"หมู่บ้านพัฒนา ประปาน้ำใส กราบไหว้พระครูจันทร์ สวรรค์บึงพาด คลึงราชเมืองเก่า เชื้อสายลาวเวียงจันทน์"
"หมู่บ้านพัฒนา ประปาน้ำใส กราบไหว้พระครูจันทร์ สวรรค์บึงพาด คลึงราชเมืองเก่า เชื้อสายลาวเวียงจันทน์"
พงศาวดารล้านช้าง กล่าวว่า ประมาณ พ.ศ. 1272 "ขุนบูลมหรือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ" ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์ลาวราชวงศ์หนองแสพระองค์ได้ขยายอาณาจักรลาวหนองแสออกไปอย่างกว้างขวาง โดยส่งพระโอรสทั้ง 7 ไปสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ในดินแดนแหลมทองเพื่อขยายอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ.1797 "คุปไลข่าน" กษัตริย์ชนชาติมองโกลแห่งราชวงศ์หงวน ได้ใช้อำนาจทางทหารแผ่ขยายลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าตีอาณาจักรลาวหนองแส จนอาณาจักรลาวหนองแสสูญเสียเอกราชแก่จีน ชนชาติลาวจึงพากันอพยพมาทางใต้ในดินแดนสุวรรณภูมิหรือแหลมทองโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มแม่น้ำคงและสายแม่น้ำแดง กลุ่มที่อพยพมาทางแม่น้ำโขงต่อมาได้แยกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่อพยพมาตั้งตัวเป็นอิสระในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกตนเองว่า "ไทหรือไท้" กลุ่มที่อพยพสู่ลุ่มแม่น้ำโขงเรียกตนเองว่า "ลาว" ในปี พ.ศ. 2321 อาณาจักรล้านเพีย สามารถรวบรวมอาณาจักรล้านาและล้านช้างเข้ามาเป็นสหราชอาณาจักรเดียวกันเรียกว่า "พระราชอาณาจักรสยามหรือประเทศสยาม" กระทั่งปี พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้ยึดอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 รัฐเป็นอาณานิคม ได้แก่ ล้านช้างหลวงพระบาง เวียงจันทน์และล้านช้างจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสถอนตัวออกจากอินโดจีนตามสัญญาเจนีวาทำให้ลาวได้รับเอกราช การอพยพย้ายถิ่นของชนลาวเวียงจันทน์ แบ่งได้เป็น 2 ช่วงหลักได้แก่ สมัยกรุงธนบุรี และสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนลาวเวียงหมู่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ บรรพบุรุษของตนได้ถูกกวาดต้อนมา จากเมืองลาวเวียงจันทน์ในฐานะเชลยศึก เริ่มแรกถูกส่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่หมู่บ้านกองโค ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน เมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้นจึงขยายจากที่ตั้งเดิมขึ้นไปทางทิศเหนือตามแม่น้ำน่านจนถึงเขตบ้านแก่งจนเกิด เป็นชุมชนเล็กๆ ได้แก่บ้านวังสะโม บ้านหาดสองแคว บ้านเด่นสำโรงและบ้านวังแดง เนื่องจากที่ตั้งของหมู่บ้านหาดสองแควเป็นทางออกของลำน้ำสองสาย ได้แก่ แม่น้ำน่านและคลองตรอนมาบรรจบกันจึงเรียกว่า "สองแคว" และที่ตั้งของหมู่บ้านเกิดเป็นสันทรายยื่นออกมาจนเป็นหาดทรายแนวยาวตลอดหมู่บ้าน จึงเรียกบริเวณนี้ว่า "บ้านหาดสองแคว"
ตำบลหาดสองแควเป็นตำบลหนึ่งใน 5 ตำบล ของอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากที่ว่าการ อำเภอตรอนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านชำทอง ตำบลบ้านแก่ง บ้านปลายราง ตำบลข่อยสูง บ้านไร่ ตำบลน้ำอ่าง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านท่าสัก บ้านเต่าไหเหนือ ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านปลายราง ตำบลข่อยสูง อำเภอตรอน บ้านน้ำขุม ตำบลนครอิฐ อำเภอศรีนคร
- ทิศตะวันออก เนื่องจากพื้นที่แนวเขตปกครองเป็นรูปสามเหลี่ยม มีทิศเหนือจดทิศใต้และทิศตะวันตกไปจึงไม่มีอาณาเขตติดต่อ
ลาวเวียงบ้านหาดสองแควจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มนุษย์ผิวเหลืองหรือมองโกลอยด์ใต้ มีจำนวนทั้งสิ้น 423 หลังคาเรือน มีประชากรจำนวน 1,674 คน จำแนกเป็นชาย 775 คน หญิง 889 คน หลังคาเรือนเฉลี่ยต่อประชากร อัตราส่วน 1 หลังคาเรือนต่อประชากร 3-4 คน
ความสัมพันธ์ของกลุ่มชาวบ้านตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบเครือญาติ มีการนับญาติทั้งฝ่ายบิดามารดาและมีการนับถือบรรพบุรุษร่วมกัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือเครือญาติโดยสายโลหิตและเครือญาติโดยการสมรส รูปแบบครอบครัวในอดีตจะมีลักษณะที่เป็นวงจรครอบครัวเดี่ยวมาสู่ครอบครัวขยายจากนั้นจะเริ่มเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้งที่มีการพัฒนาหมุนเวียนต่อเนื่อง ครอบครัวเดี่ยวจะมีสมาชิกเฉลี่ย 5-6 คน ผู้เป็นพ่อจะทำหน้าที่หลักเป็นส่วนใหญ่
ลาวเวียงมีองค์กรที่เป็นสถาบันการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับหมู่บ้านและตำบลทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กำนันและผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างชุมชนกับทางราชการโดยตรงอยู่เสมอ แต่จะมีการประสานร่วมมือ กับผู้นำอย่างไม่เป็นทางการในชุมชนด้วย
ในอดีตเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ มีลักษณะความผูกพันอยู่กับการผลิตทางการเกษตรภายในครัวเรือนและชุมชนเป็นหลัก ได้แก่ การทำนาปลูกข้าว การปลูกพืชไร่บางชนิดรวมถึงการปลูกพืชยืนต้นจำพวกไม้ผลและเลี้ยงสัตว์ เช่น โคเนื้อ ไก่ เป็นต้น โดยมากเป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในครัวเรือนและชุมชน ส่วนที่เหลือจะนำไปแลกเปลี่ยนหรือขายให้กับชุมชนข้างเคียง โดยมีปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน เทคโนโลยีการผลิตขั้นพื้นฐาน และทุน ซึ่งแต่เดิมมิได้จัดอยู่ในรูปแบบการสะสมทุนในลักษณะที่เป็นเงินตรา แต่อยู่ในรูปแบบของการนำผลิตผลหรือเมล็ดพันธุ์ที่เหลือจากการบริโภคไปขายหรือแลกเปลี่ยนกันภายในและภายนอกชุมชน โดยเฉพาะสิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่สามารถผลิตได้ในชุมชน ต่อมาเมื่อมีระบบการผลิตเพื่อการค้าที่มีเงินเป็นปัจจัยในการกำหนดราคาสินค้ามีตลาดเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นส่งผลให้ชาวบ้านต้องใช้ความพยายามในการเพิ่มผลผลิตเพื่อส่งออกให้กับตลาดภายนอกชุมชนมากขึ้น
วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ประชาชนหาดสองแควยังคงร่วมกันอนุรักษ์ไว้ เช่น กิจกรรม “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ “การหาบสาแหรก” กล่าวได้ว่า เป็นกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวเวียงในพื้นที่ชุมชนหาดสองแควที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยเป็นการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ในยามเช้าพระสงฆ์จากวัดหาดสองแคว และชาวบ้านที่มารอตักบาตรก็จะใส่บาตรเฉพาะข้าวสุก โดยไม่มีกับข้าวใส่บาตร แต่จะนำกับข้าวคาวหวานอื่นๆ ตามไปถวายพระที่วัดภายหลัง ซึ่งแต่เดิมจะมีนางหาบ นายหาบ ที่เป็นชาวลาวเวียงภายในหมู่บ้าน แต่งกายชุดลาวเวียง เข้าร่วมกิจกรรมนี้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
โดยเมื่อเริ่มเช้าของวัน (ประมาณ 05.30-06.00 น.) ชาวบ้านที่อยู่ท้ายหมู่บ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณ เพื่อจะได้ออกมายืนรอตักบาตรเฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) ทั้งนี้เมื่อพระสงฆ์เดินกลับวัดไปแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางบนแป้นไม้หน้าบ้าน จากนั้นก็จะมีคน “หาบสาแหรกไม้คานสายละ 34 คน” นำสำรับอาหารของแต่ละบ้านที่ว่างบนแป้นไม้เหล่านั้นหาบไปถวายพระสงฆ์ที่วัดและหลังจากที่คนหาบจังหันไปยังวัดแล้วก็จะจัดเรียงอาหารลงถาดโดยไม่ต้องถ่ายถ้วยชาม ผู้ชายจะทำหน้าที่ประเคนอาหารพระแล้วนั่งรอจนพระฉันเสร็จ เมื่อพระให้ศีลให้พรแล้วก็จะนำอาหารมากิน ส่วนที่เหลือก็ส่งกลับเจ้าของเดิม ถ้าถ้วยอาหารของใครหมด คนหาบก็จะตักข้าวสุกใส่ให้จนเต็มถ้วย จากนั้นจะหาบถ้วยอาหารไปวางคืนไว้ตามแป้นไม้หน้าบ้านตามเดิมโดยไม่ผิดชามหรือผิดบ้าน นอกจากนี้การดำเนินชีวิตของชาวลาวเวียงในชุมชนหาดสองแควส่วนใหญ่ เริ่มแรกตื่นนอนในตอนเช้าจะตื่นขึ้นมาทำบุญตักบาตรหลังจากนั้นประชาชนจะแยกย้ายไปทำงานของตนเอง พอมีเวลาว่างก็จะมานั่งร้องเพลงหรือพูดคุยกัน เป็นอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน ยกเว้นแต่ก็เมื่อพระมีกิจนิมนต์
ทุนวัฒนธรรม
ด้านประเพณี
ประเพณีไหลแพไฟ ประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำที่นำความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวลาวเวียงมีความเป็นอยู่ที่สงบ ร่มเย็น ดำรงตนภายใต้ความมีน้ำใจเอื้ออาทร แบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ประเพณีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำน่าน งานย้อนรอยการเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 จัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวลาวเวียงในชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานและสืบทอดสิ่งต่าง ๆ นี้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้กับลูกหลาน ด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมลาวเวียงสไตล์ ส่งผลทำให้ชุมชนลาวเวียงหาดสองแควเป็นที่รู้จักคนนอกอย่างแพร่หลาย ด้านวิถีชีวิตทำกินผูกพันอยู่กับการเกษตร การประมง เลี้ยงสัตว์ ดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ในชุมชนหาดสองแควตั้งแต่อพยพเข้ามาจากรุ่นบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันหมู่บ้านหาดสองแควได้มีศิลปะ หัตถกรรม ในเรื่องของการจักสาน การทอผ้า การสานแห สานสวิง กลองยาว เพลงพื้นบ้าน เพลงแห่นาค เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อของศาสนาเป็นหลัก โดยการบูชาเทพเจ้า เป็นวิถีที่ทำเฉพาะพื้นที่
ด้านอาหารพื้นถิ่น
ชุมชนหาดสองแคว (ลาวเวียง) นั้นขึ้นชื่อเรื่องอาหารที่มีรสชาติที่จัดและร้อนแรง ซึ่งเป็นอาหารวัฒนธรรมของชุมชนลาวเวียง ตำบลหาดสองแคว ได้แก่ อั่วพริก แกงหยวก แจ่วหม้อ ขนมดาดกระทะ เป็นต้น
ด้านกิจกรรมและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียงหาดสองแคว ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ที่ 1-2 จัดขึ้นทุกวันศุกร์และเสาร์แรกของเดือน เปิดตลาดตั้งแต่เวลา 15.00-20.00 น. เป็นพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนตำบลหาดสองแควได้มาแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่าง ๆ มีการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมและเกษตรกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงการสาธิตทางวัฒนธรรมด้านอาชีพ ความรู้เชิงช่างภูมิปัญญาชาวบ้านและปราชญ์ท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านและกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนลาวเวียง นำมาซึ่งแหล่งรายได้ที่สุจริต เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในชุมชนลาวเวียงหาดสองแคว และจากชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ และสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีในระดับชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการปลุกจิตสำนึกร่วมของคนในชุมชน จุดเด่นของถนนสายวัฒนธรรม บรรยากาศภายในตลาดเป็นการจำลองตลาดย้อนยุคของชาวลาวเวียง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการร้านค้าแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง เสื้อสีขาว นุ่งผ้าซิ่นสีต่าง ๆ ใส่งอบ ใช้ร่มผ้าสีขาว และแคร่ไม้ไผ่ปูทับด้วยสื่อกกในการตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นและไม่เหมือนใครของชาวลาวเวียงหาดสองแคว ทั้งใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติเป็นภาชนะใส่สินค้าและอาหาร แทนการใช้กล่องโฟมถุงพลาสติก และสินค้าที่จำหน่ายภายในตลาดเป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทางวัฒนธรรม งานประดิษฐ์ Handmade เท่านั้น
ด้านสิ่งปลูกสร้าง สถาปัตยกรรม และโบราณวัตถุ
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุไว้มิให้สูญหายไป และให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกลุ่มแกนนำในชุมชนได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งองค์ความรู้ในเรื่องของวิวัฒนาการการเปลี่ยนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และนอกจากนั้นยังเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คนกับสังคมและคนกับแหล่งเรียนรู้ กล่าวคือศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื้อหาภายใน เก็บรวบรวมประวัติความเป็นมา สิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะเก่าแก่ของตำบลหาดสองแคว เพื่อจัดแสดงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลต่อไป รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ประจำวัน และพระพุทธรูปจากชาวบ้านที่นำมาบริจาคไว้ สิ่งของทุกชิ้นจะมีชื่อเจ้าของเดิมกำกับไว้ นอกจากนี้บ้านหาดสองแควเต็มไปด้วยวัดเก่าแก่คู่ชุมชน อย่างวัดบ้านแก่งใต้ ที่เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่ออกแตก” เก่าแก่มาตั้งแต่ราวกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเล่ากันว่าครั้งพม่ายกทัพมาตีและยึดเมืองไว้เหล่าชาวบ้านในอดีตช่วยกันก่อปูนปิดองค์พระพุทธรูปศิลาแลงไว้ด้านในขณะที่วัดคลึงคราช คือ วัดโบราณที่เล่าขานตำนานที่ตั้งว่าอยู่ในเมืองของชูชก ตามพระเวสสันดรชาดก
วัดบ้านแก่งใต้ วัดบ้านแก่งใต้ เป็นวัดเก่าแก่อายุประมาณ 300 ปี แต่เดิมวัดตั้งอยู่กลางลำน้ำน่าน แต่กระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้ตลิ่งพัง จึงต้องย้ายมาสร้างใหม่ในสถานที่ปัจจุบัน วัดนี้ยังเคยเป็นสถานที่ฝึกมวยของพระยาพิชัยเมื่อครั้งท่านยังเป็นเด็ก นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ขนาดหน้าตัก 3.80 เมตร สูง 4.50 เมตร เนื่องจากอุโบสถวัดแห่งนี้ สร้างมาประมาณ 60 ปีแล้ว เกิดการชำรุด ทางวัดจึงบูรณะองค์พระประธานหลวงพ่อเพชร ขณะที่ช่างจากจังหวัดพิจิตรทำการซ่อมแซมองค์พระประธานอยู่นั้น ก็พบว่ามีปูนจำนวนมากหลุดร่วงออกจากบริเวณท้องของพระประธาน แลพบว่ามีเศียรพระซ่อนอยู่ข้างใน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระอกแตก” ต่อมามีผู้เสนอให้เรียกชื่อว่า “พระพุทธซ้อน”
วัดคลึงคราช วัดคลึงคราช (คะลึงคะราช) หมู่ 4 บ้านเด่นสำโรง ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นโบราณสถานประเภทวัดที่มีโบสถ์เก่าแก่ อายุ 109 ปี ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปกรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ เนื่องจากเป็นศิลปะแบบลาวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง หนึ่งเดียวในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร สูง 10 เมตร เป็นโบสถ์แบบมหาอุด มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียง
ด้านเดียว มีหน้าต่าง 2 ด้านรวม 6 ช่อง และมีสิงห์คู่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้า หลังคามุงด้วยสังกะสี โดยปัจจุบันมีสภาพที่ทรุดโทรมและแตกร้าวแยกออกจากกัน รอวันถล่ม เป็นที่น่าหวาดกลัวและเป็นอันตรายต่อ
ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ไปทำบุญ ทางวัดใช้ลวดสลิงขึงรัดรอบตัวอุโบสถเอาไว้ พร้อมนำไม้และเสาปูนช่วยค้ำยันผนังด้านทิศเหนือ ที่เอียงและทรุดตัว เพื่อไม่ให้ตัวอาคารของโบสถ์พังถล่มลงมา และห้ามไม่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว หวั่นโบสถ์ถล่มจะได้รับอันตราย อุโบสถดังกล่าวก่อสร้างในปี พ.ศ. 2450 โดยหลวงพ่อพุ่ม จันทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดคลึงคราช พระเกจิและพระนักเทศน์ชื่อดังของจังหวัดอุตรดิตถ์ และพุทธศาสนิกชนชาวตำบลหาดสองแคว ตามภูมิปัญญาของชาวลาวเวียงจันทน์ คือ อิฐทุกก้อนใช้ดินเผาจากการขุดบ่อเลี้ยงปลาภายในวัด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่มีเสาและโครงสร้างหลังคาใช้ไม้สัก เพื่อใช้เป็นสถานที่ในกิจกรรมของสงฆ์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา หลังกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน ตามระเบียบในรัศมีใกล้เคียง 20 เมตร ห้ามมีการก่อสร้างและดำเนินการใด ๆ ทำให้อุโบสถถูกปล่อยร้าง ทางวัดไม่สามารถเข้าไปพัฒนาหรือปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าปัจจุบันนี้ได้ จึงอยากให้ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบและเร่งซ่อมแซมให้โดยไว เพราะหวั่นพังทลายลงมา และหวั่นเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไปที่แวะเข้ามาท่องเที่ยวภายในวัด อย่างไรก็ตามวัดแห่งนี้ ถูกผูกและเล่าเรื่องตั้งอยู่ในเมืองตาชูชก ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมากับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ในชาดกเรื่องพระเวสสันดร โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชก 1 ใน 13 กัณฑ์ เทศมหาชาติพระเวสสันดรชาดก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพุทธศาสนาของนักเรียน นักศึกษา จัดคณะมาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ภาษาลาวเวียง
ระบบเสียงภาษาลาวเวียง ประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว 20 หน่วยเสียง สามารถปรากฏเป็นพยัญชนะท้ายคำได้ 9 หน่วยเสียงและมีพยัญชนะควบกล้ำ 2 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระ 21 หน่วยเสียง หน่วยเสียงวรรณยุกต์มีการแตกตัวเป็นสามและมีจำนวนหน่วยเสียง 5 หน่วยเสียง ลักษณะโครงสร้างพยางค์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ โครงสร้างพยางค์เดี่ยว โครงสร้างสองพยางค์และโครงสร้างหลายพยางค์
ชาวบ้านหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์ เชิญชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสประเพณีหาบจังหัน และวิถีชีวิตลาวเวียง ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน 1 ใน 50 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีต้นแบบระดับประเทศทุกเช้าที่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีชาวพุทธมารอใส่บาตรกันตลอด 2 ข้างทางเหมือนกับพื้นที่อื่น แต่ที่ไม่ธรรมดา คือ ที่นี่มีประเพณีการตักบาตรหาบจังหัน ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเห็น หรือได้ยินมาก่อนในชีวิต นายวันชัย รุ่งเรืองธรรม กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน บ้านหาดสองแคว กล่าวว่า การตักบาตรหาบจังหัน เป็นวัฒนธรรมแบบชาวลาวเพราะผู้คนใน ท้องถิ่นมีเชื้อสายลาวเวียงหรือเชื้อสายของชาวลาว จากเมืองเวียงจันทน์ โดยทุกๆ เช้าพระสงฆ์ออกบิณฑบาต จะรับไปเฉพาะข้าวสวย ส่วนกับข้าวนั้น ชาวบ้าน เรียกว่า นางหาบ ใส่เสื้อสีขาว นุ่งผ้าซิ่น จะหาบจังหัน หรือสาแหรก ตามไปถวายที่วัด ซึ่งเป็นไปตามจิตศรัทธา และมีความเชื่อว่ายิ่งหาบหนักเท่าไหร่ก็ยิ่งได้บุญมากเท่านั้น ส่วนบ้านไหนติดภารกิจเข้าไร่ ไปนา ก็จะนำกับข้าวใส่ถ้วยไปวางไว้ที่แป้นไม้หน้าบ้าน นางหาบทั้งหลายก็จะช่วยนำไปถวายพระให้ หลังจากทำบุญเสร็จก็จะนำถ้วยกลับมาวางคืนไว้ที่เดิม ยกเว้นวันพระที่พระสงฆ์ไม่ได้ออกบิณฑบาต ชาวพุทธในพื้นที่ก็จะหาบจังหันไปทำบุญใส่บาตรกันที่วัด ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านหาดสองแควสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นอกจากการตักบาตรหาบจังหัน ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสได้ทุกเช้า ที่นี่ยังพูดคุยกันด้วยภาษาลาวเวียง มีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น อั่วบักเผ็ด หรือพริกใหญ่สอดไส้หมูทอด ที่หากไม่ได้ชิม ถือว่ามาไม่ถึงหาดสองแคว โดยที่นี่มีโฮมสเตย์มาตรฐานกว่า 20 หลัง รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวลาวเวียงอย่างใกล้ชิด ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว วัฒนธรรมที่แตกต่างโดยไม่ต้องปรุงแต่ง ชุมชนเข้มแข็ง การบริหารจัดการที่เป็นระบบ ทำให้บ้านหาดสองแคว ได้รับเลือกเป็นต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
ทุกวันศุกร์แรกของเดือน ในบรรยากาศริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกในหมู่บ้าน ประดับประดาจนงดงาม ขนม และอาหารเรียงรายตามแผง และเต็มไปด้วยเสียงร้องรำทำเพลงในภาษาลาวอันมีเอกลักษณ์ ผู้คนในพื้นที่พร้อมที่จะให้ข้อมูล หรือ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้ที่มาท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนลาวเวียงบ้านหาดสองแคว และสามารถร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นลาวเวียง
กิตติภัต นันท์ธนะวานิช. (2545). การศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมของชุมชนลาวเวียง กรณีศึกษา หมู่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์. มหาวิทยาลัยมหิดล.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2548). ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/
สมศักดิ์ แก้วนุช. (2566). บ้านหาดสองแคว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://wikicommunity.sac.or.th/