-
กว่า 200 ปีมาแล้ว ที่ชาวไทยวนจากเชียงแสนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแต่ชาวไทยวนราชบุรีก็ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ภาษาพูด และการแต่งกายไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภูมิปัญญาการทอ “ผ้าซิ่นตีนจก” ภูมิปัญญาอันแสดงถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชาวไทยวนราชบุรีผ่านวิวัฒนาการลวดลายการร้อยเรียงผ่านเส้นด้าย
-
ชุมชนที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อันแสดงให้เห็นถึงการเสด็จประพาสต้นของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ วัดโชติทายการาม และบ้านเจ๊กฮวด มหาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม รวมไปถึงกรรมวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมที่ยังปรากฏให้เห็นในชุมชน
-
“กวานโหน่ก” คือชื่อเรียกชุมชนในภาษามอญ การแสดงออกทั้งทางภาษาและวิถีการดำเนินชีวิต เป็นรากเหง้าของชุมชนวัฒนธรรมที่ยังคงหยั่งรากลึกจากอดีตถึงปัจจุบัน
-
ชุมชนการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เพื่อทำการค้าขาย ผู้คนภายในชุมชนมีการจัดโครงการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม บริเวณชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้ และมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ล้านโป่ง ศาลเจ้าพ่อกวนอู และวัดคาทอลิกนักบุญยอเซฟ
-
ชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียงที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ผู้คนในชุมชนยังคงมีการยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การตั้ง "ศาลปู่ตา" การประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต อาหาร และการแต่งกาย
-
ชุมชนตลาดโพธาราม เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ถือเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมานานตั้งแต่ครั้งอดีต ภายในชุมชนมีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ อาคารไม้ และอาคารโบราณอายุหลายร้อยปี ทั้งยังมีศาสนสถานที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน ได้แก่ วัดโพธิ์ไพโรจน์ วัดโชค และวัดไทรอารีรักษ์ นอกจากนี้ ยังมีเต้าหู้ดำ เป็นเมนูเด่นของชาวโพธาราม
-
ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน มีอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีตำนานท้องถิ่นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน โดยชุมชนแห่งนี้ที่ได้รับการฟื้นคืนชีวิตตลาดขึ้นมาใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นภายใต้โครงการ All About Arts ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ชุมชนได้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาในชุมชน ทั้งยังมีการผลิตไชโป๊ว ที่ขึ้นชื่อว่า มีรสชาติดี
-
ชุมชนตลาดเมืองราชบุรี เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งอดีต ภายในชุมชนมีสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสะพานรถไฟที่ถูกใช้งานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
-
ชาวบ้านดอนทรายได้มีความพยายามที่จะพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนที่หยุดชะงักเพราะความล้มเหลวจากการเลี้ยงกบ สู่การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คืนชีวีบ่อเลี้ยงกบเป็นบ่อเลี้ยงปลาสวยงามจนประสบความสำเร็จเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ประจำตำบลดอนทราย นอกจากนี้บ้านดอนทรายยังเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำนมดิบส่งขายแก่สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี ที่มีการแปรรูปน้ำนมดิบเป็นสินค้าเลื่องชื่อภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “หนองโพ”
-
ชุมชนตลาดน้ำแห่งแรกในคลองดำเนินสะดวก ปรากฏอาคารร้านค้าที่เป็นห้องแถวไม้กระจายตัวอยู่ริมฝั่งคลองทั้งสองด้าน มีวัดราษฎร์เจริญธรรมเป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน มีการจัดงานสมโภชหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเป็นประจำทุกปี
-
ชุมชนชาวมอญที่มีการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้คนในชุมชนยังคงมีการสืบต่อวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญแบบดั้งเดิมเอาไว้ ได้แก่ การนับถือผี และมีวัดอมรญาติสมาคม หรือวัดมอญ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน