ชุมชนบางขุนไทรมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นแหล่งหอยแครงธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ชุมชนบางขุนไทร เดิมมีชื่อว่า บางขุนไทรทอง ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้เล่าขานต่อกันมาว่า วันหนึ่งตาขุนได้ออกไปจับปลาในคลองใหญ่ ที่มีต้นไทรขึ้นอยู่หนาแน่นด้วย เครื่องมือดักปลาที่เรียกว่า “ไซ” แต่เมื่อตาขุนไปกู้ไซที่ดักปลาไว้ในคลอง กลับได้ทองคําแทนที่จะเป็นปลาช่อน ปลาดุก เหมือนกับครั้งที่ผ่าน ๆ มา ตาขุนจึงนําทองคําที่ดักได้ไปขาย และนําเงินส่วนหนึ่งไปสร้างวัดโดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดไทรทอง” ตามลักษณะภูมิประเทศที่มีต้นไทร และทองคําที่ตาขุนดักได้ มาผนวกรวมกันตั้งเป็นชื่อวัดประจําหมู่บ้าน เมื่อมีวัดแล้วจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านในขณะนั้นว่า “บางขุนไทรทอง” ซึ่งเป็นการผนวกรวมกันระหว่างชื่อตาขุนและทองคําที่ตาขุนดักได้ และลักษณะภูมิประเทศที่มีต้นไทรในละแวก แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนไปจนกลายเป็น “บางขุนไทร” จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนบางขุนไทรมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นแหล่งหอยแครงธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ชุมชนบางขุนไทร เป็นชุมชนเก่าแก่อายุมากกว่า 200 ปี เดิมมีชื่อว่า บางขุนไทรทอง ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้เล่าขานต่อกันมาว่าในอดีตมีผู้คนเชื้อสายชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาทําการค้าขายกลายเป็นแหล่งทํากินและประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ต่อมาได้ย้ายลงมาอยู่ที่บริเวณปากน้ำสมุทรปราการ และเคลื่อนลงมาทางใต้ มาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณตําบลบางขุนไทร เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับทําเลที่ตั้งอยู่ติดทะเล เหมาะกับการประกอบอาชีพประมง จึงทําให้ผู้คนต่างถิ่นเริ่มอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนกันมากขึ้น
ต่อมาวันหนึ่งตาขุนได้ออกไปจับปลาในคลองใหญ่ ที่มีต้นไทรขึ้นอยู่หนาแน่นด้วย เครื่องมือดักปลาที่เรียกว่า “ไซ” แต่เมื่อตาขุนไปกู้ไซที่ดักปลาไว้ในคลอง กลับได้ทองคําแทนที่จะเป็นปลาช่อน ปลาดุก เหมือนกับครั้งที่ผ่าน ๆ มา ตาขุนจึงนําทองคําที่ดักได้ไปขาย และนําเงินส่วนหนึ่งไปสร้างวัดโดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดไทรทอง” ตามลักษณะภูมิประเทศที่มีต้นไทร และทองคําที่ตาขุนดักได้ มาผนวกรวมกันตั้งเป็นชื่อวัดประจําหมู่บ้าน เมื่อมีวัดแล้วจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านในขณะนั้นว่า “บางขุนไทรทอง” ซึ่งเป็นการผนวกรวมกันระหว่างชื่อตาขุนและทองคําที่ตาขุนดักได้ และลักษณะภูมิประเทศที่มีต้นไทรในละแวกท้องถิ่นที่ตั้งบ้านเรือน แต่ต่อมาเรียกกันไปจนกลายเป็น “บางขุนไทร” จนถึงปัจจุบัน
ช่วงเวลาต่อมาเริ่มมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ทั้งคนจีน คนแขก และคนไทยเชื้อสายสายลาว คนไทยท้องถิ่น ส่งผลต่อการตั้งบ้านเรือนหรือการรวมกลุ่ม ตั้งเป็นชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ ในชุมชนบางขุนไทร อาทิ ชุมชนบ้านแขก หมู่ที่ 4 เป็นผู้คนเชื้อสายมุสลิม ชุมชนดอนผิงแดด หมู่ที่ 5 เป็นผู้คนเชื้อสายลาวเวียงจันทร์ในประเทศลาวที่อพยพมาอยู่ เมืองไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 4-5 ดังนั้น ความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของชุมชน บางขุนไทรจึงมีค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถดํารงอยู่ด้วยกันได้อย่างผสมกลมกลืน
ปัจจุบันชุมชนบางขุนไทรประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านบางขุนไทร หมู่ที่ 1-3 หมู่บ้านแขกหมู่ที่ 4 หมู่ บ้านดอนผิงแดด หมู่ที่ 5 หมู่บ้านดอนวัด 6 บ้านดอนไทย หมู่ที่ 7 หมู่บ้านบางอินทร์ หมู่ที่ 8 หมู่บ้านป่าขาด หมู่ที่ 9 หมู่บ้านสามัคคี หมู่ที่ 10 และหมู่บ้านดอนหอยแครง หมู่ที่ 11
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตําบลบ้านแหลม อําเภอบ้านแหลม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตําบลปากทะเล อําเภอบ้านแหลม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ป่าชายเลนริมทะเลอ่าวไทย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตําบลท่าแร้งออก และตําบลท่าแร้ง อําเภอบ้านแหลม
บริบททางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ชุมชนบางขุนไทรมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำเค็มประมาณร้อยละ 60 เขตน้ำจืดประมาณร้อยละ 40 บริเวณชายฝั่งมีสภาพเป็นหาดโคลน มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 450 ไร่ มีต้นแสม โกงกาง และต้นตะบูนขึ้นอยู่หนาแน่น บริเวณหาดมีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าชายเลน อันเป็นแหล่งกําเนิดของสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เช่น ปูทะเล กุ้ง หอยเสียบ หอยแครง และที่สําคัญเป็นแหล่งหอยแครงที่เกิดเองตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
นอกจากนี้ ชุมชนบางขุนไทรยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของภูมินิเวศน์ สามารถแบ่งเป็น 2 เขตใหญ่ ๆ ตามทําเลที่ตั้ง กล่าวคือ พื้นที่ที่อยู่ติดทะเล และพื้นที่อยู่ลึกเข้ามาเป็นลักษณะที่ดอน เป็นพื้นที่ประมงและพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ซึ่งลักษณะพื้นที่อยู่ติดทะเลประกอบด้วยป่าชายเลน ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเล อีกทั้งยังประกอบอาชีพที่สําคัญของชาวบ้านชุมชนบางขุนไทร นอกจากการทําประมงชายฝั่งแล้ว ชาวบ้านบางครัวเรือนที่มีพื้นที่อยู่ในแถบดังกล่าวก็ใช้พื้นที่เหล่านั้นทํานาเกลือ ส่วนพื้นที่อยู่ลึกเข้ามาจากทะเลมีลักษณะเป็นที่ดอนพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทําเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกพืชผักผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบางขุนไทรในปัจจุบันมีที่มาจากชนชาติหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่บางขุนไทร โดยกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนในครั้งแรกประกอบด้วย ชาวจีน แขกนอก คนในท้องถิ่นและชาวลาว บนความหลากหลายของเชื้อชาติที่รวมตัวกันเป็นชุมชนในพื้นที่ตําบลบางขุนไทรนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในการอยู่รวมกันแต่อย่างใด ขณะเดียวกันชาวบ้านต่างอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นเอกภาพ ทําให้ชุมชนบางขุนไทรเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชนที่สามารถเลี้ยงตนเองได้
แม้จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ชุมชนบางขุนไทรยังมีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล ความไว้วางใจ มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชน มีสํานึกร่วมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังมีความผูกพันกันฉันท์เครือญาติ นอกจากนี้ การทํากิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการประกอบอาชีพ ประเพณี วัฒนธรรม และกิจกรรมชุมชนอื่น ๆ คนในชุมชนบางขุนไทรยังให้ความสําคัญและร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันเป็นอย่างดี ดังคําโบราณที่ว่า “เอามือ เอาวัน” หรือการเอาแรงกัน
จีน, ไทยพวน, มลายู, ลาวเวียงชาวบ้านชุมชนบางขุนไทรมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย การทํานาเกลือ ทํานาข้าว เลี้ยงสัตว์ เก็บหอย ทําประมงชายฝั่งและรับจ้าง ชาวบ้านชุมชนบางขุนไทรมีการประกอบอาชีพต่าง ๆ ตลอดทั้งปี และในแต่ละครัวเรือนจะประกอบอาชีพ 2 อาชีพขึ้นไป ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจของชุมชนบางขุนไทรแล้วค่อนข้างอยู่ในระดับดีถึงดีมาก สังเกตได้จากรายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนในหมู่บ้านชุมชนบางขุนไทร อยู่ระหว่าง 40,000-100,000 บาท ต่อปี อาชีพที่ทํารายได้แก่คนในชุมชนมากที่สุดคือ การทําประมงชายฝั่ง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 7,500-8,700 บาท ส่วนคนในชุมชนฝั่งน้ำจืดที่ไม่ได้ทําการประมงส่วนใหญ่จะมีรายได้มาจากการรับจ้างประมาณ 5,500-7,800 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ เนื่องจากภูมินิเวศน์ที่หลากหลายของชุมชนบางขุนไทร การประกอบอาชีพของคนในชุมชนจะสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม ตามลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมของที่อยุ่อาศัย กลุ่มแรก คือ ชุมชนที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลหรือที่เรียกว่า ฝั่งน้ำเค็ม ได้แก่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 8 หมู่ที่ 10 ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เก็บหอย ทํานาเกลือและรับจ้าง มีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40,000-200,000 บาท/ปี
- การทําประมงชายฝั่ง ประกอบไปด้วย การออกเรืออีป๊าบเพื่อไปหาปูม้า กุ้ง เคย หอยแครง หอยเสียบ เป็นต้น ซึ่งการประกอบอาชีพแต่ละอาชีพนั้นเป็นอาชีพที่ชาวบ้านได้ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นการทําประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะการต่อเรืออีป๊าบ ที่เหมาะแก่การเดินเรือบนเลน หรือชายฝั่งทะเลโคลนได้ การถักอวนที่ใช้ในการทําประมง การถีบกระดานเก็บหอย ความรู้การทํานาเกลือ ซึ่งแต่ก่อนอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านบางขุนไทรก็คืออาชีพประมงชายฝั่ง โดยเฉพาะการเก็บหอยแครงด้วยมือและใช้กระดานถีบ เพราะพื้นที่ชายฝั่งบางขุนไทรมีความอุดมสมบูรณ์และมีจํานวนหอยแครงมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีวิถีการทํามาหากินด้วยการทําประมงชายฝั่งตลอดระยะเวลาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-เดือนธันวาคม
- การเก็บหอยแครง ชาวบ้านชุมชนบางขุนไทรจะใช้ภูมิปัญญาเก็บหอยแครงด้วยวิธีการถีบกระดานเก็บหอยด้วยมือ การใช้กระดานถีบเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งการเก็บหอยแครงแต่ละครั้งสามารถเก็บหอยได้ประมาณ 8 กิโลกรัม/คน จากนั้นชาวบ้านจะนําหอยมาจําหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือชาวบ้านบางรายก็จะนําไปจําหน่ายด้วยตนเองที่ตลาดใกล้บ้าน โดยหอยแครงราคาต่อกิโลกรัมเฉลี่ยแล้วประมาณ 60 บาท และหอยเสียบราคาต่อกิโลกรัมเฉลี่ยประมาณ 50 บาท ทําให้ชาวบ้านที่มีอาชีพเก็บหอย มีรายได้เฉลี่ย 300-500 บาทต่อการขายหอยหนึ่งครั้ง
- การจับปูม้า ชาวบ้านที่มีอาชีพทําประมงจะออกเรือจับปูตลอดทั้งปี จากนั้นก็จะนําปูม้ามาจําหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางหรือจําหน่ายด้วยตนเอง หรือนํามาขายปลีก ซึ่งวิธีการจัดจําหน่ายจะมีทั้งแบบปูสด ปู้ต้ม/นึ่งสุก และเนื้อปู
- การจับเคย การจับเคยจะจับในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนมกราคม ซึ่งการออกจับเคยแต่ละครั้งจะได้เคยประมาณ 300-800 กิโลกรัม
- การทํานาเกลือ ชาวบ้านชุมชนบางขุนไทรจะประกอบอาชีพการทํานาเกลือ ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม และช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ยกเว้นช่วงฤดูฝน ในการทํานาเกลือแต่ละครั้งจะมีเงินหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาท/ปี เมื่อหักค่าใช้จ่าย/ต้นทุนแล้วชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000-35,000 บาทต่อเดือน
กลุ่มสอง คือ กลุ่มชนบริเวณที่ดอน หรือที่เรียกว่าฝั่งน้ำจืด ได้แก่ หมู่ที่ 4 ชุมชนบ้านแขก หมู่ที่ 5 ชุมชนดอนผิงแดด หมู่ที่ 6 ชุมชนดอนวัด หมู่ที่ 7 ชุมชนดอนไทย หมู่ที่ 9 ชุมชนบ้าน ป่าขาด และหมู่ที่ 11 ชุมชนบ้านสนามนา (ดอนหอยแครง) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทํานาข้าว เลี้ยงสัตว์ รับจ้างทํานาเกลือ และเก็บหอยแครง มีรายได้เฉลี่ย 40,000-100,000 บาทต่อปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อาชีพ ดังนี้
- อาชีพการทําเกษตรกรรม การทํานาปลูกข้าวปีละ 2-3 ครั้ง หรือที่เรียกว่าการทํานาปีและการทํานาปรัง ซึ่งการทํานาปีเริ่มการปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ส่วนการทํานาปรัง จะทํานาตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามชาวนาจะคิดคํานึงถึงระบบน้ำเพื่อการผลิตในแต่ละปีว่าเพียงพอหรือไม่ โดยพื้นที่การปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชุมชนบางขุนไทร มีประมาณ 3,122 ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 8,900 บาท /เดือน
- การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ในชุมชนบางขุนไทรมีส่วนได้เปรียบมากกว่าชุมชนอื่นโดยทั่วไป เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของชุมชนที่มีทั้งบริเวณที่เป็นน้ำจืดและบริเวณน้ำเค็ม ซึ่งการเลี้ยงสัตว์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ สัตว์บก คือ เลี้ยงแพะ วัว หมู ไก่ และการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ กุ้งขาว ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาสลิด ปลาดุก เป็นต้น
- รับจ้าง ชาวบ้านชุมชนบางขุนไทรฝั่งน้ำจืดจะมีอาชีพรับจ้างจํานวนมาก เนื่องจากบางชุมชนไม่มีที่ดินเป็นของตนเองจึงต้องไปเป็นแรงงานให้กับโรงงานทํานาเกลือ หรือนายทุนนาเกลือรายใหญ่ อย่างไรก็ตามการทําอาชีพรับจ้างไม่ได้หมายความว่าสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนไม่ดี จะเห็นว่ารายได้เฉลี่ยของอาชีพรับจ้างประมาณ 5,500-7,800 บาทต่อเดือน ถึงจะไม่มากแต่ก็ไม่น้อย ซึ่งที่มาของเงินรับจ้างส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างหาบเกลือ โดยจะมีหัวหน้าทีมหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “นายแรง” ทําหน้าที่ตีราคาค่าแรงจากผู้ว่าจ้าง คิดวิธีเหมาจ่ายเป็น กระทงนา ราคากระทงละ 3,000-4,000 บาท จากนั้นเจ้าของนาเกลือก็จะนําเงินมาจ่ายให้กับนายแรงเพื่อให้นายแรงไปกระจายเป็นค่าจ้างให้กับแรงงานต่อไปแล้วแต่ว่าแต่ละทีมจะมีกี่คน
ชุมชนบางขุนไทรเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาชุมชนที่สามารถพึ่งตนเองได้ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน หรือความต้องการของคนในชุมชนบางขุนไทร ซึ่งชาวบ้านมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ มากมาย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณต่าง ๆ จากหน่วยงานภายนอกชุมชน ซึ่งแต่ละกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นนั้นมีวัตถุที่แตกต่างกัน กลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านชุมชนบางขุนไทร ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กลุ่มอาชีพที่เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพนั้น ๆ เช่น กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มทอผ้า กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนบางขุนไทร และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มเกษตรอินทรีย์ดอนผิงแดด เป็นต้น
นอกเหนือจากความหลากหลายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ชุมชนบางขุนไทรยังเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี ขนบ และค่านิยมต่าง ๆ อันเนื่องมาจากความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของคนในชุมชนซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มคนเชื้อสายจีน กลุ่มคนเชื้อสายมลายู กลุ่มเชื้อสายไทยพวน และกลุ่มคนไทยท้องถิ่นดั้งเดิม
- กลุ่มคนเชื้อสายจีน กลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่นชุมชนบางขุนไทรเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางขุนไทร หมู่ที่ 1-3 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพดั้งเดิม คือ การทําประมงชายฝั่งพื้นบ้านที่ได้มีการถ่ายทอดและสั่งสมกันมายาวนาน และมีประเพณีสําคัญต่าง ๆ ในรอบปี เช่น ตรุษจีน สารทจีน สงกรานต์ ถือศีลกินเจ เป็นต้น
- กลุ่มคนเชื้อสายมลายู อาศัยรวมกลุ่มกันอยู่บริเวณหมู่บ้านบ้านแขก หมู่ที่ 4 นับถือศาสนาอิสลาม ทําอาชีพค้าขาย เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างสอนภาษาพูดสําหรับการติดต่อสื่อสาร นอกเหนือจากภาษาไทยภาคกลาง สําเนียงพื้นถิ่นของเพชรบุรีแล้ว ชาวบ้านบางส่วนสามารถพูดและเขียนภาษาอารบิคและภาษายาวีได้ ลักษณะวัฒนธรรม ประเพณี ส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม เช่น การถือศีลอด การออกบวชช่วงเดือนมกราคม การออกฮัจญ์ในเดือนมีนาคม และเมาริดกลางในเดือนพฤศจิกายน เป็นต้น
- กลุ่มคนเชื้อสายลาวเวียง กลุ่มเชื้อสายลาวเวียงจันทร์หรือลาวพวนในปัจจุบันอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดอนผิงแดด หมู่ที่ 5 หมู่บ้านดอนวัด หมู่ที่ 6 และหมู่บ้านดอนไทย หมู่ที่ 7 เป็นกลุ่มที่มีความชํานาญการด้านการทําเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้ในปัจจุบันกลุ่มคนเชื้อสายลาวที่อาศัยอยู่ในชุมชนบางขุนไทรประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ และรับจ้างเป็นอาชีพหลัก ประเพณีที่สําคัญในรอบปี อาทิ ประเพณีส่งข้าหลวง พิธีรับขวัญข้าว รวมถึงประเพณีงานบุญตามครรลองของหลักพระพุทธศาสนา
- กลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิม หรือเรียกว่าคนเมืองเพชร คนเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในหมู่บ้านบางอินทร์ หมู่ หมู่บ้านป่าขาด หมู่ที่ 9 หมู่บ้านสามัคคี หมู่ที่ 10 และหมู่บ้านสนามนา (ดอนหอยแครง) หมู่ที่ 11 โดยคนในชุมชนมีการประกอบอาชีพที่กระจายตัวออกไปเช่นหลากหลายอาชีพตามบริบทสภาพแวดล้อม เช่น การเก็บกอยแครง การทําเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ และการทําประมงชายฝั่ง การทํานาเกลือ เป็นต้น ส่วนประเพณีที่สําคัญในรอบปีก็จะสอดคล้องกับการนับถือศาสนาพุทธ ผนวกกับความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติควบคู่ไปด้วย เช่น ทําบุญกระจาด ทําบุญทุ่ง การเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
ภูมิปัญญาการต่อเรือประมงพื้นบ้าน
ความรู้เรื่องการต่อเรือประมงพื้นบ้าน เป็นอีกชุดความรู้หนึ่งที่เป็นมรดกสืบทอดมายังรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านในพื้นที่ชุมชนบางขุนไทร มีประมาณ 100-300 ลำ ภูมิปัญญาด้านการต่อเรือของคนชุมชนบางขุนไทรจะเชื่อมโยงกับบ้านแหลม เพราะมีอู่ต่อเรือเก่าแก่หลายแห่ง ซึ่งชาวบ้านบางขุนไทรก็ไปเป็นลูกจ้างอู่ต่อเรือที่บานแหลมเช่นกัน
การขึ้นคานเรือ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของชาวประมงหลังจากที่นําเรือเข้าเทียบ โดยทำหลังจากออกหาปลาเพื่อนำปลามาขายแล้ว ครบปีก็จําเป็นต้องนําเรือมาขึ้นคานสักครั้งหนึ่ง เพื่อขัดเพรียง ทาสี ยาเรือใหม่ ยิ่งเพรียงเกาะเรือมาก ๆ จะทําให้เรือหนักวิ่งไม่ค่อยออก เครื่องยนต์ทํางานหนักทําให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ในอดีตการขึ้นคานเรือขาดเล็กจะขนาด 7-8 วา ประมาณ 6 เดือนจะนําเรือมาขึ้นคาน 1 ครั้ง แต่ปัจจุบันการขึ้นคานเรือขนาดดังกล่าว จะขึ้น 1-2 ปี ครั้ง เพราะวัสดุที่ใช้ต่อเรือมีความแข็งแรงมากกว่าเดิม วิธีการต่อมาหลังจากนำเรือขึ้นมาแล้ว จะต้องขูดเพรียงออกจากนั้นจึงตอกหมัน ปิดปูนตามแนวร่องกระดาน ส่วนการตอกหมันจะใช้หน้ามัน โดยผสมกับปูนแดงกับชั้นแล้วใส่เสนจํานวนมาก เสนจะรักษาไม่ให้หมันเน่าแล้วจึงปิดปูนซีเมนต์ผสมกับเกลือหรือบางลําอาจจะไม่ยาหมันแต่ใช้วิธีปิดกว่าแทนก็ได้
การสังเกตกระแสลม
การทำประมงเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชาวบางขุนไทรมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นชาวบ้านบางขุนไทรจึงมีภูมิปัญญาที่จะช่วยให้การประกอบอาชีพมีความสะดวก และในขณะเดียวกันก็ต้องมีความปลอดภัย ดังเช่นภูมิปัญญาการสังเกตทิศทางลม ซึ่งมีประโยชน์และสำคัญมากต่อการออกเรือหาแต่ละครั้ง โดยวิธีการสังเกตกระแสลมของชาวบ้านบางขุนไทร จะพิจารณาจากทิศทางทั้ง 8 ทิศ ดังนี้
- ทิศตะวันออก หรือทิศบูรพา ลมที่มาจากทิศนี้เรียกว่า ลมอุกาฟ้าเหลือง ลมทิศนี้จะมีกําลังแรง 1-3 วัน เป็นลมที่อาจทําให้เรือจมได้ เกิดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
- ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือทิศอาคเนย์ ลมทิศนี้เรียกว่า ลมตะวันออก มีกําลังแรง 1-3 วัน เป็นลมที่อาจทําให้เรือจมได้ เกิดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
- ทิศใต้ หรือทิศทักษิณ หรือลมสลาตัน เกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เวลาประมาณ 10.00-18.00 น.
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือทิศหรดี ลมที่มาในทิศนี้เรียกว่าลมพัทยา เป็นลมที่ไม่ทําให้เรือจม เวลาที่เกิดนั้นจะนับตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงรุ่งเช้าอีกวัน เกิดในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม
- ทิศตะวันตก หรือทิศประจิม ชาวบ้านเรียกลมอ้ายโกหรือลมตะโก้ เวลาที่เกิดตั้งแต่ 14.00-18.00 น. เป็นลมที่อาจทําให้เรือจมได้เพราะเป็นพายุหัวฝน มักเกิดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หรือทิศพายัพ ลมที่มาจากทิศนี้เรียกว่าลมเชิง เวลาที่เกิดตั้งแต่ 15.00 น. ถึงรุ่งเช้าของอีกวัน อาจเป็นพายุหัวฝนที่ทําให้เรือจมได้ เกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
- ทิศเหนือ หรือทิศอุดร ลมที่มาในทิศนี้เรียกว่าลมพัดหลวง เป็นลมที่มีกระแสความรุนแรงไม่แน่นอน มักเกิดในช่วงสิงหาคม-กันยายน
- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทิศอีสาน ลมที่มาในทิศนี้เรียกว่าลมว่าว หรือลมหนาว เวลาที่พัดเกิดได้ตลอดเวลา เกิดในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
ภาษาพูด : ภาษาถิ่นเพชรบุรีหรือภาษาเมืองเพชร ภาษาไทยกลาง ภาษาอาราบิค และภาษายาวี (ชาวบ้านที่มีเชื้อสายมลายู)
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
สุรินทร์ นันทไพฑูรย์. (2556). ทุนทางสังคมกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง: กรณีศึกษาชุมชนบางขุนไพร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารจัดการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชุมชนท่องเที่ยวบางขุนไทร หมู่ที่ 2. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thailandtourismdirectory.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
บ้านบางขุนไทร ม.2 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี. (2565). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
อาหารพื้นถิ่นบ้านบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม. (2564). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.phetchaburicreativecity.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].