ชุมชนอายุกว่า 200 ปี มีอาหารพื้นบ้านอย่าง หมกเจ๊าะปลากรายและปิ้งอั่วปลาที่หาทานได้ยาก
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่สูง ตามภาษาพื้นบ้านเรียกว่า "โพน"
ชุมชนอายุกว่า 200 ปี มีอาหารพื้นบ้านอย่าง หมกเจ๊าะปลากรายและปิ้งอั่วปลาที่หาทานได้ยาก
บ้านโพนมีอายุประมาณ 180 ปี ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถบ่งบอกได้อย่างแน่ชัดว่า การตั้งบ้านเรือนเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ตัวเลข 120 ปี เป็นเพียงการสันนิษฐานจากคำบอลเล่าของชาวบ้านหลายฝ่าย และจากข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน
จากคำบอกเล่าของ นายเขียน สุวรรณมาโจ ชาวบ้านโพน อายุ 66 ปี เล่าว่าพ่อเฒ่าของนายเขียนเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อแรกตั้งหมูบ้านนั้นมีเพียง 4 หลังคาเรือนเท่านั้น คือ ตากิตติราช ไม่ทราบนามสกุล (ย้ายมาจากบ้านท่ากระถิน ฝั่งลาว) พ่อเฒ่าแก้ว ก่านจันทร์ พ่อเฒ่าเหม็น นครังสุ และพ่อเฒ่าแดงน้อยหรือพ่อเฒ่าแกก็ก สุวรรณมาโจ (ทั้ง 3 คนนี้ย้ายมาจากเมืองท่าอุเทน)
สาเหตุที่มาเข้ามาอยู่ที่บ้านโพน คือ ต้องการขยายที่ทำกิน ต่อมาคนที่อยู่ในเมืองท่าอุเทนย้ายเข้ามาอยู่ด้วย โดยเฉพาะเชื้อไทยโฮง คือ ลูกหลานเจ้าเมือง มักจะถูกส่งให้ออกมาหาที่ทำนาและส่งผลผลิตเข้าไปในโฮงทุกปี
ต่อมาเห็นว่าการเดินทางไปมาระหว่างเมืองท่าอุเทนและหมู่บ้านโพนไม่สะดวก จึงปลูกกระท่อมชั่วคราวหรือเรียกว่า เถียงนา อยู่เป็นการชั่วคราว ต่อมาเมื่อมีคนตามมาทำไร่ทำนามากขึ้น จึงตั้งบ้านเรือนการอาศัยรวมกันเป็นหมูบ้านเล็ก ๆ และค่อย ๆขยายออกไปเป็นหมู่บ้านใหญ่
การขยายตัวของจำนวนครัวเรือนนั้นเป็นไปอย่างช้าๆ ในช่วงเริ่มตั้งหมู่บ้านมี 4 หลังคาเรือน ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 10 หลังคาเรือน ต่อมาอีก 30 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 25 หลังคาเรือน จนกระทั่งเมื่อ 60 ปีที่แล้วจำนวนการตั้งบ้านเรือนได้ขยายเป็นประมาณ 50 หลังคาเรือน และปี พ.ศ. 2515 มี 90 หลังคาเรือน ในปี พ.ศ. 2529 มี 120 หลังคาเรือน และปัจจุบันมี พ.ศ. 2567 มี 131 หลังคาเรือน
จากคำบอกเล่าของแม่อุ๊ยเมือง กิติศรีวรพันธุ์ อายุ 77 ปี เล่าว่าพ่อเฒ่าของอุ้ย คือ พ่อเฒ่าวันทา ลวงไชย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เชียงวันทา" หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งจนติดปากว่า "ตาลาว" เนื่องจากนายวันทาเป็นคนนครนายกที่พูดภาษาไทยลาว ชาวบ้านจึงเรียกว่า ตาลาว
ตาลาวนั้นเดินทางเสี่ยงโชคมาจากนครนายกมาถึงท่าอุเทนได้พักอยู่ที่วัดไตรภูมิ ซึ่งเป็นวัดใต้สุดของเมืองท่าอุเทนสมัยนั้น จนกระทั่งสนิทสนมกับเจ้าอาวาส คือ อาญาครูหลักคำ
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านเสิมและบ้านกุดสะกอย ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านโนนแดง ต.รามราช อ.ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านธาตุ ต.โนนตาล อ.ท่าอุทน จ.นครพนม
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านกุดกุ่มใหญ่ ต.โนนตาล อ.ท่าอุทน จ.นครพนม
ทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านตั้งบนที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง อยู่ห่างจากอำเภอท่าอุเทนเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองนครพนม 24 กิโลเมตร มีถนนหลักในหมู่บ้าน 1 สาย บ้านโพนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ บริเวณบ้านโพนเก่า และบริเวณบ้านโพนใหม่ โดยใช้วัดเป็นจุดแบ่ง ทางทิศเหนือของวัดเรียกว่าบริเวณบ้านเก่า และทางทิศใต้ของวัดเรียกว่าบริเวณบ้านใหม่
ชุมชนบ้านโพน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 131 ครัวเรือน มีประชากร 900 คน เป็นชาย 440 คน หญิง 460 คน ซึ่งประชากรทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์ญ้อ
ญ้อครอบครัวของในชุมชนบ้านโพนส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ (ครอบครัวขยาย) คนในครอบครัวอยู่กันหลายคนหลายครอบครัวในหลังคาเรือนเดียวกัน
ลักษณะบ้านเรือนจะเป็นลักษณะของบ้านเรือนญ้อเรียกว่า "เฮียนหัวลอย" ซึ่งหมายถึงเป็นบ้านแฝดติดกัน 2 หลัง มีห้องขนาดใหญ่ติดกัน 2 ห้อง
ซึ่งชาวบ้านโพนอยู่กันแบบเครือญาติช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และทำมาหากินในแหล่งน้ำธรรมชาติเพราะใกล้แม่น้ำโขง มีการทำไร่มันสำปะหลัง ไร่สับปะรด ปลูกเห็ดฟาง ปลูกพืชผักสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็ด และไก่
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีการแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวคู่ใดที่รักใคร่ชอบพอถึงขั้นตกลงปลงใจที่จะเป็นสามีภรรยากันแล้ว ฝ่ายชายก็จะให้บิดามารดาของตนดำเนินการให้ได้แต่งงานกับหญิงคนรัก ดังนี้ ไปเจาะ คือ การส่งผู้ใหญ่ไปทาบทาม โอมสาว คือการ ทำพิธีสู่ขอ แฮกเสื่อแฮกหมอน คือ การเตรียมการ ได้แก่ การจัดเตรียมเครื่องนอน ประกอบด้วยฟูก หมอน ผ้าห่ม เสื่อ และมุ้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง ในการนี้ต้องเชิญผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ชาวบ้านยอมรับว่าเป็น ผัวค้ำเมียคูณ มาทำพิธีตัดเย็บให้ชาวญ้อเรียกว่า แฮกเสื่อแฮกหมอน เล่าดอง คือ บอกเล่าวันแต่งงาน มื้อกินดอง คือพิธีวันแต่งงาน
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา โดยชาวบ้านจะสร้างตูบปู่ตา หรือ โฮงผีปู่ตา โดยชาวญ้อถือว่าผีปู่ตา คือ ผีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว แต่ยังมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับที่ตั้งของผีปู่ตาจะอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่สำหรับผีบรรพบุรุษของชาวไทยญ้อที่ถือว่าเป็นผีปู่ตา สำหรับงานบุญของชาวญ้อส่วนมากก็เหมือนกับ ชาวอีสานทั่วที่นับถือ พระพุทธศาสนาและ ปฏิบัติตนตามฮีตสิบสองคองสิบสี่
ประเพณีของชาวญ้อส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อ สภาพจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของชาวญ้อโดยเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับประเพณีของชาวอีสานโดยทั่วไป เช่น ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตา การเลี้ยงผีตาแฮก เป็นต้น
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปของหมู่บ้านโพน พบว่ามีลักษณะเป็นหมู่บ้านพึ่งตนเอง ไม่ยากจน ไม่เดือดร้อน มีความสุขตามอัตภาพแต่ก็ไม่ร่ำรวย ชาวบ้านเกือบทั้งหมดมีรายได้ไม่มากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีรายจ่ายมากมายเช่นกัน ชาวบ้านทำนาเป็นหลักเพื่อใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือนให้ได้ตลอดปี ขายบ้าง ชาวบ้านมีที่ดินเฉลี่ยประมาณ 7 ไร่ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนทำไร่สับปะรด ไร่มันสำปะหลัง และทำประมง
1.นายพิชัย เสนจันทร์ฒิไชย
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2491 หมู่ที่ 1 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นบุตรคนแรกของนายสุทิน-นางกิมเหลา เสนจันทร์ฒิไชย เป็นบุตรคนแรกของนายสุทิน-นางกิมเหลา เสนจันทร์ฒิไชย เข้าเรียน ม.1-มศ.3 ที่โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม เป็นเด็กวัดโอกาสศรีบัวบาน อ.เมือง จ.นครพนม อาศัยข้าวก้นบาตรพระเลี้ยงชีวิต
สอบเข้าเรียนที่ โรงเรียนฝึกหัดครูสกลนคร จบวุฒิป.กศ.สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูเมื่อ 16 สิงหาคม 2510 ที่โรงเรียนบ้านหัวหาด ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม อยู่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นสำนักงานโครงการย้อนรอยฯเมืองไชยบุรี เพื่อสร้างบ้านไชยบุรีให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ชาติพันธุ์ไทลาวเมืองไชยบุรี) พัฒนาและรักษาโบราณสถาน 4 แห่ง/สร้างสิ่งก่อสร้างตามความจำเป็นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
สร้างสิ่งก่อสร้างความจำเป็นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยงบประมาณราชการราว 400 ล้านบาท เช่น อนุสาวรีย์พระไชยราชวงศา (ราชบุตรเสน) เจ้าเมืองไชยบุรี คนที่ 1 ประตูเมือง เขื่อนป้องกันตลิ่งของแม่น้ำสงคราม ฯลฯ ซึ่งนายพิชัยทำหน้าที่เป็นประธานโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
ชาวญ้อบ้านโพนทั้งหมดพูดภาษาญ้อเพียงภาษาเดียว ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได ชาวญ้อมีภาษาพูดโดยพื้นฐานเสียงแตกต่างไปจากภาษาไทยลาว (ภาษาไทยอีสาน) ตรงที่ฐานเสียงอักษรสูง และเสียงจัตวา จะเน้นหนักในลำคอ น้ำเสียงสูง อ่อนหวาน ฐานเสียงสระ เอือ ใอ ในภาษาไทยลาวจะตรงกับฐานเสียงสระ เอีย และ เออ ตามลำดับ เช่น เฮือ เป็น เฮีย ให้ เป็น เห้อ ประโยคว่า อยู่ทางได๋ เป็น อยู่ทางเลอ เจ้าสิไปไส เป็น เจ้านะไปกะเลอ เป็นต้น
ตัวอย่างภาษาพูดของชาวญ้อ ไปไหนมา-มาแต่กะเหลอ, มากับใคร-มากับเผอ, กินเข้างาย-กินข้าวเช้า, หัวสิเคอ-ตะไค้, ไปกะเลอ, ไปเตอ-ไปไหน ชาวไทญ้อไม่มีภาษาเขียนไม่มีตัวอักษรของตนเอง ในอดีตเคยใช้อักษรธรรม หรืออักษรไทยน้อย เช่นเดียวกับชาวอีสาน ปัจจุบันใช้อักษรไทยทั้งสิ้น
ลักษณะครอบครัวของชาวไทญ้อส่วนใหญ่เป็นลักษณะครอบครัวขยาย ลักษณะเครือญาติไทญ้อมีลักษณะเด่น คือ พวกเขาแม้จะแยกครอบครัวไปแล้ว แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มความสามารถ ยามเทศกาลงานบุญต่างๆ ก็จะเดินทางไปช่วยเหลือกัน
ชาวไทญ้อเชื่อกันว่าผู้จะทำหน้าที่แทนพ่อได้เป็นอย่างดี คือ ลูกชาย เพราะผู้ชายนั้นบึกบึนทรหดอดทน สามารถทำงานในอาชีพเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นการสืบสายตระกูล และการรับมรดก ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ชาย
ภาระหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวนั้น หน้าที่ในการหาเงินทองมาจับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัว การคุ้มครองดูแลต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของพ่อบ้าน แม่บ้านจะดูแลลูก ๆ ภาระหน้าที่ภายในบ้าน
ปัจจุบันขนาดครอบครัวมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น บุตรหลานที่แต่งงานแล้วก็จะแยกออกไปสร้างครอบครัวใหม่ และออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วนบุตรหลานก็จะให้ ปู่ ย่า ตา หรือยาย เป็นคนเลี้ยงดู ส่วนผู้เป็นพ่อแม่ก็มาเยี่ยมเยียนบ้าง
ภาษา ชาวบ้านโพนส่วนใหญ่พูดภาษาญ้อในการสื่อสาร อาจจะมีการใช้ภาษาไทยกลางบ้างในคนรุ่นใหม่เนื่องจากพ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน ต่างจังหวัด หรือเด็กออกไปเรียนในสถาบันการศึกษาที่มีสิ่งแวดล้อมใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสาร
ศิลปะการแสดงของชาวไทญ้อบ้านโพน บุญกองข้าวจัดขึ้น ทุกวันที่ 5 ธันวาคมทุกปีบุญพะเหวต เดือน 3 บุญข้าวจี่ เดือน 4 มีฮางฮดใหญ่ ใช้ประกอบพิธีสรงน้ำพระ ช่วงสงกรานต์และใช้สงฆ์น้ำพระที่ท่านเลื่อนสมณะศักดิ์สูงขั้น
อาหารพื้นบ้าน หมกต่อ อาหารพื้นบ้านชนเผ่าญ้อ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นสูตรจากนางตวงทิพย์ นครังสุ สมาชิกกลุ่มแม่บ้าน บ้านโพน ตำบลโนนตาล นึ่งให้สุกทั้งรังประมาณ 10-15 นาที จากนั้นเคาะเอาตัวอ่อนออกมา เตรียมเครื่องปรุงไว้ มีหอมแดงหั่น ต้นหอม ผักนางรัก ผักอีแง่ ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกแห้งหรือพริกสด เกลือ และปลาร้าเล็กน้อย คลุกเคล้าตัวอ่อนของต่อมกับเครื่องปรุง ตอกไข่ไก่ลงไป 1-2 ฟอง คลุกกันอีกครั้งจนส่วนผสมจับกันเป็นก้อน ตักใส่ใบตอง ย่างเตาถ่านประมาณ 20-30 นาที แกะใบตองออก ได้หมกต่อหอมกรุ่นรสแซบ หมกต่อหาชิมได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นอาหารของชาวญ้อ และยังมีอาหารอีกมากมาย เช่น ปลาดุกยัดไส้สมุนไพรทอด หมกเจ๊าะปลากราย
ยารักษาโรคพื้นบ้าน เป็นสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น กอโก (ต้นตะโก) กอยอป่า (ยอป่า) ฮากไม้แม่อยู่ดำ (สมุนไพรสำหรับแม่ที่คลอดบุตรและอยู่ไฟ) ว่านไฟ (ไพล) แก้ปวดท้อง ผักตำนิน (ตำลึง ) ใช้เป็นยาลดไข้ ใบสาบเสือ (หญ้าขาวแก้คัดเลือด เวลาของมีคมบาด)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
นางเมืองมา กิติศรีวรพันธุ์, สัมภาษณ์