
ชุมชนมีความรู้ ภูมิปัญญา ทั้งการทอผ้า การตีมีด และแนวคิดในการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ป่าอีกด้วย
หมู่บ้านห้วยตองก๊อ เหตุที่พื้นที่นี้ถูกเรียกว่า “บ้านห้วยตองก๊อ” เพราะในพื้นที่มีไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นตองก๊อ” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในพื้นที่จึงนำชื่อต้นไม้ชนิดนี้มาใช้เรียกชื่อหมู่บ้าน
ชุมชนมีความรู้ ภูมิปัญญา ทั้งการทอผ้า การตีมีด และแนวคิดในการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ป่าอีกด้วย
ชุมชนห้วยตองก๊อ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้
ชาวห้วยตองก๊อ เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ดินแดนบริเวณนี้มานานกว่า 200 ปี ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่าบรรพบุรุษอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากฟากฝั่งตะวันตกของประเทศไทย คือประเทศเมียนมาร์และอินเดีย โดยมีหลักฐานเป็นเงินเหรียญสกุลรูปีที่เคยใช้กันในอดีตที่บรรพบุรุษยังเก็บไว้ส่งต่อกันมา ใช้หยิบยกเป็นสิ่งประกอบการเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานฟัง โดยอพยพมาตามลุ่มนํ้าสาละวิน กลุ่มนี้นำ โดย “นายโกแฮ” มาตั้งถิ่นฐานกันในพื้นที่ที่เรียกกันว่า “แดลอเส่บะ” ซึ่งเป็นจุดแรกที่มารวมตัวกัน เล่าว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาวไทใหญ่เริ่มอพยพมาหาพื้นที่ทำ กินแล้วก็ตั้งถิ่นฐานบริเวณตัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน
บรรพชนของชาวห้วยตองก๊ออยู่อาศัยในบริเวณแดลอเส่บะและใกล้เคียงอยู่ราว ๆ 20-30 ปี ต่อมาได้เกิดโรคระบาดขึ้น ด้วยความเชื่อของชาวปกาเกอะญอจึงตัดสินใจพูดคุยหารือและแยกย้ายกันไปอยู่คนละทิศคนละทาง บ้างไปอยู่ทางห้วยปูลิง ห้วยตองก๊อบ้างไปอยู่ทางหนองขาว บ้างก็ย้ายไปไกลถึงปางมะผ้า ปักหลักที่ใหม่แล้วก็ย้ายกันไปแบบนี้ จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2442 นายตุนุได้พาญาติพี่น้องอพยพมาอยู่บริเวณ “โหล่หล่าโกละ” ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ห้วยตองก๊อ” ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการคนแรก และมีนายตุเกอะ เป็นฮีโข่ (ผู้นำทางจิตวิญญาณ) คนแรก
สมัยนั้นบ้านห้วยตองก๊อขึ้นอยู่กับตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ต่อมาเมื่อมีการขยายเขตการปกครองจึงยกฐานะบ้านห้วยปูลิงขึ้นเป็นตำบล โดยปกติแล้ว ชาวปกาเกอะญอมีสายเลือดของความเป็นชนเผ่าพเนจร ไม่ยึดติด ไม่ถือครองเมื่อถิ่นที่อยู่เกิดโรคระบาด การทำมาหากินฝืดเคือง เกิดลางบอกเหตุตามความเชื่อ หรือเกิดความขัดแย้ง ฯลฯ ก็จะมีการอพยพเคลื่อนย้ายกัน แต่เมื่อรูปแบบของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ชุมชนเริ่มตระหนักว่าการอพยพเคลื่อนย้ายจะเป็นไปได้ยากขึ้นด้วยนโยบายทางการปกครองของทางภาครัฐ รวมถึงพื้นที่หมู่บ้านพื้นที่ทำมาหากินที่เคยใช้ทำไร่หมุนเวียนถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวน ฯลฯ จึงมีความคิดที่จะหาพื้นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงถาวรมีชัยภูมิที่น่าจะอยู่อาศัยได้ในระยะยาว เช่นใกล้กับแหล่งนํ้า ใกล้พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่นาขั้นบันไดเมื่อเห็นตรงกันชาวบ้านส่วนหนึ่งราว 4-5 ครอบครัวจึงพากันย้ายมาอยู่บริเวณสบห้วยตองก๊อ ที่เรียกว่า “โหล่หล่าถ่า” ใกล้ลำนํ้าห้วยปูลิง โดยการนำ ของนายพะเผล่อแฮ ยอดคีรี ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณคนแรกของหมู่บ้านแห่งใหม่นี้ โดยมีนายพะจ่าโน ยอดคีรี เป็นผู้ใหญ่บ้าน
แม้ว่าจะได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง แต่บ้านห้วยตองก๊อนั้น อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนกว่า 4 ชั่วโมง เพราะถนนเข้าไปยังเป็นดินลูกรัง ทำให้การเข้า – ออก พื้นที่บ้านห้วยตองก๊อนั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะถึงตัวชุมชน หากดูจากพื้นที่รอบ ๆ ที่ล้อมไปด้วยป่า ถือว่าเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่มากนัก โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยกุ้ง
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยไทร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านใหม่-ป่าหมาก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านไมโครเวฟ
ประชากรที่บ้านห้วยตองก๊อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยพี่น้องปกาเกอะญอเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณห้วยตองก๊อเป็นเวลากว่า 250 ปี และเมื่อราว ๆ ประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี่เอง ภาครัฐฯ ได้เข้ามาจัดตั้งให้เป็นการปกครองแบบท้องที่ โดยให้มีผู้ใหญ่บ้านดูแล เพื่อให้มีความเป็นชุมชนมากยิ่งขึ้น จึงทำให้พี่น้องปกาเกอะญอที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ห้วยตองก๊อนั้นกลายเป็นชุมชนส่วนหนึ่งของตำบลห้วยปูลิง และไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้ตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอแบบเดิมได้
ปัจจุบัน บ้านห้วยตองก๊อ มีประชากรทั้งหมด 113 คน (ชาย 64 คน หญิง 49 คน) จำนวนหลังคาเรือน 29 หลังคาเรือน จำนวนครัวเรือน 32 ครัวเรือน
ปกาเกอะญอภาพรวม
ชุมชนห้วยตองก๊อจึงเริ่มคิดหาแนวทางการสื่อสารให้ผู้คนภายนอก ได้เข้าใจถึงวิถีชีวิต รวมถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง รวมถึงชุมชนยังมีความรู้ ภูมิปัญญา ทั้งการทอผ้า การตีมีด และแนวคิดในการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ป่าอีกด้วย จึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้างการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อดึงให้ผู้คนเข้ามาที่ชุมชนและได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน พร้อมทั้งสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจที่มากขึ้นให้แก่ผู้คนภายนอก และเผยแพร่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอให้กับคนรุ่นหลังเพื่อไม่ให้จางหายไปจากชุมชน
นอกจากทำ ไร่หมุนเวียน เลี้ยงสัตว์อย่างวัว ควาย หมู ไก่ เพื่อเลี้ยงชีพแล้ว เมื่อหมู่บ้านเริ่มมั่นคง
มีปฏิสัมพันธ์กับทางภาครัฐมากขึ้น ก็เริ่มมีโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามาในชุมชน เช่น โครงการพัฒนาที่สูงไทย-เยอรมัน (พ.ศ. 2532) การท่องเที่ยวโดยชุมชน (พ.ศ. 2542) การทอผ้า การตีมีด การจักสาน เพื่อจำหน่าย อีกด้วย
การแปรรูปกาแฟ
การแปรรูปกาแฟ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ที่นำกาแฟเข้ามายังพื้นที่บ้านห้วยตองก๊อ แต่ด้วยให้ความรู้ของชาวบ้านมีน้อยในเรื่องนี้ ประกอบกับในสมัยนั้น ตลาดกาแฟในประเทศไทยยังไม่เติบโตเท่าปัจจุบัน เกษตรกรที่ชุมชนห้วยตองก๊อจึงไม่ได้สนใจปลูกกาแฟกันอย่างจริงจัง จึงทำให้มีเกษตรกรน้อยรายที่ปลูกกาแฟ แต่ในปัจจุบัน ชุมชนบ้านตองก๊อเริ่มหันมาปลูกอีกครั้ง จากความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ในชุมชนและคนรุ่นเก่าที่บุกเบิกการพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน มีความเห็นพ้องร่วมกันว่ากาแฟนั้นเป็นเกษตรเชิงยั่งยืน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้และยังเป็นการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติตามความต้องการของชุมชนเอง
กล่าวได้ว่ากาแฟได้เข้ามาที่บ้านห้วยตองก๊อมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาคนในชุมชนยังไม่ได้รับความรู้ในเรื่องของกาแฟมากนัก ทำให้พี่น้องเกษตรกรหลายคนไม่ได้สนใจในการปลูกกาแฟเท่าที่ควร กาแฟในชุมชนห้วยตองก๊อจึงไม่ได้เป็นพืชที่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกกันอย่างจริงจัง และเมื่อประมาณปี 2548 ชุมชนที่อยู่ข้างเคียง เริ่มหันมาปลูกกาแฟกันเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ขณะนั้นชุมชนห้วยตองก๊อยังมองว่า การปลูกกาแฟต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกาแฟ ไม่อย่างนั้นผลประโยชน์อาจตกไปอยู่กับกลุ่มนายทุนหรือพ่อค้าคนกลางแทนชาวบ้านในชุมชนได้ และเมื่อสองปีที่แล้วได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มชุมชน ซึ่งมีทั้งคนรุ่นเราและเด็กรุ่นใหม่ที่ได้ไปศึกษาเรียนอยู่ในเมือง จึงเริ่มพูดคุยถึงแนวทางในการพัฒนากาแฟในชุมชนห้วยตองก๊อ จึงเป็นจุดเริ่มทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่ชัดเจนขึ้น โดยได้ผลสรุปออกมาว่า การที่จะพัฒนากาแฟของชุมชนห้วยตองก๊อนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการแปรรูปกาแฟ
ทุนวัฒนธรรม
1.) ผ้าทอ
ผ้าทอปกาเกอะญอหรือผ้าทอกะเหรี่ยงนั้นจัดเป็นงานช่างฝีมือประเภทผ้าทอและผลิตภัณฑ์จากผ้า มีความจำเป็นที่ต้องทอต้องผลิตขึ้นเพื่อสวมใส่ใช้สอย จึงส่งต่อภูมิปัญญาให้กับลูกหลานสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ยังมีเสื้อผ้าอุ่นหนาและสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ได้สวมใส่ ในอดีตผู้หญิงปกาเกอะญอทุกคนจึงต้องทอผ้าเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทอผ้า หาได้ในชุมชนหรือจากป่าจากไร่ที่อยู่รายรอบ ทั้งฝ้ายที่ปลูกเองในไร่ อุปกรณ์ในการทอผ้าก็เช่นกัน ผ้าทอปกาเกอะญอจะทอด้วยอุปกรณ์ทอผ้าแบบกี่เอวเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสามารถนำติดตัวเคลื่อนย้ายไปทอในที่ต่าง ๆได้อย่างสะดวก แต่ส่วนใหญ่แม่บ้านก็จะทอผ้าในบ้านตัวเองช่วงเวลาว่างจากกิจการงาน ขนาดของผ้าที่ทอได้จะเป็นผ้าหน้าแคบ ไม่กว้างมากนักความกว้างจะเป็นไปตามขนาดของเอวและความสามารถของผู้ทอ และขึ้นอยู่กับชิ้นงานที่ทำด้วยว่าทอขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ถ้าหากต้องการผ้าที่มีหน้ากว้างมาก เมื่อทอเสร็จแล้วจะใช้วิธีการเย็บเพลาะติดกัน เพื่อให้ได้ขนาดความกว้างที่ต้องการจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านห้วยตองก๊อ ทำให้เราทราบว่ามีการทอผ้ามานานตั้งแต่สมัยบรรพชนและมีเรื่องราวในการถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นสองสามร้อยปี กี่ทอผ้าในยุคก่อนทำจากหนังสัตว์ ไม้ และไม้ไผ่ที่มีความแข็งแรง ตรง และมีนํ้าหนัเบา นำ มาผ่าและตัดแต่งให้ได้รูปร่างรูปทรงตามขนาดที่ต้องการ เพราะจะช่วยให้คนทอทอผ้าได้นานและสวยงามเมื่ออุปกรณ์การทอผ้าเหมาะสมกับตัวเอง
ปกาเกอะญอบ้านห้วยตองก๊อมีรูปแบบเสื้อผ้า สีสัน ลวดลายผ้าที่ใช้แสดงตัวตนของตัวเองเมื่อก่อนอาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน ก็มีการแลกเปลี่ยนลอกเลียนแบบ ได้รับอิทธิพล ทั้งในแง่ความงามเทคนิคการทำ รวมถึงความคิดความเชื่อ ประกอบกับการมีฐานทรัพยากรที่เหมือนกัน ทำ ให้ลักษณะเสื้อผ้า สีสันลวดลาย จะมีความคล้ายคลึงกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่น ปกาเกอะญอห้วยตองก๊อ จะมีความเหมือนกับปกาเกอะญอแถบห้วยปูลิง ห้วยโป่ง ขุนยวม ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และแถบวัดจันทร์ แม่แจ่ม สะเมิง อินทนนท์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ก็จะมีความต่างในรูปแบบและรายละเอียดบางอย่างกับปกาเกอะญอในแถบสายใต้ของแม่ฮ่องสอน เช่นแม่ลาน้อย แม่สะเรียง และสบเมย
กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านห้วยตองก๊อ. (2564). ต่าบึ๊ ต่าทา เรื่องราวบนผืนผ้าปกาเกอะญอ ห้วยตองก๊อ. แม่ฮ่องสอน : ตองก๊อแฟมิลี่.
จิตวิญญาณในครัวไฟ และzero waste life ที่บ้านห้วยตองก๊อ แม่ฮ่องสอน. (2561). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.chiangmainews.co.th/social/1510296/
บ้านห้วยตองก๊อ (Huay Tong Kor). (2564). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.chiangmainews.co.th/social/1510296/
อาศรี ขีโย และคณะ. (2551). รูปแบบการจัดการการตลาดที่เหมาะสม โดยเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน ต.ห้วยปูลิง กรณีศึกษา จอโกะ อีโคเทรค. [ม.ป.พ.]:แม่ฮ่องสอน.