต้นไม้กําลังตั้งท้องอยู่ เป็นที่สะดุดตาต่อคนที่มาพบเห็น ในปี พ.ศ. 2539 มีผู้มีจิตศรัทธาและ มาร่วมทําบุญที่วัดดอนทรายเมื่อพบเห็นลักษณะของต้นตะเคียนดังกล่าว ก็เกิดความประหลาดใจประกอบกับความเชื่อว่ามีผู้ปกปักคุ้มครองต้นไม้อยู่ ด้วยความศรัทธาดังกล่าวจึงไปขอพรและบนบานเอาไว้ เมื่อเกิดโชคลาภดังปรารถนาจึงมาตั้งศาลเจ้าแม่ตะเคียน อันเป็นสิ่งศรัทธาด้านโชคลาภแก่ชาวบ้านสืบมา

วัฒนธรรมประเพณี

  • ประเพณีสารทลาว ประเพณีสารทลาวเหมือนประเพณีสารทโดยทั่วไป แต่จะมีลักษณะเด่นคือ เทศน์เป็นภาษาลาว ในวันนี้จะมีการทําบุญถวายกระยาสารทแล้วนําไปโปรยในนาข้าวเพื่อเป็นการบํารุงแม่โพสพในช่วงข้าวตั้งท้องหรือข้าวกําลังออกรวง ซึ่งการทํากระยาสารทต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกันทํา แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของคนภายในชุมชนและความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตคนไทยกับการทํานา

  • ประเพณีสลากภัต ประเพณีสลากภัต นิยมทําในฤดูกาลที่มีพืชผลอุดมสมบูรณ์ ระหว่างเดือน 6 จนถึงเดือน 8 เมื่อทางวัดจะจัดให้มีการถวายสลากภัต มัคทายกจะเป็นผู้กําหนดวันและจัดหาเจ้าภาพโดยการทําใบปิดไปปิดไว้ หรือประกาศหาเจ้าภาพร่วมในช่วงวันพระที่มีคนมาทําบุญ ผู้ใดต้องการเป็นเจ้าภาพก็แจ้งชื่อไว้ เมื่อถึงวันกําหนด ผู้เป็นเจ้าภาพก็จะมีการเตรียมสํารับกับข้าวและเครื่องไทยทานตามกําลังศรัทธา นํามารวมกันไว้ในบริเวณวัด จาก นั้นมัคทายกก็จะนําหมายเลขมาติดที่สํารับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละราย แล้วเขียนหมายเลขให้พระสงฆ์จับ หากจับได้หมายเลขของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสํารับกับข้าวที่เจ้าภาพหมายเลขนั้นนํามา ก่อนที่จะมีการจับสลากก็จะมีการฟังเทศน์ 1 กัณฑ์ ต่อจากนั้นก็จะมีการยกประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะให้พรและให้เจ้าภาพ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การชนไก่

การชนไก่ ถือเป็นกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านในชุมชน และอาจถือเป็นอาชีพหนึ่งของคนในชุมชนในการเพาะพันธุ์ไก่ชนขาย การชนไก่เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญในการเลี้ยงดู ซึ่งคนเลี้ยงต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเลี้ยงไก่ชนไว้เพื่อนํามาเดิมพันกัน รวมทั้งเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม เช่น พันธุ์ประดู่หางดํา ที่มีขนดําเงางามทั้งตัว เดือยดํา เล็บดํา ปากดํา จัดเป็นไก่ที่ได้รับความนิยมและมีราคาสูง

ภายในชุมชนบ้านดอนทรายนิยมเลี้ยงไก่ชน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ไทย ไซง่อน และพม่า โดยแต่ละพันธุ์ก็จะมีลักษณะจําเพาะที่แตกต่าง และข้อดีข้อด้อยในแต่ละสายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้คนเล่นไก่ชนจึงนิยมที่จะนําแต่ละสายพันธุ์มาผสมเพื่อให้ได้ลักษณะเฉพาะและข้อดีของแต่ละสายพันธุ์มารวมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคน ซึ่งโดยปกตินักเล่นไก่ชนก็มักจะห่วงพันธุ์ไก่ โดยเฉพาะพันธุ์ของแม่ไก่มากกว่าพ่อไก่ เพราะถือว่าสายเลือดของแม่จะให้ลูกไก่พันธุ์ที่ดี และในขณะเดียวกันการที่จะเลือกเอาพ่อพันธุ์ที่มีลักษณะที่ดี (ชั้นเชิงดี หัวใจทรหด อดทน ไม่หนีง่าย) แต่ในบางความเชื่อ ก็เชื่อว่าไก่ที่แพ้มาแล้วนํามาเป็นพ่อพันธุ์จะทําให้ได้ลูกไก่สายพันธุ์ที่ดี ซึ่งความนิยมของที่นี่นั้นมักจะใช้ไก่ชนสายพันธุ์ไทยมาผสมเป็นสายเลือดหลัก คือ 50 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นสายเลือดพันธุ์ไทย แล้วไปผสมกับไก่พันธุ์ผสมอีก 2 สายพันธุ์ (ขึ้นอยู่กับความเชื่อ)

ไก่ชนที่มีคุณสมบัติที่ดีจะมีลักษณะปากใหญ่ มีร่องน้ำ 2 ข้าง และปากลึก (ปากสีเดียวกับขา) นัยน์ตาเป็นสีขาว (หรือที่เรียกว่าตาปลาหมอตาย) คอใหญ่และปล้องคอถี่ ปีกมีขนาดใหญ่และขนปีกยาว หางยาว เส้นเล็ก กระดูกหน้าอกใหญ่และยาว เดือยใหญ่ อุ้งเท้าบางและเล็บยาว เกล็ดแข็งใสเหมือนเล็บมือและมีร่องลึก การฝึกไก่หรือการซ้อมไก่ชนจะทําโดยนํามามัดตีกัน หรือเรียกว่า การปล้ำไก่ เพื่อเป็นการฝึกกําลังและดูแววชั้นเชิงของไก่แต่ละตัว ก่อนที่จะนําไก่ออกไปชนต้องดูความพร้อมของไก่ก่อน ไก่ที่ไม่พร้อมมักจะแสดงอาการหงอยเหงา เซื่องซึม ขนไม่เรียบและขับถ่ายออกมาเป็นของเหลว ไก่ที่พร้อมจะมีลักษณะหน้าตาแดงสมบูรณ์ พร้อมที่จะออกตี โดยส่วนใหญ่จะมีการชนกันในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส่วนใหญ่แล้วไก่ชนที่จะเริ่มนําเอาไปวางเดิมพันได้จะอยู่ในช่วงอายุประมาณตั้งแต่ 10 เดือนขึ้นไป

สืบเนื่องจากประชากรในชุมชนบ้านดอนทรายนั้นมีทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวลาวเวียง ส่งผลให้ภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันนั้นค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย คือ ประชากรที่เป็นชาวไทยจะใช้ภาษาไทยถิ่นสำเนียงราชบุรี ชาวลาวเวียงใช้ภาษาลาว ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนจะใช้ภาษาไทยกลาง และใช้ภาษาจีนบ้างบางครั้งสำหรับการพุดคุยสื่อสารกับกลุ่มคนจีนด้วยกัน 


ในอดีตการรักษาพยาบาลของชาวบ้านดอนทรายจะมีการรักษาแบบแผนโบราณ หมอยาส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์หรือผู้อาวุโสที่มีความรู้พื้นฐานด้านการแพทย์แผนโบราณ ต่อมาเมื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เริ่มแพร่หลาย วิทยาการทางการแพทย์แผนใหม่เข้ามาทดแทนและเริ่มเข้าสู่ชุมชน ซึ่งการรักษาแผนปัจจุบันสามารถรักษาอาการได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นโรคทั่วไป รวมไปถึงการรักษาบาดแผล อันเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ สามารถรักษาได้รวดเร็วและสะดวกกว่า ประกอบกับประชาชนที่มีความรู้ และเรียนรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านเริ่มปฏิเสธการรักษาแบบแผนโบราณ ส่งผลหมอยาแผนโบราณในอดีตต้องเลิกล้มไปเพราะไม่มีผู้สืบทอด และไม่ได้รับความสนใจดังเช่นในอดีต

ปัจจุบันการรักษาพยาบาลของคนบ้านดอนทรายส่วนใหญ่จะใช้บริการสถานีอนามัยดอนทราย โดยจะรักษาพยาบาลและปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อต้องรักษาอาการป่วยหนักหรือต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถไปใช้บริการของโรงพยาบาลเจ็ดเสมียน (โรงพยาบาลชุมชน) ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านดอนทรายไปเพียง 4 กิโลเมตร สถานีอนามัยตําบลดอนทรายมีหน้าที่ในเชิงรุก คือ ติดตามเรื่องการควบคุมโรคตามฤดูกาล สอบสวน และควบคุมป้องกันโรคในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดว่าสาเหตุของโรคมาจากไหน อย่างไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร โดยมีกลุ่ม อสม. เป็นองค์กรช่วยเหลือภายในหมู่บ้านในการให้ความรู้และป้องกัน ควบคุมโรคอย่างทั่วถึง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ครูจำเป็น. (2563). หนองโพ. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.blockdit.com/

เทศบาลตำบลดอนทราย. (ม.ป.ป.). ข้อมูลสภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://donsaicity.go.th/

นัครินทร์ เพชรสิงห์. (2546). ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนิงานของ อบต. : ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านดอนทราย จังหวัดราชบุรี. สารนิพนธ์ปริญญาประกาศนียบัตรบัณฑิต สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สำนักเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี. (2563). ข้อมูลเพื่อการวางแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี ปี 2563 ปลาสวยงาม. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.opsmoac.go.th/

หนองโพ. (ม.ป.ป.). Nongpho Ratchaburi Dairy Cooperative Ltd. (Under the Royal Patronage) สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์). สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ftiebusiness.com/

Unseen Tour Thailand. (2560). “หนองโพ…สานต่ออาชีพที่พ่อให้” จ.ราชบุรี. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก http://unseentourthailand.com/