Advance search

“ไทพวนบ้านหม้อ” เป็นคนขยันทํามาหากิน ชอบทําบุญทําทาน โดยมากอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ดังคำกล่าวว่า “กิ๋นข๋าวฮ่วมพา กิ๋นปลาฮ่วมถ้วย กิ๋นกล้วยฮ่วมหวี กิ๋นปีฮ่วมกาบ อาบน้ำฮ่วมท่า” แสดงถึงความรักความผูกพันในครอบครัว และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

บ้านหม้อ
บ้านหม้อ
ศรีเชียงใหม่
หนองคาย
อบต.บ้านหม้อ โทร. 0-3659-9846
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2024
บ้านหม้อ


“ไทพวนบ้านหม้อ” เป็นคนขยันทํามาหากิน ชอบทําบุญทําทาน โดยมากอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ดังคำกล่าวว่า “กิ๋นข๋าวฮ่วมพา กิ๋นปลาฮ่วมถ้วย กิ๋นกล้วยฮ่วมหวี กิ๋นปีฮ่วมกาบ อาบน้ำฮ่วมท่า” แสดงถึงความรักความผูกพันในครอบครัว และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

บ้านหม้อ
บ้านหม้อ
ศรีเชียงใหม่
หนองคาย
43030
17.96211736
102.5249961
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ

ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์พวน "ชาวพวน" กล่าวถึง "ขุนบรม" หรือ "บูลม" เป็นผู้สร้างแค้วนสิบสองจุไทโดยการรวบรวมอาณาดินแดนบริเวณทางเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน (สปป.ลาว) ซึ่งอดีต เมืองพวน” เป็นหนึ่งในสามอาณาจักรใหญ่ของลาวบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง มีความสำคัญเช่นเดียวกับเมืองเวียงจันทร์ทางตอนใต้ เมืองหลวงพระบางทางตอนกลาง และ “เมืองพวน” ทางตอนเหนือ ครั้งอาณาจักร “สยาม” เข้าครอบครองลาวจึงนำพาเชลยกลับเมืองเพื่อเป็นแรงงานด้านการสู้รบและการผลิต อย่างไรก็ดีถึงแม้จะตั้งถิ่นฐานยังอาณาจักรสยามแล้วก็ตาม “คนพวน” ยังคงรักษา ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีตามแบบวิถีดั้งเดิม ปัจจุบัน “กลุ่มชาติพันธุ์พวน” มีการตั้งถิ่นฐานกระจายหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย

การศึกษาความเป็นมา “กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน” ชุมชนบ้านหม้อ ตําบลบ้านหม้อ อําเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย โดย สนอง เข็มพรหมมา (2560) พบว่า เดิมอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ในเขตแขวงหลวงพระบาง เข้ามาอาศัยในพื้นที่แขวงเวียงจันทน์ ต่อมาจำนวนผู้คนที่เข้ามาอาศัยเริ่มมีจำนวนมากขึ้น “นายหม้อ” จึงชักนำให้ผู้คนเดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ ณ บ้านหม้อในปัจจุบัน มีการตั้งถิ่นฐานติดแม่น้ำโขงจนเป็นที่มาของสํานวน “บ้านม้อท่า นาตีนบ้าน” แปลว่า “หมู่บ้านติดกับแม่น้ำ นาติดกับบ้าน”

ปี พ.ศ. 2380 คนไทพวน ร่วมใจกันสร้าง “วัดลําดวน” ปัจจุบันคือ “วัดธรรมเจดีย์” ระหว่างชุมชนบ้านหม้อกับฝั่งเวียงจันทร์ มีเกาะกลางลำน้ำโขงเรียกว่า “ดอนเสื่องชู้” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ในช่วงสงครามฮ่อ ผู้ชายจะนำผู้หญิงและเด็กมาซ่อน (เสื่อง ภาษาพวนหมายถึง ซ่อน) ปัจจุบันดอนเสื่องชู้เพี้ยนเป็นเป็นดอนชิงชู้

ด้านอุปนิสัยของ “ไทพวนบ้านหม้อ” มีลักษณะเป็นคนขยันทํามาหากิน ชอบทําบุญทําทาน มักอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ดังคำกล่าวว่า “กิ๋นข๋าวฮ่วมพา กิ๋นปลาฮ่วมถ้วย กิ๋นกล้วยฮ่วมหวี กิ๋นปีฮ่วมกาบ อาบน้ำฮ่วมท่า” ซึ่งเป็นการแสดงถึงความคิด ทัศนะของคนพวนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากล่าวคือ เวลาจะกินข้าวทุกคนจะต้องมากินข้าวพร้อมกันเป็นวงใหญ่ เป็นการแสดงถึงความรักความผูกพันในครอบครัว และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

คนพวน เป็นคนจิตใจดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน เห็นได้จากงานบุญต่าง ๆ เช่น บุญเลี้ยง บุญเข้าพรรษาบุญออกพรรษา บุญเฮือนดี (งานศพ) หรือบุญผะเหวด ก่อนถึงวันทำบุญ ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านก็จะมาโฮม (ตุ้มโฮม) กันที่บ้านงานเพื่อวางแผนการช่วยงานโดยที่เจ้าภาพไม่ได้เชิญ ทุกคนมาด้วยความเต็มใจต่างนำข้าวปลาอาหารไปช่วยงาน ใครมีข้าวก็เอาข้าวไป ใครมีกล้วย หิ้วกล้วยไป ใครมีมะพร้าว มะละกอ ต้นหอมผักชี ก็จะติดไม้ติดมือไป หรือใครไม่มีอะไรก็จะช่วยแรง ทุกคนจะช่วยงานบุญอย่างมีความสุข แสดงออกถึง “ฮักแพง แบ่งปัน” ของไทพวน ดังคำผญาในชุมชน “ชี้นไป ปลามา อันใดแซบ แบ่งกันกิ๋น กิ๋นน้อยบ่ตาย กิ๋นหลายเป็นข้อยเพิ่น” (แปลว่า เนื้อไป ปลามา อันไหนอร่อยก็แบ่งกันกิน กินน้อยไม่ตาย กินมากเป็นทาสเขา) เป็นคำสอนที่สอนลูกหลานสืบมา แสดงให้เห็นว่าคนพวนเป็นคนมีน้าํใจ เอื้อเฟื้อแบ่งปันเป็นรากฐาน 

ชุมชนไทพวนบ้านหม้อ ห่างจากที่ว่าการอำเภอศรีเชียงใหม่ ประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดหนองคายประมาณ 65 กิโลเมตร ตำบลบ้านหม้อ มีพื้นที่ประมาณ 23 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 14,410 ไร่ ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ หมู่บ้านที่สังกัดตำบลบ้านหม้อ ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านหม้อ หมู่ที่ 2 บ้านหม้อ หมู่ที่ 3 บ้านป่าสัก หมู่ที่ 4 บ้านท่ากฐิน หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งสว่าง หมู่ที่ 6 บ้านยางคำ หมู่ที่ 7 บ้านหม้อ หมู่ที่ 8 บ้านหม้อ

ข้อได้เปรียบของบ้านหม้อคือ แม่น้ำโขง เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่มีคลองชลประทานผ่านไหลผ่านจำนวน 6 หมู่บ้าน สามารถทำการเกษตรกรรมได้ตลอดปี ตำบลบ้านหม้อมีอาณาเขตติดต่อดังต่อไปนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลหนองปลาปาก อำเภอศรีเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่

ไทพวนบ้านหม้อ มีลักษณะครอบครัวขยาย ความสัมพันธ์ในแบบเครือญาติ ช่วง 30 ปีที่ผ่าน หนึ่งหลังคาเรือนจะประกอบด้วยหลาย สมาชิกหลายครอบครัวครอบครัว ลักษณะครอบครัวใหญ่ มี ปู ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ทำหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัว มีการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรมโดยมีผู้อาวุโส โดยผู้สูงอายุเป็นผู้นำในการถ่ายทอด

ทว่าปัจจุบันสภาพสังคมครอบครัวเปลี่ยนแปลง จากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อแต่งงานแล้วมีการแยกบ้านอยู่ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในการดำรงชีวิตและเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง กระนั้นก็ตาม “ไทพวนบ้านหม้อ” ยังคงความผูกพันกันมากในกลุ่มเครือญาติ และมีความสัมพันธ์อันดีในหมู่ชาวพวนด้วยกัน สังเกตจากทุก ๆ ปี ไทพวนบ้านหม้อจะเข้าร่วมกิจกรรมทำบุญทอดผ้าป่าร่วมกับพี่น้องไทพวนทั่วประเทศไทยทุกปี คนไทพวนยังคงความเคารพนับถือความเป็นอาวุโส อย่างเคร่งครัดมาจนทุกวันนี้ ชาวบ้านดูแลเอาใจใส่กันสม่ำเสมอเปรียบเสมือนญาติ เนื่องมีความเชื่อว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายเป็นผู้มีพระคุณ 

ไทยพวน

ปฏิทินชุมชนบ้านหม้อ

วิถีชีวิตของชุมชนมีแบบแผนการดำเนินชีวิตตามแนวทางฮีตสิบสอง ที่มีความสัมพันธ์กับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผสมผสานกับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ส่งผลให้ชุมชนมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของแนวทางฮีตสิบสองเพื่อให้คล้องกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน สนอง เข็มพรหมมา (2560) พบว่า หลักการและเนื้อหาที่สำคัญของวิถีชีวิตแนวทาง ฮีตสิบสองของชุมชนบ้านหม้อ ประกอบด้วย

  • บุญประทายข้าวเปลือก ชุมชนบ้านหม้อจัดบุญประทายข้าวเปลือกทุกเดือน 3 ของทุกปี อยู่ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว มุ่งหมายเพื่อรำลึกถึงพระแม่โพสพที่นำความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชนมีกินมีอยู่ รูปแบบพิธีกรรมคือ ชาวบ้านนำข้าวเปลือก ถังใส่ข้าวเปลือก แยกข้าวที่จะปลูกใส่ในถุงเล็ก พร้อมบายศรี 9 ยอด พร้อมเครื่องบูชา ประกอบด้วย ยอดกล้วย ยอดอ้อย ยอดหมาก บุหรี่ ไข่ต้ม 1 ฟอง ข้าวต้มมัด หัวเผือก หัวมัน กล้วยสุก อ้อย ข้าวเหนียว สร้อยแหวน กระจก ดอกไม้ธูปเทียน นำไปประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์สวดมุงคุณ เอาบุญคูนข้าว (กวาดข้าวกองให้สูง) หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนา เป็นการประกอบพิธีสู่ขวัญข้าว เชื่อว่าก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลในกานดำเนินชีวิตแก่ชาวบ้าน ข้าวเปลือกทั้งหมดนำถวายวัดเพื่อเป็นการทำบุญ ส่วนบายศรี ดอกไม้ธูปเทียนชาวบ้านนำกลับไปมัดที่หน้าแงข้าวเพื่อเป็นสิริมงคล
  • บุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ งานบุญเดือนสี่จัดเป็นบุญใหญ่หรือบุญประจำปีของชาวบ้าน ในพิธีมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อถวายแด่พระสงฆ์รวมถึงแขกผู้มาร่วมงาน ชุมชนเตรียมปัจจัยไทยทานสำหรับใส่กัณเทศน์ ซึ่งวัดมีการแบ่งเป็นกองถวายแด่พระภิกษุ สามเณรวัดต่าง ๆ
  • บุญสงกรานต์หรือบุญเดือนห้า ชาวบ้านถือว่าบุญประเพณีสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่วันแรก ชุมชนมีการทำบุญตักบาตรช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายมีการทำน้ำอบน้ำหอม ดอกไม้ธูปเทียน เพื่อทำพิธีพิธีสรงน้ำพระที่วัด จากนั้นนำน้ำพรมหัวลูกหลานเพื่อความอยู่ดีมีสุขตาม นอกจากนี้มีพิธีรดน้ำดำหัวคนเท่าคนแก่ เพื่อแสดงความเคารพและขอพร วันที่ 14 เป็นวันหยุดสมาชิกในชุมชนร่วมเล่นน้ำ วันที่ 15 การขนทรายเข้าวัดเพื่อต่ออายุ ทำลูกเจดีย์รอบ ๆ ฐานเจดีย์ มีความเชื่อว่าการก่อเจดีย์จะได้บุญและทำให้พื้นที่ตรงนั้นของวัดสูงขึ้น
  • บุญเข้าพรรษาหรือบุญเดือนแปด ชาวบ้านเชื่อว่าการทำบุญช่วงเข้าพรรษานั้นได้กุศลมากเหมือนบุญออกพรรษา ชาวบ้านจึงให้ความสำคัญไม่ว่าจะอยู่ถิ่นใด เมื่อถึงฤดูทำบุญต้องกลับบ้านเพื่อร่วมทำบุญร่วมกับญาติพี่น้อง ฤดูเข้าพรรษาชาวบ้านเตรียมเทียนเพื่อนำไปถวายวัด รวมทั้งเครื่องปัจจัยไทยทานต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องสำหรับให้แสงสว่าง อย่างไรก็ดีแม้ปัจจุบันจะเจริญแล้วแต่ชุมชนยังคงรักษาประเพณีการนำเทียน ผ้าอาบน้ำฝนไปถวายวัดเป็นประจำทุกปี
  • บุญข้าวประดับดิน วันแรม 15 ค่ำเดือน 9 การทำบุญเพื่ออุทิศกุศลและอาหารให้แก่ญาติที่ล่วงลับ โดยนำอาหารไปถวายพระและวางไว้ตามพุ่มไม้หรือทางแยก เพื่อให้ผีหรือวิญญาณของผู้ล่วงลับมารับอาหาร โดยการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ
  • บุญข้าวสาก วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ชาวบ้านจะนำอาหารสดและอาหารแห้งใส่ในกรวยข้าวสาก นำไปถวายพระเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแต่วิญญาณผู้ล่วงลับ จากนั้นนำข้าวปลาอาหารวางไว้ตามเรือกสวนไร่นา เพื่อถวายแก่เทวดา ที่รักษาผลผลิตของตน
  • บุญออกพรรษาไหลเรือไฟ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านร่วมกันทำบุญตักบาตรจากนั้นช่วยกันทำเรือไฟที่วัด ในกิจกรรมไหลเรือไฟตามลำน้ำโขง ชุมชนมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของหมู่บ้านไทยพวน รุ่งเช้าวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ชุมชนตักบาตรเทโวพระสงฆ์ทั้ง 5 วัด ในหมู่บ้านมารับบาตรที่วัดโพธิ์ชัย ชาวบ้านยืนแถวเป็นรูปวงกลมขนาดใหญ่เพื่อตักบาตรอาหารแห้งแต่พระภิกษุสงฆ์
  • บุญกฐินหรือบุญเดือนสิบสอง ช่วงนี้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวใหม่จึงพร้อมกันนำเข้าใหม่มาทำบุญ ซึ่งวัดประจำหมู่บ้านต้องมีเจ้าภาพกฐิน ถ้าไม่มีเจ้าภาพชาวบ้านจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพเรียกว่า กฐินสามัคคี การทำกฐินสามัคคีของชาวไทพวนบ้านหม้อ กำหนดกฐินเป็นกองกองละ 999 บาท หรือมากกว่านั้น วิธีการบอกบุญโดยการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันทั้งชุมชนเพื่อให้สมาชิกในชุมชนมาร่วมงานบุญร่วมกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนชุมชนไทยพวนบ้านหม้อ สนอง เข็มพรหมมา (2560) ศึกษาทุนวัฒนธรรมชุมชนไทยพวนบ้านหม้อ พบว่า ทุนวัฒนธรรมด้านอาหาร ทุนวัฒนธรรมการแต่งกาย และทุนศิลปะและการแสดง มีความสัมพันธ์กับชุมชนดังนี้

ทุนวัฒนธรรมอาหาร

วัฒนธรรมอาหารเป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชนไทยพวนบ้านหม้อ ที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขง ทุนวัฒนธรรมด้านอาหารของชุมชนมีแหล่งที่มาจาก "แม่น้ำโขง" และ "ป่า" เช่น ปลาประเภทต่าง ๆ เห็ด หน่อไม้ ส่วนใหญ่นำมาประกอบอาหารประเภทลาบ แกงป่นปลา น้ำพริกปลา ปิ้งย่าง อาหารของชาวไทยพวนบ้านหม้อที่มีติดบ้านทุกครัวเรือนคือ ปลาร้า ซึ่งใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารและใช้เป็นอาหาร เช่น หลนปลาร้า น้ำพริกปลาร้า

อาหารของไททวนบ้านหม้อที่มีชื่อเสียงคือ แจ่วหรือน้ำพริกทำจากปลาซิว แจ่วสูบ และแจ่วหมากเหร่น (น้ำพริกมะเขือเทศ) เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของคนไทยพวน แจ่วหมากเหร่น เครื่องปรุงประกอบด้วย มะเขือเทศ พริกสด ปลาร้า กระเทียม วิธีการทำ เริ่มจากนำกระเทียม หอมแห้ง พริกสดนำทั้งหมดปิ้งไฟ จากนั้นนำมาตำรวมกันใส่หอมป้อม (ผักชี) รับประทานกับปลานึ่ง ปิ้งปลา ปิ้งไก่ กินกับผักประเภทต่าง ๆ

แจ่วสูบ การทำแจ่วสูบของชาวบ้าน เริ่มจากเก็บใบบอนตามทุ่งนาหรือสวน โดยก่อนเก็บต้องพูดว่า “นางหวานเอยนางคันอยู่บ่ นางคันไปเที่ยวบ้านหวานจ้อยอยู่ผู้เดียว” จากนั้นบ่มให้ใบเป็นสีเหลืองแล้วตากแดดให้แห้ง เมื่อแห้งนึ่งจนสุกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ต่อด้วยนำพริกสด กระเทียม หัวหอมแดงและปลาย่างไฟจนสุก นำทั้งหมดมาตำให้ละเอียด แล้วใส่ใบสูบ ใส่เครื่องปรุงจะได้แจ่ว สูตรไทพวน 

อาหารที่ขึ้นชื่อของไทยพวนบ้านหม้ออีกชนิดหนึ่งคือ ปลาส้มทอด ชาวไทยพวนบ้านหม้อทำปลาส้มเองมีทั้งแบบสับเนื้อละเอียด และแบบปลาเป็นตัว ขนมหวานของไทยพวนเช่นบ้านหม้อ ขนมแหนบ ข้าวต้ม ข้าวโล่ง (ต้มข้าวจ้าวใส่น้ำตาลและกะทิ) ข้าวหัวหงอก (ทำจากข้าวเหนียวนึ่งคลุกกับน้ำตาลและมะพร้าวขูด) ขนมกล้วยทำมาจากกล้วยน้ำว้า ข้าวปาด (ขนมเปียกปูน) เป็นต้น

ทุนวัฒนธรรมการแต่งกาย

การแต่งกายของชาวไทยพวนในอดีต ผู้หญิงสวมเสื้อคอกระเช้า นุ่งซิ่นตีนจกสีพื้นแทรกลายขวาง หรือนุ่งซิ่นมัดหมี่ สวมเสื้อรัดตัวแขนยาวถึงข้อมือ กระดุมเสื้อใช้เงินกลมติดเรียงลงมาตั้งแต่คอถึงเอว ผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำ ใส่เสื้อสีดำมีผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือคาดเอว เวลาไปไร่นาสวมเสื้อสีดำหรือสีคราม เมื่อแฟชั่นการแต่งกายเข้ามาในชุมชน ไทยพวนผู้หญิงผู้ชายนิยมสวมเสื้อตามสมัยนิยม แต่ผู้สูงอายุยังแต่งกายเหมือนเดิม

อย่างไรก็ดีช่วง พ.ศ. 2545 คณะกรรมการหมู่บ้านมีแนวคิดในการรักษาการแต่งกายไทยพวน เริ่มจากมีการประชุมเพื่อออกแบบชุดไทยพวนบ้านหม้อ โดยศึกษาการแต่งกายของชุมชนโดยการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน จากนั้นออกแบบชุดประจำไทยพวน หมู่ที่ 7 เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ โดยชุดผู้หญิงใช้ผ้าถุงยาวคลุมตาตุ่มเป็นผ้าฝ้ายสีกรมท่าลายกระจับมีแถบสีแดงเป็นตีนผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกกุ๊นขอบเสื้อด้วยสีแดง ชุดผู้ชายใส่เสื้อคอกลมตัดเย็บด้วยผ้าม่อฮ่อม กางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้าผูกเอวหรือบ่า 

ทุนวัฒนธรรมศิลปะและการแสดง

ชุมชนไทยพวนบ้านหม้อมีศิลปะการแสดงสืบต่อกันมา ในงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ สมาชิกชุมชนจะนำศิลปะการแสดงมาจัดแสดงในงาน อาทิ การฟ้อนรำไทยพวน มักแสดงในเทศกาลบุญประเพณีประจำปี ฟ้อนต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมชุมชน โดยมีการแต่งกายชุดไทยพวน ที่ชุมชนไทยพวนกับโรงเรียนบ้านหม้อร่วมกันอนุรักษ์ รวมถึงการแสดงดนตรีพื้นเมืองของชาวไทยพวน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ พิณ แคน กลองยาว ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ให้เข้ากับเพลงสมัยใหม่ 

อย่างไรก็ดีสมาชิกชุมชนไทพวนบ้านหม้อค่อนข้างมีบุคลิกชอบสนุกสนาน เห็นได้จากงานบุญประเพณีต่าง ๆ เช่นบุญขึ้นบ้านใหม่ บุญแต่งงาน บุญแข่งเรือ บุญเลี้ยงบ้าน เข้าพรรษา ออกพรรษา ชุมชนจะมีกิจกรรมการแสดงร่วมกันหลายกิจกรรม ที่เน้นการแสดงของชาวไทยพวน เช่น ขบวนนางรำแห่เทียนพรรษา ขบวนแห่บุญผะเหวด ขบวนแห่งานมะเขือเทศ ขบวนแห่งานสับปะรดหวาน งานวันออกพรรษา เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้สมาชิกในชุมชนร่วมกันออกแบบตกแต่งขบวนขบวนนางรำอย่างสวยงาม

ภาษาไทพวน เป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ใช้สื่อสารกันในหมู่ไทพวน ทั้งในครอบครัวและระดับชุมชน ภาษาพูดของไทพวนมีสำเนียงเสียงวรรณยุกต์ใกล้เคียงกับภาษาภาคกลางมากกว่าเสียงของชาวภาคอีสานทั่วไป เช่น แม่ ออกเสียงว่า “แม่” ไม่ออกเสียง “แหม่” “น้ำ” ออกเสียงว่า “น้ำ” ไม่ออกเสียง “น่าม”

ภาษาพูดของไทพวนก็ยังมีสําเนียงของภาษาคล้ายเสียงภาษาถิ่นเหนือ อักษร "ร" เป็น "ฮ" ในภาษาพวน เช่น รัก-ฮัก หัวใจ-หัวเจอ / ใคร-เผอ / ไปไหน-ไปกะเลอ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ระบบความเชื่อของชุมชนไทยพวนบ้านหม้อ

ระบบความเชื่อความศรัทธาของชาวไทยพวนบ้านหม้อ สนอง เข็มพรหมมา (2560) พบว่า วัฒนธรรมระบบความเชื่อความศรัทธาของชาวไทยควรบ้านหม้อมี 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2) ความเชื่อในพุทธศาสนา และ 3) คะลำ ซึ่งทั้ง 3 ความเชื่อนี้มีการผสานในวิถีชีวิตและกิจกรรมของชาวไทยพวนบ้านหม้อ ดังนี้

ความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เกิดขึ้นครั้งบรรพบุรุษของชาวไทยพวน ซึ่งผีอยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน คุณค่าความเชื่อเรื่องผีต่อชาวไทยควร คือ การทำหน้าที่ในการยึดเหนี่ยวด้านจิตใจเมื่อมีความทุกข์หรือปัญหา มีการบนบานศาลกล่าวเพื่อขอให้พ้นทุกข์ หรือไปขอพรเพื่อให้สมประสงค์ เมื่อทำแล้วจะเกิดความสบายใจ ความเชื่อที่สำคัญของชุมชนคือ

  • ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่นางอั้ว และการเลี้ยงผีไร่ผีนา ชาวไทยพวนบ้านหม้อถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ชาวบ้านร่วมกันสร้างหอเจ้าแม่นางเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีความทุกข์มีปัญหาชาวบ้านจะไปบนบานศาลกล่าวเพื่อขอให้พ้นจากทุกข์ แก้ปัญหาต่าง ๆ ชุมชนทำบุญเลี้ยงบ้านต่อเจ้าแม่นางอั้วในช่วงเดือนมิถุนายน ของทุกปี
  • เจ้าพ่อหนองตุง (น้องชายเจ้าแม่นางอั้ว) ตามความเชื่อของชาวไทยพวนบ้านหม้อ เจ้าพ่อหนองตุงเป็นน้องชายของเจ้าแม่นางอั้ว ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนในชุมชน แต่เจ้าพ่อหนองตุงดูแลพื้นที่ชุมชนด้านเหนือ การเลี้ยงเจ้าพ่อหนองตุงทำในวันเดียวกันหลังจากเสร็จพิธีเจ้าแม่นางอั้ว ชาวบ้านจะเคลื่อนไปทำพิธีที่เจ้าพ่อหนองตุง

ความเชื่อในพระพุทธศาสนา

  • ชุมชนไทยพวนบ้านหม้อ มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน ชุมชนมีการตั้งศาสนสถานประกอบด้วย วัดโพธิ์ชัย วัดธรรมเจดีย์ วัดอรัญบรรพต วัดวิปัสสนาผาชัน วัดหนองตุง ศาสนาทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ วันโกนและวันพระชาวบ้านจะหยุดการงานเพื่อไปทำบุญยังวัดใกล้บ้าน จุดเด่นของบ้านหม้อคือ ทุกเช้าชาวบ้านออกมาใส่บาตรบริเวณถนนหน้าบ้านของตนเอง พระสงฆ์บิณฑบาตผ่านหน้าหมู่บ้าน แบ่งเป็น 2 สายคือ ถนนสายใหญ่และสายริมโขง ชาวบ้านจนำอาหารคาวหวาน ขนม ข้าวเหนียวมาใส่บาตร

คะลำ

  • ความเชื่อของชาวไทยพวนบ้านหม้อ ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่างความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ยังคงสืบทอดต่อกัน คะลำ ทำหน้าที่เป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติในการใช้ชีวิตของผู้คน เป็นกฎหมายของชุมชน มีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสุข คะลำที่ยังมีการสืบทอด มีดังนี้

ข้อละเว้นข้อห้ามช่วงเข้าพรรษา 

  • ข้อละเว้นข้อห้ามช่วงเข้าพรรษา ได้แก่ ห้ามปลูกต้นไม้เพราะต้นไม้จะไม่เป็นหมากเป็นผล ห้ามตัดต้นไม้เพราะในช่วงเข้าพรรษาห้ามสร้างบ้านเนื่องจากไม่เป็นสิริมงคล เชื่อว่าช่วงเข้าพรรษาจะมีเทวดามาสถิตในต้นไม้ ดังนั้นหากใครนำไม้มาสร้างบ้านจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนครอบครัวไม่สงบสุข
  • ห้ามแต่งงานในช่วงเข้าพรรษา เนื่องจากการแต่งงานมีการเลี้ยง การดื่มกิน ฆ่าสัตว์ในช่วงเข้าพรรษาและเป็นช่วงฤดูฝนจึงไม่สะดวกในการจัดงาน

การจัดงานศพ

  • ชาวบ้านไม่เผาศพสิบห้า หมายถึง สิบห้าค่ำเป็นวันพระห้ามเผาศพ ห้ามเผาศพวัน 2 ค่ำ และ 12 ค่ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนในหมู่บ้านตายเป็นคู่
  • ห้ามเผาศพวัน 9 ค่ำ เพราะเชื่อว่าจะมีคนตายติดต่อกัน 9 ศพในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

วันโกนวันพระ

  • วันโกนวันพระ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามทำงานเสียงดัง ห้ามสีข้าว ห้ามทำงานหนัก ห้ามตอกตะปู เป็นต้น หากใครไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิดต่อเทวดา และใครไม่ปฏิบัติตามก็จะมีเรื่องเดือดร้อนในครอบครัว
  • สงฆ์สิบสี่ หมายถึง สิบสี่ค่ำเป็นวันโกนห้ามทำงานมงคลและอวมงคล

คะลำการใช้ชีวิต

  • แต่งงานเจ็ด หมายถึง ห้ามแต่งงานในวันเจ็ดค่ำ ถ้าแต่งจะเป็นหม้ายหรือหย่าร้างกัน
  • นารีสิบเอ็ด หมายถึง สิบเอ็ดค่ำห้ามโกนจุกลูกสาว
  • นั่งตันประตู นั่งตันขั้นได (ตัน หมายถึง ขวาง) นั่งหมอนนั่งกลางระหว่างผู้เฒ่า
  • ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก คะลำ ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เพราะเป็นทิศที่ให้ผีหรือคนตายนอน
  • กินข้าวโต โสความเพิ่น คะลำ (กินข้าวบ้านตัวเองแต่พูดนินทาคนอื่นมันไม่ดี)
  • กบกินเดือนหรือจันทรุปราคา มีการเคาะถังข้าวสารในขณะที่กบกินเดือน เพื่อความอุดมสมบูรณ์จะมีการตีกลองเคาะระฆัง เคาะต้นมะพร้าวหรือต้นไม้ผล เพื่อให้ออกดอกออกผลสมบูรณ์ เคาะกระเป๋าสตางค์เพื่อให้เพิ่มพูนขึ้น

สนอง เข็มพรหมมา (2560). รูปแบบการฟื้นฟูคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมไทพวนเพื่อเสริมสร้างการตุ้มโฮม ฮักแพง แบ่งปัน : กรณีศึกษาชุมชนไทพวนบ้านหม้อ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.ban-mor.go.th/

อบต.บ้านหม้อ โทร. 0-3659-9846