Advance search

เกาะโตด

ผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพประมง มีการจักสานเสื่อจากต้นเตย

หมู่ที่ 5
บ้านยะระโตดใหญ่
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
สุชาดา ประดับ
19 ก.ค. 2023
พีรญา ธนโรจน์ปภา
12 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
21 พ.ค. 2024
บ้านยะระโตดใหญ่
เกาะโตด

เดิมชื่อว่า ตำบล “เกาะโตด" ต่อมาเปลี่ยนเป็น ตำบล “ยะระโตด" คำว่า"โตด" มาจากภาษามาลายู "ระโตด" หรือ "ลาโตด" แปลว่า สาหร่ายทะเล ต่อมาเกาะนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ตำบล “เกาะสาหร่าย" จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าในอดีตคงมีสาหร่ายมากที่เกาะแห่งนี้ แต่ปัจจุบันสาหร่ายมลดจำนวนลง


ผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพประมง มีการจักสานเสื่อจากต้นเตย

บ้านยะระโตดใหญ่
หมู่ที่ 5
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
91000
6.668604293871708
99.86531287650989
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย

ประวัติความเป็นมาชุมชนเกาะสาหร่ายของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (2554 : 7 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนียน, 2557) ระบุว่า ในสมัยเจ้าเมืองเจ๊ะอับดุลลาห์ (ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด) ผู้ปกครองเมืองในสมัยนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเกาะใหม่ เนื่องจากชื่อเดิม "เกาะโตด" ฟังดูไม่ไพเราะ จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนคําว่า "โตด" ซึ่งมีที่มาจากสาหร่าย มาเป็น "เกาะสาหร่าย" แต่ชาวบ้านในเกาะสาหร่ายหรือแม้กระทั่งชาวบ้านในตัวเมืองสตูลยังคงเรียกกันติดปากว่า "เกาะโตด" หรือ "เกาะโตดใหญ่"

คําว่า "โตด" มาจากภาษามาลายู "ระโตด" หรือ "ลาโตด" "ลาโต๊ส" แปลว่า สาหร่าย ทะเล มีลักษณะเป็นใบพืชสีเขียว มีลักษณะใบเป็นตุ่ม ๆ มักพบตามธรรมชาติแถบฝั่งอันดามัน เป็นสาหร่ายที่เป็นที่มาของชื่อ "ตำบลเกาะโตด" สาหร่ายชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในน้ำเค็ม ซึ่งจะเกาะกลุ่มเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นสาหร่ายสาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Caulerpa racemosa var. corynephora ชื่อวิชาการเรียก สาหร่ายขนนก จังหวัดในพื้นที่ทางภาคใต้จะเรียก "สาหร่ายสาย" วา สาย, ลาโตส หรือลาสาย มักพบตามธรรมชาติแถบฝั่งอันดามัน แถบจังหวัดสตูล ตรัง พังงา โดยจะขึ้นบนก้อนหินและซากปะการังในเขตน้ำขึ้นน้ำลง หรือใน คลองสาขาตามป่าชายเลน ตามพื้นโคลน

ปัจจุบันจะพบมาในคลองเขตตำบลเจะบิลัง อำเภอเมืองสตูล โดยจะอาศัยอยู่ที่ความลึกประมาณ 2-5 เมตร พบมากในช่วงฤดูแล้ง เดือนมีนาคม-พฤษภาคม และจะเริ่มลดลงเมื่อ เข้าหน้าฝนมีสาหร่ายเป็นจำนวนมาก

ส่วนความเป็นมาของชื่อ "เกาะโตด" ในอีกเรื่องราวหนึ่งกล่าวว่า เมื่อก่อนมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับต้นโกงกาง เรียกว่า "ต้นโตด" หรือ "ต้นพังกาหัวสุม" ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากรอบเกาะ จนมองไม่เห็นด้านในเกาะ ชาวบ้านที่แล่นเรือผ่านไปผ่านมา จึงเรียกเกาะแห่งนี้ว่า "เกาะโตด" ซึ่งในอดีตมีการทำสัมปทานป่าไม้ จึงตัดโค่นต้นโตดไปเผาทำฟืนเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปัจจุบันต้นโตดสูญหายไปจนหมดจากเกาะแล้วเช่นกัน

ในอดีตเกาะสาหร่ายเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ชาวประมงที่ออกหาปลา ใช้เกาะแห่งนี้เป็นที่หลบพายุฝนและคลื่นลมทะเล ต่อมาจึงมีผู้คนอพยพมาอยู่ สันนิษฐานว่าบางส่วนเป็นกลุ่มคนที่หนีคดีจากต่างถิ่นมาตั้งรกรากสร้างครอบครัวที่นี่ ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าคนท้องถิ่นดั้งเดิมบนเกาะเป็นชนชาติใด แต่จากคําบอกเล่าของผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาตั้งแต่เกิด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนมุสลิมเชื้อสายอินโดนีเซียหรือมาเลเซียที่ยังไม่เคร่งครัดนักในเรื่องการนับถือศาสนา มีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์และนับถือผี อพยพทางเรือเข้ามาที่เกาะ ใช้ภาษาพูดเป็นภาษามาลายูเนื่องจากพื้นที่แถบนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของแหลมมลายูและยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนเช่นในปัจจุบัน ผู้สูงอายุบนเกาะสาหร่ายหลายคนจึงพูดภาษามลายูได้เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2464 จัดตั้งโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา โดยความร่วมมือของราษฎรและกำนัน เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้น ป. 1-4 ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการในปีแรกเปิดเรียนชั้น ป.1 และขยาย ป.6 ในปีถัดไปจนถึงชั้น ป.4 มีนายถวิล คชเสนีย์ เป็นครูใหญ่

พ.ศ.2475 โรงเรียนหลังเก่าชำรุด ย้ายไปเรียนที่บ้านพักข้าราชการป่าไม้ตำบล ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะสาหร่าย (ปัจจุบันสงวนไว้สร้างสถานีตำรวจตำบล) ในปีนี้นายถวิล คชเสนีย์ย้าย นายรื่นมาเป็นครูใหญ่แทน

พ.ศ. 2482 โรงเรียนได้งบประมาณ 1,600 บาท สร้างอาคารชั่วคราว จำนวน 2 ห้องเรียนสร้างในที่ดินโรงเรียนปัจจุบัน มีนายบุ๋น เตส่วน เป็นครูใหญ่

พ.ศ. 2506 ได้รับเงินงบประมาณจากเขตการศึกษา 2 จำนวน 7,000 บาท สร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก จำนวน 2 ห้องเรียนเป็นอาคารไม้หลังคาสังกะสี และบ้านพักครูจำนวน 1 หลัง

พ.ศ. 2507 ได้รับเงินงบประมาณจากเขตการศึกษา 2 จำนวน 8,000 บาท สร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 พิเศษ (แบบวาตภัย) จำนวน 1 หลัง 4 ห้องเรียน ไม่มีฝา หลังคามุงสังกะสีและบ้านพักครูแบบกรมสามัญจำนวน 1 หลัง

พ.ศ. 2513 ทางโรงเรียนได้รับอนุญาตจากจังหวัดให้ขยายชั้นเรียนจาก 4 ปี เป็น 7 ปี คือเปิดสอนตั้งแต่ ป.1 – ป.7 ปีนี้เปิดสอนชั้น ป.5 มีนักเรียนเข้าเรียนจำนวน 19 คน ในปีเดียวกันนี้ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณ 240,000 บาท สร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก จำนวน 6 ห้องเรียนเป็นอาคารไม้หลังคามุงกระเบื้องลอยคู่

พ.ศ. 2514 ได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครู โรงฝึกงานและซ่อมแซมดังนี้ สร้างบ้านพักครู 1 หลัง แบบกรมสามัญเงิน 25,000 บาท สร้างโรงฝึกงาน 1 หลัง เงิน 45,000 บาท ซ่อมแซมอาคารเรียน ป.1 ก จำนวน 2 ห้องเรียน เงิน 5,000 บาท

พ.ศ. 2519 ทางโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากสภาตำบลเกาะสาหร่าย ดึงเงินงบประมาณจำนวน 40,000 บาท สร้างรั้วลวดหนาม เสาคอนกรีตล้อมรอบที่ดินโรงเรียน (20 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา) ในปีนี้ทางโรงเรียนชนะการประกวดระดับจังหวัดได้ที่ 2 ประเภทโรงเรียนดีเด่นได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท

พ.ศ. 2520 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนและซ่อมบ้านพักครู ดังนี้ สร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก จำนวน 4 ห้องเรียนเป็นตึก ใช้งบประมาณ 200,000 บาท และสร้างบ้านพักครูแบบกรมสามัญ มีห้องน้ำห้องส้วม เป็นเงิน 65,000 บาท สร้างส้วมแบบ 401 จำนวน 4 ที่นั่ง เงิน 20,000 บาท

พ.ศ. 2532 ได้รับเงินงบประมาณสร้างถังเก็บน้ำฝนซิเมนต์ แบบ ฝ.30 พิเศษ จำนวน 1 ที่เป็นเงิน 40,000 บาท ในปีนี้โรงเรียนชนะการประกวดกิจกรรมการเรียนการสอน โครงการอาหารกลางวันดีเด่น ที่ 2 ระดับจังหวัด

พ.ศ. 2535 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตามนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาล เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 ใช้อาคารชั่วคราวซึ่งราษฎรในหมู่บ้านช่วยกันสร้าง ในวงเงิน 30,000 บาท (ปัจจุบันปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน)

พ.ศ. 2535 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.105/29 จำนวน 1 หลัง 2 ชั้น แต่สร้างชั้นบน จำนวน 4 ห้อง เป็นเงิน 1,994,500 บาท สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ชั้นล่างโปร่ง

พ.ศ. 2546 ได้รับจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนหลังคาอาคารเรียนวาตภัยจากสังกะสี เป็นหลังคากระเบื้องลอนคู่

พ.ศ. 2546 ได้รับงบประมาณจัดสรรติดตั้งไฟฟ้าภายในโรงเรียน

พ.ศ. 2549 โรงเรียนร่วมกับชาวบ้านเกาะสาหร่ายร่วมบริจาคสร้างศาลา 8 เหลี่ยม ราคาประมาณ 400,000 บาท

พ.ศ. 2550 ได้รับงบประมาณ ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมระบบประปาจากสภากาชาดไทย เป็นเงิน 2,105,000 บาท

พ.ศ. 2551 ได้รับงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา จัดสร้างถนนคอนกรีต ภายในโรงเรียนซ่อมแซม บ้านพักครู จัดสร้างบ้านพักครู จำนวน 8 ยูนิต สร้างอาคารอเนกประสงค์ จัดทาสีอาคารเรียนใหม่โดยใช้งบประมาณ 18,799,800 บาท และอาคารคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยห้องคอมพิวเตอร์และห้องกระจายเสียงวิทยุ

พ.ศ. 2556 ได้บริจาคอาคารเรียนแบบ สปช.105/29 2 ชั้น 5 ห้องเรียนใต้ถุนโล่ง มูลค่า 7,000,000 จากมูลนิธิร่วมกตัญญู

ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ได้มีกลุ่มเรือ "นายทุนจากภายนอกตำบล" เข้ามาทำประมงบริเวณชายฝั่ง โดยการใช้อวนลากและอวนรุน หรือการไดหมึก รวมทั้ง เรือปั่นไฟล่อปลากระตัก ซึ่งเป็นวิธีการจับสัตว์น้ำ แต่ทำให้สัตว์น้ำชายฝั่งลดน้อยลง ชาวประมงขนาดเล็กจับสัตว์น้ำได้น้อยลงจึงต้องออกทำประมงในทะเลที่ไกลขึ้น การลงทุนที่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้หนี้สินมีมากขึ้น จนได้รับการแนะนําจากหน่วยงานพัฒนาเอกชนประมงชายฝั่งแกนนําในหมู่บ้าน กํานันในพื้นที่ กลุ่มประมงชายฝั่ง จึงร่วมมือกันแก้ปัญหา ผลักดันจัดการด้านอาณาเขตการทำประมงภายในพื้นที่ชายฝั่งตามที่กฎหมายกำหนด จนปัญหาลุล่วงไปได้ ระดับหนึ่ง ส่วนการทำนาข้าวยุคนี้ครัวเรือนที่ทำนา เริ่มพัฒนารูปแบบวิธีการทำนาจากเดิมที่ใช้วัวไถนาหรือใช้ควายเหยียบนาทำเทือกดำนามีบางครัวเรือนซื้อรถไถนาแบบเดินตามเข้ามาใช้และหากมีเวลาก็รับจ้างไถนาไปด้วย ปัจจุบันยังคงมีบางครัวเรือนที่ยังคงทำนาเพื่อบริโภค แต่ก็มีจำนวนไม่มากนักเพราะสะดวกที่จะซื้อหามากกว่า ในยุคนี้การเดินทางจากเกาะสาหร่ายไปสู่ตัวเมืองสตูลใช้เรือโดยสารทำให้มีการเคลื่อนย้ายทั้งผู้คนและทรัพยากรระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2554 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ส่องไฟฟ้าเข้าเกาะสาหร่ายด้วยระบบสายเคเบิ้ลใต้น้ำ ทำให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าไว้ใช้พร้อมอุปกรณ์อํานวยความสะดวกของครัวเรือน และชุมชน เช่นเดียวกับชุมชนเมืองทั่วไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภคของชุมชนครั้งสำคัญ 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2557 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ แม้จะไม่ส่งผลกระทบแก่ชีวิตของชุมชนในพื้นที่ แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับเครื่องมือจับสัตว์น้ำ จําพวก อวน ไซและกระชังปลา หลังจากนั้นได้มีหน่วยงานราชการ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาให้การช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาดังกล่าวหลายองค์กร เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา สภากาชาดไทย และหน่วยงานในจังหวัดสตูล ต่อมามีโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดสตูล โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสตูล มูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

 

ชุมชนเกาะยะระโตดใหญ่ เป็นชุมชนหนึ่งในพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวอำเภอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสตูลประมาณ 35 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดสตูลประมาณ 30 กิโลเมตร และเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลปากน้ำ ตำบลละงู (อำเภอละงู) และตำบลสาคร (อำเภอท่าแพ)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเจ๊ะบิลังและตำบลตันหยงโป (อำเภอเมืองสตูล)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลตันหยงโป (อำเภอเมืองสตูล) และรัฐเกอดะฮ์ (ประเทศมาเลเซีย)
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ กับทะเลอันดามัน

ลักษณะภูมิประเทศ มีสภาพเป็นพื้นที่เกาะ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ลักษณะดิน เป็นดินเหนียวใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร

ลักษณะภูมิอากาศ เกาะยะระโตดใหญ่ได้รับอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีสภาพภูมิอากาศเป็น 2 ฤดู คือ 

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนช่วงนี้อากาศร้อน 
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม จะมีฝนตกเกือบตลอดฤดูกาล

การคมนาคม

เกาะยะระโตดใหญ่มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะ ที่อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 15 กิโลเมตร การคมนาคมเข้าสู่พื้นที่จำเป็นต้องเดินทางด้วยเรือ ปัจจุบันการเดินทางสู่พื้นที่ตำบลเกาะยะระโตดใหญ่ จะมีเรือโดยสารที่เดินทางสัญจรให้บริการอยู่ตลอดทุกวัน โดยมีการเดินทางที่สะดวกและมีความปลอดภัย การเดินทางภายในเกาะยะระโตดใหญ่สามารถเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ รถจักรยานยนต์สามล้อ จักรยาน หรือเดินเท้า โดยมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก เป็นถนนคอนกรีตเส้นทางเชื่อมต่อรอบหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 (เกาะยะระโตดใหญ่) ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร 

การคมนาคมทางน้ำ การเดินเรือ มีเส้นทางเดินเรือที่สำคัญอยู่ 2 เส้นทาง ได้แก่

1. เส้นทางการเดินเรือ จากท่าเรือเจาะบิลัง ถึง เกาะสาหร่าย (ยะระโตดใหญ่) ใช้เวลา 40 นาที ระยะทาง 14 กิโลเมตร ตารางเวลาการเดินทางด้วยเรือโดยสารทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ดังนี้ 

รอบเดินเรือ ออกจากท่าเรือเจ๊ะบิลัง (อำเภอเมืองสตูล) ออกจากเกาะสาหร่าย (ยะระโตดใหญ่)
1 เวลา 08.30 น. เวลา 07.30 น.
2 เวลา 11.30 น. เวลา 10.30 น.
3 เวลา 14.00 น. เวลา 13.00 น.
4 เวลา 15.00 น. เวลา 16.00 น.
5 เวลา 17.00 น.
หมายเหตุ : ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที เวลาการเดินทางอาจเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศและระดับน้ำ   2. เส้นทางการเดินเรือ ทุ่งริ้น-ตันหยงกลิง-เกาะสาหร่าย ระยะทาง 10 กิโลเมตร ปัจจุบัน ยังไม่มีเรือโดยสารให้บริการ แต่สามารถเดินทางได้ด้วยเรือโดยสารเหมาลำ ซึ่งมีให้บริการ   สภาพเศรษฐกิจ   การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยะระโตดใหญ่ ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ประกอบด้วย ประมงชายฝั่ง ร้อยละ 92 และประมงน้ำตื้น ร้อยละ 1 อาชีพอื่น ๆ เช่น ค้าขาย ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำธุรกิจ และอื่น ๆ ร้อยละ 7  

 

ปัจจุบันชุมชนเกาะสาหร่ายมีประชากรรวมทั้งสิ้น 634 ครัวเรือน 2,321 คน ซึ่งแยกเป็นชาย 1,104 คน หญิง 1,217 คน โดยแยกตามหมู่บ้านได้ ดังนี้

  • หมู่ที่ 5 บ้านเกาะสาหร่าย มีประชากรทั้งสิ้น 422 ครัวเรือน 1,490 คน แยกเป็นชาย 724 คน หญิง 766 คน
  • หมู่ที่ 6 บ้านตะโละน้ำ มีประชากรทั้งสิ้น 212 ครัวเรือน 831 คน แยกเป็นชาย 380 คน หญิง 451 คน 

กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน ได้แก่ คนไทยเชื้อสายมลายู ประชากรบนเกาะสาหร่ายส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนชาวจีน ซึ่งมีประมาณ 20 ครัวเรือน อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 แต่ทั้งสองศาสนาก็สามารถยอมรับความแตกต่างของกันและกัน อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่คนบนเกาะจะแต่งงานกับคนบนเกาะด้วยกัน มีบางส่วนเท่านั้นที่แต่งงานกับคนภายนอกแล้วแยกครอบครัวไปอยู่บนฝั่ง ทำให้คนบนเกาะมักเป็นเครือญาติกัน นามสกุลของประชากรบนเกาะที่มีมาก เช่น นาดมา มงเล่ห์ หลีจ้วน สาดน อาดำ ยะระ เป็นต้น 

 

 

 

มลายู

อาชีพหลักของชาวบ้านชุมชนเกาะสาหร่าย คือ การทำประมง เนื่องจากเกาะสาหร่ายเป็นชุมชนที่มีความผูกพันกับการทำประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นเกาะซึ่งมีน้ำทะเลล้อมรอบ วิถีชีวิตในแต่ละวันจึงต้องมีความเกี่ยวข้องกับท้องทะเล ในอดีตชาวบ้านทำประมงเพียงเพื่อการยังชีพ ดำรงชีวิตอยู่ ด้วยการหาจับสัตว์น้ำ เพื่อการบริโภคในครัวเรือน และแบ่งปันกันในหมู่เครือญาติ โดยแล่นเรือไปไม่ไกลจากฝั่งมากนัก มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำประมง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่ถูกสั่งสม และถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ในปัจจุบันวิถีการทำประมงมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงมีการพัฒนาเครื่องมือจับสัตว์น้ำให้ทันสมัยมากขึ้น และมีลักษณะแตกต่างกันไปตามการใช้งานและชนิดของสัตว์น้ำที่ต้องการจับ (เขตกานต์ สุวรรณรัตน์, 2557: 103 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนียน, 2557) ทุกวันนี้จึงเห็นชาวประมงพื้นบ้านรายย่อยจำนวนมากที่ออกเรือไปจับสัตว์น้ำและนํามาขายยังแพปลาในชุมชน เกิดการแข่งขันกันจับสัตว์น้ำทั้งจากกลุ่มชาวประมงด้วยกันเองและเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทรัพยากรสัตว์น้ำจึงเริ่มเสื่อมโทรมลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การทำประมงพื้นบ้านต้องประสบกับปัญหาหลายด้าน และอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ชาวประมงต้องการให้บุตรหลานประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต

สำหรับพื้นที่ค้าขายของชาวบ้านเกาะสาหร่ายส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กับสะพานท่าเทียบเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "หน้าร้าน" เนื่องจากมีการขนส่งสิ่งของต่าง ๆ มากับเรือโดยสารทุกวัน เมื่อมีการขนถ่ายสิ่งของขึ้นมาจากเรือ ชาวบ้านจะนํารถจักรยานยนต์พ่วงข้างไปรับและขนส่งสินค้าไปยังร้านค้าได้อย่างสะดวก สะพานท่าเทียบเรือหน้าเกาะจึงกลายเป็นจุดรับส่งสิ่งของ และเป็นสถานที่แรกที่ผู้เดินทางมายังเกาะสาหร่ายจะได้พบเห็น อีกทั้งบริเวณหน้าร้านยังเป็นที่ตั้งของแพปลาเอกชน จำนวน 4 แห่ง เพื่อรับซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมง ทำให้ขนส่งสัตว์น้ำที่จับได้สด ๆ ขึ้นฝั่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

เกาะยะระโตดใหญ่ มีองค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ จำนวน 11 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (กลุ่มโฮมสเตย์และกลุ่มธนาคารชุมชน ม.5-ม.6) มีสมาชิก ดังนี้

  • นายม่าหมาด นาดมา (ประธาน)
  • นางกัลยดา นาดมา
  • นายนาสาด หมัดตุกัง
  • นายทวี ศรีอำพร
  • นางสะอีด๊ะ สาดน
  • นางฟารีดา นาดมา
  • นางรำล๊ะ วัฒนะ
  • นายมีพันธ์ โกปุเลา
  • นายไพบูลย์ หลีจ้วน
  • นายยะ ยะระ

2. กลุ่มหน่วยกู้ชีพทางทะเล รพ.สต.เกาะสาหร่าย มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นางสาวสะอีด๊ะ สาดน (ประธาน)
  • นางกัลยดา นาดมา
  • นางรำล๊ะ วัฒนะ
  • นายไพบูลย์ หลีจ้วน
  • นายรีสัน อาดำ
  • นางวาริสา สาดน

3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนูซันตาราเกาะยะระโตดใหญ่ (แปรรูปอาหารทะเล) มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นางรำล๊ะ วัฒนะ (ประธาน)
  • นางสาวสะอีด๊ะ สาดน
  • นางเฉลียว เอียดนุช
  • นางสุดา สุขวิญญา
  • นายยะ ลาวัลย์
  • นางฟารีดา นาดมา
  • นางจริยา ใบเด็น
  • นางมาเรียม ยะระ
  • นางรอเกี๊ยะ แซะอาหลำ
  • นางสาว เหมสะลาหมาด
  • นายหนี สอนัน

4. กลุ่มแพชุมชน ม.5 (ธนาคารปูไข่) มีนายฮาริด แลหมัน เป็นประธานกลุ่ม

5. กลุ่มแม่บ้าน ม.5 ต.เกาะสาหร่าย (ทำขนม) มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นางอารียา ตาหมาด (ประธาน)
  • นางมีนา นาดมา
  • นายหวัน คูหาสวรรค์
  • นางยามีล๊ะ หมัดตุกัง
  • นางจริยา ใบเด็น
  • นางมาเรียม ยะระ
  • นายสะมิหลา ยะละ

6. กลุ่ม อสม. (ม.4, ม.5 และ ม.6) มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นางสาวสะอีด๊ะ สาดน
  • นางลักขณา โกวิทย์พิทยาคาร
  • นางกัลยดา นาดมา
  • นางภารดี แก้วประกอบ
  • นางจริยา ยีกาเดียด
  • นางรำล๊ะ วัฒนะ
  • นายนพดล มงเล่ห์
  • นางบุหงา นาดมา
  • นายยะ ยะระ
  • นายซำซูดีน ใบเด็น
  • นางวาริสา สาดน
  • นางมาเรียม ยะระ
  • นายไพบูลย์ หลีจ้วน
  • นางอาเรี๊ยะ แซะอาหลำ
  • นางชลดา รอดเรืองงาม
  • นางสุดา สุวิญญา
  • นางเฉลียว เอียดนุช

7. กลุ่มประมงพื้นบ้าน มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นายยุทธนา หมัดตุกัง (ประธาน)
  • นายอารีด แลหมัน (รองประธาน)

8. กลุ่มแม่บ้าน หมู่ที่ 6 (ทำขนม) มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นางฟองจันทร์ ตาตุ้ย (ประธาน)
  • นางสาเหรียญ ยะระ

9. กลุ่มออมทรัพย์ หมู่ที่ 4-หมู่ที่ 6 มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นางสาวสะอีด๊ะ สาดน
  • นางกัลยดา นาดมา
  • นายอับดุลเล๊าะ เส็นสมมาตร
  • นายสะมิหลา นาดมา
  • นายยะ ยะระ
  • นางรำล๊ะ วัฒนะ
  • นายไพบูลย์ หลีจ้วน

10. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะยะระโตดใหญ่ มีสมาชิกประกอบด้วย

  • นายม่าหมาด นาดมา
  • นางสาวกัลยดา นาดมา

การศาสนา 

1. มัสยิด จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 

  • มัสยิดบ้านเกาะยะระโตดใหญ่ ม.5 ต.เกาะสาหร่าย
  • มัสยิดอบีซัรอัลฆีฟารีย์ ม.6 ต.เกาะสาหร่าย

2. สำนักสงฆ์ จำนวน 1 แห่ง คือ สำนักสงฆ์เกาะสาหร่าย ตั้งอยู่ ม.5 ต.เกาะสาหร่าย

 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

  • การทำประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะยะระโตดใหญ่ มักนิยมประกอบอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน โดยใช้เรือเครื่องหางยาว มีแหล่งทำการประมงอยู่บริเวณรอบ ๆ เกาะ หรือห่างออกไปไม่ไกลมากนัก สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี การเลือกใช้เครื่องมือประมงจะใช้หลายชนิดร่วมกันขึ้นกับฤดูกาล โดยมีลอบหมึกและอวนจมปูเป็นเครื่องมือประมงหลัก
  • การเลี้ยงกระชัง ชาวบ้านในชุมชนได้นำเอาพันธุ์ปลา มาจากไซที่ชาวบ้านจับได้มาเลี้ยงในกระชังกลางทะเล โดยใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน เป็นการเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติที่แทบไม่มีค่าใช้จ่าย การทำกระชังใช้วิธีการทำแบบง่าย ๆ โดยใช้ไม้ไผ่ขันชะเนาะให้แข็งแรง แล้วนำมาผูกกับถังให้ลอยน้ำ
  • การทำสวน นอกจากอาชีพประมงแล้ว ชาวบ้านชุมชนมีการทำสวนควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ การทำสวนมะพร้าว การทำสวนยางพารา การสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งปี 

ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่  

  • เทศกาลฮารีรายอ มีอยู่ 2 วัน คือ 1) วันอีดิลฟิตรี หรือที่เรียกว่า วันฮารีรายอปอซอ วันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่หนึ่งของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่สิบทางจันทรคติ (ในปี ฮ.ศ.1435 ตรง กับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557) โดยในแต่ละปีวันจะไม่ตรงกัน 2) วันอีดิลอัฎฮา หรือที่เรียกว่า วันฮารีรายอฮัจญี คําว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน การปฏิบัติจะมีการละหมาดร่วมกันและเชือดสัตว์ เช่น วัว แพะ แกะ แล้วแจกจ่ายเนื้อสัตว์เหล่านั้นแก่คนยากจน การเชือดสัตว์พลีนี้เรียกว่า “กรุบาน” ผู้ที่ประสงค์จะเชือด ต้องไม่แตะต้องเส้นผม ขน และผิวหนังแต่อย่างใด หมายความว่าไม่อนุญาตให้ตัดผม โกนขนลับ ถอนขนรักแร้ และตัดเล็บ เป็นต้น
  • ประเพณีถือศีลอด ชาวมุสลิมจะละเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส ระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า เพื่อฝึกความอดทนของกําลังใจและร่างกาย ให้รู้จักอดกลั้น รับรู้ถึงความทุกข์ยาก ความอดอยากหิวโหย และสภาพอันแท้จริงของผู้ที่อัตคัดขัดสนยากจน ชาวมุสลิมเรียกเดือนแห่งการถือศีลอดว่า เดือนรอมฎอน ถือเป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด
  • ประเพณีวันเมาลิด เมาลิดเป็นภาษาอาหรับแปลว่า ที่เกิดหรือวันเกิด หมายถึงวันเกิดของนบี มูฮัมมัด วันเมาลิดจึงเป็นวันรําลึกถึงวันที่ท่านลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย ในวันเมาลิดจะมีการนําประวัติของท่านศาสดามากล่าวถึงเป็นโวหารสดุดี การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การอ่านดูอาขอพรจากองค์อัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วก็จะมีการทำบุญเลี้ยงกันที่มัสยิดหรือที่บ้าน
  • ประเพณีการเข้าสุนัต การเข้าสุหนัต หรือเข้าอิสลาม หรือพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย บนเกาะสาหร่ายในปัจจุบันจะทำในเดือนเมษายนหรือช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.1 หรือ ป.2 มีการรวมกันจัดที่บ้านหรือที่มัสยิดแล้วแต่งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน ประมาณ 10-15 คน โดยผู้ที่ทำการขลิบจะเป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญจากตัวเมืองสตูล แต่ก็มีบางครอบครัวที่พาบุตรหลานไปใช้บริการตามโรงพยาบาลกันเอง

ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยพุทธ

  • ประเพณีทอดกฐินสามัคคี เป็นงานใหญ่ประจำปีที่มีความสำคัญของสำนักสงฆ์เกาะสาหร่าย เนื่องจากเป็นงานบุญที่รวมคนจากต่างที่ต่างถิ่นมาทำบุญร่วมกันในการร่วมสร้างถาวรวัตถุให้กับทางสำนักสงฆ์
  • ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ชาวบ้านบนเกาะจะมีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเชื่อว่าบรรพบุรุษ ได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ และในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ในโอกาสนี้ลูกหลานผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนําอาหารไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระภิกษุสงฆ์บิณฑบาตยากลําบาก ชาวบ้านจึงจัดเสบียงอาหารนําไปถวายพระในรูปของหมฺรับ (พานขนาดใหญ่สำหรับใส่อาหาร) ให้ทางวัดได้เก็บรักษาไว้เป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน
  • ประเพณีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุเนื่องในวันสงกรานต์ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธจะมีการรวมตัวกันเพื่อไปประกอบพิธีตักบาตรทำบุญและสรงน้ำพระพุทธรูปที่สำนักสงฆ์ จากนั้นจะมีการเชิญผู้สูงอายุในชุมชนที่เคารพนับถือมารดน้ำและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ภายหลังจากเสร็จพิธีต่าง ๆ ก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

วิถีชีวิตการตั้งบ้านเรือนของชุมชนเกาะยะระโตดใหญ่

เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเกาะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพประมงจะปลูกบ้านกระจุกตัวอยู่ตามชายหาดริมทะเลตลอดแนวของถนนรอบเกาะ เพื่อความสะดวกในการจอดเรือและออกเรือไปทำประมง บางส่วนปลูกบ้านกระจายตามพื้นที่ราบ มีทางลัดเชื่อมโยงกับถนนรอบเกาะหลายสายทำให้การเดินทางเข้าถึงทุกพื้นที่มีความสะดวกรวดเร็ว

คนในชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธจะอยู่อาศัยกันใกล้สะพานท่าเทียบเรือหน้าเกาะ หรือที่เรียกกันว่าบริเวณ "หน้าร้าน" ซึ่งเป็นพื้นที่ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย มีการตั้งศาลทวด (ศาลขนาดเล็กทาสีแดง) เพื่อใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ ขอพรเนื่องในวันตรุษจีนและประเพณีจีนต่าง ๆ จำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณต้นเลียบขนาดใหญ่ที่หน้าร้าน โดยมีความเชื่อว่าศาลหนึ่งมีทวดประจำศาลเป็นคนมุสลิม เรียกว่า “ศาลโต๊ะกิ่ง”

ดังนั้น เมื่อมีการประกอบพิธีไหว้ก็จะไหว้ด้วย ไก่ ขนม ผลไม้ และน้ำชา จะไม่ไหว้ด้วยหมู ส่วนอีกศาลหนึ่งสามารถไหว้ด้วยหมูได้ เรื่อยลงไปทางทิศใต้จนถึงบริเวณที่เรียกว่า “หัวแหลม” หรือ “แหลมกาหรีม” เป็นพื้นที่ของชาวไทยพุทธ มีการตั้งศาลทวดบริเวณปลายสุดของแหลม จำนวน 1 แห่ง ในอดีตจะมีการจุดประทัด เพื่อขอพรก่อนจะออกไปทำประมงในทะเลเพื่อให้รอดจากภัยอันตรายและมีโชคลาภในการหาปลา แต่ในปัจจุบันใช้เซ่นไหว้ เพื่อขอพรในประเพณีจีนเช่นกัน สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะเด่นสำหรับชาวบ้านในชุมชนเกาะสาหร่าย คือ การยอมรับในเรื่องการนับถือศาสนาตามความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล เพราะถึงแม้ว่าภายในชุมชนจะมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ทั้งสองศาสนาก็สามารถยอมรับความแตกต่างของกันและกัน อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี

 

ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน : การแพทย์พื้นบ้านในชุมชนยะระโตดใหญ่เป็นการรักษาเกี่ยวกับโรคทางไสยศาสตร์เกี่ยวข้องกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ การรักษาด้วยไสยศาสตร์จะมีการอ่านบทสวดจากคัมภีร์อัรกุรอาน และการดื่มน้ำมนต์ มีนายทั้ง ตันวรางค์กุล เป็นหมอมนต์ผู้ประกอบพิธี

การแพทย์แผนไทย : เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงซึ่งต้องใช้แรงในการทำงาน ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคระบบกล้ามเนื้อและข้อ บางส่วนเลือกที่จะมาใช้บริการกับนายสัน โกปปุเลา ซึ่งเป็นหมอนวดปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระดูกให้เป็นผู้รักษาและคลายกล้ามเนื้อ และมีการผดุงครรภ์โบราณโดยหมอตำแยในชุมชน แต่ในปัจจุบันไม่มีการทำคลอดแล้ว มีเพียงการดัดท้อง (นวดท้อง) ให้กับหญิงที่ตั้งครรภ์เท่านั้น

  1. นายทั้ง ตันวรางค์กุล  ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์พื้นบ้าน มีความเชี่ยวชาญการรักษาโรคด้วยไสยศาสตร์
  2. นายสัน โกปปุเลา ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระดูกให้เป็นผู้รักษาและคลายกล้ามเนื้อ
  3. นางตีรูส๊ะ โอมณี อายุ 76 พ.ศ.ที่เกิด 20 ม.ค. 2498 ที่อยู่ 20 หมู่ 6 ต.เกาะสาหร่ายบทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี ช่างจักสานเสื่อจากต้นเตยบ้าน (ผืนละ 50บาท) ตั้งแต่อยู่ ป.2 สืบทอดให้ลูก เสื่อ 1 ผืน/2 เดือน สืบทอดมาตั้งแต่ 100 กว่าปี ประวัติชีวิตที่ผ่านมา ปัจจุบัน ลูกไปทำอาชีพอื่น เคยเป็นครูภูมิปัญญาสอนเด็ก แต่ครูทำเอง
  4. นาย เหรน นุ้ยเด็น อายุ 76 ปี พ.ศ.ที่เกิด 15 มิ.ย.2490 ที่อยู่ 24 หมู่ 5 ต. เกาะสาหร่าย บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี เป็นช่างต่อเรือประมงไม้พะยอม/ตะเคียน เห็นคนต่อเรือตอนสมัยเรียน สนใจกลับมาทำเอง เรืออวนลาก ทำอวนปู ตอนอายุ 50 กว่าปี เป็นต้น ประวัติชีวิตที่ผ่านมา หยุดทำเนื่องจากไม่มีคนสืบทอดต่อ และปัจจุบันว่าจ้างทำเรือที่บ้านตันหยงโป
  5. นางเยาวลักษณ์ หนูนุ่ม อายุ 61 ปี พ.ศ.ที่เกิด 2505 ที่อยู่ 108 หมู่ 5 ต.เกาะสาหร่าย บทบาทและความสำคัญในชุมชนความชำนาญ/ทักษะที่มี อาหารขนมพื้นบ้าน/ไทย/จีน ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวหน้าสังขยา กะเปต ประวัติชีวิตที่ผ่านมา เริ่มทำมาตั้งแต่อายุสมัยเรียน เรียนรู้ด้วยตัวเองตามความชอบ ปัจจุบันทำขนมส่งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งบนเกาะและบนฝั่ง
  6. นายนาสาด หมัดตุกัง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2499 (อายุ 67 ปี) ที่อยู่ 293 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะสาหร่าย เป็นบุคคลสำคัญ ที่เคยขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเสด็จไปโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา ทรงเปิดอาคารอเนกประสงค์ เสด็จไปปลูกต้นราชพฤกษ์ 1 ต้น เสด็จไปยังศูนย์พัฒนาเด็กมัสยิดบ้านเกาะสาหร่าย ทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนหลักสูตรแปรรูปอาหาร และหลักสูตรการซ่อมเครื่องยนต์เล็ก ทอดพระเนตรผลการดำเนินงานของโรงสีข้าวชุมชนพระราชทาน ทรงพระราชดำเนินไปศูนย์คอมพิวเตอร์และวิทยุชุมชน ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์และราษฎร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 โดยในขณะนั้น นายนาซาด หมัดตุ เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย และเมื่อปี พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมตามหา 7 บุคคลในภาพถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างใกล้ชิด จำนวน 6 ภาพ รวม 7 คน พบที่เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล 1 คน คือ นายนาซาด หมัดตุกังสร้างความปลาบปลื้มให้พสกนิกรชาวสตูลเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนายนาซาดยังเก็บรถจักรยานยนต์พ่วงข้างคันดังกล่าวไว้เป็นอย่างดี  (MGR Online, 31 มีนาคม 2559)
  7. นายอำดะห์ สาดน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2501 (อายุ 65 ปี) อยู่บ้านเลขที่ 201 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะสาหร่าย บทบาทและความสำคัญในชุมชนความชำนาญ/ทักษะที่มี เป็นช่างก่อสร้าง ช่างต่อเรือ และช่างซ่อมทั่วไป เมื่อเกษียณจากตำแหน่งนักการภารโรง โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา มีเวลาว่างมากขึ้น จึงได้คิดค้นดัดแปลงรถไฟฟ้าไว้ใช้งานบนเกาะ โดยทีแรกจะทำเป็นรถยนต์น้ำมัน แต่ตอนนั้นมีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาแล้ว และค่าน้ำมันตอนนั้นแพงมาก จึงลองทำเป็นรถไฟฟ้า โดยศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และยูทูป ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าไว้ใช้งาน จำนวน 3 คน คือ รถจักรยานยนต์ 1 คัน รถยนต์ไว้ใช้งานส่วนตัว 1 คัน และรถยนต์สำหรับบรรทุกศพ เพื่อช่วยเหลือสังคม 1 คัน นอกจากนี้นายอำดะห์ ยังได้ติดตั้งแผง Solar Cell ไว้ใช้เองในครัวเรือนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี 
 

รายชื่อสถานที่พักในพื้นที่เกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้แก่ 

  1. ลัลล์ลลิล โฮมสเตย์ - จำนวนห้อง 7 ห้อง ที่อยู่ ม.5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ : 09-9308-6635 
  2. รักษ์เล โฮมสเตย์ - จำนวนห้อง 8 ห้อง ที่อยู่ ม.5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ : 06-5407-8599
  3. มาตาฮารี โฮมสเตย์ - จำนวนห้อง 2 ห้อง 1 ห้องละหมาด ที่อยู่ 59 ม.5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ : 08-9466-3235
  4. ฟารีดา บังกะโล - จำนวนห้อง 9 ห้อง ที่อยู่59 ม.5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ : 06-4463-6302
  5. ลาโตด ฟาร์มสเตย์ - จำนวนห้อง 4 ห้อง ที่อยู่ ม.5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ : 09-8495-4489
  6. อิศรา โฮมสเตย์ - จำนวนห้อง 7 ห้อง ที่อยู่ ม.5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ : 08-4996-4915
  7. เกาะสาหร่าย รีสอร์ท - จำนวนห้อง 7 ห้อง ที่อยู่ ม.5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล เบอร์โทรศัพท์ : 08-4996-4915

 

ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในชุมชนเกาะระยะโตดใหญ่ ภาษาพูดจะใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษามลายู และภาษาไทยกลาง ส่วนภาษาเขียนใช้ภาษาไทยกลาง ในการติดต่อสื่อสาร


  • ไฟฟ้า ไฟฟ้าภายในชุมชนเกาะสาหร่ายที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะตามถนนรอบเกาะ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับชาวบ้านที่ใช้สัญจรในยามค่ำคืน ทำให้ชาวบ้านมีสภาพความเป็นอยู่และชีวิตที่ดี
  • ประปา ในอดีตชาวบ้านบนเกาะสาหร่ายใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น พอถึงช่วงหน้าร้อนปริมาณน้ำในบ่อจะลดลงจนแห้งขอดไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านบนเกาะ จึงมีการขุดสระเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ปัจจุบันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ใช้น้ำประปาจากสระเก็บน้ำและบ่อน้ำของมัสยิดนูรุลอี บาดะห์ โดยจ่ายค่าน้ำให้กับทางมัสยิด ส่วนชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 6 ใช้น้ำประปาจากสระเก็บน้ำขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย แต่เนื่องจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด เกิดเป็นปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี น้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค ทำให้ต้องจ่ายน้ำประปาเป็นบางเวลา หรือต้องงดจ่ายน้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องนี้ ในอดีตต้องรอการขนส่งน้ำจากการประปาสตูลมาใช้ แต่ในปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายได้พยายามแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยการขุดลอกบ่อน้ำตื้นทั่วเกาะ และแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวดแก่ชาวบ้านเพื่อใช้ในการบริโภคไปก่อน อีกทั้งยังมีการขุดขยายสระเก็บน้ำเดิมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อสามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมากกว่าเดิม  

 


การลดจำนวนลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นทรัพยากรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้มีความจําเป็นที่จะต้องจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันกันจับสัตว์น้ำเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยชาวประมงจะแสวงหาเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำให้ได้เป็นจำนวนมากมาใช้ ทำให้เกิดภาวะที่ระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่เกิดความเสื่อมโทรม (สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2554: 1 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนีย, 2557) ปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งปูม้า ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวบ้านในชุมชนเกาะสาหร่าย ทําให้มีการจัดตั้ง "ธนาคารปูไข่" ซึ่งริเริ่มมาจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในชุมชน เพื่อช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการเพิ่มเติมเรื่อยมา ทั้งจากมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการ "อยู่ดีมีสุข" สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัดสตูล

สาหร่ายขนนก หรือลาโตด ปัจจุบันจะพบมาในคลองเขตตำบลเจาะบิลัง อำเภอเมืองสตูล โดยจะ อาศัยอยู่ที่ความลึกประมาณ 2-5 เมตร พบมากในช่วงฤดูแล้ง เดือนมีนาคม-พฤษภาคม และจะเริ่มลดลงเมื่อ เข้าหน้าฝนมีสาหร่ายเป็นจำนวนมาก สรรพคุณที่โดดเด่น คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง มีวิตามิน ร่างกายต้องการ เอ บี ซี ดี อี และ เค มีไอโอดีน แมกนีเซียมช่วยให้ระบบประสาท และกล้ามเนื้อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แคลเซียมบํารุงกระดูก โพแทสเซียมควบคุมการทำงานของเซลล์ และสมดุลน้ำในร่างกาย แร่เหล็ก และทองแดงช่วยในการสร้างเม็ดเลือด สังกะสีช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน อีกทั้งมีกรดอะมิโนหลายชนิดที่พืชบกไม่มี มี ฤทธิ์ในการรักษาโรคลำไส้อักเสบ รักษาโรคตับอักเสบเพราะช่วยในการสมานแผล เป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และหัวใจ โดยชาวบ้านนิยมนําลาโตด (สาหร่ายขนนก) มารับประทาน กับน้ำพริก หรือน้ำจิ้มที่ผสมกับน้ำกะทิและมะพร้าวคั่ว ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัย แต่ปัจจุบันในเขตพื้นตำบลเกาะสาหร่ายจะพบสาหร่าย ชนิดนี้ได้ยาก ซึ่งได้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว

ลักษณะลมประจำถิ่นเกาะสาหร่าย ลมประจำถิ่นของพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัด ผ่านอ่าวไทย และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือใต้จากมรสุมมหาสมุทรอินเดีย ลมประจำถิ่นที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวประมงปูม้า ในช่วงต่างๆ นี้ดังนี้ 

  • ลมตะวันตก : ลมตะวันตกเป็นลมที่พัดผ่านมาทางอ่าวไทยซึ่งพัดจากฝั่งสู่ทะเลช่วงเดือน ธันวาคม-เมษายน ช่วงนี้น้ำทะเลในอ่าวละงูใส ปู ชุกชุม 
  • ลมใต้ : ลมใต้หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่าลมสลาตัน เป็นลมที่พัดจากมหาสมุทรอินเดีย ผ่านประเทศมาเลเซีย ขึ้นเหนือในช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม เป็นลมที่เกิดระหว่างเช้าตรู่-เที่ยง ถ้าเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม ปูชุกชุม
  • ลมตะวันออกเฉียงเหนือ : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวประมงในพื้นที่เรียกว่า ลมพัดบัดโลด เป็นมรสุมจากมหาสมุทรอินเดีย จากพม่า ภูเก็ต ระนอง พัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่งปะทะเกาะลิดีเริ่มประมาณเดือน เมษายน-สิงหาคม (ถ้าเป็นพายุ มรสุม ลมแรง ไม่มีฝน) น้ำขุ่น กุ้ง ปลา ปู ชุกชุมเริ่มจับกุ้งในเดือนพฤษภาคม
  • ลมเหนือ : ลมเหนือหรือลมที่ชาวประมงพื้นบ้านเรียกว่า ลมตาหรา เป็นลมที่พัดจากเหนือมาใต้ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในช่วงใกล้ค่ำ ช่วงนี้มีหมึกชุม
  • ลมตะวันตก : ลมตะวันตกหรือคนในท้องถิ่นเรียกว่า ลมพลัดเป็นลมที่อากาศเย็นมาจากทะเล เข้าสู่ฝั่งในเวลากลางวัน ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ถ้าเกิดในช่วงเที่ยงวัน-3 ทุ่ม จะแรง คนพื้นเมือง เรียกว่า ลมพัดปราด ช่วงนี้ลมนําธาตุอาหารจากพื้นดิน ขึ้นสู่ผิวน้ำทำให้ กุ้ง ปู ปลา จะออกหากินมากขึ้น
  • ลมตะวันออกเฉียงใต้ : ลมตะวันออกเฉียงใต้หรือ ลมพัทยา เป็นมรสุมจากมหาสมุทรอินเดีย พัดผ่านมาทางประเทศมาเลเซีย เข้าฝั่งละงู ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่วนใหญ่จะเกิดในตอนใกล้รุ่ง ถึงเที่ยง ลมแรง เมื่อปะทะกับเกาะต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น เกาะตะรุเตา เกาะสาหร่าย เกาะหลีเปะ เกาะลิดีจะ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลน้ำในแนวดิ่ง นําธาตุอาหารที่สะสมอยู่ตามพื้นที่ทะเล ขึ้นสู่ผิวน้ำเป็นปรากฏการที่เรียกว่า UP WELLING ช่วงนี้บริเวณดังกล่าวจะมีกุ้ง ปลา และปูชุกชุม โดยเฉพาะปูม้า เป็นช่วงเวลาอยู่ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึงสิงหาคม เวลาช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวประมงจับปูม้าได้มากกว่าฤดูฝน

 

 

มาณี  ฉัตรชัยวงศ์. (26 มกราคม 2562). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสตูล (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566, https://www.facebook.com/

โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา. (2566). ประวัติโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566, https://data.boppobec.info/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2566). ประวัติศาสตร์เกาะสาหร่าย. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566, https://wikicommunity.sac.or.th/community/526

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย. (ม.ป.ป). สภาพทั่วไปและข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566, https://kohsarai.go.th/

สูเด็น บนหลี. สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย. สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2566.

นพดล บงเล่ห์. สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย. สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2566.