Advance search

บ้านผักหวาน, บ้านเฉลิมพระเกียรติ

ชุมชนบ้านโคกลำดวนได้เรียนรู้ประสบการณ์จากความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ สร้างเป็นแรงผลักดันจากความพยายามต่อสู้ดิ้นรนในการทํามาหากิน จนค้นพบ ไผ่ตง และ ผักหวาน พืชเศรษฐกิจพลิกฟื้นชีวิตชาวโคกลำดวนให้กลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง 

โคกลำดวน
พรหมณี
เมืองนครนายก
นครนายก
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
บ้านโคกลำดวน
บ้านผักหวาน, บ้านเฉลิมพระเกียรติ

ตั้งขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีต้นดอกลําดวนขึ้นอยู่มาก


ชุมชนบ้านโคกลำดวนได้เรียนรู้ประสบการณ์จากความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ สร้างเป็นแรงผลักดันจากความพยายามต่อสู้ดิ้นรนในการทํามาหากิน จนค้นพบ ไผ่ตง และ ผักหวาน พืชเศรษฐกิจพลิกฟื้นชีวิตชาวโคกลำดวนให้กลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง 

โคกลำดวน
พรหมณี
เมืองนครนายก
นครนายก
26000
13.72706875
100.5340876
องค์การบริหารส่วนตำบลพรหมณี

หมู่บ้านโคกลำดวนเดิมทีเป็นป่าที่มีต้นยางนาขึ้นอยู่มาก จนเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านในตอนนั้นว่า “บ้านตลุกยาง” ซึ่งผู้อาวุโสในชุมชนให้ความเห็นว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้คือชาวลาวเวียงจากบ้านใหญ่ อำเภอเมือง แต่ต่อมาก็มีบางครอบครัวได้ขายที่ดินในหมู่บ้านแล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ต่อมามีชาวบ้านหนองเตยบางส่วน ซึ่งเป็นหมู่บ้านทางทิศใต้ของบ้านตลุกพุกเข้ามาจับจองซื้อที่ดิน พร้อมกันนี้บางครอบครัวได้พาลูกหลานย้ายมาอาศัยในบริเวณนี้ จึงทําให้เกิดมีกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่พูดภาษาลาวเวียง และกลุ่มที่พูดภาษาไทยกลาง

อย่างไรก็ตาม ระหว่าง พ.ศ. 2484-2490 ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มทหารญี่ปุ่นจับเชลยศึก (อังกฤษและฝรั่งเศส) มาพักอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน แล้วอาศัยแรงงานจากชาวบ้านให้เข้าไปรับจ้างเป็นพ่อครัว ทํางานทั่ว ๆ ไป พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้นอกจากจะถูกสร้างเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของทหารญี่ปุ่นแล้ว ยังได้สร้างสนามบินเพื่อให้เครื่องบินขึ้นลง จึงเป็นสาเหตุให้ ณ เวลานั้น ชาวบ้านเรียกเปลี่ยนจากการเรียกชื่อหมู่บ้านตลุกยาง มาเป็นหมู่บ้าน “สนามบิน” หลังจากทหารญี่ปุ่นได้ย้ายออกไป ในปี พ.ศ. 2496 ได้มีการตั้งวัดในหมู่บ้าน พระสงฆ์และชาวบ้านได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านโคกลําดวน” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีต้นดอกลําดวนขึ้นอยู่มาก

ปัจจุบันบ้านโคกลําดวนมีชื่อที่เรียกกันอยู่ 2 ชื่อ คือ บ้านผักหวาน เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพปลูกผักหวานกันมาก และบ้านเฉลิมพระเกียรติ (ทางจังหวัดนครนายกใช้เรียกเมื่อ พ.ศ. 2549) ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์มาจากการมีอาชีพปลูกผักหวานและอาชีพผสมผสานของชาวบ้านที่มีระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง พร้อมกันนี้ยังเป็นหมู่บ้านที่ปฏิบัติตนได้ตามลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า “หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ” 

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านโคกลําดวน มีเนื้อที่ทั้งหมดจํานวน 2,956 ไร่ (คิดรวมที่ทําเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย) และมีอาณาเขตติดต่อดังต่อไปนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สนามกอล์ฟ และวัดเขาคอก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่บ้านวังปลาจืด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเขาชะโงก บ้านคลองสะท้อน และโรงเรียนปิยชาติพัฒนา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองกันเกรา

ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ

บ้านโคกลําดวน มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเนินดินสูง ลาดเอียง มีที่ดอนและที่ลุ่ม ด้านสภาพภูมิอากาศนั้นนับว่าเป็นหมู่บ้านที่มีสภาพภูมิอากาศที่น่าอยู่อาศัยมากอีกพื้นที่หนึ่ง บริเวณหมู่บ้านสภาพอากาศไม่ร้อนนัก อุณหภูมิอุณหภูมิสูงสุดฤดูร้อน เฉลี่ยประมาณ 36-38 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด เฉลี่ยประมาณ 20-22 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิปานกลาง เฉลี่ยประมาณ 30-32 องศาเซลเซียส

แหล่งน้ำ แหล่งน้ำในชุมชนจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. สระน้ำสาธารณะ มีอยู่จํานวน 2 บ่อ ซึ่งได้รับงบประมาณในการขุดสระจากองค์การบริหารส่วนตําบลพรหมณี เพื่อส่งน้ำมาทําเป็นน้ำประปาแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน
  2. สระน้ำส่วนบุคคล คือสระน้ำส่วนตัวที่ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนขุดไว้ใช้ทําการเกษตร
  3. น้ำบาดาล ส่วนใหญ่ขุดเจาะลึกประมาณ 4-10 เมตร จะมีน้ำไหลออกมาไว้ใช้ประโยชน์ได้ ครัวเรือนที่ไม่มีน้ำสระ จะอาศัยใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาลสำหรับใช้ในการเกษตร 

บ้านโคกลำดวน หมู่ที่ 9 ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้น 822 คน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนยังคงเป็นชาวไทยที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากชาวลาวเวียง ซึ่งภายในชุมชนยังปรากฏมีตระกูลเก่าแก่ คือ พันธะพุมมี ศรีทอง อิศรางกูร และพัดจันทร์ 

ลาวเวียง

การประกอบอาชีพ ชาวบ้านโคกลำดวนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกผักหวาน ปลูกไผ่ดง ไผ่เลี้ยงหวาน ปลูกพืชผสมผสาน เช่น กระท้อน ส้มโอ ขนุน และผักสวนครัว ส่วนรองลงมาคือ แคดดี้ประจำสนามกอล์ฟ ร.ร.จปร. ทำนา และรับจ้างทั่วไป

การปลูกไผ่ตง เป็นอาชีพที่ได้รับแรงผลักดันจากความพยายามต่อสู้ดิ้นรนในการทำมาหากิน เนื่องจากการประกอบอาชีพก่อนหน้า ทั้งการทำนา ทำไร่อ้อย และปลูกมันสำปะหลัง ไม่ประสบความสําเร็จและถูกเวนคืนที่ดินที่ใช้ในการปลูกพืชไป จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มสนใจอาชีพปลูกไม้ไผ่ตง โดยมีนายสำเนาว์ จำปาทอง และนายโสภี ศรีทอง ไปนำเอาสายพันธุ์ไผ่ตงมาจากจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ ไผ่ตงหม้อ ไผ่ตงเบา ผละไผ่ตงหนู การลงมือทำเกษตรครั้งใหม่ของชาวโคกลำดวนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ผ่านไป 25 ปี ไตงของชาวบ้านออกดอกตาย สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนครนายกจึงได้เข้าช่วยเหลือโดยนำเอาไผ่ตงพันธุ์เบาสีทองมาให้ชาวบ้านปลูก แต่ผลผลิตจากไผ่ตงสายพันธุ์นี้ไม่ได้คุณภาพ ซ้ำยังทำให้เกิดอาการคันเมื่อสัมผัสกับผิวหนังทำให้ชาวบ้านต้องหาไผ่ตงสายพันธุ์ใหม่มาปลูก ถือเป็นการเปลี่ยนสายพันธุ์ไผ่ตงรอบที่ 3 โดยนำเอาไผ่ตงหม้อ ไผ่ตงเบา และไผ่ตงหนูกลับมาปลูกอีกครั้ง ซึ่งปลูกมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับราคาการขายไผ่ตงนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาด เช่น ขนาดใหญ่ราคาต้นละ 60-80 บาท ขนาดกลางราคาต้นละ 30-70 บาท และไผ่ตงขนาดเล็กราคาต้นละ 5-7 บาท

การปลูกผักหวาน เริ่มขึ้นปลายปี พ.ศ.2544 เนื่องจากผลกระทบจากการประกอบอาชีพปลูกไม้ไผ่ตง ทำให้ผู้นําและคนในชุมชนเริ่มมองหาอาชีพใหม่มาทดแทนอาชีพเดิม จนนําไปสู่การค้นพบการปลูกผักหวาน ซึ่งได้รับแนวคิดมาจากนายสมชาย บํารุงจิตร์ ที่ได้ทราบข่าวมาจากโครงการอาหารกลางวันในกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีผักหวานบ้านอยู่ในกิจกรรมของโครงการเพื่อให้โรงเรียนได้ปลูกและนํามาประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโครงการ นอกจากนี้ ยังทราบข่าวว่าผักหวานบ้านมีราคาสูง จึงทําให้นายสมชาย บํารุงจิตร์ และคณะ มีความสนใจ จึงได้เสาะแสวงหาว่ามีแหล่งใดที่มีการได้เพาะพันธุ์ผักหวานไว้บ้าง โดยสอบถามไปทางสํานักงานเกษตรอําเภอเมืองนครนายกและได้รับคําปรึกษาแนะนําว่ามีที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อําเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ขายต้นละ 12 บาท เมื่อไปดูแล้วมีราคาแพง จึงได้มาดูที่โครงการพระราชดําริบางแตน อําเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ขายต้นละ 5 บาท แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องซื้อจํานวน 5,000 ต้นขึ้นไปจึงจะขายให้ คณะที่ไปดูงานด้วยกันจึงได้ลองซื้อมาปลูกและเริ่มขยายกิ่งพันธุ์เพิ่มมากขึ้น แล้วนํามาปลูกเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 1 ปีเศษ ผักหวานบ้านเริ่มเป็นที่รู้จักและขายได้ในราคาสูง ทำให้ผู้นําชุมชน ได้ใช้เวทีประชาคมในเวลาที่มีการประชุมคนในชุมชนประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงอาชีพปลูกผักหวานว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และผักหวานมีอายุได้นานไม่ต้องปลูกบ่อย ๆ เหมือนกับผักสวนครัว ทำให้คนในชุมชนเริ่มสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผักหวานที่นิยมปลูก คือ ผักหวานสายพันธุ์สีนวล และสายน้ำผึ้ง (พระวีราวีฒน์ เถาหอม, 2550: 137)

การทำนา การทํานานับว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวโคกลำดวน ในช่วงแรกการทํานามีจุดประสงค์เก็บไว้เพื่อบริโภคเป็นหลัก ถ้าเหลือก็ขายบ้างเป็นครั้งคราว แต่ปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพทำนาในชุมชนบ้านโคกลำดวนลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ การก่อตั้งโรงเรียน จปร. ที่ได้สร้างถนนกีดขวางเส้นทางน้ำไหล และการทำนาเริ่มสร้างปัญหาหนี้สิน เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าผลตอบแทน ชาวนาหลายรายจึงต้องเลิกทำนา หันไปประกอบอาชีพอื่น แล้วซื้อข้าวบริโภคแทน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำนาจะไม่ได้เป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ดังเดิม แต่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวโคกลำดวนอยู่ไม่น้อย

ในอดีตชาวนาบ้านโคกลำดวนมีพันธุ์ข้าวที่นิยมอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ พันธุ์ข้าวหนัก พันธุ์ข้าวกลาง และพันธุ์ข้าวกลาง ดังต่อไปนี้

  • พันธุ์ข้าวหนัก ได้แก่ ข้าวหลวงประทาน ข้าวเหลือง (ข้าวแข็ง) ข้าวเหลือง ประทิว ข้าวตาแห้ง ข้าวเจ็กเชย (สระบุรี) ข้าวนางเขียว และข้าวขาวชูใบ ข้าวชนิดนี้เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาลุ่มมีน้ำหรือเรียกว่า ข้าวนาปี
  • พันธุ์ข้าวกลาง ได้แก่ ข้าวก้นจุด ข้าวขาวพวง ข้าวใบรถ และข้าวตามน ระยะเวลาปลูกประมาณ 3 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้พันธุ์ข้าวเบา ได้แก่ ข้าวนางแจ่ม (ข้าวจ้าว) ข้าวขาวหลอด ข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุม เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาดอนที่ไม่ค่อยมีน้ำ แต่ใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 3 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่ยังนิยมปลูก ได้แก่ ข้าวขาวหลอด และข้าวตาแห้ง เนื่องจากข้าวทั้ง 2 สายพันธุ์เป็นข้าวพื้นเมืองที่มีคุณภาพดี มีเม็ดแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ข้าวที่เข้ามาใหม่ในชุมชน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ได้แก่ ข้าวขาวหอมมะลิ 105 (ข้าวขาวดอกมะลิ) และข้าวหอมปทุม ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ เป็นผู้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนได้ปลูกกัน

การทำเกษตรผสมผสาน คือการทำเกษตรโดยปลูกพืชหลากชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยปกติชาวโคกลำดวนจะทำการเกษตรกังกล่าวนี้ในพื้นที่สวนไผ่ตง โดยพืชที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ มะปราง กระท้อน ขนุน ส้มโอ มะระ ถั่ว เผือก ยี่หร่า กะเพรา แมงลัก ตะไคร้ ยอดผักปลัง ยอดมะกอก ยอดตําลึง ใบมะกรูด ยอดมะระ ยอดมะดัน ยอดฟักทอง ยอดฟักแพรว ชะอม และใบชะพลู

การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตของชุมชน

การซื้อขายผลผลิตทางเกษตรในหมู่บ้านจะมีพ่อค้ากลางมารับซื้อโดยตรงจากชาวบ้าน ราคาการซื้อขาย พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กําหนด (ราคาจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับกลไกทางการตลาดเป็นสําคัญ) พ่อค้า แม่ค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในจังหวัดนครนายก สำหรับชาวบ้านที่ไม่ส่งขายผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อผลผลิตในชุมชนจะนําผลผลิตไปขายด้วยตนเอง เนื่องจากได้ราคาดีกว่า แต่ต้องเสียเวลาเดินทางในการนําไปขายและบางครั้งก็ขายได้จํานวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะนิยมไปขายในตลาดนัดตามชุมชน ได้แก่ วัดวังปลาจืด โรงเรียนเตรียมทหาร วัดหนองรี บ้านหนองสันตอ สี่แยก ร.ร.จปร. และบ้านนายเงียบ เป็นต้น

ประเพณีวัฒนธรรมที่ชาวบ้านโคกลําดวนปฏิบัติเป็นประจําในรอบ 1 ปีนั้น ส่วนมากแล้วจะเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เนื่องจากชาวบ้านโคกลำดวนนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ดังนั้น จึงมีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับการดําเนินชีวิต ประกอบด้วย งานทำบุญตักบาตร (ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่) ทำบุญวันสงกรานต์และสรงน้ำพระ ไปสมาทานรักษาศีลอุโบสถทุกวันพระตลอดปี เทศกาลเข้าพรรษา ถวายสลากภัต (เดือน 6) ถวายผ้าอาบน้ำฝน (เข้าพรรษา) ตักบาตรเทโว (ช่วงออกพรรษา) ทอดผ้าป่า-ทอดกฐิน เวียนเทียนในวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา และลอยกระทง ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกครัวเรือนยังมีความเชื่อพื้นบ้าน คือ ในเรื่องของศาลเจ้าที่และศาลพระภูมิ โดยทั้ง 2 ศาล มีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตขอชาวโคกลำดวนเป็นอย่างมาก เช่น จะมีการบอกกล่าวขอพรในการเดินทางเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสวัสดิภาพในการเดินทาง ซึ่งความเชื่อในลักษณะดังกล่าวแม้จะไม่แตกต่างไปจากสังคมชุมชนอื่น ๆ แต่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับที่ยังอยู่คู่กับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา (พระวีราวีฒน์ เถาหอม, 2550 : 95-96) ไม่มีการแปลงเปลี่ยนหรือเอนเอียงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ดังเช่นวัฒนธรรมในด้านอื่น ๆ

ภายในชุมชนบ้านโคกลำดวนมีประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคติเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ดังนี้

ประเพณีการทำบุญกลางบ้าน คือ การรวมกันทำบุญร่วมกันของชาวบ้าน นิยมทำกันช่วงในเดือน 6 ในเวลาช่วงเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อต่อชะตาบ้าน ชะตาเมือง เมื่อพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์เสร็จ ตัวแทนคณะสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องอานิสงส์ของการทำบุญกลางบ้านให้กับชาวบ้านที่มาร่วมงานได้รับฟัง เช้าวันรุ่งขึ้นพระคุณเจ้าที่อาราธนานิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์จะมารับภัตตาหารเช้า ณ บริเวณงานที่จัดขึ้น ทุกครัวเรือนจะมาร่วมกันทำบุญเพื่ออุทิศกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร เจ้าที่เจ้าทางที่รักษาหมู่บ้านและดูแลไร่นา โดยปัจจัยที่จะทำให้คนในชุมชนทำบุญกลางวันมีสาเหตุหลายประการ เช่น ฝนไม่ตกหรือฝนแล้ง หมู่บ้านไม่สงบมีปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น ผู้นําชุมชนจะเรียกประชุมประกาศทางหอกระจายข่าวให้ทราบ เพื่อหาตกลงว่าปีนี้ใครจะรับเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานบุญกลางบ้าน และจะมีกิจกรรมอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีก

พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา พิธีกรรมดังกล่าวจะมีผู้รับทำหน้าที่อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ พระสงฆ์ หมอธรรม และหมอผี คนทรงเจ้า ซึ่งลักษณะการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาแต่ละกรณีนั้นจะมีการเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกัน หรือเตรียมกระทงไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปแล้วกระทงสะเดาะเคราะห์มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ กระทงหน้าวัว กระทงบูชาโชค และกระทงเสียเคราะห์

  • กระทงหน้าวัว หรือกระทงสามเหลี่ยม มีจํานวน 6 ห้อง ทำด้วยกาบกล้วย นิยมใช้ในกรณีสะเดาะเคราะห์สืบชะตาของสมาชิกภายในครอบครัว นิมนต์พระไปสวดถอน เช่น ฟ้าผ่า ไฟไหม้บ้าน ฯลฯ สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนทำพิธี ได้แก่ ธูป 1 ดอก เทียน 1 เล่ม ธงขาว 1 อัน ขันธ์ 5 (ดอกไม้ขาว ธูปใส่กรวย ธูปคู่ เทียนคู่ ดอกไม้คู่) และสิ่งที่จะต้องใส่ลงไปในกระทง ประกอบด้วย หุ่นตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว ข้าวดํา ข้าวแดง (ย้อมสี) อาหารคาวหวานต่าง ๆ มะเขือ ปลาร้า เป็นต้น ให้ใส่ทุกห้อง เมื่อทำพิธีเสร็จให้เก็บไว้ 1 คืน จึงนํากระทงไปทิ้งทางทิศตะวันตกและอย่าทิ้งใกล้ที่อยู่อาศัยคนอื่น
  • กระทงบูชาโชค ทำด้วยกาบกล้วย นิยมใช้เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว สิ่งที่จะต้องใส่ลงไปในกระทง ประกอบด้วย ข้าวตอก ข้าวเปลือก ทราย หิน หมาก พลู ใส่ในกรวยใบตอง หลังทำพิธีให้เก็บเอาไว้อยู่ในบ้านประมาณ 3 วัน จึงเอาไปทิ้งได้
  • กระทงเสียเคราะห์ หรือกระทง 9 ห้อง ทำด้วยกาบกล้วย นิยมใช้ในกรณีเพื่อเสียเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ต่ออายุใช้กับผู้ที่ต้องจะต้องเสียเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ (ใช้ได้คนเดียว) หรือใช้ได้เฉพาะการเสียเคราะห์ในระดับหมู่บ้านเท่านั้น สิ่งที่จะต้องใส่ลงไปในกระทง 9 ห้อง ประกอบด้วย ข้าวสาร ข้าวดํา ข้าวแดง (ย้อมสี) ข้าวเปลือก ข้าวตอก ตัดผม ตัดเล็บ ตัดขน เอาก้อนขี้ไคลใส่ หัวหอม ปลาร้า พริก เกลือ ดอกไม้ (ดอกพุธ) หมากพลู กาบกล้วยตัดเป็นหุ่นใส่ทุกห้อง ก่อนทำพิธีต้องนําเอาเสื้อผ้าที่ใช้แล้วของผู้ที่จะเสียเคราะห์ปูแล้วเอากระทงวางทับอีกทีหนึ่ง เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วต้องนําเอาไปทิ้งในทิศตะวันตกหรือทางสามแพร่งห้ามไปทิ้งในที่คนอื่น

ลักษณะบ้านเรือน

สภาพบ้านเรือนของบ้านโคกลําดวน ในปัจจุบันส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นบ้านปูนชั้นเดียว การตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่จะอยู่โดดเดี่ยว แต่ละบ้านห่างกันพอประมาณ เห็นได้ชัดในบริเวณทุ่งนาหรือป่าเกษตร ส่วนบ้านที่อยู่ติดกันจะมีอยู่น้อย นอกจากนี้ ชาวบ้านยังใช้พื้นที่รอบบ้านในปลูกพืช ผัก หรือทำการเกษตรกรรมรอบบ้านด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ภายในชุมชนนิยมสื่อสารระหว่างกัน มีอยู่ 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาลาว (อีสาน) คิดเป็นร้อยละ 90 และภาษาไทยกลาง คิดเป็นร้อยละ 10

ชุมชนบ้านโคกลําดวนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง (ดั้งเดิม) ภาษาที่ใช้พูดจึงเป็นภาษาลาวอีสาน ซึ่งยังคงใช้สื่อสารกันอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้พูดภาษาอีสานในชุมชนเห็นจะมีแต่วัยกลางคน และวัยผู้สูงอายุเท่านั้น ในกลุ่มเยาวชนหรือเด็กจะเห็นสื่อสารกันน้อยมาก ซึ่งกลุ่มนี้จะนิยมสื่อสารกันด้วยภาษาไทยกลาง เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น การศึกษา การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปรับตัวในการดํารงอยู่กับสังคมนอกหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลให้เห็นคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอีสานในการพูดคุยสื่อสาร กระทั่งบางคนถึงขั้นพูดไม่ได้และไม่เข้าใจ ซึ่งจะทําให้เห็นปรากฏการณ์ทางภาษาว่าในอนาคตอันใกล้ ภาษาดั้งเดิมนี้อาจจะสูญหายไปจากชุมชนบ้านโคกลำดวนก็เป็นได้


ปัจจุบันชุมชนบ้านโคกลำดวนกำลังประสบปัญหาความสูญหายทางวัฒนธรรม เนื่องมาจากวัฒนธรรมและประเพณีที่สำคัญของชุมชนเริ่มที่จะหมดไปกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงสังคม เช่น

  • ประเพณีการทำบุญกลางบ้านที่นิยมทำกันในช่วงของเดือน 6 ของทุกปี ในอดีตนั้นจะทำกันทุกปี แต่ในปัจจุบัน 2-3 ปี จึงทำหนึ่งครั้ง

  • ประเพณีเทศน์มหาชาติ ในอดีตจะทำกันทุกปี แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว

  • ประเพณีส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปแสดงธรรมเทศนาตามวัดต่าง ๆ ในวันออกพรรษา คือ เมื่อถึงวันออกพรรษาในอดีตจะนิยมส่งพระภิกษุสงฆ์ไปแสดงธรรมเทศนาให้กับญาติโยมฟังตามวัดต่าง ๆ ซึ่งพระที่ได้รับนิมนต์จะไปเทศน์ตามวัดในหมู่บ้านต่าง ๆ ภายในตำบล หรือต่างตำบล ต่างอำเภอก็ได้ ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของเจ้าภาพวัดนั้น ๆ ปัจจุบันผ่านมาหลายปีแล้วยังหาฟังได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ประเพณีดังกล่าวถือเป็นการให้พระภิกษุสามเณรได้ไปแสดงพระธรรมเทศนาหลังจากที่ได้ร่ำเรียนศึกษาปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธตลอด 3 เดือน ซึ่งเป็นการได้นำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปเผยแผ่สู่ประชาชนที่จะได้มีหลักยึดเหนี่ยวที่มั่นคงในการดำเนินชีวิต

  • ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตา เป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันเดือน 6 แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะหันมาปฏิบัติในลักษณะต่างครอบครัวต่างทำกัน ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนก็เปลี่ยนไปเป็นศาลเจ้าและศาลพระภูมิแทน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือซีพี. (2563). โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือซีพีสนับสนุนศูนย์เรียนรู้เกษตรฯ/มูลนิธิสืบฯแจกกล้าผักหวานป่าให้ชุมชนตามแนวชายขอบห้วยขาแข้ง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wearecp.com/

เทคโนโลยีชาวบ้าน. (2562). ปลูกไผ่ตงลืมแล้ง แบบมืออาชีพ. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/

พระวีราวีฒน์ เถาหอม. (2550). การศึกษาชุมชนพึ่งตนเอง หมู่บ้านปลูกผักหวาน: กรณีศึกษาบ้านดคกลำดวน ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชนบทศึกษา มหาวิทยบัยมหิดล.

Farmchannelthailand. (2564). ปลูกผักหวาน โกยรายได้เดือนละ 3 แสน. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://farmchannelthailand.com/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Kasetorganic. (ม.ป.ป.).ไผ่กิมซุง ไผ่ตงลืมแล้ง ปลูกไม่ยากอย่างที่คิด. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.kasetorganic.com/