Advance search

บ้านน้ำขมึน, บ้านน้ำขะมึน

ชุมชนตั้งอยู่ไม่ห่างจากภูหินร่องกล้า (เขตงาน 23) ภายในชุมชนเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์สามแสงธรรม มี “มหาพิหารสามแสงธรรม” เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงสหายวีรชนที่เสียสละชีวิตในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองบนสมรภูมิภูหินร่องกล้า ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับฝ่ายความมั่นคงของไทย,มีความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ศาลปู่ (หอผีประจำหมู่บ้าน) สืบทอดมาจากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย, เป็นพื้นที่เดียวในอำเภอนครไทย ที่มีการจัดการป่าชุมชน ขนาดพื้นที่ 976 ไร่

หมู่ที่ 17
บ้านน้ำขมึน
เนินเพิ่ม
นครไทย
พิษณุโลก
อบต.เนินเพิ่ม โทร. 0 5538 9284, กองทับ จันวิสิทธิ์ (ผู้ใหญ่บ้าน) โทร. 09 7959 0977
กวินธร เสถียร
6 ธ.ค. 2024
กวินธร เสถียร, พนม ทรัพย์ปรีดา
16 ม.ค. 2025
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
18 ก.พ. 2025
บ้านน้ำขมึน
บ้านน้ำขมึน, บ้านน้ำขะมึน

มีที่มาจากสองนัย 1) เชื่อว่า ตั้งตามลำห้วยขมึน มีต้นน้ำทางทิศตะวันออก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ลำห้วยขมึนมีน้ำเย็นจัด ชาวบ้านเรียกในภาษาถิ่นว่า "หมึน" น้ำหมึน จนอาจเพี้ยงเสียงมาเป็น น้ำขมึน นัยที่ 2) เชื่อว่า มาจากการไล่ล่ากวางป่าที่นายพรานดักยิง แต่กวางยังไม่ตาย และหลบหนีมาได้เรื่อย ๆ จนมาถึงพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน นายพรานไล่ล่าจนเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า แต่ก็ไม่สามารถจับกวางได้ นายพรานหงุดหงิดอย่างมาก จนแสดงอาการหมึน หรือโกรธขะมึน (โกรธจนตัวสั่น) ซึ่งคำนี้มีใช้ในภาษาอีสาน ซึ่งหมายถึง ฉุน โกรธ โมโห เช่นกัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนตั้งอยู่ไม่ห่างจากภูหินร่องกล้า (เขตงาน 23) ภายในชุมชนเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์สามแสงธรรม มี “มหาพิหารสามแสงธรรม” เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงสหายวีรชนที่เสียสละชีวิตในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองบนสมรภูมิภูหินร่องกล้า ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับฝ่ายความมั่นคงของไทย,มีความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ศาลปู่ (หอผีประจำหมู่บ้าน) สืบทอดมาจากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย, เป็นพื้นที่เดียวในอำเภอนครไทย ที่มีการจัดการป่าชุมชน ขนาดพื้นที่ 976 ไร่

บ้านน้ำขมึน
หมู่ที่ 17
เนินเพิ่ม
นครไทย
พิษณุโลก
65120
17.036072
100.913911
องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม

ราวปี 2456 ชาวบ้านกลุ่มแรก ๆ คือสกุล บุญอาจ, แสงบุดดี, บุญธรรม, จันทะคีรี และ จันวิสิทธิ์ ได้อพยพย้ายถิ่นมาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ สุดตา จันทะวงศ์ ปราชญ์ท้องถิ่นที่เกิดและเติบโตในชุมชนเล่าว่า พ่อแม่ อพยพมาจากบ้านกกแหน ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน เนื่องจากหนีจากการเกณฑ์แรงงานมาสร้างฐานทัพ (สนามบิน) ชาวบ้านที่ไม่ต้องการถูกใช้แรงงานจึงอพยพออกจากอำเภอด่านซ้าย และยังมีชาวบ้าน บ้านน้ำหมัน บ้านห้วยมุ่น และบ้านกกจาน ที่อพยพมาพร้อมกัน จนมาถึงพื้นที่ราบ เหมาะแก่การทำเกษตร โดยการปลูกข้าว ทั้งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีลำห้วยไหลผ่าน และมีน้ำตลอดทั้งปี แต่ด้วยน้ำในลำห้วยเย็นจัด จนรู้สึก "หมึน" หรือ "มึน" (ชา) เมื่อลงไปอาบ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านน้ำขมึน" หรือ "บ้านห้วยขมึน" ทั้งนี้ ยังมีการสะกดด้วยคำว่า “ขะมึน” ในชื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำขะมึน ในพื้นที่หมู่ที่ 16 บ้านห้วยน้ำไซใต้

พนม ทรัพย์ปรีดา ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังว่า "ทุกวันนี้ หากบอกว่าเป็นคนบ้านน้ำขมึน คนหมู่บ้านอื่นก็จะบอกว่า เป็นคนบ้านกกแหน" ผู้เขียนเห็นว่า "กกแหน" น่าจะมาจากชื่อพืช โดยตีความจาก "กก" ซึ่งเป็นคำบ่งชี้โคนหรือลำต้นไม้ ส่วน "แหน" เป็นชื่อท้องถิ่นทางภาคเหนือ ซึ่งชื่อทั่วไปคือ "สมอพิเภก" (Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.) เป็นต้นไม้ที่พบได้ในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏชื่อบ้านกกแหน ในตำบลกกสะทอน (สะทอน คือชื่อต้นสะทอน) ยกเว้นชื่อใกล้เคียงคือ บ้านกกจาน (จาน คือชื่อต้นทองกวาว) แต่กลับพบชื่อ บ้านกกแหนเก่า และบ้านกกแหนใหม่ ในตำบลนาดี อำเภอด่านซ้าย ห่างจากตำบลกกสะทอน ไปทางทิศเหนือ ราว 55 กิโลเมตร จึงเป็นที่น่าสนใจสืบค้นต่อว่า คนกลุ่มแรกที่อพยพมาจากอำเภอด่านซ้ายนั้น มีถิ่นฐานเดิมในตำบลกกสะทอน หรือตำบลนาดี

นอกจากนี้ ยังมีที่มาอีกหนึ่งนัย โดยคุณตาทอง บุญอาจ เชื่อว่า ชื่อหมู่บ้านมีที่มาจาก เรื่องเล่าพื้นบ้านเกี่ยวกับการไล่ล่ากวางป่า ซึ่งนายพรานดักซุ่มยิง แต่กวางไม่ตาย ซ่อนตัว และหลบหนีการไล่ล่า จนมาถึงพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชน นายพรานติดตามมาอยู่นาน จนอ่อนล้า ไม่อาจจับกวางได้ รู้สึกโกรธจนตัวสั่น (หมึน/หมึนหัว) ซึ่งคำว่า "หมึน" ในภาษาอีสาน หมายถึง ฉุน โกรธ โมโห เช่นกัน (อีสานร้อยแปด, 2561)

คุณตาสุดตา จันทะคีรี หรือสหายชาติ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รับผิดชอบเขตงานภูขัด 573/4 เล่าว่า ในอดีตเคยมีโรคห่า หรืออหิวาตกโรคระบาด มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ชาวบ้านจึงอพยพออกจากชุมชน กระจายไปยังพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ได้แก่ บ้านห้วยตีนตั่ง ตำบลเนินเพิ่ม, บ้านนาโพธิ์ บ้านนาจาน ตำบลหนองกะท้าว, บ้านห้วยเฮี้ย (ตำบลห้วยเฮี้ย) บางคนอพยพไปถึง บ้านโป่งปะ บ้านท่าข้าม และบ้านชัยนาม ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จนเมื่อการระบาดสิ้นสุดลง ชาวบ้านจึงกลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนอีกครั้ง และเมื่อทางราชการตั้งเขตการปกครองระดับหมู่บ้าน จึงรวมบ้านน้ำขมึนอยู่ในเขตการปกครองเดียวกับหมู่ที่ 1 บ้านห้วยตีนตั่ง

ต่อมาในปี 2546 เมื่อประชากรมีจำนวนมากขึ้น จึงแยกออกมาจากบ้านห้วยตีนตั่ง ตั้งเป็นหมู่ที่ 17 และกำหนดชื่อเป็นทางการว่า "บ้านน้ำขมึน" ตามชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านชุมชน และมีคำขวัญชุมชนว่า

 "น้ำขมึนลำธารหลัก ถิ่นอนุรักษ์ป่าชุมชน ศาสนสถานงามเหลือล้น บรรพชนสืบทอดสามแสงธรรม"

เหตุการณ์สำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชุมชน เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2511 เมื่อมีการปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในพื้นที่ภูหินร่องกล้า หรือ "เขตงาน 23" (เขตติดต่อ 3 จังหวัดคือ เพชรบูรณ์-พิษณุโลก-เลย) เป็นไปอย่างเข้มแข็ง เนื่องจาก พคท. จัดตั้งกำลังทหารหลัก 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 ภูหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า ภูทับเบิก ชุดที่ 2 เขาค้อ และชุดที่ 3 ภูขัด ภูเมี่ยง (นิพัทธ์ ทองเล็ก, 2563) ชาวบ้านและชาวเขาในพื้นที่ มีทั้งที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมอุดมการณ์ พคท. และบางส่วนถูกชักชวนจากทหารให้เป็นกองอาสารักษาดินแดง (อส.)

คุณตาสุดตา เล่าว่า ตนเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไป ที่หาช่องทางทำกิน โดยซื้อม้วนผ้าสีดำ ราคาม้วนละ 80 บาท นำขึ้นไปขายให้สมาชิก พคท. บนภูหินร่องกล้า เนื่องจากได้กำไรดี ชาวบ้านบางคนก็ขายของกิน-ของใช้ให้กับ สมาชิก พคท. เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายรัฐ จึงสงสัยว่า ชาวบ้านอาจเป็นสายสืบ เป็นผู้ส่งเสบียง หรือเป็นแนวร่วม พคท. จึงมีคำสั่งให้เผาทำลายบ้านเรือนของชาวบ้าน เหตุการณ์ในวันนั้น จึงถูกเรียกว่า "บ้านแตก" ในปี 2513 ชาวบ้านราว 17 หลังคาเรือน จึงหนีตายแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง

กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบ ข้อมูลจากเพจกองทัพภาคที่ 3 (เกร็ดประวัติศาสตร์ v2, 2568) เล่าว่า วันที่ 20 พฤศจิกายน 2511 เป็น "วันเสียงปืนแตก" เนื่องจากสมาชิก พคท. ปฏิบัติการอย่างรุนแรงในการซุ่มยิง โจมตีฐานอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้านห้วยทรายใต้ อำเภอนครไทย และลอบยิงชาวบ้านจนได้รับบาดเจ็บล้มตาย ขณะที่ พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก เล่าว่า พคท. เข้าตีบ้านเล่าลือ และบ้านห้วยทรายเหนือ (ปัจจุบัน บ้านเล่าลือคือ หมู่ 9 ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์, บ้านห้วยทรายเหนือ คือ หมู่ 6 ตำบลห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย ส่วนบ้านห้วยทรายใต้ ไม่ปรากฏข้อมูล แต่ผู้เขียนคาดว่า น่าจะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องทางทิศใต้ของบ้านห้วยทรายเหนือ) กรณีเหตุการณ์บ้านแตกในปี 2513 จึงควรสืบค้นต่อเนื่องว่า เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับ วันเสียงปืนแตก หรือไม่

เมื่อบ้านเรือนถูกไฟไหม้ ชาวบ้านจึงหนีเข้าป่า เข้าไปร่วมกับกลุ่มนักศึกษา จากที่ต่าง ๆ และเข้าเป็นสมาชิก พคท. เนื่องจากขณะนั้น ชาวเขา (ม้ง) ให้การดูแลด้านที่พัก และอาหารแก่ผู้ที่อพยพเข้าไปในพื้นที่ภูหินร่องกล้า เมื่อคุณตาสุดตา เข้าเป็นสมาชิก พคท. ได้ถูกส่งไปอบรมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ฝึกทักษะทางทหาร และการสร้างมวลชน ที่ประเทศลาว ราว 1 ปีครึ่ง ส่วนสมาชิกในครอบครัวยังคงอยู่ในพื้นที่ ภายหลังการอบรม จึงได้กลับมาประจำการในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ส่วนคุณตาทอง เล่าว่า ตนเป็นหนึ่งในสมาชิก อส. สังกัดหน่วยล่าสังหาร และราวปี 2512 เคยขึ้นไปเก็บกู้ทหาร 5 ศพ ออกจากผาชูธง บริเวณหมู่บ้านป่าหวาย (ใกล้กับภูขี้เถ้า) ในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารหน่วยป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์กับสมาชิก พคท. โดยมี พันโท ไชยยง โพธิ์อุไร สังกัด กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 1 (แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, 2514) เป็นผู้บังคับบัญชา

เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยมีการโปรยกระดาษให้สมาชิก พคท. ออกจากป่า โดยไม่มีความผิด คุณตาสุดตา จึงยุติบทบาทตนเอง พาครอบครัวออกจากป่า กลับมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนเช่นเดิมในปี 2523

รายชื่อผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

  1. นายสุพรรณ แสงบุดดี ดั้งเดิมเป็นคน ตำบลยางโกลน อำเภอนครไทย
  2. นายรบ บุญอาจ
  3. นายกองทับ จันวิสิทธิ์
  4. นายพนม ทรัพย์ปรีดา ดั้งเดิมเป็นคนตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

พื้นที่ชุมชนประมาณ 6,700 ไร่ (10.72 ตารางกิโลเมตร) ณ ศูนย์กลางชุมชนที่สำนักสงฆ์สามแสงธรรม จะห่างจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ไปทางทิศตะวันออก 14.2 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอนครไทยไปทางทิศตะวันตก 15.1 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดพิษณุโลก มาทางทิศตะวันตก 114 กิโลเมตร มีลำน้ำขมึนไหลผ่านชุมชน โดยมีต้นน้ำอยู่ที่บ้านห้วยน้ำไซ (หมู่ที่ 15) 

เขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม และบ้านโป่งกระเชอ หมู่ที่ 5
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยตีนตั่ง หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 23 ตำบลหนองกะท้าว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยน้ำไซใต้ หมู่ที่ 16
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยตีนตั่ง และป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม (องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม, 2564)

สำนักสงฆ์สามแสงธรรม 

ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางชุมชน เดิมชื่อ "สำนักสงฆ์บ้านน้อยน้ำขมึน" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักสงฆ์สามแสงธรรม" สร้างในปี 2543 โดยกลุ่มชาวบ้านน้ำขมึน คุณตาสุดตา จันทะคีรี (อดีตพระอาจารย์สุตตา เตชะธโร, ประธานสำนักสงฆ์สามแสงธรรม) เคยเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) หรือสหายชาติ เล่าว่า ได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อน 3 จังหวัด เขตเขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด ภูเมี่ยง (กลุ่มขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชน 14 ตุลา) ได้แก่ สหายยิ่ง ภานุวัฒน์ วัฒนเธียร สถาปนิกจากลาดกระบัง ในฐานะผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง โดยรวบรวมเงินทุนจากมิตรสหายและผู้มีจิตศรัทธา ภายใต้การสนับสนุนหลักจาก คุณประพจน์ (สหายจิตร) และคุณเพ็ญศรี (สหายฝน) พลพิพัฒนพงศ์ ต้องการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเผยแผ่หลักธรรม คำสอน และปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา/ประเพณี แก่พุทธศาสนิกชน และอีกด้านหนึ่งคือ เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงวีรชนผู้พลีชีพ จากการต่อสู้ตามอุดมการณ์สังคมนิยมปฏิวัติ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งเคยมีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติร่องกล้า (กลุ่มเพื่อนสามจังหวัด เขตเขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด, ม.ป.ป.; กลุ่มเพื่อนสามจังหวัด เขตเขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด, ม.ป.ป.) ส่วนพื้นที่ชุมชนถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่ง ต่อการส่งเสบียงให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน พคท. (ส่วนสถานที่รำลึกถึงวีรกรรมของพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้พลีชีพในการสู้รบกับอุดมการณ์ของ พคท. บริเวณพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดในช่วงปี 2511-2525 คือ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์)

ในทุกปี กลุ่มเพื่อน 3 จังหวัดฯ จะใช้สถานที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่เชื่อมโยงความผูกพันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งเคยเป็นสหาย พคท. และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ (นักศึกษาที่เคยเข้าป่า) จากจังหวัดต่าง ๆ จัดงาน "ร้อยดวงจิตคิดถึงเพื่อน" ร่วมพบปะสังสรรค์ ทำบุญแก่ดวงวิญญาณวีรชน และรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีต โดยมีผู้ร่วมงานนับพันคน เช่น วันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี เดินทางมาร่วมงาน (ภัทรานิษฐ์ พรมคง , 2561)

สถานที่สำคัญภายในสำนักสงฆ์สามแสงธรรม ได้แก่

(1) ฌาปนสถาน เป็นสิ่งก่อสร้างชุดแรก ประกอบด้วย เมรุรูปทรงหน่อไม้ สร้างเสร็จในปี 2544 และศาลารูปทรงกอไผ่ สร้างเสร็จในปี 2545 สถาปนิกผู้ออกแบบนำส่วนของไผ่ จากหน่อ กาบ และตา มาดัดแปลง สื่อสัญญะทางธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งทุกคนต้องเอื้ออาทรต่อกันดังเช่นกอไผ่ ซึ่งแต่ละลำมีขนาดเท่า ๆ กัน ไผ่แต่ละต้นมีส่วนช่วยเลี้ยงหน่ออ่อน เปรียบได้กับความเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคม ผู้เกิดก่อนควรดูแลคนเกิดหลัง และการร่วมมือกันของสมาชิกในการสร้างสังคมให้ก้าวหน้า ภายในศาลากอไผ่ มีประติมากรรมเพื่อรำลึกถึงเหล่าวีรชน 3 จังหวัด เขตเขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด ภูเมี่ยง เป็นประติมากรรมบนฐาน 3 แท่น สร้างเสร็จในปี 2546 โดยฐานแต่ละแท่นมีการจารึกชื่อผู้พลีชีพ จำนวน 218 รายชื่อ ในสงครามปฏิวัติของฐานที่มั่น 3 จังหวัดฯ ทั้งหมด ประกอบด้วย 

  • ประติมากรรมกระจกปีรามิด 3 ด้าน หมายถึง ความรู้และการวิเคราะห์สังคมอย่างรอบด้าน มวลชนมีปัญญารู้แจ้ง
  • ประติมากรรมหยดน้ำแห่งดาวแดง หมายถึง หยดน้ำแห่งสังคมนิยมปฏิวัติทุกหยด ซึ่งในที่สุดจะไหลมารวมกันเป็นพลังสายน้ำที่ยิ่งใหญ่จนไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้
  • ประติมากรรมกล่องโลหะ ประทับตราค้อนเคียว หมายถึง การอาสาแบกรับภารกิจปฏิวัติที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย 

(2) หอบอกเล่าเรื่องราว และหอสันติภาพ สร้างเสร็จในปี 2552-2553 ออกแบบเป็นรูปทรงพระราหู สื่อถึงอำนาจมืดที่บดบังความรู้แจ้งเห็นจริงในสังคม เช่น ความจริงที่ประเทศมหาอำนาจก่อสงครามรุกราน อุดมการณ์สังคมนิยมที่ถูกใส่ร้ายบิดเบือน การใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบคดโกง และทำร้ายประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

(3) มหาพิหารสามแสงธรรม สร้างเสร็จในปี 2558 เป็นสิ่งก่อสร้างคล้ายหน่อไม้ ภายในมี 3 ชั้น ชั้นใต้ดินเป็นห้องแสดงภาพถ่ายในอดีตของกลุ่มนักปฏิวัติประจำฐานที่มั่น 3 จังหวัด มีรายชื่ออดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือสหายไท เขตงานภูหินร่องกล้า (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์) โถงชั้น 1 (ระดับพื้นดิน) เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ และชั้น 3 ประดิษฐาน “พระพุทธสัตตมณีศรีแสงธรรม” สลักจากหินสีเขียว มีพุทธลักษณ์งดงามในท่านั่งขัดสมาธิ 

ข้อมูลในระบบทะเบียนอำเภอนครไทย รายงานว่า มีประชากรรวม 664 คน ครัวเรือน 226 ครัวเรือน แต่ครัวเรือนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานปี 2566 มีจำนวน 154 ครัวเรือน 278 คน จำแนกเป็นเพศชาย 143 คน และเพศหญิง 135 คน

  • มีแรงงานต่างชาติในภาคเกษตร ได้แก่ ชาวพม่า 20 คน, ชาวลาว 10 คน (ทำงานให้คนไทยเชื้อสายม้ง) และกัมพูชา 3 คน รับจ้างกรีดยางในสวนยางพารา
  • มีแรงงานต่างชาติชั่วคราว รับจ้างตัดอ้อย 7-8 คน

ชุมชนประกอบด้วยคุ้มบ้าน 10 คุ้ม โดยภายในชุมชนมีกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จัดตั้งเมื่อปี 2546 มีสมาชิก 130 คน มีนางเจริญ คงหนองลาน เป็นประธาน
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน จัดตั้งเมื่อปี 2546 มีสมาชิก 130 คน มีนายวอน คงหนองลาน เป็นประธาน
  • กลุ่มบรรเทาสาธารณภัย
  • คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน (กพสม.) 15 คน
  • อาสาพัฒนาชุมชน 4 คน
  • โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) 145 ครัวเรือน
  • กลุ่มเพื่อนสามจังหวัด เขตเขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด ภูเมี่ยง

ชุมชนบ้านน้ำขมึน ประกอบอาชีพทางเกษตรเป็นหลัก ได้แก่

  • พืชไร่ 156 ครัวเรือน (ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ปาล์มน้ำมัน)
  • ปลูกข้าว (ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว กข.6 บางส่วนเป็นข้าวหอมมะลิ) 211 ครัวเรือน
  • พืชสวน 62 ครัวเรือน เช่น ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม ส้ม, พืชผัก เช่น กะหล่ำ ผักกาด
  • ปศุสัตว์ 93 ครัวเรือน เช่น วัว ควาย และไก่

พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็น ส.ป.ก. และบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (ค.ท.ช. จังหวัด)

พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง (หมู่ที่ 1 บ้านห้วยตีนตั่ง) ไม่มีตลาดชุมชน การจำหน่ายอาหาร สินค้าเกษตร จะดำเนินการซื้อ-ขาย ผ่านไลน์หมู่บ้าน แต่มีร้านขายของชำ และร้านอาหารในลักษณะเพิง ไม่เกิน 10 ที่นั่ง ภายในชุมชน

ชุมชนนับถือศาสนาพุทธ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักสงฆ์สามแสงธรรม และมีความเชื่อเกี่ยวกับศาลปู่ มีประเพณีในรอบปี ได้แก่ 

ประเพณีเลี้ยงหอบ้าน หรือศาลปู่ (จำนวน 4 หลัง) 

จัดขึ้นในเดือน 7 ขึ้น 8 ค่ำ ปีละ 1 ครั้ง เป็นพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ (ผีเจ้านาย) มีพื้นฐานความเชื่อดั้งเดิม มาจาก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกี่ยวข้องกับพระธาตุศรีสองรัก ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงิน จำนวน 100 บาท จากครัวเรือนที่มีความเชื่อต่อศาลปู่ เพื่อนำมาซื้อหมูที่ยังมีชีวิต และเครื่องเซ่นไหว้อื่น ๆ ได้แก่ ไก่ต้ม เหล้าขาว ข้าวต้มมัด เทียน ข้าวปลาอาหารต่าง ๆ และการแกะสลักช้าง ม้า และดาบ จากไม้ในท้องถิ่น อย่างละ 3 ชุด โดยผู้ร่วมงานจะช่วยกันยึดหมูกับหลัก และฆ่าโดยการทุบหัว ให้เลือดไหลลงดิน จากนั้นนำหมูไปปรุงให้สุก แล้วนำมาเซ่นบวงสรวงที่ศาลปู่ เมื่อเสร็จพิธีก็จะแจกจ่ายให้แก่ผู้ร่วมงาน สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชุมชน

ประเพณีบุญปราสาทผึ้ง หรือบุญออกพรรษา จัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระธาตุศรีสองรัก, การทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ และการแก้บนตามความเชื่อส่วนบุคคล ประเพณีนี้สืบทอดต่อกันมาในหมู่ชุมชนที่อพยพมาจากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้าน (1, 5, 7, 12, 13 และ 17) จะร่วมกันจัดทำปราสาทผึ้ง โดยทำดอกผึ้ง (คนละ 1 ดอกหรือตามจำนวนสมาชิกครัวเรือน) แกะลวดลายจากไม้ หรือก้นมะละกอ จุ่มในขี้ผึ้งที่หลอมละลาย แล้วจุ่มลงน้ำเย็น จากนั้นแกะขี้ผึ้งออกจากพิมพ์ นำไปติดลงบนปราสาท ที่ทำจากหยวก/กาบกล้วย แห่ไปถวายที่วัดในพื้นที่ตนเอง โดยพื้นที่หมู่ 17 จะแห่ไปยังสำนักสงฆ์สามแสงธรรม (นาวีมีกล้อง, 2567)

ประเพณีบุญข้าวเปลือก ตรงกับเดือน 3 (ราวเดือนกุมภาพันธ์) หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านที่ปลูกข้าว (ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว) จะนำข้าวเปลือกมาถวายวัด พระสงฆ์จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์

1.นายทอง บุญอาจ (อดีตกองอาสารักษาดินแดน และหัวหน้าคุ้มบ้าน) 

  • ปีเกิด : 2488
  • ความเชี่ยวชาญ : เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน

2.นายสุดตา จันทะคีรี (อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย) 

  • ปีเกิด 2482
  • ความเชี่ยวชาญ : ปราชญ์ชุมชนเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน

3.นางทองสด บุญอาจ 

  • ปีเกิด 2496
  • ความเชี่ยวชาญ : บายศรีสู่ขวัญ

4.นางไหล บุญอาจ

  • ปีเกิด 2498
  • ความเชี่ยวชาญ : งานจักสานเครื่องมือดักปลา, พิธีเลี้ยงปู่ประจำหมู่บ้าน

5.นายเอี่ยม ทิมป่าติ้ว

  • ความเชี่ยวชาญ : ป่าชุมชน, พรรณพืช

ทุนทรัพยากรป่าไม้

เดิมพื้นที่ป่าชุมชนบ้านน้ำขมึน (หมู่ที่ 17) เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม ซึ่งถูกประกาศตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 467 เมื่อปี 2515 (ตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507) ต่อมาถูกกันออกและขึ้นทะเบียนในโครงการป่าชุมชน ของกรมป่าไม้ (ม.ป.ป.) เมื่อปี 2561 มีพื้นที่ 976 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา และถูกประกาศเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562

ก่อนประกาศเป็นป่าชุมชน พื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตร โดยการทำไร่ข้าวโพด สวนยางพารา ปล่อยสัตว์เข้าไปเลี้ยงในป่า การตัดไม้เพื่อนำมาไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง แต่เมื่อประกาศเป็นป่าชุมชน จึงมีการกำหนดกฎระเบียบข้อห้าม และกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ สภาพป่าจึงค่อย ๆ ฟื้นตัว

สภาพภูมิประเทศ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 300-370 เมตร (ภูขี้ม้า) อยู่ในประเภทป่าเบญจพรรณ (ไม่มีไม้สัก) มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรป่าไม้ การสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าชุมชน โดยโครงการวิจัยแผนการจัดการป่าชุมชนบ้านน้ำขมึน จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 พบพรรณไม้ เช่น กระบก ก่อ ซาด พลวง (กุง) แดง เต็ง มะเหลี่ยม รัง ตะคร้อ ติ้วหนาม หนามแท่ง เหียง พฤกษ์ มะกอก หมากเป้ง หมากเม่า เหมือดแอ่ ไผ่บง ไผ่คาย ไผ่เปาะ ไผ่รวก เห็ดไคล เห็ดหำฟาน อีลอก ด้วงขี้ควาย และร่องรอยหมูป่า ความหลากหลายของพรรณไม้ป่า จึงเป็นแหล่งอาหารหรือสวนครัวหลังบ้านสำหรับชุมชน โดยเฉพาะผักหวาน เห็ด และหน่อไม้ ชนิดต่าง ๆ

มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เว็บเพจภาษานครไทยน่าฮัก ให้ข้อมูลว่า ชาวนครไทยในอดีต มักกล่าวถึงภาษาของตนเองว่า "คนนครไทยพูดภาษาลาวก็ไม่ใช่ พูดภาษาไทยก็ไม่เป็น"

ตัวอย่างคำที่เป็นเอกลักษณ์ คือ "ฮั้นแน้ว" แปลว่า นั่นนะสิ (ใช้กันในกลุ่มคนไทเลย) ตัวอย่างเช่น "ฮั้นแน้ว แล้วเจอกันเด้อ" ซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในอำเภอนครไทย เช่น งานถนนคนเดิน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ 7-8 ธันวาคม 2567 ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือ "ร่องกล้าฮั้นแน้ว" ป้ายประชาสัมพันธ์ ณ จุดชมวิว ภายในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 

ส่วนคำอื่น ๆ เช่น คำว่า มัก หมายถึง รัก, เฮือน หมายถึง เรือน, ฮ้อน หมายถึง ร้อน และใช้คำว่า "หมาก" นำหน้าชื่อผลไม้ทุกชนิด เช่น หมากม่วง (มะม่วง) หมากซา (พุทรา) หมากโอ (ส้มโอ) หมากขนุน (ขนุน) หมากค้อส้ม (มะค้อ) (ภาษานครไทยน่าฮัก, 2562; องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม, 2564)


ชุมชนบ้านน้ำขมึน อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดพิษณุโลก ครอบคลุมอำเภอชาติตระการ นครไทย และวัดโบสถ์ เป็นพื้นที่ที่มีความพลิกผันทางด้านการเมืองกล่าวคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี 2554 นายนคร มาฉิม (พรรคประชาธิปัตย์) เป็นผู้แทนฯ , ปี 2562 นายมานัส อ่อนอ้าย (พรรคพลังประชารัฐ) เป็นผู้แทนฯ , ปี 2566 นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ (พรรคก้าวไกล) เป็นผู้แทนฯ


การที่ชุมชนตั้งอยู่ในจุดผ่านทางไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (จังหวัดพิษณุโลก) ภูทับเบิก และภูลมโล (จังหวัดเพชรบูรณ์) จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ร้ายขายของที่ระลึก หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น


การดำเนินงานของกลุ่มเพื่อนสามจังหวัดฯ ในงานร้อยดวงจิตคิดถึงเพื่อน ซึ่งยังคงจัดงานอย่างต่อเนื่องประจำปี มีส่วนช่วยสืบต่อประวัติชุมชนที่เกี่ยวข้องกับ พคท. และยังมีกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ ที่ช่วยพัฒนาชุมชน เช่น โครงการหน่วยแพทย์จรยุทธ แพทย์อาสากลุ่มมหิดลฯ และเพื่อน แพทย์แผนจีน ฝังเข็มกดจุด การแจกแว่นแก่ผู้สูงอายุ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง กองทุนการศึกษา การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรม ด้านดนตรีไทย ศิลปะ มัคคุเทศก์น้อย


  • ชุมชนใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จากระบบประปาภูเขา ซึ่งพบปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และผู้ใช้น้ำบางรายดัดแปลงมิเตอร์น้ำ ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้น จึงมีการนำเสนอโครงการพัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม เป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการ
  • เส้นทางถนนไปยังพื้นที่ทำการเกษตร ยังเป็นถนนลูกรัง ต้องรอการจัดทำโครงการตามแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบล

เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ภูทับเบิก และภูลมโล สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) นักท่องเที่ยวจะใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 2331 (โจะโหวะ-นครไทย) สัญจรผ่านชุมชนมากขึ้น ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ และความนิยมท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะในกลุ่มผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ (จักรยานยนต์ ขนาดความจุ 400 cc. ขึ้นไป) จึงอาจส่งผลต่อมลภาวะทางเสียง และความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนของผู้คนในท้องถิ่น


จำนวนเด็ก ๆ ที่เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนบ้านห้วยตีนตั่ง มีจำนวนลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง และผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปเรียนในตัวอำเภอนครไทย เด็ก ๆ ที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งจากพื้นที่หมู่ที่ 15 บ้านห้วยน้ำไซ


ประชาชนในชุมชนให้ความสำคัญกับงานประเพณีสำคัญ 2 งาน คือ ไหว้ศาลปู่ และแห่ต้นผึ้ง (แห่ประสาทผึ้ง) ในเทศกาลออกพรรษา


  • การบุกรุกป่าชุมชนเพื่อทำการเกษตร
  • การลักลอบตัดไม้ยืนต้นในป่าชุมชน
  • การปล่อยสัตว์ (วัว) เข้าไปเลี้ยงในป่า
  • การเผาป่าเพื่อหาผักหวาน เห็ด และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งไฟจะลามเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชน
  • การหาของป่าผิดวิธี เช่น ตัดฟันลำต้นผักหวานป่า แทนการหักกิ่ง เด็ดยอด จนลำต้นหักโค่น เกิดแผล มีความเสี่ยงยืนต้นตาย และการเก็บหาในปริมาณมาก จนเกินศักยภาพการฟื้นตัว

ป่าเนินเพิ่ม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กฎกระทรวง ฉบับที่ 467 (พ.ศ. 2515) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507. (2515). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 89 ตอนที่ 162. 125-126.

กรมการพัฒนาชุมชน. (2566). ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.2ค) ปี 2566-2570. โปรแกรมจัดเก็บบันทึกและประมวลผลปี 2566-2570. https://smartbmn.cdd.go.th/

กรมป่าไม้. (ม.ป.ป.). โครงการป่าชุมชนบ้านน้ำขมึน. ข้อมูลสารสนเทศ กรมป่าไม้. https://forestinfo.forest.go.th/

กลุ่มเพื่อนสามจังหวัด เขตเขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด. (ม.ป.ป.). สำนักที่พักสงฆ์สามแสงธรรม และอนุสรณ์สถานวีรชน (เขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด ภูเมี่ยง). ม.ป.พ.

กลุ่มเพื่อนสามจังหวัด เขตเขาค้อ ร่องกล้า ภูขัด. (ม.ป.ป.). สำนักสงฆ์สามแสงธรรม. ม.ป.พ.

กวินธร เสถียร, พุดตาน พันธุเณร, กฤษฏา วัฒนเสาวลักษณ์ และปราณี นางงาม . (2568). (ร่าง) รายงานการวิจัยการพัฒนาแผนการจัดการป่าชุมชนบ้านน้ำขมึน จังหวัดพิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

เกร็ดประวัติศาสตร์ v2. (2 มกราคม 2568). ยุทธการภูขวาง. Facebook. https://www.facebook.com/permalink.php

แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน. (2514). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 88 ตอนที่ 115, 21-71.

นาวีมีกล้อง. (9 มกราคม 2567). ประเพณีบุญปราสาทผึ้ง ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย ปี 2566. YouTube. https://www.youtube.com/watch

นิพัทธ์ ทองเล็ก. (24 กุมภาพันธ์ 2563). เมื่อเขาค้อ...ร่มเย็นและเป็นสุข. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/columnists/

ปริญญา นวลเปียน. (2561). โซนสีเทาในพื้นที่สีแดง: ภาพสะท้อนจากเขตปลดปล่อยบริเวณชุมชนเชิงเขาบรรทัดในยุคสงครามเย็น. วารสารรูสะมิแล, 39(3), 7-20.

ภัทรานิษฐ์ พรมคง. (10 พฤศจิกายน 2561). ต้อนรับ พณ.ฯพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี. องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม. https://www.noenphoem.go.th/

ภาษานครไทยน่าฮัก. (18 กรกฎาคม 2562). ภาษานครไทย. Facebook. https://www.facebook.com/photo.php

วิกิพีเดีย. (12 พฤศจิกายน 2567ก). จังหวัดพิษณุโลกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554. https://th.wikipedia.org/wiki/

วิกิพีเดีย. (12 พฤศจิกายน 2567ข). จังหวัดพิษณุโลกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562. https://th.wikipedia.org/wiki/

วิกิพีเดีย. (19 พฤศจิกายน 2567ค). จังหวัดพิษณุโลกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566. https://th.wikipedia.org/wiki/

องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570). ม.ป.พ.

อีสานร้อยแปด. (2561). หมึน. https://esan108.com/dict/

อบต.เนินเพิ่ม โทร. 0 5538 9284, กองทับ จันวิสิทธิ์ (ผู้ใหญ่บ้าน) โทร. 09 7959 0977